รถพยาบาลอัจฉริยะ คันที่ 5 ของโลกอยู่ที่นี่!
ได้ยินเรื่องนี้เป็นครั้งแรกเมื่อต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาว่า โรงพยาบาลพญาไท 1 มีรถพยาบาลที่เป็น “หน่วยรักษาอัมพาตเฉียบพลันเคลื่อนที่”
โดย...วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ เสกสรร โรจนเมธากุล
ได้ยินเรื่องนี้เป็นครั้งแรกเมื่อต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาว่า โรงพยาบาลพญาไท 1 มีรถพยาบาลที่เป็น “หน่วยรักษาอัมพาตเฉียบพลันเคลื่อนที่” (Mobile CT & Stroke Treatment Unit) ซึ่งทั้งโลกเวลานี้มีเพียง 5 คัน หนึ่งในนั้นอยู่ที่ประเทศไทย ถือเป็น 1 ใน 5 ของโลก รวมทั้งเป็นคันแรกในเอเชีย เอาเข้าจริงเรื่องนี้เริ่มต้นเมื่อ 9 เดือนก่อน เมื่อรถพยาบาลอัจฉริยะถูกนำมาให้บริการเป็นครั้งแรก แต่เมื่อได้คุยกับ “ต้นเรื่อง” นพ.สุรัตน์ บุญญะการกุล ผู้อำนวยการศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลพญาไท 1 จุดเริ่มต้นก็ต้องย้อนไปไกลกว่านั้น
ในเดือน มี.ค. 2558 นพ.สุรัตน์ ได้เดินทางไปร่วมประชุมเรื่องหลอดเลือดสมองที่ประเทศอังกฤษ บริษัทผู้ผลิตรถพยาบาลอัจฉริยะจากประเทศเยอรมนีได้เดินทางมาร่วมประชุมด้วย โดยรถพยาบาลถูกขับมาจากเบอร์ลิน เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมแพทย์โรคหลอดเลือดสมองจากทั่วโลกให้ได้สังเกตการณ์
รถพยาบาลโรคหลอดเลือดดังกล่าวมีระดับมาตรฐานสูงสุดของการรักษาพยาบาล มีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในประเทศเยอรมนีและอเมริกาว่า สามารถรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอุดตันได้รวดเร็วกว่ารถพยาบาลทั่วไป สิ่งที่ทำให้แตกต่างคือ 3 สิ่งพิเศษที่อยู่ในรถ ประกอบด้วย
1.เครื่องถ่ายภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองและหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่ (CT Scan)
2.ห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ (Mobile Laboratory)
3.เทเลเมดิซีน (Telemedicine) หรือระบบโทรเวชกรรม การรักษาผู้ป่วยผ่านระบบอินเทอร์เน็ตและวิดีโอคอนเฟอเรนซ์
ความแตกต่างของรถพยาบาลอัจฉริยะกับรถพยาบาลทั่วไปอีกประการหนึ่งคือ ราคา รถราคา 1 ล้านยูโร หรือประมาณ 40 ล้านบาท สูงกว่าราคารถพยาบาลทั่วไปหลายเท่าตัว ราคาที่สูงลิบลิ่วนี้จะเป็นปัญหาต่อการยื่นของบประมาณการจัดซื้อแน่ หาก นพ.สุรัตน์ มองว่ามีหนทางที่เป็นไปได้
“ผมดูแล้วไม่น่ายาก เพราะหัวใจของรถคันนี้ คือ เครื่องมือทางการแพทย์ที่ติดตั้งเคลื่อนที่ไปกับตัวรถ หากประกอบตัวรถที่สามารถติดตั้งเครื่องมือแพทย์ไว้บนรถได้ ก็เป็นไปได้ ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือทีมแพทย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ในรอบระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาทีมแพทย์ระบบประสาทของเราดูแลโรคหลอดเลือดสมองของโรงพยาบาลในเครือข่ายกว่า 15 แห่ง เราพร้อม”
