posttoday

ขอปาฏิหาริย์ จงเกิดกับเวเนซุเอลา…

19 พฤศจิกายน 2559

ณ เวลานี้ คงไม่มีนักเศรษฐศาสตร์หรือนักการเมืองท่านใดในเวเนซุเอลา

โดย...ทีมงานโลก360องศา

ณ เวลานี้ คงไม่มีนักเศรษฐศาสตร์หรือนักการเมืองท่านใดในเวเนซุเอลา ที่จะกล้าออกมาการันตีว่า เศรษฐกิจของเวเนซุเอลาจะฟื้นตัวได้ในเร็ววัน เว้นเสียแต่ว่าจะมี “ปาฏิหาริย์”

“โชค” เคยเปลี่ยนเศรษฐกิจของเวเนซุเอลาได้ในชั่วข้ามคืน ในช่วงทศวรรษ 1960 เมื่อมีการค้นพบน้ำมัน และนำมาซึ่งการเข้าสำรวจและขุดเจาะเพิ่มเติม จนพบว่านี่คือประเทศที่มีน้ำมันสำรองมากที่สุดในโลก!!! คือเหลือให้ใช้และขายได้อีกร่วม 300 ปี ซึ่งโชคที่มาเยือนในครั้งนั้น ทำให้เวเนซุเอลากลายเป็นประเทศเศรษฐี ที่ร่ำรวยและมีอิทธิพลมากประเทศหนึ่งของโลก เพราะยุคนั้นประเทศผู้ผลิตน้ำมันมีอำนาจต่อรองทางการเมืองค่อนข้างสูง สามารถร่วมมือกันหยุดส่งออกน้ำมันไปยังประเทศใดประเทศหนึ่ง เหมือนการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ เพื่อต่อรองเงื่อนไขที่ต้องการได้ (Oil Embargo)

อดีตเศรษฐีน้ำมันประเทศนี้เคยผลิตปิโตรเลียมได้เกือบ 4 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งในช่วงทศวรรษ 1970 ซึ่งเป็นยุคที่ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รายได้จากการส่งออกจึงพุ่งพรวด ส่งผลต่อรายได้ประชาชาติที่สูงขึ้น ทุกคนกลายเป็นคนรวย จนทำให้เป็นประเทศที่พัฒนาทางเศรษฐกิจมากสุดในอเมริกาใต้

เรื่องนั้นเป็นเพียงอดีตอันหวานชื่นเท่านั้น แต่ภาพปัจจุบันแตกต่างไปโดยสิ้นเชิง เพราะปัจจุบันจะมีคนอยู่แค่ 2 ชนชั้น คือชนชั้นบน ซึ่งเป็นคนที่ต้องรวยมากๆ จึงจะอยู่รอดได้แบบไม่เดือดร้อน และคนอีกชนชั้นหนึ่ง คือคนจน ที่เป็นคนหมู่มาก ส่วนชนชั้นกลางนั้นไม่มีอยู่แล้ว เพราะได้กลายมาเป็นคนจนแทบทั้งสิ้น

ทั้งคนจนและคนรวยก็มีทุกข์ที่ต่างกันไป คือ คนรวยต้องคอยระแวงอันตราย ต้องอยู่ในบ้านที่มีกำแพงสูง มีลวดหนาม มีลวดไฟฟ้ากันขโมย เวลาจะไปไหนมาไหนก็ต้องกลัวถูกปล้น ส่วนคนจนก็มีทุกข์จากความอดอยาก ความขาดแคลน และการดิ้นรนเอาตัวรอด ในสังคมที่เต็มไปด้วยปัญหา ซึ่งคนจนในเวเนซุเอลาก็สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะนิสัย คือ “คนจนผู้ดิ้นรน” กับ “คนจนผู้รอคอย”

ขอปาฏิหาริย์ จงเกิดกับเวเนซุเอลา…

 

คนจนผู้ดิ้นรนนั้น คือ กลุ่มคนที่ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ลดค่าใช้จ่าย ยอมทำงานหนักมากขึ้น โดยที่สมาชิกแต่ละคนในครอบครัวต้องทำงานมากกว่าหนึ่งอย่าง ทั้งงานประจำและงานพาร์ตไทม์ เพื่อให้ได้เงินมาให้มากที่สุด สำหรับใช้จ่ายในครอบครัว

ส่วนคนจนอีกประเภท คือ คนจนผู้รอคอย ซึ่งคนพวกนี้จะบ่นรัฐบาล วันๆ เอาแต่นั่งเฉยๆ และรอคอยว่าเมื่อไรรัฐบาลจะเอาเงิน เมื่อไรที่รัฐบาลจะเอาอาหารมาแจก

มีควาพยายามวิเคราะห์เพื่อหาคำตอบว่าอะไรคือสาเหตุของปัญหา? ความมั่งคั่งของประเทศนี้หายไปไหน? ...หรือมีใครขโมยไป?

