“บ้านพิงพัก” โครงการเพื่อผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายของมูลนิธิศูนย์มะเร็งเต้านมเฉลิมพระเกียรติ
เมื่อใครบางคนพูดว่า “ชีวิต” ไม่เหลืออะไรอีก สำหรับบางคนแล้วมันหมายความเช่นนั้นจริงๆ ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะสุดท้ายที่ยากไร้ “เวลา”
โดย...วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ มูลนิธิศูนย์มะเร็งเต้านมเฉลิมพระเกียรติ
เมื่อใครบางคนพูดว่า “ชีวิต” ไม่เหลืออะไรอีก สำหรับบางคนแล้วมันหมายความเช่นนั้นจริงๆ ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะสุดท้ายที่ยากไร้ “เวลา” ในชีวิตของพวกเขานับถอยหลัง ขณะที่ “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ก็เหลือศูนย์ มันคือความตายที่ไม่มีคนสนใจ ความตายที่ไร้ราคาค่างวด เศษค่าความเป็นมนุษย์ที่น่าอเนจอนาถ ทางเลือกมีไม่มาก หากในอนาคตอันใกล้พวกเขาจะมีทางเลือกมากขึ้น วาระสุดท้ายของชีวิตกำลังจะเปลี่ยนไป
“บ้านพิงพัก” (Pink Park Village) โครงการเพื่อผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายของมูลนิธิศูนย์มะเร็งเต้านมเฉลิมพระเกียรติ สถานที่ดูแลผู้ป่วยด้อยโอกาส ด้วยวัตถุประสงค์ในการดูแลเอาใจใส่อย่างดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะสุดท้าย ทั้งในระหว่างรับการรักษาและเมื่อจากไป โครงการมีพื้นที่ 121 ไร่ ตั้งอยู่ที่มีนบุรี เริ่มก่อสร้างปี 2559 ปัจจุบันการก่อสร้างระยะแรกใกล้แล้วเสร็จ จะเปิดให้บริการบ้านพักผู้ป่วยในเดือน ส.ค.ปีหน้า
นพ.กฤษณ์ จาฏามระ ผู้ก่อตั้งและประธานมูลนิธิศูนย์มะเร็งเต้านมเฉลิมพระเกียรติ เล่าว่า สำคัญที่สุดคือการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Human Dignity) บ้านพิงพักก่อตั้งขึ้นเพื่อคำคำนี้ โครงการรองรับผู้ป่วยได้ 30 คน แม้ไม่มาก แต่จะทำให้มาตรฐานการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายของประเทศเปลี่ยนโฉมหน้าไปสู่มาตรฐานใหม่ที่ดีขึ้น อบอุ่นขึ้น และสะท้อนคุณค่าในชีวิตของเพื่อนมนุษย์มากขึ้น
“ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คำนี้สำคัญ ผู้ป่วยแม้ต้องตาย แต่ไม่ใช่การนอนรอความตาย”
นพ.กฤษณ์ เล่าว่า เคยมีผู้บริจาครายหนึ่งตั้งคำถามถึงความจำเป็นของโครงการว่า มีเตียงให้นอน มีอาหารให้กินไม่พอหรือ คำตอบคือไม่พอ ย้อนถามตัวเราเองสิว่า ถ้าผู้ป่วยเป็นคุณป้าของเรา หรือเป็นญาติที่รักของเรา เราจะดูแลคุณป้าหรือญาติที่รักของเราอย่างไร ไม่ใช่แค่เตียงและอาหารแน่ๆ ส่วนความคุ้มค่าในการลงทุนก็ยิ่งไม่ต้องพูดถึง เนื่องจากโครงการนี้ไม่ได้เริ่มต้นเพื่อตอบคำถามเรื่องความคุ้มค่าของเม็ดเงิน
จุดเริ่มต้นอยู่ที่ไหน ไม่ใช่เรื่องของความคุ้มค่าการลงทุน ไม่ใช่เรื่องของแรงบันดาลใจ แต่เป็นบางอย่างที่ทำให้เดินหนีไม่ได้ เมื่อหลายปีก่อนในระหว่างการรณรงค์ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ชุมชนแออัดแห่งหนึ่ง ทีมแพทย์และพยาบาลได้เข้าไปให้ความรู้ชุมชน รวมทั้งคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายเพื่อที่จะนำมาคัดกรองต่อไป ในวันนั้น นพ.กฤษณ์ได้พบกับผู้ป่วยรายหนึ่ง อายุประมาณ 50 ปีเศษ นอนหายใจรวยรินอยู่บนกระดาษแข็ง ข้างๆ มีกล่องโฟมสกปรกๆ ใส่อาหารแห้งๆ และขวดน้ำพลาสติกราคาถูก 1 ขวดที่คนเอามาวางไว้
“เป็นภาพที่แปลกมาก เป็นภาพที่ทำให้ทนอยู่ไม่ได้ ภาพนั้นทำให้ผมบอกกับภรรยาที่ได้ร่วมเดินทำโปรเจกต์อยู่ด้วยกันว่า เรามาสร้างสิ่งที่รองรับคนไข้กลุ่มนี้กันดีกว่า”