แนวคิดของ ดร.สุรัตน์ เดินหน้าอย่างรวดเร็ว รถพยาบาลที่สามารถทำการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองบนรถได้อย่างทันท่วงที ช่างเหมาะสมอย่างยิ่งกับมหานครซึ่งมีการจราจรติดขัดอย่างกรุงเทพฯ เพราะทุก 1 นาทีที่สูญเสีย คือทุก 2 ล้านเซลล์สมองที่ต้องตายลง ไม่อยากคิดว่าทุกวันนี้มีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจำนวนมากแค่ไหน ที่ต้องสูญเสียโอกาสจากปัญหาการจราจรบนท้องถนนของบ้านเรา
“รถคันนี้เราสั่งต่อขึ้นเอง คิดแล้วว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ถึงซื้อรถมาจากบริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศ แต่รถยี่ห้อนี้ไม่มีดีลเลอร์หรือตัวแทนในไทย หากซื้อมาแล้วมีปัญหาจะส่งซ่อมที่ไหน จึงตัดสินใจส่งประกอบตัวรถที่อู่แถวบ้านโป่งนี่เอง รถรวมอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ราคา 17 ล้านบาท” นพ.สุรัตน์ เล่า
นพ.สุรัตน์ กล่าวต่อไปว่า การประกอบตัวรถใช้เวลา 1 ปี ได้เสริมโช้กอัพให้แข็งแรงขึ้น เนื่องจากเป็นรถพยาบาล 6 ล้อ ไม่ใช่ 4 ล้อเหมือนทั่วไป เพื่อคุณสมบัติในการรับน้ำหนักเครื่องมือทางการแพทย์ที่ติดตั้งภายในรถ นอกจากนี้รอบตัวรถได้ทำการบุตะกั่ว ป้องกันรังสีเอกซเรย์จากเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ไม่ให้แผ่ไปนอกตัวรถ ซึ่งเป็นอันตรายต่อบุคคลภายนอก
“ตัวถังรถหรือคัสซีถูกออกแบบให้สั้นที่สุด เตี้ยที่สุดและแคบที่สุด เพื่อให้พื้นที่ในรถกว้างที่สุดนั่นเอง โดยเจ้าหน้าที่ต้องยืนได้ สามารถบรรจุเครื่องมือทางการแพทย์ได้ โดยเฉพาะเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ โครงสร้างต้องแข็งแรง นอกจากนี้ก็ต้องมีพื้นที่สำหรับทีมประจำรถจำนวน 5 คน คนไข้ 1 คน ญาติคนไข้ติดมากับรถด้วยอีก 1 คน รวมทั้งหมด 7 คน”
สำหรับทีมประจำรถประกอบด้วย แพทย์ฉุกเฉิน 1 คน พยาบาลชำนาญการ 1 คน เจ้าหน้าที่เทคนิคการแพทย์ 1 คน และเวชกรฉุกเฉิน 2 คน เวชกรฉุกเฉินคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนต้องขับรถได้ ทุกคนมีหน้าที่และทำหน้าที่ของตัวเอง เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุดภายใต้เงื่อนเวลาที่จำกัด ทั้งนี้ได้ยื่นขอจดทะเบียนเป็นรถพยาบาลพิเศษ โดยได้รับอนุมัติจากกรมการขนส่งทางบก และกระทรวงสาธารณสุขเรียบร้อย
โทร. 1772 กด 7 เมื่อรถไปถึงบ้านผู้ป่วย ทีมแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินจะทำการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยทันที ทำการถ่ายภาพสมองด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งอยู่ในรถ วิเคราะห์ผลเลือดอย่างรวดเร็วด้วยเครื่องปฏิบัติการเคลื่อนที่ ส่งภาพสมองผ่านระบบอินเทอร์เน็ตแล้วทำการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เพื่อพิจารณาการให้ยาละลายลิ่มเลือด กับทีมประสาทแพทย์สโตรคที่ประจำ 24 ชั่วโมงอยู่ที่โรงพยาบาล
