สภาวะ ‘ฝืน’
โดย...ว.แหวน ภาพ... เอพี
โดย...ว.แหวน ภาพ... เอพี
ไม่ทุกเรื่องในชีวิตเรา ที่จะได้ทำอะไรตามใจตัวเอง จะด้วยเหตุจำเป็นบางอย่างบังคับให้ต้องทำ หรือการทำเพื่อตามใจผู้อื่น แม้ตัวเองไม่เห็นด้วยนัก แต่ต้องเลือกทำเพราะเหตุผลทางอารมณ์ ความรู้สึกเป็นหลัก เราเรียกสภาวะเหล่านี้ว่า “ฝืน” ที่จะอยู่ตรงกันข้ามกับความอยาก ตรงข้ามคำว่า “ถูกจริต” “โดน” “ชอบ” “รัก” “สนุก” ตรงข้ามทุกคำอธิบายที่ถ่ายทอดความหมายในด้านบวก
เราจึงมองคำว่า “ฝืน” ออกมาในแง่ลบมากกว่าบวก ลบแน่ๆ คือลบในความรู้สึก และก็มักจะได้คำพูดจากปากคนอื่นตามมาว่า “ลองฝืนทำเหอะ ไม่ได้ดีหรอก” สภาวะ “ฝืน” ยังมีอีกมุมหนึ่งคือ “การทำอะไรที่ตรงกันข้ามกับความเป็นตัวตน สวนทางกับวิถีชีวิตขัดแย้งกับสังขาร” และคำจำกัดความนี้ มักไม่ได้ออกมาจากความคิดเรา แต่มักมาจากความคิดของคนรอบข้าง การประเมินศักยภาพของเราจากภาพที่เห็น จากที่มาจากความเคยชิน จากความน่าจะเป็น ตัดสินจากความคิดของตัวเอง และอาจแถมความรู้สึกดูถูกเข้าไปด้วย เช่น “คนอย่างมัน! จะทำอะไรได้” “คนเราฝืนสังขารไปทำไมวะ? ไม่เข้าท่า” “ลองดูเหอะ ดันทุรังทำในเรื่องเกินตัว ไปไม่รอด” “จะฝืนไปทำไมวะ? เหนื่อยเปล่า โง่รึเปล่าวะ?” “อย่าฝืนต่อไปเลย! ยอมแพ้ซะเหอะ”
คุณเห็นอะไรบางอย่างในประโยคเหล่านี้หรือเปล่า? อะไรบางอย่างที่เป็นมุมบวก! “การฝืน” ไม่ได้ให้แค่คำว่า “แพ้” ไม่ได้ให้แค่คำว่า “ล้มเหลว” ไม่ได้ให้แค่คำในด้านลบ เช่น “ไม่สนุก” “ไม่อยากทำเลย” “ทำไปทำไม” “ทำไมฉันต้องมาทำอะไรแบบนี้ด้วย” “ต้องทำเพราะไม่มีทางเลือก” “จำใจ กัดฟัน ยอมทน ฝืนใจ” ถามว่า อะไรที่มันจะเกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น หรือหลังจากนั้น?
ฉันเห็นคำว่า “เอาชนะ” ฉันเห็นคำว่า “เลือดเข้าตา” ฉันเห็นคำว่า “เสี่ยงเพื่อพลิกชะตาชีวิต” “ไม่มีอะไรจะเสีย” “ถอยไม่ได้ ต้องไปให้สุด” ฉันเห็นคำว่า “ไม่ลองไม่รู้” ฉันเห็นคำว่า “อะไรที่คิดว่าทำไม่ได้ ไม่ได้หมายถึงว่าทำไม่ได้” “อะไรที่ไม่เคยทำ ไม่ได้หมายถึงไม่ควรทำ”
สภาวะ “ฝืน” เป็นบททดสอบศักยภาพอย่างหนึ่งของมนุษย์ ในกรณีที่เราต้องจำใจทำ หรือฝืนทำเพียงเพราะเหตุจำเป็นบางอย่างของชีวิต เช่น ทำเพื่อครอบครัว ละทิ้งความฝันเพื่อเลี้ยงปากท้องอีกหลายชีวิต เผชิญกับภาวะกดดันที่บีบให้เราจนมุมจนต้องทำ เจอกับสถานการณ์แปลกใหม่ ฉุกเฉินจนต้องเผชิญ ต้องแก้ปัญหาด้วยตัวเอง มีความบกพร่องทางร่างกายจนต้องทำอะไรบางอย่างที่ต้องใช้ความพยายามมากกว่าคนอื่น ตัวอย่างที่เห็นชัดสุด คือ เหล่าบรรดานักกีฬาพาราลิมปิกทุกคน ทั้งหมดที่ฉันกล่าวมาคือสภาวะ “ฝืน” ทั้งสิ้น โดยเฉพาะความพยายามนำพาตัวเองเข้าสู่เส้นทางโอลิมปิกในสภาวะที่ร่างกายเหมือนหุ่นยนต์ที่ประกอบร่างไม่เสร็จ (ลองนึกภาพ)