ประธานมูลนิธิศูนย์มะเร็งเต้านมเฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า “ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่กำลังจะตาย” คนไข้กลุ่มนี้มีอยู่ นั่นหมายถึงความจำเป็นที่จะต้องมีสถานที่พักพิงก่อนเสียชีวิต ขณะเดียวกันก็แก้ปัญหาล็อกเบด หรือกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีที่ไป เมื่อต้องนอนอยู่โรงพยาบาล ก็เท่ากับจำกัดโอกาสในการรับผู้ป่วยใหม่ที่ต้องการการตรวจรักษา
โครงการบ้านพิงพักได้จัดวางผังแม่บทให้เป็นหมู่บ้านในสวน เรียบง่าย แวดล้อมด้วยร่มเงาของธรรมชาติ ให้ความรู้สึกอบอุ่น สบายใจ เป็นเหมือนดั่งบ้านแด่ทุกคนที่มาพักพิง โครงการเน้นพื้นที่สีเขียว ต้นไม้ในโครงการเน้นพันธุ์ไม้ดอกสีชมพู มีความร่มรื่นสวยงาม และสอดคล้องกับสัญลักษณ์โบสีชมพูของมะเร็งเต้านม การดูแลผู้ป่วยเหมือนดูแลญาติด้วยหัวใจ
“ที่บ้านพิงพัก คนดูแลผู้ป่วยสำคัญที่สุด ทีมแพทย์พยาบาลคัดสรรผู้มีจิตใจดีงาม ใจต้องดี และใจต้องถึง เพราะที่นี่คือคนไข้กลุ่มระยะสุดท้าย เขาเกิดมาจนและจนมาตลอดชีวิต เขาป่วยมานาน เจ็บปวดมานาน เขาไม่มีที่ไป และแน่นอนที่สุดที่เขาจะตายที่นี่”
สิ่งที่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายต้องเผชิญคือภาวะสิ้นหวังและความทุกข์ทรมาน ทั้งร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะผู้ป่วยด้อยโอกาสซึ่งไร้ที่พักพิง บ้านพิงพักมุ่งให้การดูแลผู้ป่วยอย่างดีที่สุด เอาใจใส่และเข้าถึงจิตใจผู้ป่วยให้ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างมีคุณภาพตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต ดูแลเยียวยาทั้งกายใจจิตวิญญาณ ทุกศาสนาและทุกลัทธิความเชื่อ
นอกจากจะประกอบด้วยบ้านพักผู้ป่วยระยะสุดท้ายแล้ว บ้านพิงพักยังประกอบด้วย บ้านพักฟื้นผู้ป่วย ในกรณีผู้ป่วยต้องรับการรักษาด้วยเคมีบำบัดและรังสีต่อเนื่องนานหลายสัปดาห์ ซึ่งถือเป็นช่วงยากลำบากสำหรับผู้ป่วย เนื่องจากร่างกายจะอ่อนแอมาก ผู้ป่วยหลายรายที่ภูมิลำเนาเดิมอยู่ต่างจังหวัด ต้องเข้ามารับการรักษาตัวที่กรุงเทพฯ เมื่อไม่มีค่าที่พักก็จำต้องไปอาศัยอยู่อาศัยกินตามวัดหรือนอนตามใต้สะพานหน้าโรงพยาบาลเป็นที่น่าเวทนา ต่อไปก็จะสามารถมาพักที่บ้านพิงพักได้ เมื่อรับการรักษาหายแล้วก็กลับบ้าน
นพ.กฤษณ์ กล่าวต่อไปว่า บ้านพิงพักยังจะประกอบด้วยศูนย์ฟื้นฟูสภาพและกิจกรรมระหว่างวัน เพื่อให้ผู้ป่วยได้ร่วมกิจกรรมและสันทนาการโดยนักกิจกรรมบำบัด สร้างกำลังใจให้รู้สึกถึงคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ พัฒนาเป็นสถานประกอบกิจกรรมของผู้ป่วยและอาสาสมัคร รวมทั้งศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม ยิ่งไปกว่านั้นคือศูนย์วิจัยและวินิจฉัยโรค กุญแจสำคัญในการต่อสู้กับมะเร็งเต้านมและช่วยชีวิตผู้ป่วยในระยะยาว
“ปัจจุบันเรามีศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถเพื่อโรคมะเร็งเต้านม รพ.จุฬาลงกรณ์ ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์มะเร็งเต้านมชั้นนำของภูมิภาค มีความพร้อมของอุปกรณ์และวิทยาการที่ทันสมัยสูงสุดสำหรับการตรวจวินิจฉัย การรักษา เมื่อผนวกกับโครงการบ้านพิงพักที่จะเป็นที่พักระยะสุดท้ายของผู้ป่วย นั่นจะทำให้เรามีศูนย์การรักษาและดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ดีที่สุดและครบวงจรที่สุดแห่งหนึ่งของโลก”
โครงการบ้านพิงพักต้องใช้เงินลงทุนมากกว่า 500 ล้านบาท (ไม่รวมศูนย์วิจัย) แม้ปัจจุบันยังขาดงบประมาณอีกจำนวนมาก แต่ยังคงเดินหน้าต่อไป นพ.กฤษณ์ กล่าวว่า ความคาดหวังคือการที่ทุกคนในสังคมได้เห็นปัญหาและแก้ไขปัญหาร่วมกัน เงินบริจาคสำคัญเท่าๆ กับความเข้าใจที่มีต่อปัญหา การตระหนักรู้ และวาระมะเร็งเต้านมที่เป็นภัยคุกคามผู้หญิงไทยมากขึ้นเรื่อยๆ