posttoday

สึนามิ & โรงแรมในฝันที่ต้องฝ่าฟัน จักริน กตัญชลีกุล

20 พฤศจิกายน 2559

ในวัย 32 โตโต้-จักริน กตัญชลีกุล สามารถเป็นเจ้าของโรงแรมที่ชิกแห่งหนึ่งในย่าน อ.เมือง จ.ภูเก็ต

โดย...วราภรณ์ ภาพ : วิศิษฐ์ แถมเงิน

ในวัย 32 โตโต้-จักริน กตัญชลีกุล สามารถเป็นเจ้าของโรงแรมที่ชิกแห่งหนึ่งในย่าน อ.เมือง จ.ภูเก็ต โดยเขานั่งในตำแหน่งประธานผู้จัดการ โรงแรม Quip bed & Breakfast จ.ภูเก็ต ซึ่งเขาได้แรงบันดาลใจสำนึกรักบ้านเกิดมาจากเหตุการณ์สึนามิที่เปลี่ยนความคิดเด็กหนุ่มที่เข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ ขณะที่เขาเรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 ได้เกิดเหตุการณ์สึนามิพัดสู่ฝั่งทะเลอันดามัน ไม่ใช่แค่คร่าชีวิตผู้คนนับ 4,000 แต่ยังทำให้ธุรกิจขายส่งเสื้อผ้าสำเร็จรูปของครอบครัวได้รับผลกระทบขาดทุนหลายล้านบาท แต่ด้วยหน้าที่ที่จักรินตั้งใจว่าเมื่อศึกษาจบจะกลับมาช่วยพ่อกับแม่กู้ธุรกิจที่บ้านมาให้จงได้ นอกจากช่วยพ่อแม่ทำงานกู้วิกฤตแล้ว ในวัยเพียง 28 ปี เขาสามารถมีโรงแรมเล็กๆ เป็นของตัวเองได้แม้ต้องฟันฝ่าอุปสรรคมากมาย

อาสาสมัครสึนามิ

จากเป็นคนชอบดูหนังสยองขวัญ แต่การเป็นอาสาสมัครเก็บศพที่หาดบางเนียง บางสัก น้ำเข็ม ต.ตะกั่วป่า จ.พังงา ทำให้เขาเปลี่ยนความคิดไม่กล้าดูหนังสยองขวัญอีกเลย ด้วยเป็นคนภูเก็ตมาโดยกำเนิด ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยจักรินเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ขณะที่เรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 อยู่นั้น ได้เกิดสึนามิขึ้นอย่างไม่คาดฝันเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2547 จำได้ว่าตอนเกิดสึนามิเขากำลังเตรียมตัวอ่านหนังสือสอบ แต่ก็ได้ติดตามข่าวด้วยหัวใจที่กระวนกระวาย เป็นห่วงพ่อกับแม่ที่ภูเก็ต แต่ด้วยหน้าที่ทำให้เขาต้องสอบให้เสร็จเรียบร้อย และเดินทางลงไปภูเก็ตด้วยเครื่องบินไฟลต์เช้าของวันที่ 28 ธ.ค.ทันที

สึนามิ & โรงแรมในฝันที่ต้องฝ่าฟัน จักริน กตัญชลีกุล

 

“จำได้ว่าตอนเกิดสึนามิตื่นมาตอนเช้า ได้ยินข่าวคลื่นสึนามิพัดภูเก็ต ตอนนั้นไม่รู้ว่าสึนามิคืออะไร ในข่าวเขาใช้คำว่า คลื่นยักษ์ พอโทรหาพ่อแม่ แม่บอกว่าไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะบ้านเราไม่ได้ติดทะเล แต่แม่ได้โทรไปหาลูกค้าหลายคนที่มีบ้านอยู่ติดชายทะเลทั้งที่พีพี เกาะลันตา เขาหลักพังงา เพราะแม่รู้สึกเป็นห่วงลูกค้า ผมก็คิดว่าคงไม่เป็นอะไรมาก พอสอบเสร็จเช้าวันที่ 28 ธ.ค. ผมบินกลับไปหาแม่ทันทีเลย พอไปถึงบ้านพบว่าแม่เครียดมาก แม่บอกว่าโทรหาลูกค้าไม่ติดเลย พอวันที่ 29 ธ.ค. ผมพาแม่ไปหาลูกค้าในพื้นที่ประสบภัย ภาพที่เห็นคือร้านค้าทุกอย่างพังพินาศ ผมรู้สึกตกใจมากเพราะภาพก่อนหน้านี้คือสวยงาม จู่ๆ ทุกอย่างพังหมด พอเจอหน้าลูกค้าของแม่ เขาก็มาปรับทุกข์กับแม่ บางบ้านมีสมาชิก 7 คน แต่ตายมากถึง 6 คน” จักรินเล่าว่า เรื่องราวที่ลูกค้าเล่าถึงวินาทีหนีตายคือ ภาพเหมือนในหนังเลย คือ เป็นแฟนกันต้องปีนหนีออกทางหน้าต่างบ้าน เมื่อฟังแล้วเขารู้สึกหดหู่ แทนที่จะได้ถามถึงเงินที่ลูกค้าต้องจ่ายให้แม่ แต่กลับไม่กล้าทวงเงินเพราะรู้สึกสงสาร เศร้าและรู้สึกเป็นห่วงว่า เขาจะอยู่ต่อไปได้อย่างไร

