นอแรด เสือโคร่ง และควันหลงการประชุมไซเตส
ในรอบ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวน่าสนใจในแวดวงอนุรักษ์สัตว์ป่าระดับโลก
โดย...อินทรชัย พาณิชกุล ภาพ... คลังภาพโพสต์ทูเดย์
ในรอบ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวน่าสนใจในแวดวงอนุรักษ์สัตว์ป่าระดับโลก ผู้เขียนขออนุญาตนำมาสรุปให้คุณผู้อ่านได้รับทราบกันเรื่องแรก เมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา ตรงกับวันอนุรักษ์แรดโลก (World Rhino Day) ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2553 จุดประสงค์เพื่อกระตุ้นให้ตระหนักถึงสถานการณ์ความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของแรดที่ยังคงถูกล่าอย่างผิดกฎหมายอยู่ในปัจจุบัน
คนส่วนใหญ่คงไม่รู้ว่า ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ประชากรแรดทั่วโลกลดจำนวนลงกว่า 95% สาเหตุมาจากการล่าอย่างผิดกฎหมายเพื่อนำนอแรดไปเป็นเครื่องประดับและยาแผนโบราณ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียมีความเชื่อกันว่านอแรดรักษาโรคมะเร็งได้ ทั้งที่ไม่มีการยืนยันจากแวดวงการแพทย์เลยก็ตาม
ปัจจุบันแรดมี 5 สายพันธุ์ ประกอบด้วย 1.แรดขาว 2.แรดดำ 3.แรดอินเดีย 4.แรดชวา 5.กระซู่ หรือแรดสุมาตรา บางชนิดอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ บางชนิดสูญพันธุ์ไปแล้ว เรื่องเศร้าก็คือ แม้จะมีการอนุรักษ์ มีการออกกฎหมายควบคุมเข้มงวด ทว่าแรดยังคงถูกล่าอย่างต่อเนื่อง และเป็นไปได้สูงว่าจะสูญพันธุ์อย่างถาวรในช่วงชีวิตของเรา
เรื่องที่สอง รายงานล่าสุดจากองค์การเครือข่ายควบคุมการค้าสัตว์ป่า (TRAFFIC) และกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) เปิดเผยว่า ปริมาณการลักลอบค้าเสืออย่างผิดกฎหมายไม่ลดลงเลยทั่วภูมิภาคเอเชีย วัดได้จากการตรวจยึดชิ้นส่วนอวัยวะของเสือไม่น้อยกว่า 1,755 ตัว ในช่วงระหว่างปี 2543-2558 เฉลี่ยแล้วมีเสือถูกฆ่าตายมากกว่าสัปดาห์ละ 2 ตัว
รายงานยังระบุอีกว่า 30% ของเสือที่ตรวจยึดได้ระหว่างปี 2555-2558 ล้วนมาจากสถานที่เพาะพันธุ์เสือ โดยมีหลักฐานชี้ชัดว่าขบวนการลักลอบค้าเสือเลือกใช้เส้นทางเดิมตามแนวจากประเทศไทยสู่ประเทศเวียดนามโดยผ่านทางประเทศลาว สอดคล้องกับข้อมูลที่พบว่าทั้งสามประเทศนี้เป็นมีสถานที่เพาะพันธุ์เสือเพิ่มจำนวนขึ้น
สตีเว่น บรอด ผู้อำนวยการ TRAFFIC บอกว่า แม้รัฐบาลต่างๆ จะให้คำมั่นครั้งแล้วครั้งเล่าว่าจะปิดสถานที่เพาะพันธุ์เสือทั่วภูมิภาคเอเชีย กระนั้นสถานที่เพาะพันธุ์เสือกลับสวนทาง และกลายเป็นตัวการสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการค้าเสืออย่างผิดกฎหมาย ขณะที่เหล่านักอนุรักษ์ได้เรียกร้องให้ประเทศที่มีสถานที่เพาะพันธุ์เสือ ไม่ว่าจะเป็นจีน เวียดนาม ไทย และลาว ให้คำมั่นว่าจะทำการยุติการทำฟาร์มเสือทันที
เรื่องสุดท้าย เมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา ณ ประเทศแอฟริกาใต้ มีการประชุมอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือไซเตส (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora : CITES) ครั้งที่ 17 ซึ่งมีประเทศสมาชิกเข้าร่วม 180 ประเทศ
หนึ่งในข้อตกลงร่วมที่ทุกประเทศเห็นพ้องต้องกันคือ การคงไว้ซึ่งกฎห้ามซื้อขายงาช้างและนอแรดระหว่างประเทศ ทั้งยังเพิ่มการคุ้มครองการค้าตัวนิ่มและนกแก้วแอฟริกันเกรย์ โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม ถือเป็นตลาดค้านอแรดที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งในที่ประชุมได้มีมติกดดันให้เวียดนามและโมซัมบิกหาหนทางหยุดยั้งการค้านอแรดอย่างผิดกฎหมายภายในเวลา 1 ปี มิเช่นนั้นทางกลุ่มจะมีมาตรการลงโทษทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ที่ประชุมยังเรียกร้องให้ประเทศไทย ซึ่งยังเปิดให้มีตลาดค้างาช้างอย่างถูกกฎหมายภายในประเทศ ดำเนินมาตรการทางกฎหมาย หรือวางกฎระเบียบกดดันเพื่อปิดตลาดเหล่านั้นให้ได้โดยเร็วที่สุด
อีกประเด็นที่สำคัญคือ หลายประเทศสมาชิกเริ่มหันมาใช้ระบบการตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการทำประมงแบบยั่งยืน โดยไม่ทำร้ายปลาฉลามและปลากระเบน รวมทั้งจำกัดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการทำฟาร์มเสือและการค้าสัตว์ป่าที่เกิดจากการเพาะพันธุ์ ซึ่งจะช่วยป้องกันการนำสัตว์ป่ามาปลอมปนเพื่อการค้า
เทเรซ่า ฟรานซ์ หัวหน้าตัวแทนผู้เข้าร่วมประชุมจาก WWF ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิดว่า การประชุมไซเตสครั้งนี้ ถือเป็นการประชุมที่สำคัญและทรงพลังมากที่สุด จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นการประชุมที่ประสบความสำเร็จที่สุดนับตั้งแต่เริ่มดำเนินการจัดประชุมมา
“ผลของการประชุมคือ การที่ทุกประเทศเห็นชอบร่วมกันที่จะลงมือป้องกันการค้าสัตว์ป่าระหว่างประเทศ และช่วยกันตรวจสอบประเทศสมาชิกอื่นๆ ว่าได้ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้หรือไม่ ต่อไปนี้ทุกประเทศจะไม่มีข้ออ้างใดๆ เพราะมีเครื่องมือในการทำงานที่หลากหลายและมีเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจนมากขึ้น ดังนั้นจึงถือเป็นความรับผิดชอบของทุกประเทศที่จะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงที่ให้ไว้”
ทั้งหมดนี้คือ ข่าวคราวความเคลื่อนไหวล่าสุดในแวดวงอนุรักษ์สัตว์ป่าโลก