คำตอบมาตกอยู่แถวๆ คำว่า “นโยบายทางการเมือง” แต่เรื่องที่คนไม่กล้าฟันธงว่า “ใครคือคนกำหนดนโยบายที่ผิดพลาด” เพราะผู้นำในทุกยุคทุกสมัยก็มีทั้งคนรักและคนชัง คนที่ได้ประโยชน์ก็จะรัก ส่วนคนที่เสียประโยชน์ก็อาจจะชิงชัง

เราย้อนกลับไปในปีทศวรรษ ​1970 ที่ผู้นำในยุคนั้นมีเป้าหมายที่จะกระจายความมั่งคั่งไปยังทุกๆ คน แต่วิธีการ อาจจะฟังดูแปลกอยู่สักหน่อย คือ แนวคิดของการยึดเอามาจากคนรวยเพื่อแจกจ่ายคนจน แทนที่จะสนับสนุนให้คนจนมีขีดความสามารถแข่งขันกับคนรวย ทำให้คนที่ทำธุรกิจไม่กล้าเติบโต

ปี 1976 ประธานาธิบดี คาร์ลอส แอนเดรส เปเรซ (Carlos Andres Perez) ออกนโยบายเศรษฐกิจที่เรียกว่า “ลา แกร๊น เวเนซุเอลา” (La Gran Venezuela) ซึ่งมีแนวคิดยึดเอากิจการพลังงานที่เคยเป็นของเอกชนมาเป็นของรัฐบาล แล้วตั้งบรรษัทพลังงานของรัฐบาลที่ชื่อว่า “พีดีวีเอสเอ” (PDVSA : Petroleos de Venezuela S.A.) ขึ้นมาดูแลกิจการทั้งหมด ซึ่งในช่วงแรกนั้น กิจการดำเนินต่อไปได้ด้วยดี เพราะอาศัยประสบการณ์จากผู้บริหารและช่างเทคนิคที่เคยทำงานให้บริษัทข้ามชาติมาก่อน ทำให้เกิดดอกออกผลสำหรับเอามาใช้ในโครงการต่างๆ ของรัฐบาล

 

ขอปาฏิหาริย์ จงเกิดกับเวเนซุเอลา…

 

PDVSA กลายเป็นแหล่งสร้างประโยชน์มหาศาลให้กับรัฐบาล คือเป็นทั้งแหล่งรายได้สำหรับนำไปสนับสนุน โครงการรัฐบาล และเป็นแหล่งสร้างงานให้ประชาชน เพราะคนจำนวนมากอยากได้รับโอกาสเข้าทำงานในองค์กรนี้ จึงเกิดระบบเด็กเส้นขึ้น คือ คนที่ไม่ได้มีความสามารถมากพอแต่มีเส้นสาย ก็สามารถเข้าไปทำงานที่นี่ได้ ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ก็ส่งผลให้ต้นทุนเพิ่ม และประสิทธิภาพถดถอยลง ประกอบกับไม่มีการลงทุนใหม่ๆ ท้ายที่สุดก็เริ่มมีปัญหาหนี้สิน

อันที่จริงแล้ว การที่รัฐบาลเอาผลประโยชน์ของชาติมาแบ่งปันประชาชนก็น่าจะเป็นเรื่องดี แต่อาจจะดีกว่านี้หากเอามาสร้างสรรค์สวัสดิการสังคมที่จำเป็น เช่น พัฒนาการศึกษา สร้างหลักประกันสุขภาพ หรือสร้างงาน แต่ถ้าหากว่าเอามาใช้ในโครงการประชานิยมเพื่อหวังคะแนนเสียง และไม่ได้เกิดประโยชน์ในระยะยาวแล้วล่ะก็ ต่อให้มีเงินมากกว่านี้อีกสิบเท่าร้อยเท่า ก็คงมีแต่เจ๊งกับเจ๊งเท่านั้นเอง

อูโก้ ชาเบซ (Hugo Rafael Chávez Frías) คือ อดีตประธานาธิบดี ผู้ที่เดินนโยบายประชานิยมอย่างเด่นชัด เพราะเขามีโครงการกว่า 4,000 โครงการ ซึ่งมีแนวคิดเพื่อเอาใจประชาชน เช่น การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเอง ให้ได้เปรียบเงินต่างชาติ โครงการสินค้าราคาถูกๆ โครงการสร้างบ้านเอื้ออาทร โครงการร้านค้ารัฐบาล และอื่นๆ อีกมาก ซึ่งอันที่จริงแล้วมีเพียงไม่กี่โครงการเท่านั้นที่เกิดผลขึ้นเป็นรูปธรรม แต่ก็ทำให้ประธานาธิบดีชาเบซ ได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นจากกลุ่มคนจน