ผ่านไปอีกแค่ช่วงเวลา 2 วันหลังจากที่จักรินกลับไปบ้าน เพื่อที่ลงไปเป็นอาสาสมัครช่วยมูลนิธิต่างๆ ได้โทรมาชวนเขาไปช่วยกันเก็บศพผู้เสียชีวิตที่หาดคึกคัก บางเนียง บางสักและน้ำเค็ม จ.พังงา จักรินตัดสินใจไปทันที เพราะเขาไม่กลัวเรื่องศพอยู่แล้ว อีกทั้งมีใจที่อยากช่วยเหลือมากกว่า หากทิ้งศพไว้นานจะเสี่ยงต่อโรคระบาด

สึนามิ & โรงแรมในฝันที่ต้องฝ่าฟัน จักริน กตัญชลีกุล

 

“เพื่อนก็ชวน ประกอบกับผมดูข่าวทีวีประกาศว่าอยากหาอาสาสมัครเพราะเดี๋ยวโรคระบาด ตอนเช้าผมจึงนั่งรถไปมูลนิธิที่ภูเก็ตเพื่อเดินทางไป อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา มีอาสาสมัครราว 10 คน ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ระหว่างทางที่ไปเห็นบ้านเรือน โรงแรมริมทะเลพังทั้งหมด พอมาถึงวัดย่านยาว ซึ่งก่อนที่จะถึงวัดราว 500 เมตร เพื่อนๆ ได้ยื่นหน้ากากอนามัยให้ใส่ แต่ผมปฏิเสธไป แต่พอถึงวันจริงๆ ต้องขอหน้ากากมาปิดปากและจมูกเพราะกลิ่นเหม็นมาก ภาพที่ผมเห็นในวัดคือ คุณหมอพรทิพย์ไม่สวมใส่หน้ากาก เดินเข้าคอนเทนเนอร์นั้น ออกตู้คอนเทนเนอร์นี้ทำงานกันวุ่นมากๆ ผมก็ไปช่วยแบกศพ ซึ่งตอนนั้นสภาพศพแข็งแล้ว” ทำงานภายในวัดย่านยาวซึ่งเป็นศูนย์รวมของการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลมีอาสาสมัครทำงานมากมายอยู่พักหนึ่ง หัวหน้าทีมอาสาสมัครของจักรินก็มอบหมายให้พวกเขาไปช่วยเดินเก็บศพตามชายหาดบริเวณใกล้เคียง ภาพที่พวกเขาเห็นยิ่งสร้างความรู้สึกหดหู่ กับสภาพศพที่เกลื่อนกลาดอยู่ริมหาดอยู่ในสภาพที่ไม่น่าดูนัก

ภาพแห่งความสูญเสีย

ภาพผู้เสียชีวิตนับ 100 ศพ กระจายเกลื่อนอยู่ตามหาด เป็นภาพที่น่ากลัวและจำฝังใจจักรินมาก ส่งผลให้เขากลัวกลิ่นเหม็นมากระทั่งถึงปัจจุบัน

“ตอนนั้นกลิ่นเหม็นรุนแรงมาก พอได้ศพมาก็ช่วยกันแบกลำเลียงใส่ตู้ เป็นครั้งแรกที่ผมได้จับศพจริงๆ มีลักษณะแข็งๆ ทำงานกันได้ 4-5 ชั่วโมงติดต่อกัน มันเป็นช่วงเวลาที่สุดยอดมาก ผมทำหน้าที่แบกอย่างเดียว เจอศพแบกขึ้นรถ เอาไปแยกใส่ตู้ และกลับไปเอาอีก ทุกศพอยู่บนหาดตั้งแต่เกิดเหตุจากวันแรกๆ รุ่นพี่อาสาสมัครบอกว่าเก็บได้เป็นพันศพ แต่ด้วยศพเยอะมาก เก็บอย่างไรก็ไม่หมด การทำงานตรงนั้นทำให้ผมได้ข้อคิดก็คือ ชีวิตมันสั้น ทำอะไรแล้วมีความสุขให้รีบทำ”

สึนามิ & โรงแรมในฝันที่ต้องฝ่าฟัน จักริน กตัญชลีกุล

 

