posttoday

ห้องสมุดในยุคที่คนไม่อ่านหนังสือ ชะตากรรมบนกระแสออนไลน์

27 สิงหาคม 2559

ความเปลี่ยนแปลงในสังคมสมัยใหม่ การปฏิวัติของโลกไอที ทำให้คนไทยอ่านหนังสือน้อยลง

โดย...กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์

ความเปลี่ยนแปลงในสังคมสมัยใหม่ การปฏิวัติของโลกไอที ทำให้คนไทยอ่านหนังสือน้อยลง และเลือกอ่านเฉพาะประเด็นที่ตัวเองสนใจเท่านั้น แม้ทุกวันนี้บริษัทเอกชน ห้างร้านพยายามเปิดห้องสมุดด้วยการออกแบบให้มีมุมนั่งพักจับกลุ่มสนทนา อ่านหนังสือ สามารถเลือกหยิบหนังสือเล่มใดก็ได้ในร้านมาอ่าน แต่ก็ไม่อาจเปลี่ยนพฤติกรรมคนที่เลือกค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ซึ่งสะดวกรวดเร็วและไม่เสียค่าใช้จ่าย

กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิตสำนักศิลปกรรม สาขาภาษาไทย ฉายภาพพฤติกรรมการอ่านของคนยุคใหม่ลดลงทุกขณะเกิดจากเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตช่วยอำนวยความสะดวก ทำให้เวลาต้องการรู้เรื่องใดก็มักจะเปิดอินเทอร์เน็ตเข้าไปค้นหา เลือกรับรู้ข้อมูลเท่าที่ตนต้องการ ดังนั้นพฤติกรรมการอ่านหนังสือทั้งเล่มจึงลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

โดยในอดีตที่ผ่านมาเวลาคนอ่านหนังสือ จะอ่านตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย หากมีข้อความโดนใจ การขีดเส้นใต้บรรทัดยิ่งทำให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องราวนั้นๆ เป็นอย่างดี ทว่าพฤติกรรมเช่นนี้แทบไม่มีใครทำแล้ว เพราะวัยรุ่นจะไม่ซื้อหนังสือ เช่น หนังสือพิมพ์ เนื่องจากหาฟังข่าวสารที่สนใจได้จากโทรทัศน์ วิทยุ ไปจนถึงวิดีโอที่มีการแชร์ต่อกันมาทางสังคมโซเชียล เพียงแค่ดูไม่ต้องอ่านเองให้พอรู้เรื่องเท่านั้น ทำให้ห้องสมุดกลายเป็นเพียงสถานที่ที่นักเรียน นักศึกษาเข้าไปหาหนังสือตามที่ครูบาอาจารย์สั่งให้เข้าไป ถ้านอกเหนือจากนั้นจะไม่สนใจ

ห้องสมุดในยุคที่คนไม่อ่านหนังสือ ชะตากรรมบนกระแสออนไลน์

 

ท้ายที่สุดคนทำหนังสือจะลำบาก เพราะเขียนออกมาแล้วไม่มีคนซื้อ ไม่มีคนอ่าน แม้จะมีกลุ่มแฟนคลับติดตามอยู่บ้างแต่ก็จะลดน้อยถอยลง ส่วนโรงพิมพ์กำลังเผชิญกับวิกฤตนี้ด้วยเช่นกัน เพราะไม่มีคนเขียน ไม่มีคนสั่งงานพิมพ์ ยอดการสั่งพิมพ์น้อยลงหรือพิมพ์ออกมาแล้วขายไม่หมด

“ต่อไปหนังสืออาจจะเล็กลง เลวร้ายที่สุดคือหนังสือที่เป็นงานเขียนเก่าๆ จะไม่มีการพิมพ์ซ้ำหลายๆ ครั้งอย่างที่เคยเป็น เพราะทุกวันนี้เริ่มมีความคิดว่าซื้อหนังสือมาทำไมให้รกบ้าน ไม่มีที่เก็บ แม้แต่ที่โรงเรียนก็ยังเห็นว่าเปลืองพื้นที่เก็บหนังสือ เด็กไม่ค่อยเข้ามาอ่าน จึงเป็นห่วงว่าต่อไปในอนาคต หนังสือจะมีชะตากรรมที่ไม่สดใส” กาญจนา กล่าว