ปี ค.ศ. 2003 ประธานาธิบดีชาเบซออกมาตรการควบคุมเงินตราไม่ให้ไหลออกนอกประเทศ โดยห้ามการใช้สกุลเงินต่างชาติในการทำธุรกรรมในประเทศ และกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเอง โดยแบ่งเป็นอัตราที่ต่างกัน เช่น การนำเข้าสินค้าให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนสูง ในขณะที่การซื้อขายทั่วไปในประเทศก็ให้ใช้อัตราต่ำ ทำให้สินค้านำเข้าบางอย่างมีราคาถูกกว่าผลิตเอง ซึ่งฟังดูเหมือนว่าแนวคิดจะดี แต่การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่แตกต่างกันหลายระดับแบบนี้ กลับทำให้ขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ และการที่สินค้านำเข้ามีราคาต่ำกว่าผลิตเอง ก็ยังทำให้ธุรกิจบางประเภทอยู่ไม่ได้ จนสุดท้ายก็ปิดตัวไป และประเทศก็ต้องพึ่งพิงการนำเข้าเพียงอย่างเดียว ยิ่งไปกว่านั้น ผลจากนโยบายดังกล่าวยังทำให้เกิด “ตลาดมืดแลกเงิน” ขึ้นอีกด้วย

ขอปาฏิหาริย์ จงเกิดกับเวเนซุเอลา…

 

นโยบายควบคุมราคาสินค้าก็เริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 2003 เช่นกัน ซึ่งช่วงแรกๆ ก็ได้เสียงเฮจากคนจน แต่ต่อมากลับยิ่งเพิ่มปัญหาเงินเฟ้อและภาวะการขาดแคลนอาหารมากขึ้น เพราะวิธีการในการบังคับให้คนขายขายในราคาที่ต่ำกว่าทุน ก็ไม่มีใครอยากขาย ถ้ามีสินค้าอยู่ก็เอามาขายหน้าร้านบางส่วนตามที่รัฐบาลบังคับ ส่วนที่เหลือก็แอบเอาไว้ขายหลังร้านในราคาที่สูงกว่า จนท้ายที่สุดก็เกิด “ตลาดมืดของสินค้า” ขึ้นอีกเช่นกัน

นโยบายอุดหนุนค่าพลังงาน โดยทำให้ราคาน้ำมันถูกเหมือนให้เปล่า (เบนซิน 91 ลิตรละ 2 โบลิวาร์ และเบนซิน 95 ลิตรละ 6 โบลิวาร์ ในขณะที่ราคาน้ำดื่มอยู่ที่ประมาณลิตรละ 500-600 โบลิวาร์) และค่าไฟฟ้าก็ถูกกว่าต้นทุนจริงมาก (ค่าไฟฟ้าในครัวเรือนเฉลี่ย 300-500 โบลิวาร์/เดือน) ทำให้เกิดปัญหาตามมาคือ การใช้พลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ และภาวะขาดทุนสะสมของการไฟฟ้าก็กลายเป็นข้อจำกัดในการพัฒนาคุณภาพ ประกอบกับนโยบายทางด้านพลังงานไฟฟ้าที่พึ่งพิงไฟฟ้าพลังน้ำเสียกว่าร้อยละ 70 ก็ทำให้เวเนซุเอลาเผชิญกับปัญหาไฟฟ้าดับอยู่บ่อยครั้งในช่วงหน้าแล้ง

สิ่งที่เกิดขึ้นมาเป็นทศวรรษ ทำให้ประชาชนเสพติดโครงการประชานิยมโดยไม่รู้ตัว และรัฐบาลเองก็ถอนตัวไม่ขึ้น เพราะถ้าหากยกเลิกโครงการใดไป ประชาชนก็จะออกมาประท้องและส่งผลต่อคะแนนนิยมของรัฐบาล

ช่วงปี ค.ศ. 2012 PDVSA เข้าสู่ภาวะวิกฤต เนื่องจากในทศวรรษที่ผ่านมาไม่มีศักยภาพในการเพิ่มผลผลิต เงินทุนถูกใช้ไปกับการจัดซื้อเครื่องบินรบ และใช้ในโครงการประชานิยมของรัฐบาล จนปี 2013 ต้องกู้เงินจากจีนและรัสเซีย เพราะหนี้สินที่ติดลบมากขึ้น

การพิมพ์ธนบัตรเพิ่มเพื่อหวังจะกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีอีกต่อไป เพราะภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงแตะ 700 เปอร์เซ็นต์ ในปีหน้า กำลังจะทำให้ค่าพิมพ์ธนบัตรแพงกว่ามูลค่าของธนบัตรด้วยซ้ำไป

สถานการณ์ตอนนี้มีแต่แย่ลงและแย่ลง คงมีเพียงแค่ปาฏิหาริย์เท่านั้นที่จะช่วยได้…