ครอบครัวของจักรินก็สูญเสียเงินทองไปกับสึนามิเยอะมาก เรียกว่าเกือบหมดตัว เพราะช่วงปลายปีเป็นช่วงที่ขายเสื้อผ้าดีมากเพราะใกล้เทศกาลปีใหม่ที่คนต้องจับจ่ายซื้อของ ซึ่งไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดสึนามิขึ้น

“ครอบครัวผมตอนนั้นเสียหายเกือบ 10 ล้าน ซึ่งค้าขายเรากำไรไม่เยอะเลย อย่างขายได้ 10 ล้าน กำไรเราอาจแค่ล้านเดียว พอเกิดเหตุการณ์นี้ทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจว่า หลังเรียนจบต้องกลับบ้านมาช่วยกู้วิกฤต ซึ่งตอนเกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ ผมพยายามช่วยแม่ ไปลองดูว่า ลูกค้าสามารถคืนเงินแม่ได้อย่างไรบ้าง แต่พอไปก็พบว่าลูกค้าแม่ก็ลำบากหมดตัวเหมือนกัน ผมก็กลับบ้านมาให้กำลังใจแม่ ปลอบแม่บ้านเราลุยกันใหม่ดีกว่า เราลองไปดูคนไหนไม่เสียหายเยอะ ให้เขาช่วยเรา หรือไปตกลงกับโรงงานว่า เสื้อผ้าที่เราขายออกไปให้ลูกค้าเราเก็บเงินไม่ได้เลย โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าให้เราก็ช่วยเหลือแทนที่จะเก็บ 1 ล้าน ก็เก็บแค่ 5 แสนบาท เราต้องใช้เวลาเป็นปีกว่าจะกลับคืนสู่สภาพปกติเพราะรัฐบาลก็ให้การช่วยเหลือ ทำให้เศรษฐกิจของภูเก็ตกลับมาดีเหมือนเดิม ปีเดียวพวกเราก็ช่วยพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส” ที่บ้านของเขา หลังผ่านเหตุการณ์สึนามิก็สามารถฟื้นตัวได้ภายใน 2 ปี เขาก็เรียนจบพอดี

เป็นเจ้าของโรงแรมตั้งแต่อายุยังน้อย

นอกจากสึนามิจะให้แรงบันดาลใจสำนึกรักบ้านเกิดแล้ว เขายังเกิดแรงทำตามความฝันมีโรงแรมเป็นของตัวเองได้ตั้งแต่อายุเพียง 28 ปี จักรินเท้าความไปถึงชีวิตวัยเด็ก เขาเติบโตมาจากที่บ้านมีธุรกิจค้าขายเสื้อผ้าขนาดเล็ก ฐานะปานกลาง ตอนอายุเพียง 15 ปีก็ช่วยงานที่บ้านในตำแหน่งเซลส์ขายเสื้อผ้า เดินทางตระเวนไปขายเสื้อผ้าและไปเยี่ยมลูกค้าหลายที่

สึนามิ & โรงแรมในฝันที่ต้องฝ่าฟัน จักริน กตัญชลีกุล

 

“พอทำงานได้ตั้งแต่อายุ 15 ตะลุยไปเป็นเซลส์ตระเวนไปทั่ว เก็บสะสมเงินค่าขนมมาเรื่อยๆ อีกส่วนนำไปซื้อของเก่าโบราณเก็บสะสมเพื่อหวังว่า หากมีโรงแรมเป็นของตัวเองจริง จะนำเฟอร์นิเจอร์เหล่านี้ไปประดับและตกแต่งเล่น อาทิ สมัยก่อนทีวีเก่าๆ ราคา 200-300 บาทก็เก็บสะสมจนตอนนี้ราคาประมาณ 4,000-5,000 บาท” พอมีโรงแรมของตัวเองจริงๆ จักรินก็ใช้ของสะสมมาตกแต่งจนกลายเป็นโรงแรมขนาดกลางสุดชิก ถูกใจลูกค้าและสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดโรงแรมขนาด 33 ห้อง ลงทุนไม่มากแค่เก๋ให้เป็นโรงแรมภายใน จ.ภูเก็ต