ถ้าเรารู้ในสิ่งที่เขาทำตั้งแต่แรก เราทุกคนจะต้องพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ฝืนสังขาร” มันจะเป็นไปได้อย่างไร? คนที่ครบสามสิบสองยังพยายามแทบตายจึงจะทำได้ ฉันเดาได้ว่าเจ้าตัวเองก็รับรู้ตัวเองเช่นกันว่า “เรากำลังฝืนสังขาร” แต่มีคำคำหนึ่งที่ลอยเข้ามาในหัว คือ “แรงเอาชนะ” ต่อให้เรามีที่มาอย่างไร ก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องมีที่ไปในทิศทางเดียวกัน เดาตอนจบได้ ศักยภาพของมนุษย์ ร่างกายของเรา หัวใจของเรา พลังของเรา มีมากกว่าที่เราคิด แต่จะไม่มีวันสำแดงเดชให้เราเห็นได้เลย หากขาดความพยายาม ความมุ่งมั่น
และมันจะยิ่งชัดมากขึ้น หากเราลองเลือกใช้สภาวะ “ฝืน” ให้กับชีวิตเราเองบ้าง ลองทำบางสิ่งบางอย่างที่สวนทางกับความอยาก ขัดแย้งกับความชอบ และลงแรง ดิ้นรน จนไปถึงขั้น “ฝืน” ดูว่าแท้จริงแล้ว เราทนได้แค่ไหน? ถึงจุดไหนที่เรายินดีปล่อย? หลายฉากของชีวิตที่เรามักพร่ำบ่นกับตัวเองว่า “จะไม่ไหวแล้วนะ” “ไม่เอาแล้วนะ” “ไม่ทำแล้วนะ” “ยอมแพ้แล้วนะ” ก่อนจบมันลงจริงๆ ลองไปให้สุดกว่านั้นอีกนิด ดูซิว่า “ยังได้อีกมั้ย?” “ยังไหวหรือเปล่า?”
หลายครั้งที่ชีวิตฉันเกิดความคิดขึ้นมาว่า “ไม่ไหวแล้ว” “พอเหอะ” “ยอม” แต่การกระทำกลับลังเล ไม่สรุปไปตามความคิด และยังเลือกที่จะกระเสือกกระสน ฝืน ไปต่อในสิ่งที่เพิ่งคิดไปว่าจะล้มเลิก ฉันต้องขอบคุณการกระทำของตัวเอง ที่ดื้อและรู้จักฝืนใจตัวเองเป็น เพราะหลายความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับชีวิต ฉันอาจไม่มีวันแตะไปถึงจุดนั้นได้เลย ถ้าฉัน “ยอม” จริงๆ ตั้งแต่ที่คิด
ฉันอยากให้กำลังใจสำหรับคนอีกหลายคนที่กำลัง “ฝืน” ทำอะไรบางอย่างอยู่? ไม่เพราะ “ฝืน” หรอกหรือที่ทำให้เราเห็นศักยภาพบางอย่างของเรา ที่เราจะไม่มีวันพบเจอความสามารถตรงนั้นเลย ถ้าเราปล่อยตัวตามสบาย ไม่เพราะ “ฝืน” หรอกหรือที่ทำให้เราผ่านทุกอย่างมาได้ จนต้องยกนิ้วให้ตัวเอง ไม่เพราะ “ฝืน” หรอกหรือที่เราได้รู้จักตัวเองมากขึ้น เมื่อก่อนอาจคิดว่า “แค่นี้ก็แย่ที่สุดแล้ว” “สุดๆ แล้ว ไม่ไหวแล้ว” แต่กลับกลายเป็นว่าเราผ่านมาได้ ไปๆ มาๆ ยังทนได้อีก เราอึดกว่าที่เราคิด เรายังไหวกว่าที่เราประเมินตัวเอง
บางครั้งชีวิตก็ถูกส่งบททดสอบมาในคำสั้นๆ ว่า “ฝืน” เพื่อให้เราได้แสดงพลังบางอย่างออกมา ใครจะไปรู้ล่ะว่า หลังคำว่า “พอแล้ว” “ยอมแล้ว” มีทางเลือกให้เราอยู่สองทาง คือ “ยอมจริง” แล้วก็ “แพ้จริง” กับอีกทางเลือกหนึ่ง คือ “อีกนิดเถอะ” “อีกนิดเดียวก็จะชนะแล้ว” เราไม่มีวันรู้หรอกว่า ไอ้คำว่า “อีกนิดเดียว” นั่นมันแค่ไหน? นานเท่าไร? เพราะถ้ารู้! มันจะถูกเรียกว่า “บททดสอบ” ได้อย่างไร? จริงมั้ย?
ขอยกย่องหัวใจของนักกีฬาพาราลิมปิกทุกคน ฉันเชื่อแน่ว่า กว่าพวกเขาจะผ่านมาถึงวันนี้ได้ พวกเขาต่างเผชิญกับสภาวะ “ฝืน” มาแล้วเกือบทั้งชีวิต
เข้าไปพูดคุยหรืออ่านมุมมองความคิดของ ว.แหวน ได้ที่ www.facebook.com/Worwaenfanpage