posttoday

ขวัญใจวัยเด็ก เจ้าหญิงของ มาโคโตะ ทาคาฮาชิ

21 สิงหาคม 2559

โดย...ปณิฏา

โดย...ปณิฏา

ในนิทรรศการศิลปะ “Hokusai x Manga : Japanese Pop Culture since 1680” จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะฮัมบูร์ก (MKG Hamburg) ประเทศเยอรมนี (ไปจนถึง 11 ก.ย.นี้) แสดงให้เห็นแนวคิดของภัณฑารักษ์ที่เชื่อว่าหนังสือการ์ตูน หรือ “มังงะ” (Manga) ที่เป็นวัฒนธรรมป๊อปของญี่ปุ่นนั้น มีรากฐานมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ก่อนจะมาแสดงตัวตนที่แจ้งชัด เป็นป๊อปอาร์ตแบบร่วมสมัย ในศตวรรษที่ 19

โชโจ มังงะ (Shoujo Manga) หรือหนังสือการ์ตูนสำหรับเด็กผู้หญิง เป็นหนึ่งในการ์ตูนช่องสไตล์มังงะที่ได้รับความนิยมอย่างสูง กับจุดเด่นที่มีตัวเอกที่เป็นตัวการ์ตูนตากลมโต แววตาวิ้งๆ ผมหนาเป็นลอนสวยงาม โดยเนื้อหาในเรื่องส่วนใหญ่เล่าทั้งเรื่องเทพนิยาย เรื่องราวอิงประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะเรื่องราวความรักโรแมนติก

วัฒนธรรมการอ่าน โชโจ มังงะ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน เมื่อมีการก่อตั้งนิตยสารโชโจขึ้นมาหลากหลายฉบับ นับตั้งแต่ Shoujo Kai(โลกของเด็กผู้หญิง) ในปี 1903 Shoujo Sekai (โลกของเด็กผู้หญิง) ปี 1906 แล้วก็ยังมี Shoujo no tomo (เพื่อนสาว) ในปี 1908 ฯลฯ ที่ต่างรวบรวมการ์ตูนตาโตของมาสเตอร์มังงะชาวญี่ปุ่นหลายราย เช่น ยูเมจิ ทาเคฮิสะ ที่ยังคงวาดโดยยึดแบบแผนศิลปะญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมอยู่มาก ส่วน จุนอิชิ นาคาฮาระ นั้น เริ่มเข้าสู่ยุคของตัวการ์ตูนสาวสวยที่ดูดีมีสไตล์

สำหรับ มาโคโตะ ทาคาฮาชิ เรียกได้ว่า เป็นผู้บุกเบิกการ์ตูนตาโตของศตวรรษที่ 20 โดยชื่อเสียงของเขาคู่เคียงมากับ เรียวโกะอิเคดะ ผู้เขียนเรื่อง กุหลาบแวร์ซายส์ (The Rose of Versailles) เลยทีเดียว เรียกว่าทั้งสองมาสเตอร์มังงะจากโอซากา เป็นเจ้าพ่อและเจ้าแม่ของวินเทจ โชโจ มังงะ (Vintage Shoujo Manga) ก็ว่าได้ ในขณะที่ เรียวโกะ เล่าเรื่องราวของท่านออสการ์แห่งพระราชวังแวร์ซายส์ของฝรั่งเศส ทาง มาโคโตะ ได้หยิบยกเรื่องราวในเทพนิยายนานาชาติมาร้อยเรียงผ่านการ์ตูนลายเส้นแสนสวย

เชื่อว่าหลายคนเติบโตมาในยุคสมัยเดียวกันนี้ สมัยที่ดินสอสีคอลลีนยังผลิตออกมาขายในกล่องเหล็ก ซึ่งแต่ละกล่องขนาด 36 แท่ง จะประดับประดาด้วยภาพตัวการ์ตูนเด็กผู้หญิงแสนสวยตากลมโต แต่งตัวสไตล์พระนางมารี อ็องตัวแน็ต ศีรษะประดับด้วยโบ หมวก และดอกไม้นานาพันธุ์ -- นั่นคือผลงานภาพประกอบฝีมือ มาโคโตะ ทาคาฮาชิ เอง