“ความรวดเร็วคือหัวใจของการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง รถพยาบาลอัจฉริยะตอบโจทย์ในเรื่องนี้ แต่ปัจจุบันคนไข้หรือผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังไม่รู้ ก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องให้ข้อมูลเผยแพร่ออกไป บางคนกลัวเรื่องค่าใช้จ่ายสูง ประเด็นคือราคาไม่สูงเกินอัตราค่าให้บริการของรถพยาบาลทั่วไป”
นพ.สุรัตน์ อธิบายต่อไปถึงเรื่องที่คนไข้กลัว อัตราค่าเรียกบริการรถพยาบาลทั่วไปคือ 5,000-6,000 บาท รถพยาบาลอัจฉริยะคิดค่าให้บริการเท่ากัน กรณีมีการฉีดยาสลายลิ่มเลือด 2 แสนบาท กรณีไม่ได้ฉีดยา (เนื่องจากข้อจำกัดของตัวผู้ป่วย) 1.5 แสนบาท กรณีต้องลากก้อนเลือด 4 แสนบาท เมื่อเทียบกับการทุพพลภาพหรือพิการไปตลอดชีวิต ถือว่าคุ้มมาก
ถึงปัจจุบันศูนย์รักษาอัมพาตเคลื่อนที่ได้ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองไปแล้ว 12 คน หนึ่งในนั้นคือเคสประทับใจของ นพ.สุรัตน์ เป็นครั้งหนึ่งที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาอาการโรคหลอดเลือดสมองที่โรงพยาบาลกรุงเทพเขาช่อง ปัญหาคือที่นั่นไม่มีแพทย์สมอง ญาติผู้ป่วยประสานมาทางโรงพยาบาลพญาไท 1 ได้ส่งหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ออกไปรับตัวทันที ขณะที่โรงพยาบาลเจ้าของไข้ก็ตีรถพยาบาลออกมาเร็วที่สุด วิ่งมาเจอกันกลางทาง
“มาพบกันครึ่งทางแถวๆ สระบุรี เป็นปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่ง รถเข้าจอดฉุกเฉินที่ลานซีเมนต์ในปั๊ม ทีมแพทย์ได้โทรศัพท์ประสานงานกันเป็นระยะ เมื่อพบตัวผู้ป่วยจึงสามารถทำการรักษาได้ทันที”
เคสนี้ รถพยาบาลอัจฉริยะได้ฉายความเป็นพระเอกเต็มที่ หากไม่ได้หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่คันนี้ ผู้ป่วยต้องใช้เวลาเดินทางเข้ากรุงเทพฯ อีกไม่น้อย ผลการรักษาอาจไม่ออกมาดีอย่างที่เกิดขึ้น สำหรับรายนี้จากที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย พูดไม่ได้และแขนขาอ่อนแรงหมดแล้ว ก็กลับมาปกติ ฟื้นคืนดีจากอาการทั้งหมด
“ทอม” หรือ อนุชา รุ่งเรือง เจ้าหน้าที่พยาบาลชำนาญการ โรงพยาบาลพญาไท 1 เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ เล่าให้ฟังว่า เคสประทับใจเป็นผู้ป่วยวัย 50 ปี อาศัยอยู่ที่บ้านย่านลาดพร้าววังหิน พี่ชายเป็นหมอซึ่งทราบถึงรถคันนี้มาก่อน ได้โทรมาตามรถด้วยตัวเอง ผู้ป่วยขณะนั้นมีอาการแขนขาไม่มีแรง ศูนย์ประกาศโค้ดเรียกทีม “โมบาย สโตรค อะเลิร์ท” ในทันทีนั้นทุกคนก็วิ่ง
“ไม่ว่าจะทำอะไรอยู่ ทุกคนต้องมาที่รถ ภายใน 10 นาทีรถต้องออก นี่คือข้อกำหนด ขณะนั้นเป็นเวลา 09.00 น. ลาดพร้าวรถติดมาก แต่นอกเหนือจากโมบายแล้ว ทีมของเรายังประกอบด้วยรถมอเตอร์ไซค์ที่จะส่งล่วงหน้าไปก่อน เวชกิจฉุกเฉิน 2 คนจะพุ่งไปอย่างเร็วจี๋โดยใช้บิ๊กไบค์เป็นพาหนะ แบกกระเป๋ายาขี่นำไป ต่างประเทศไม่มีมอเตอร์ไซค์ แต่เมืองไทยต้องมีเพราะรถติด เราต้องปรับเพิ่มเข้ามาเพื่อประโยชน์สูงสุดคนไข้”