ราชบัณฑิตสำนักศิลปกรรมผู้นี้กล่าวอีกว่า พฤติกรรมการอ่านหนังสือน้อยลงจะส่งผลร้ายต่อคุณภาพของคนในประเทศ หากไม่มีการส่งเสริมอย่างจริงจัง เพราะแม้แต่ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” นักลงทุนชื่อดัง ใช้เวลา 5-6 ชั่วโมง/วัน อ่านหนังสือพิมพ์ 5 ฉบับ และรายงานสำหรับธุรกิจอีก 500 หน้า “บิล เกตส์” ผู้ก่อตั้งบริษัทคอมพิวเตอร์ อ่านหนังสือ 50 เล่ม/ปี

ห้องสมุดในยุคที่คนไม่อ่านหนังสือ ชะตากรรมบนกระแสออนไลน์

 

และ “มาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก ” อ่านอย่างน้อย 1 เล่มใน 2 สัปดาห์ คนเหล่านี้ประสบความสำเร็จได้ เพราะเขาให้ความสำคัญต่อการอ่านหนังสือ สวนทางกับการเลี้ยงดูของครอบครัวสมัยใหม่ที่ไม่ใส่ใจ และยิ่งขาดการส่งเสริมจากรัฐบาล เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการปรับลดเนื้อหาให้สั้นกระชับ ตัดตอนเหลือ 2-3 หน้า จนเหลือเรื่องราวน้อยเกินไป ไม่ฝึกให้เด็กอ่านนิยายที่มีรายละเอียดทั้งเรื่องซึ่งมีหลายหน้า

สำหรับปัจจัยอื่นที่ทำให้คนซื้อหนังสือน้อยลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหนังสือมีราคาแพงมาก โดยเฉพาะหนังสือความรู้เด็ก ครอบครัวใดมีรายได้น้อยจะไม่ซื้อหนังสือให้ลูกอ่าน กลายเป็นสิ่งไม่จำเป็นเมื่อเทียบกับปากท้องที่สำคัญกว่า แต่ถ้าเป็นครอบครัวฐานะปานกลางหรือสูงถึงจะมีศักยภาพซื้อหนังสือให้ลูกอ่านได้ แต่พ่อแม่ก็ไม่สนใจเท่าใดนัก ทั้งที่หนังสือความรู้ต่างๆ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากที่ปลูกฝังความคิด ความอยากรู้จนฝึกให้อ่านหนังสือจบ 1 เล่มได้

“เรื่องแบบนี้รัฐบาลไม่เข้ามาช่วยดูแลส่งเสริม ดังจะเห็นว่าหนังสือเรียนบางเล่มใช้กระดาษไม่ได้คุณภาพ สีสันไม่ดึงดูดความสนใจใคร่รู้ ทำให้เด็กไม่สนใจเพราะไม่น่าอ่าน ส่วนหนังสือที่มีสีสันมากขึ้นมาหน่อยจะมีราคาแพงหลายร้อยบาท พ่อแม่บางคนมีเงินเดือน 2-3 หมื่นบาท บางทีก็ซื้อไม่ไหว ปัญหาเหล่านี้จะยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนห่างกันมากขึ้น เพราะคนจนนอกจากรายได้จะไม่เพิ่มแล้ว การเข้าถึงความรู้ยิ่งน้อยลงตามไปด้วย” กาญจนา กล่าว

ห้องสมุดในยุคที่คนไม่อ่านหนังสือ ชะตากรรมบนกระแสออนไลน์ ห้องสมุด TCDC

 

