(จตุรภาคี) สมเด็จวัดระฆัง พระรอด ผงสุพรรณ นางพญา
เปิดสนามพระวันนี้ มาชมชุดพระเบญจภาคี แต่มี 4 จึงตั้งหัวให้สอดคล้องว่า จตุรภาคี ที่แฟนทางบ้านแบ่งมาให้ศึกษา
โดย...อาจารย์ชวินทร์ chavintapoti@gmail.com
เปิดสนามพระวันนี้ มาชมชุดพระเบญจภาคี แต่มี 4 จึงตั้งหัวให้สอดคล้องว่า จตุรภาคี ที่แฟนทางบ้านแบ่งมาให้ศึกษาเพื่อเป็นแนวทางสะสม ทั้งพิมพ์ทรงถูกต้อง วรรณะเนื้อหาจัด ถ้าได้มองบ่อยๆ ก็จะจำติดตา แยกแยะได้ สามารถเข้าไปชมภาพชัดได้ที่เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ หัวข้อ ธรรมะ-จิตใจ ขอขอบคุณ คุณจิตต์ปราณี สกุลก้องเกียรติ ที่แบ่งพระเครื่องทั้ง 4 องค์ มาให้ศึกษาครับ
องค์แรก ชมพระสมเด็จ วัดระฆังโฆสิตาราม สร้างโดย สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังษี เป็นพระเครื่องที่มีผู้นิยมสูงสุดในประเทศไทย ได้รับการยกย่องให้เป็นจักรพรรดิแห่งพระเครื่อง มวลสารของพระสมเด็จฯ ส่วนใหญ่เป็นปูนขาว ผสมผงวิเศษ เช่น ผงมหาราช อิทธิเจ ปถมัง ตรีนิสิงเห โดยสมเด็จฯ เป็นผู้ทำผงกรรมวิธีแบบโบราณ คือ เขียนบนกระดานชนวน เขียนแล้วลบ นำผงมาผสมกับมวลสารอื่นๆ เช่น ดอกไม้แห้ง ใบลานเผา อิฐแดงจากกำแพงเพชร มาสร้างพระ โดยมีน้ำมันตังอิ้ว ทำให้เนื้อพระแตกหักง่าย องค์ที่นำมาให้ชมเป็นพระพิมพ์ใหญ่ เนื้อหาจัด ดูง่าย ราคาอยู่ที่ใจครับ
องค์ที่สอง ชมพระรอด พิมพ์ใหญ่ กรุวัดมหาวัน ลำพูน สร้างโดยฤๅษีวาสุเทพในสมัยพระนางจามเทวีได้ปกครองเป็นปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรหริภุญไชย พระรอด แบ่งแยกเป็น 5 พิมพ์ มีพิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก พิมพ์ต้อ และพิมพ์ตื้น ในแต่ละพิมพ์ก็ยังมีอีกหลายแม่พิมพ์ โดยอาจจะมีส่วนผสมของเนื้อที่ต่างกัน เพราะได้รับการเผาในอุณหภูมิที่ต่างกัน ตลอดจนน้ำหนักการกดพิมพ์ในแต่ละครั้งด้วย จึงทำให้พระรอดแต่ละองค์จึงมีลักษณะของสี ขนาด หรือรายละเอียดของพิมพ์ทรงดูต่างกัน
องค์ที่สาม ชมผงสุพรรณ หน้าแก่พิมพ์ใหญ่ กรุวัดพระศรีมหาธาตุ สุพรรณบุรี หนึ่งในเบญจภาคีเช่นกัน
การแตกกรุเพราะชาวจีนอาชีพปลูกผักอยู่ในเขตวัดพระศรีรัตนมหาธาตุได้ปีนขึ้นไปบนองค์พระปรางค์ ได้ไต่ลงไปในองค์พระปรางค์ พบสมบัติมากมาย แล้วขนสมบัติกลับเมืองจีนโดยไม่แตะต้องพระเครื่อง ต่อมาเจ้าเมืองได้ตั้งกรรมการไปเปิดกรุที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุได้พบพระบูชาและพระเครื่องมากมายและพระผงสุพรรณ และยังพบแผ่นลานเงินและลานทองบางส่วนที่ยังหลงเหลืออยู่
จากการแปลออกมา ได้ความว่า มีฤๅษี 11 ตน มีพระฤๅษีพิมพิลาไลย พระฤๅษีตาไฟ พระฤๅษีตาวัว ได้สร้างพระพิมพ์โดยนำเอาว่านยาที่มีฤทธิ์กับเกสรดอกไม้และแร่ต่างๆ แล้วทำเป็นพระพิมพ์ สถานหนึ่งแดง สถานหนึ่งดำ และพิมพ์ลายมือของท่านมหาเถระปิยะทัสสี ศรีสารีบุตร ผู้เป็นประธาน และยังได้นำแร่ธาตุต่างๆ หล่อเป็นพระพิมพ์ พระผงสุพรรณ แบ่งออกเป็น 3 พิมพ์ คือ พิมพ์หน้าแก่ พิมพ์หน้ากลาง และพิมพ์หน้าหนุ่ม องค์ที่นำมาให้ชม เนื้อหาจัด ดูง่าย เป็นแนวทางสะสมได้ครับ
ปิดท้ายด้วย พระนางพญา กรุวัดนางพญา พิษณุโลก พระนางพญาที่สร้างขึ้นมี 6 พิมพ์ด้วยกัน คือ พิมพ์เข่าตรง พิมพ์เข่าโค้ง พิมพ์สังฆาฏิ พิมพ์เทวดา พิมพ์อกนูนใหญ่ พิมพ์อกนูนเล็ก ว่ากันว่า ผู้สร้างพระนางพญา คือ พระวิสุทธิกษัตรีย์ พระมเหสีของพระมหาธรรมราชา และทรงเป็นพระราชมารดาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระองค์ทรงสร้างพระนางพญาขึ้นในคราวบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชบูรณะ ราว พ.ศ. 2090-2100 พุทธคุณเน้นเรื่องแคล้วคลาด โชคลาภ และเมตตามหานิยม องค์ที่นำมาให้ชมเป็นพิมพ์เข่าโค้ง เนื้อหาจัด ดูง่าย
จากกันด้วยธรรมะ “คนเราจะสุขหรือทุกข์อยู่ที่มุมมอง ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญทำให้ใจเราเปิดกว้าง หรือใจแคบ”
อาจารย์ชวินทร์ chavintapoti@gmail.com