ทันทีที่บิ๊กไบค์ถึงที่หมาย ก็เป็นทันทีที่การเร่งตรวจรักษาเบื้องต้นเริ่มต้น โดยอุปกรณ์ตรวจแล็บที่นำไปด้วย เมื่อสอบทานว่าเป็นอาการหลอดเลือดสมองแน่ ก็เตรียมผู้ป่วยสำหรับการทำซีทีสแกน เพื่อที่ว่าเมื่อโมบายมาถึงจะได้ทำซีทีสแกนให้คนไข้ได้ทันทีโดยไม่เสียเวลาอีก กระบวนการรักษาทั้งหมดทำที่หน้าบ้านคนไข้ จากนั้นจึงส่งตัวมารักษาต่อที่โรงพยาบาล แต่บางครั้งยังไม่ทันถึงโรงพยาบาล คนไข้ก็อาการดีขึ้น ยกแขน ยกขา พูดได้ ทั้งๆ ที่ยังอยู่ในรถพยาบาลนั่นเอง
“บรรยากาศบนรถคือต่างคนต่างรู้หน้าที่ พยาบาลและเวชกิจฉุกเฉินไปชาร์จคนไข้ก่อน ตรวจแล็บก็ทำบนรถได้เลย ขณะเดียวกันแพทย์ก็ตรวจคนไข้ เทเลเมดิซีนทำหน้าที่ของมัน ทีมแพทย์ที่โรงพยาบาลเมื่อเห็นผลซีทีสแกนจะสั่งดำเนินการ เหมือนยืนคุมการรักษาอยู่ตรงนั้นด้วย ทุกอย่างดำเนินไปพร้อมกันและสอดคล้องกันเหมือนเฟืองนาฬิกา”
“จอม” ว่าที่ ร.ต.เจตศักดิ์ดา สงพัฒน์แก้ว เจ้าหน้าที่กู้ชีพ EMT-B (emergency medical technition-basic) หนึ่งในเจ้าหน้าที่ประจำรถโมบายหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ เล่าให้ฟังว่า Mobile CT & Stroke Treatment Unit ตัวรถจะหนักกว่ารถตู้ปกติหรือรถพยาบาลทั่วไป รวมทั้งมีความสูงและความยาวกว่า โดยความใหญ่และความหนักของตัวรถ สำหรับผู้ขับขี่ถือว่าชินแล้ว อย่างไรก็ตาม มีข้อกำหนดสำหรับเจ้าหน้าที่เวชกิจฉุกเฉินผู้ขับขี่ในการฝึกซ้อมตลอดเวลา
“ต้องเทรน ต้องซ้อมเข้มข้นครับ พนักงานขับต้องมีชั่วโมงบินและชั่วโมงซ้อม ต้องดูแล ต้องช่วยทำแล็บ สรุปว่าต้องทำได้ทุกอย่างรวมทั้งขับรถ”
การจราจรที่ติดขัดของกรุงเทพฯ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ สำคัญจะขับอย่างไรให้มีความปลอดภัยสูงสุด ขณะเดียวกันก็ “ไป” ให้เร็วที่สุด เคยมีเหมือนกันที่รถเมล์ปาดหน้า คิดถึงอุปกรณ์การแพทย์ที่ติดตั้งอยู่ภายในรถ บางชิ้นราคาเป็นหลัก 10 ล้าน แค่คิดจอมก็เสียวแล้ว แต่ในเสี้ยววินาทีนั้นจริงๆ จะไม่ได้คิดหรือเสียวอะไร เพราะที่แวบเข้ามาก่อนคือสติ สติมาแล้ว รถปลอดภัยแล้ว จึงอนุญาตให้ตัวเองเสียวได้หนึ่งแวบแล้วขับต่อไป
“กระจกข้างแตกไปหน่อย นอกนั้นไม่มีอะไรเสียหาย สติสำคัญ ตระหนักรู้ว่าเรากำลังควบคุมยานพาหนะที่จะต้องนำไปสู่เป้าหมายการรอดของชีวิตให้ได้” น้องจอมเล่า
ส่งท้ายด้วย นพ.สุรัตน์ กล่าวว่า เรื่องที่รถพยาบาลของพญาไท 1 เป็นหนึ่งในท็อปไฟว์ของโลก ก็น่ายินดีอยู่ แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือการที่เราจะรักษาพยาบาลคนของเราได้ดีขึ้น คนของเราจะมีอัตราการรอดชีวิตและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งที่สำคัญที่สุดคือ มาตรฐานการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองของไทยที่จะยกระดับขึ้น
“คนไทยต้องรู้ว่า ที่นี่...ประเทศไทย เรามีรถพยาบาลที่ดีที่สุดสำหรับการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง และต้องรู้ว่า ‘ทุกคน, มีสิทธิเรียกใช้บริการรถพยาบาลอัจฉริยะคันนี้ได้เสมอ”