จากมุมสัมผัสภูมิทัศน์อันเงียบเหงา ดาว วาสิกศิริ
ชอบที่จะมาหอศิลป์แห่งนี้ ด้วยความที่ต้องผ่านห้องสมุดและต้องขึ้นไปสู่ชั้น 7 สำนักงานวิทยทรัพยากร
โดย...พริบพันดาว ภาพ หอศิลปวิทยนิทรรศน์ จุฬาฯ
ชอบที่จะมาหอศิลป์แห่งนี้ ด้วยความที่ต้องผ่านห้องสมุดและต้องขึ้นไปสู่ชั้น 7 สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเข้าไปสู่หอศิลปวิทยนิทรรศน์และเข้าชมงานศิลปะที่ถูกจัดแสดง เพราะความที่ต้องดั้นด้นค้นหาจึงทำให้คนที่มามีความตั้งใจที่จะมาเสพชมงานศิลปะของที่นี่อย่างแท้จริง
“Quiet Encounters–จากมุมสัมผัสภูมิทัศน์อันเงียบเหงา” ของ ดาว วาสิกศิริ ที่จัดแสดงอยู่ที่นี่จึงเป็นเสน่ห์ที่คนสนใจ จึงจะเข้าสู่รั้วของจุฬาฯ แล้วค้นหาลายแทงเพื่อไปสู่หอศิลป์
ดาวเป็นศิลปินภาพถ่ายและช่างภาพโฆษณาที่อยู่แถวหน้าของเมืองไทย ได้รับการยอมรับในเรื่องฝีมือลายมือมายาวนาน เมื่อมีงานจัดแสดงภาพถ่ายและประติมากรรมนูนต่ำแบบจัดวางจึงมีความน่าสนใจเป็นยิ่งยวด เขาได้เขียนคำปรารภถึงงานชุดนี้ของเขาว่า
“ในการเดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ ของบ้านเมือง ได้บันทึกภาพภูมิทัศน์สิ่งแวดล้อมที่ตนเองได้ประสบพบเห็นระหว่างทางซึ่งมีลักษณะของความเจริญที่หลากหลายผสมปนเปกันไป จนความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบทเริ่มไม่ค่อยชัดเจน โดยในการบันทึกภาพเหล่านั้นไม่ได้สนใจที่จะเอาเรื่องความสวยความงามมาเป็นประเด็น แต่ได้หันไปสนใจในสิ่งที่เรามักจะมองข้ามและเห็นเป็นเรื่องธรรมดากันมากกว่า พร้อมกับมีคำถามต่างๆ นานาเกิดขึ้นมาในใจ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ภาพเหล่านั้นชวนให้อ่านเข้าไปในเรื่องราวเกี่ยวกับรสนิยมและวิถีชีวิตที่ทำให้สังคมไทยได้เปลี่ยนไปจนส่งผลให้ภูมิทัศน์ของสภาพแวดล้อมพลอยเปลี่ยนไปด้วยอย่างที่เห็นกันอยู่”
เมื่อเข้าไปสัมผัสภาพถ่ายชุดนี้ของดาว ภายใต้การจัดแสงที่อบอวลนวลสว่างให้ความรู้สึกที่อบอุ่น แต่อารมณ์ความรู้สึกที่ถ่ายพลังออกมาจากภาพกลับโหวง อ้างว้าง และว่างเปล่า
การบันทึกภาพพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย ที่นำเสนอความแตกต่างระหว่างความเจริญทันสมัยกับทิวทัศน์ธรรมดา โดยเน้นไปที่ความไม่ลงตัวของตึกรามบ้านช่องในเขตปริมณฑลที่ถูกสร้างขึ้นมาโดดๆ ทำให้เกิดภูมิทัศน์อันเงียบเหงาแทรกซึมเข้ามาเรื่อยๆ ในบ้านเมือง
บทความที่ชื่อ “สรรค์สร้างกันไปในปัจจุบันขณะ–ภูมิทัศน์จากมุมสัมผัสของดาว” โดย ฟิลิป คอร์นเวล-สมิธ นักเขียนและบรรณาธิการชาวอังกฤษ ซึ่งอยู่เมืองไทยมากว่า 2 ทศวรรษ ได้แสดงทัศนะที่มีต่องานชุดนี้ของดาวไว้ยืดยาว ซึ่งมีใจความสำคัญคือ
“ในการเดินทางไปยังจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทยพร้อมกับกล้องประจำตัว ดาว วาสิกศิริ ได้ประสบพบเห็นหลายสิ่งหลายอย่างที่คนในพื้นที่ได้สรรค์สร้างกันขึ้นมา และได้บันทึกภาพเหล่านั้นเอาไว้ ภาพในชุดที่ว่านี้แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างสิ่งที่เรียกกันว่าความทันสมัยกับทิวทัศน์ธรรมดา”
เขาได้สรุปถึงภาวะปะทะกันระหว่างความเป็นเมืองกับชนบท จนเกิดการผสมผสานอย่างอิหลักอิเหลื่อเหลื่อมล้ำและไม่ลงตัวผ่านภาพถ่ายของดาว
“ผลลัพธ์จากทั้งหมดนี้ก็คือความเป็นชนบทได้หายไป แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นเมืองเสียทีเดียว แนวขอบเขตพื้นที่สิ้นสุดของเมืองก็หายไปด้วยและกลายเป็นพื้นที่ชุมชนปริมณฑลชานเมืองกระจายออกไปในรูปแบบที่เหมือนกันหมด”
สุดท้ายก็สรุปถึงแนวโน้มในอนาคต โดยเฉพาะมุมมองตะกอนความคิดที่สะท้อนภาพถ่ายในงานนิทรรศการครั้งนี้ของดาวว่า
“สิ่งที่แทรกซึมเข้ามาอย่างเงียบๆ เหล่านี้ ถึงแม้จะมีขนาดที่ไม่ใหญ่โตมากนัก แต่ก็ค่อยๆ สะสมก่อตัวกันขึ้นมาเรื่อยๆ จนเปลี่ยนโฉมประเทศไทยไปในที่สุด คล้ายกับการเจาะ การสัก การยกกระชับใบหน้า ที่ทำให้คนเราดูเปลี่ยนไปทีละนิดทีละหน่อย แล้วเสี่ยงกันเอาเองว่าในอีกสิบยี่สิบปีให้หลัง หน้าตาจะออกมาเป็นอย่างไร ดังนั้นโดยรวมแล้ว ภาพภูมิทัศน์ต่างๆ ที่คุณดาวได้ประสบพบเจอและบันทึกเอาไว้จึงเป็นเสมือนกระจกส่องให้เห็นถึงสิ่งที่คนไทยได้เลือกสะสมกันทีละนิดทีละหน่อยในการปรุงแต่งเปลี่ยนโฉมนั่นเอง”
เมื่อเดินดูภาพถ่ายทั้งหมด ทำให้หวนคิดถึงบทสัมภาษณ์ของดาวในอดีตที่มีต่อภาพถ่ายงานศิลปะ ซึ่งแตกต่างจากงานโฆษณาที่เป็นอาชีพของเขาว่า เขาให้น้ำหนักกับ “เรื่องราว” มากกว่า “ความสวยงาม”
“ผมถึงบอกไงว่าคุณเอากล้องอะไรมาให้ผมถ่ายก็ได้ มันไม่ได้อยู่ที่ว่ากล้อง แต่อยู่ที่ว่าคุณทำอะไรกับมันมากกว่า ช่างภาพมันอยู่ที่มุมมอง วินาทีที่คุณเห็นภาพนั้นคุณจะกดไหม จะกดมุมไหน ถ้าไม่กดแล้วคุณจะกดเมื่อไหร่ แล้วความหมายมันคืออะไร ภาพที่ดีสำหรับผม ควรจะมีหลายชั้นในภาพ รูปนี้มันน่าสนใจนะ น่าสนใจยังไง เราก็หาเข้าไป มันมีหลายชั้นได้ รูปสวยบางทีมีเพียงชั้นเดียว มันอธิบายตัวของมันจบแล้ว และมันก็ไม่มีอะไรที่คุณต้องอ่านลึกลงไปอีก”
ไปสัมผัสนิทรรศการภาพถ่ายชุดนี้ซึ่งจัดแสดงถึงวันที่ 15 ต.ค. 2559 ได้ที่ ชั้น 7 สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร. 02-218-2965 อีเมล [email protected]