ขณะที่ในต่างประเทศอย่างสิงคโปร์ มีห้องสมุดสวยงาม ทั้งยังส่งเสริมให้คนรักการอ่าน เช่น คนหนึ่งอยากอ่านหนังสือเรื่องอะไรให้จดชื่อมาให้ห้องสมุดแห่งนี้ จากนั้นทางห้องสมุดจะไปดำเนินการหามาให้ ใครอยากอ่านอะไรขอให้บอกมา และเมื่ออ่านแล้วภายให้กรอบระยะเวลา 1 เดือน หากอ่านได้จำนวนเล่มที่กำหนดมีรางวัลมอบให้อีกด้วย หรือห้องสมุดบางแห่งใช้กลวิธีให้เด็กเลือกหนังสือนำกลับไปให้ผู้ปกครองอ่านให้ฟัง เป็นการส่งเสริมให้ครอบครัวทำกิจกรรมร่วมกันอีกทางด้วย จึงเป็นที่น่าเสียดายว่าในประเทศไทยยังไม่มีห้องสมุดแบบนี้

กาญจนา ทิ้งท้ายว่า หากประเทศไทยต้องการได้ชื่อว่าเป็นเมืองหนังสือโลก ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียน การสอนมุ่งเน้นพฤติกรรมการอ่านมากขึ้น ปรับเปลี่ยนสถานที่การศึกษาหาความรู้ เช่น ห้องสมุดในโรงเรียนหรือสาธารณะ ควรเปลี่ยนให้สวยงามน่าเข้าไปหาหนังสือมาอ่าน จูงใจเด็กเยาวชน รวมไปถึงคนทุกวัยให้รู้สึกเพลิดเพลิน สะดวกสบาย เป็นพื้นที่เรียนรู้ไม่จบสิ้น 

อย่างไรก็ดี แม้อัตราการอ่านของสังคมยุคปัจจุบันจะลดน้อย แต่ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้วางเป้าหมายพลิกโฉมเมืองให้กลายเป็น “เมืองแห่งหนังสือโลก” (Bangkok City Libraly) เนื่องจากเป็น 1 ใน 9 พันธกิจที่ได้รับเลือกจากองค์การยูเนสโก คัดสรรให้ประเทศไทยเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ แผนงานปรับปรุงหอสมุดเมืองจึงเริ่มขึ้น โดยเช่าพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นอาคาร 3 ชั้น ตั้งอยู่บนถนนราชดำเนิน บริเวณสี่แยกคอกวัว มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 3,000 ตารางเมตร

ห้องสมุดในยุคที่คนไม่อ่านหนังสือ ชะตากรรมบนกระแสออนไลน์ หอสมุดปรีดี

 

ปราณี สัตยประกอบ ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หอสมุดเมืองแห่งนี้เตรียมเปิดตัวช่วงต้นปี พ.ศ. 2560 โดยให้เป็นที่นัดพบของนักวิชาการ และแหล่งรวมของนักวรรณกรรม นักผลิตหนังสือ แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน ไม่ใช่สถานที่เก็บหนังสือจำนวนมากอีกต่อไป

พื้นที่ชั้นหนึ่งเป็นบริเวณพักผ่อนให้ทุกคนเดินทางเข้ามาพบปะ ยืมหนังสือตามที่ต้องการ อาทิ ห้องสมุดวรรณกรรมไทย วรรณกรรมอาเซียน และวรรณกรรมโลก ห้องสมุดวรรณกรรมเด็กและเยาวชนนานาชาติ ห้องสมุดประวัติศาสตร์และวิวัฒน์หนังสือไทย รวมถึงมีพื้นที่สำหรับคนพิการอีกด้วย

ถัดมาชั้นสองถูกออกแบบให้แบ่งเป็นห้องเงียบ เพื่อที่นักศึกษาจะรวมกลุ่มหารือข้อมูล หรือแม้กระทั่งสมาคมนักหนังสือต่างๆ จะใช้เป็นพื้นที่เปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ก็ได้ ส่วนชั้นสามใช้เป็นที่ฉายภาพความเป็นกรุงเทพมหานครมีจุดเด่นคือ หอเกียรติยศ หรือ “Hall of Fame” รวบรวมประวัติคนบุคคลสำคัญในแวดวงวรรณกรรม ทั่วทุกเขตในกรุงเทพฯ รวมถึงทำเรื่องขอหนังสือจากสถานทูตทุกประเทศมารวมไว้เพื่อความหลากหลาย