ศิลปินมังงะยุคบุกเบิกการ์ตูนตาโต เกิดที่เมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 1934 เขาก้าวเป็นนักวาดการ์ตูนเต็มตัวเมื่อปี 1957 เมื่อเขียนเรื่อง “Girl” ที่เป็นการเปิดตัวการ์ตูนตาโตเป็นประกายแสนสวยของเขา ก่อนจะดังเป็นพลุจากซีรี่ส์ โชโจ มังงะ เรื่อง Beyond the Storm กับเรื่องราวของสาวสวยนักบัลเลต์ ที่ลงตีพิมพ์นิตยสาร Shoujo no tomo ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ค. 1958

Beyond the Storm นับเป็นการเบิกโรงซีรี่ส์ โชโจ มังงะ อีกหลายๆ เรื่องของเขา ไม่ว่าจะเป็น The Seaside of Sorrow, The Swan of Tokyo, The Swan of the Rose และ The Cursed Coppellia ซึ่งนิยมเล่าเรื่องราวที่ต่อยอดแรงบันดาลใจจากเรื่องเล่าของฟากตะวันตก รวมทั้งเรื่องราวเทพนิยาย (อย่าง The Little Mermaid, The Little Match Girl, Snow White) เรื่องราวเจ้าชาย-เจ้าหญิง ที่ช่วยเติมฝันจินตนาการของเด็กหญิงชาวญี่ปุ่นให้สนุกสนานไปกับเรื่องราวสุดคลาสสิก แถมพกด้วยการ์ตูนสุดแสนจะน่ารัก เช่นเดียวกับการไปวาดภาพประกอบเรื่องสั้น และนิยายต่างๆ ของญี่ปุ่น ที่ยังคงบุคลิกความเป็นสาวสวยตากลมโตเป็นประกาย จนเมื่อมีการรวบรวม Girls ผู้หญิงของมา โคโตะ ทาคาฮาชิ เอาไว้ใน Dreaming Girls : Art Collection of Macoto Takahashi ก็กลายเป็นอาร์ตบุ๊กเล่มใหญ่เบิ้ม

เคยมีคนถามว่า ทำไมเขาจึงวาดแต่รูปเด็กผู้หญิง มาโคโตะ เผยว่า แรงบันดาลใจของเขามาจากรูปโฆษณาชุดชั้นในสตรี ที่เขาเห็นและประทับใจตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ป.4 ผสมผสานกับความทรงจำวัยเด็กเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่บ้านของเขาอยู่ใกล้ๆ กับโบสถ์คริสต์ ซึ่งมีกองกำลังจากชาติตะวันตกมาอาศัยอยู่ โดยวันหนึ่งเขาเห็นเด็กผู้หญิงผมบลอนด์ กำลังวิ่งเล่นอยู่ท่ามกลางดงดอกไม้เบ่งบาน พอได้ยินเสียงแม่เรียกเธอก็หันกลับ แล้ววิ่งเข้าไปในโบสถ์ ภาพผมสีบลอนด์พลิ้วไหว กลางดงดอกไม้นั้นประทับใจมาโคโตะเป็นอย่างยิ่ง เป็นภาพที่เขาไม่เคยลืม และคิดเสมอว่า ต้องการวาดภาพของเด็กหญิงคนนั้น โดยเมื่อมาเป็นนักวาดการ์ตูน เขาจึงตั้งใจวาดในสไตล์ คาวาอิ (kawaii) ไฮโซ โบใหญ่ ดอกไม้ตู้มแบบนี้โดยเฉพาะ

ไม่ใช่แค่เพียงน่ารักเท่านั้น ผลงานของ มาโคโตะ ทาคาฮาชิ ยังมีกลิ่นอายแบบอาร์ตเดโค ในทั้งรายละเอียดของลายเส้น รวมทั้งสีสันที่ดูโดดเด่นแบบคลาสสิก

มาโคโตะ ทาคาฮาชิ เปิดประตูสู่โลกของเด็กสาวนักฝัน เขาสืบสานผลงานของปรมาจารย์ด้านการ์ตูนญี่ปุ่น อย่าง จุนอิชิ นาคาฮาระ ผู้โดดเด่นทางด้านสไตล์ (ภายหลังต่อยอดเป็นแฟชั่น) รวมทั้งโคจิ ฟูคิยะ ที่ส่งต่อภาพมังงะสไตล์อาร์ตเดโคและอาร์ตนูโวสู่วงการการ์ตูนญี่ปุ่น โดยตัวเขาเองก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปิน โชโจ มังงะ ต่อมาอีกมากมายหลายทศวรรษ