เที่ยว ‘สวรรค์’ ณ สวรรคโลก
สวรรค์มีอยู่จริง เพราะเมืองสวรรคโลกยังมีอยู่จริง สวรรคโลกเป็นอำเภอหนึ่งใน จ.สุโขทัย ในอดีตเคยเป็น จ.สวรรคโลก
โดย...กาญจน์ อายุ
สวรรค์มีอยู่จริง เพราะเมืองสวรรคโลกยังมีอยู่จริง
สวรรคโลกเป็นอำเภอหนึ่งใน จ.สุโขทัย ในอดีตเคยเป็น จ.สวรรคโลก นาน 24 ปี ทำให้หลายอย่างในอำเภอนี้มีความพิเศษกว่าอำเภอใด โดยในปี 2458 สวรรคโลกเคยมีฐานะเป็นจังหวัดสมัยสุโขทัย หลังจากนั้นปี 2482 ได้ถูกยุบให้มีฐานะเป็นอำเภอ จึงไม่แปลที่อำเภอเล็กๆ จะมีทั้งสถานีรถไฟ สถานที่ราชการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศาลหลักเมือง สิ่งบ่งชี้ความเป็นจังหวัดที่เคยเป็นผ่านมา
สวรรคโลก
ศาลาทำการรถไฟเป็นอาคารไม้โบราณ และยังเก็บข้าวของตกยุคไว้อย่างดีอย่างกับเป็นพิพิธภัณฑ์ ที่แห่งนี้เราได้พบกับ พี่นก-สัญญา พานิชยเวช ปราชญ์ชาวบ้าน ชายพลัดถิ่นจากบ้านเกิดมาเป็นลูกหลานเมืองสวรรคโลกเต็มตัว พี่นก เล่าว่า ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางรถไฟเป็นยานพาหนะสำคัญในการทำสงคราม โดยทางการได้ตัดทางรถไฟผ่านสวรรคโลกไปยังเมืองเมาะลำไยชายแดนเมียนมา นำพาการค้าขายผ่านมา ชาวสวรรคโลกเป็นชาวไร่ ปลูกฝ้าย ถั่วเหลือง ปลูกข้าว ก็นำไปค้าขายกับคนเมืองไกลผ่านรถไฟ
นอกจากนี้ เมืองสวรรคโลกยังติดแม่น้ำยม อีกหนึ่งเส้นทางค้าขายของชาวบ้าน ซึ่งรถไฟและเรือได้นำพาชาวต่างชาติเข้ามาจำนวนมาก ทั้งชาวจีน แขก มอญ สร้างความครึกครื้นถึงขั้นเป็นตลาดราคากลาง ที่สามารถกำหนดราคาพืชผลทางการเกษตรของทั้งประเทศ
“คนสวรรคโลกแต่ก่อนชอบบ่นว่านอนไม่หลับ” พี่นกทิ้งช่วงให้คิด “เพราะปลาในแม่น้ำยมมีมาก เล่นน้ำกันทั้งคืนจนคนนอนไม่หลับเลย” นั่นแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ สมกับคำว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว และเมื่อพูดถึงข้าว นั่นเป็นอีกผลิตผลหนึ่งที่ชาวสวรรคโลกปลูกเลี้ยงชีพมาถึงปัจจุบัน
สถานีรถไฟตั้งอยู่กลางเมืองสวรรคโลก บ้านเมืองเก่าแก่ที่ยังคงรักษาความเก่าไว้ในสถาปัตยกรรม เรือนแถวไม้ และบ้านปูนที่มีหน้าบ้านแคบ ตัวบ้านยาว และเพดานลาดลงไปทางหลังบ้านซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ที่สำคัญชาวบ้านได้รักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ในอาหาร อย่าง “ร้านบะหมี่เม้ง 100 ปี” ที่เปิดกิจการมาเป็นร้อยปี โดยมีเถ้าแก่เนี้ยเป็นชาวจีนที่เข้ามาค้าขายและเผยแพร่วัฒนธรรมการกินก๋วยเตี๋ยวให้คนไทย