ปราณี กล่าวอีกว่า การออกแบบหอสมุดเมือง เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนว่าต้องการเห็นหอสมุดเป็นอย่างไร เช่น นักศึกษาต้องการหาพื้นที่นั่งทำงานกลุ่มกันต่อหลังจากที่ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยปิดแล้ว สามารถเข้ามานั่งถึงเที่ยงคืนได้หรือไม่ ดังนั้นหอสมุดอาจจะเปิดตลอด 24 ชั่วโมง ก็ได้ขึ้นอยู่กับความต้องการของประชาชน ส่วนข้อเสนอของนักวิชาการบางคน อยากให้นำเปียโนมาตั้งแล้วมีคนมาเล่นให้ฟังในช่วงพักเบรก เพื่อทำให้ห้องสมุดมีความสุนทรี ซึ่งความคิดหลากหลายที่ได้มากำลังถูกรวบรวมมาสร้างเป็นหอสมุดเมืองแห่งนี้

“ห้องสมุดจะไม่มีวันตาย ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงให้ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ จะไม่ทำห้องสมุดแบบเก่าอีกต่อไป มีพื้นที่สำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักคิด นักเขียน หนังสือหายาก หรือแม้กระทั่งอาจจะมีวรรณกรรมใต้ดิน จะเป็นคลังความรู้แห่งเสรีภาพ ใครต้องการอ่านหนังสือแบบไหนคุณบอกเรามาได้เลย จะไปหามาให้” ปราณี  กล่าวเน้นเสียง

สำหรับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น มีแนวคิดว่าในแต่ละสัปดาห์ควรจัดให้เป็นวันสำคัญของบุคคลมีชื่อเสียง อาทิ สัปดาห์ของ “วิลเลียม เชกสเปียร์” แสดงผลงานทั้งละคร วรรณกรรม วันของ “สุนทรภู่” และ “ทมยันตี” รวมไปถึงวันของหนังสือพิมพ์ เช่น หนังสือพิมพ์ฉบับแรกมีรูปแบบเช่นไร การเปลี่ยนแปลงของหนังสือพิมพ์ในโลกยุคปัจจุบัน เปิดเวทีให้นักข่าว นักหนังสือพิมพ์มืออาชีพ จัดกิจกรรมฝึกฝนนักข่าวรุ่นใหม่ได้

ทั้งหมดจะปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันเพื่อดึงคนเข้ามาใช้ประโยชน์ มาเรียนรู้สร้างอาชีพนอกจากสิ่งที่เรียนในสถาบันการศึกษา เนื่องจากทุกวันนี้คนสามารถหาข้อมูลที่ต้องการจากในสมาร์ทโฟน ผ่านโลกอินเทอร์เน็ตซึ่งรวดเร็วและง่ายไม่เสียค่าใช้จ่าย ฉะนั้นต้องทำให้ห้องสมุดตอบสนองได้มากกว่า แค่มายืมหนังสือ คนกรุงเทพฯ ขาดพื้นที่อยู่ร่วมกัน เช่น นักศึกษาพักอยู่ในห้องเช่า คอนโด มีพื้นที่ไม่มาก เมื่อ กทม.เตรียมสถานที่ไว้ให้เยาวชนเขาจะออกมาใช้ประโยชน์เอง นับได้ว่าเป็นห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้แห่งแรกจากทั้งหมด 36 แห่ง ของ กทม. ที่ตอบสนองความต้องการมากที่สุด ที่สำคัญบริการฟรี

“โลกปัจจุบัน สังคมครอบครัวต้องปลูกฝังให้เยาวชนรักการอ่านตั้งแต่เด็ก ผู้ใหญ่จะมาโทษเด็กไม่ได้ เพราะเราไม่ได้ใส่ใจเขามาตั้งแต่ต้น ฉะนั้นการที่ กทม.ออกนโยบายหนังสือเล่มแรก คือการปลูกฝังให้รัก
การอ่านและทำให้ครอบครัวมีกิจกรรมร่วมกัน กทม.และรัฐบาลต้องทุ่มเท ลงทุนปูพื้นฐานทรัพยากรมนุษย์ให้มากขึ้น ทุกวันนี้ยังลงทุนเรื่องคุณภาพศึกษาน้อย” ปราณี กล่าว