ก๋วยเตี๋ยวสวรรคโลกไม่เหมือนก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย หนึ่ง สวรรคโลกไม่ใช้ถั่วฝักยาว ใช้เส้นบะหมี่ ใส่กะหล่ำปลี เกี๊ยว หมูแดง และราดน้ำหมูแดงชุ่มเส้น “จริงๆ แล้วคนเมืองสุโขทัยไม่ได้ชอบกินถั่วฝักยาวจนใส่ไว้ในก๋วยเตี๋ยว” พี่นกเริ่มเปิดประเด็น “แต่เพราะการค้าขายในสุโขทัยเริ่มซบเซาจากการตัดถนน สุโขทัยเมืองค้าขายจึงเปลี่ยนเป็นแค่ทางผ่านจากเหนือลงใต้และจากใต้ขึ้นเหนือ ถั่วฝักยาวที่ชาวบ้านปลูกล้นตลาด ครั้นจะปล่อยให้เน่าเสีย ชาวบ้านจึงนำมาใส่ก๋วยเตี๋ยวด้วยความเสียดายเท่านั้นเอง”
ข้อมูลและหลักฐานทางประวัติศาสตร์เมืองสวรรคโลกได้ถูกรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก จัดแสดงหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์บริเวณลุ่มแม่น้ำและดินแดนแถบนี้ตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ ทั้งหลักฐานโบราณวัตถุ โบราณสถาน ที่แสดงถึงพัฒนาการของบ้านเมือง มีโบราณวัตถุสำคัญ ได้แก่ รูปนางอัปสรและเทวดา ขวานหินขัด และกระเบื้องเชิงลาย
นอกจากนี้ เครื่องถ้วยสังคโลกเป็นอีกหลักฐานสำคัญที่บอกเล่าถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมสุโขทัย สังคโลกมีการผลิตมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี จากนั้นสังคโลกได้ถูกพัฒนารูปแบบและวิธีการผลิตเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น โดยมีแหล่งเตาอยู่ในเมืองสวรรคโลกเก่า หรือ อ.ศรีสัชนาลัย ในปัจจุบัน
คำว่า สังคโลก สันนิษฐานว่ามาจากชื่อเมืองสวรรคโลก ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสังคโลกที่ใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น เครื่องสังคโลกมี 6 ประเภท ได้แก่ เครื่องเคลือบสีเขียวไข่กา หรือเซลาดอน เครื่องเคลือบเขียนลายสีดำหรือสีน้ำตาลใต้เคลือบ เครื่องเคลือบสองสี เครื่องเคลือบสีน้ำตาลถึงดำ เครื่องเคลือบสีขาวขุ่น และภาชนะไม่เคลือบ
นอกจากนี้ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติยังมีห้องจัดแสดงพระพุทธรูปที่แบ่งกลุ่มตามการกำหนดอายุสมัยและรูปแบบศิลปะ ได้แก่ ศิลปะลพบุรี ศิลปะเชียงแสนหรือล้านนา ศิลปะสุโขทัย ศิลปะอู่ทอง ศิลปะอยุธยา และศิลปะรัตนโกสินทร์ องค์สำคัญคือ พระพุทธรูปศิลปะอู่ทองที่มีจารึกอักษรไทยสุโขทัย แปลได้ว่า ตนนี้ก่อพระเจ้าแม่เอินไว้ในบุรพารามนี้ อันเป็นหลักฐานที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างสุโขทัยกับสุพรรณภูมิ
ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น ร่องรอยแห่งอดีตยังหลงเหลืออยู่อย่างสมบูรณ์ที่ โรงพักเรือนทรงแบบปั้นหยา สร้างเมื่อปี 2482 ทำจากไม้สักและไม้ตะแบกจำนวน 400 ยก รูปแบบยุโรปผสมไทย มีหลังคาทรงปั้นหยาและจั่วทรงมะนิลาผสมกัน สิ่งที่น่าสนใจคือ บนโรงพักยังคงส่วนประกอบทุกอย่างไว้ทั้งห้องขังนักโทษ โต๊ะสิบเวร โต๊ะจดบันทึกประจำวัน แท่นเก็บปืน และตู้เซฟเก็บเงินเดือนข้าราชการซึ่งเสมือนธนาคารในปัจจุบัน
อาจกล่าวได้ว่าสวรรคโลกเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิต เพราะผู้คนยังอาศัยอยู่ในบ้านเรือนเก่า ยังประกอบอาชีพเป็นชาวนาชาวไร่ และชาวบ้านเป็นลูกหลานสวรรคโลกที่แท้จริง
ทุ่งเสลี่ยม
ห่างจาก อ.สวรรคโลก ไป 35 กม. ขับผ่านทุ่งนาและภูเขาหินปูนตั้งตระหง่านไปยัง อ.ทุ่งเสลี่ยม อำเภอเล็กๆ แต่มีเงินสะพัดไม่น้อย ทุ่งเสลี่ยมเป็นทางผ่านจากจังหวัดในภาคเหนือตอนล่างไปยังตอนบน ซึ่งอำเภอนี้ไม่มีอะไรจะดึงดูดใจมากไปกว่าทุ่งนา
นาทุ่งเสลี่ยมคือนาของชาวบ้าน เห็นได้สองข้างทางถนน และไม่มีการกำหนดจุดถ่ายภาพชัดเจน แต่ทุ่งนามีลายเซ็นเป็นฉากภูเขาหินปูนด้านหลัง อันเป็นภูมิประเทศเฉพาะตัวของอำเภอนี้
“ทุ่งเสลี่ยมเคยเป็นอำเภอหนึ่งของ จ.สวรรคโลก โดยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่นี่เป็นหน้าด่าน มีร่องรอยสงครามอยู่ที่บ้านไทยชนะศึก”
ชื่อทุ่งเสลี่ยมสันนิษฐานได้ 2 ความหมาย คือ ทุ่งสะเรียม หรือทุ่งสะเดา เพราะในปัจจุบันยังพบต้นสะเดาตามธรรมชาติจำนวนมาก และทุ่งสระเหลี่ยม เพราะในอำเภอมีบ่อน้ำสี่เหลี่ยมเก่าแก่ตั้งอยู่กลางชุมชน
“คนทุ่งเสลี่ยมกินข้าวเหนียวแบบล้านนา อู้คำเมืองแบบล้านนา เพราะคนท้องถิ่นเป็นคนล้านนาที่อพยพมาจากเมืองเถิน” พี่นกเล่าต่อ
ถ้าจะหาแหล่งท่องเที่ยวในทุ่งเสลี่ยม คงต้องแนะนำให้ไปไหว้พระที่วัดทุ่งเสลี่ยม ที่ประดิษฐานหลวงพ่อศิลาศักดิ์สิทธิ์ของชาวบ้าน จากนั้นแวะกินข้าวกลางวันที่ร้านตำยกครก ต่อด้วยของหวานร้านโรตีริซึ่ม และปิดท้ายด้วยกาแฟที่บ้านหอมกลิ่นดิน ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวแบบมาเช้าเย็นกลับ ให้กลับไปนอนที่สวรรคโลก หรือจะบินกลับที่สนามบินสุโขทัยในสวรรคโลกก็ง่ายต่อการเดินทาง
สวรรคโลก–ทุ่งเสลี่ยม เส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยง 2 อำเภอที่เหมาะอย่างยิ่งกับสายชิล เพราะทั้งสองอำเภอไม่มีความเร่งรีบ มีเพียงความเชื่องช้าของสายลม ทั้งสองอำเภอไม่มีแลนด์มาร์คให้เช็กอิน มีเพียงทุ่งนาสีเขียวแซมเหลืองให้ทอดสายตา และทั้งสองอำเภอไม่มีชื่อเสียงฉายา มีเพียงความสงบ เรียบง่าย และรอยยิ้มของคุณลุงป้าน้าอาที่แจกจ่ายเป็นของฟรี ท้ายที่สุดแล้ว ไม่สามารถตอบแทนได้ว่าสวรรค์มีอยู่จริงหรือไม่ แต่ที่ตอบได้คือ รอยยิ้ม ทุ่งนา และสายลมนั้นเป็นของจริง ซึ่งงดงามไม่แพ้สวรรค์แน่นอน