“โรงแรมของผมนอกจากตกแต่งด้วยของโบราณที่ผมเก็บแล้ว พอบวกกับไอเดียที่ตั้งอยู่บนหลักใช้เงินน้อย แต่ให้ความคิดให้มากก็ช่วยลดต้นทุนในการตกแต่งไปได้เยอะมากครับ ซึ่งถือว่าผมโชคดีได้ไปเจอตึกเก่าโบราณตึกหนึ่ง ไม่ได้ใช้งานมานานมากแล้ว แถมอยู่ใกล้ๆ บ้าน ผมขับรถผ่านทุกวัน วันหนึ่งผมเห็นคุณป้าเจ้าของตึกติดป้ายให้เช่า ตอนนั้นสนใจโทรไปหา แต่คุณป้ายังไม่ตัดสินใจให้ผมเช่า เพราะผมต่อราคาค่าเช่าค่อนข้างมาก เพียรจีบมาเรื่อยๆ คุยมา 2 เดือน จนวันหนึ่งเกิดจุดเปลี่ยนเจอคุณป้าที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง ผมเดินสวนกับคุณป้า ผมเรียกคุณป้าว่า คุณแม่วันนี้วันที่ 5 เดือน 5 ปี 2555 ถือเป็นวันดีที่เราจะเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ด้วยกันนะครับ ซึ่งคุณป้าคงถูกใจที่ผมตั้งใจจริงๆ ก็เลยให้เช่าทั้งตึกด้วยเงินค่าเช่ารายเดือนที่ผมพอจ่ายไหว”

เงินลงทุนก้อนแรก 12 ล้านบาท

ธีมการแต่งโรงแรมที่จักรินใช้แต่งหลายคนมองว่า เข้าท่า อีกทั้งใช้เงินค่าตกแต่งแสนถูกไม่กี่ล้านบาท ก็เนรมิตตึกเก่าอายุ 60 ปี สูง 5 ชั้นติดคลองฮวงจุ้ยดี วิวสวย แห่งห้องได้เลขสวย 33 ห้อง ให้มีความคูลได้ไม่ยาก โดยใช้คำคมมาเตือนใจ ร้อยเรียงตกแต่งตามฝาผนังต่างๆ

“พอต้องตกแต่งโรงแรมผมหาคำคมเก๋ๆ มาดีไซน์เก๋ๆ ไปแปะตามโรงแรม เป็นคำให้กำลังใจที่ผมชอบ ซึ่งคำคมก็แสนง่าย นำไปพรินต์และนำมาแปะ เงินทุนตอนนั้นมี 2 ล้านบาท ซึ่งตอนทำโรงแรมผมเพิ่งจบปริญญาตรีคณะบัญชีจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ก็ทำแผนไปกู้แบงก์ ตอนนั้นไม่มีโรงแรมดีไซน์เยอะๆ ความเก๋ของโรงแรมเราคือ การนำของเก่าไปแต่ง ออกมาเป็นโรงแรมสไตล์โบราณ ซึ่งผมออกแบบเองเสียเป็นส่วนใหญ่”

ความมีไอเดีย บวกกับคีย์เวิร์ด คือต้องประหยัด ตกแต่งออกมาได้โรงแรมสไตล์เรโทร ผสมลอฟต์ที่มีความดิบ ย้อนยุค และหัวใจหลักที่ดึงดูดลูกค้าให้กลับมาแล้วกลับมาอีก นอกจากการให้การบริการแบบความประทับใจแรกแล้ว การตั้งราคาที่ไม่สูงเกินไปก็เป็นตัวดึงดูดลูกค้าได้ดี

สึนามิ & โรงแรมในฝันที่ต้องฝ่าฟัน จักริน กตัญชลีกุล

 

“ผมให้ความสำคัญกับการให้บริการ บวกกับไอเดียเก๋ๆ ในการตกแต่ง เช่น เคาน์เตอร์เช็กอินของโรงแรมผมใช้รถยนต์โบราณมาทำ ส่วนฝาเก่าๆ ของตึกผมรื้อออกมาทั้งหมดเอามาทำเป็นบันไดเก๋ๆ จึงช่วยประหยัดเรื่องวัตถุดิบเป็นอย่างมาก คิดทำโรงแรมผมต้องวางแผนให้รัดกุมที่สุด เอาไม้เก่าของบ้านมาทำเป็นเตียงนอน และเฟอร์นิเจอร์อีกหลายชิ้น ขนาดผมประหยัดผมใช้เงิน 12 ล้านบาทสำหรับค่ารีโนเวตทั้งหมด” ปัจจุบันกู้เงินจากธนาคารมา 10 ล้านบาท เขาสามารถใช้หนี้หมดแล้วภายในเวลาเพียง 2 ปีเท่านั้น แม้การตกแต่งประหยัดแต่ก็เน้นความสะอาด ผ้าปูที่นอนต้องทอละเอียดเพราะลูกค้าสัมผัสเตียงแล้วจะได้สัมผัสถึงความนุ่ม เนียน สบาย

อุปสรรคที่ต้องฝ่าฟัน

การทำธุรกิจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ โตโต้เจอการโกงมาหลายรูปแบบ กว่าโรงแรมจะแต่งแล้วเสร็จสิ้นสวยงาม กลายเป็นโรงแรมสุดชิกแห่งหนึ่งใน จ.ภูเก็ต

“ผมโดนโกงหลายรูปแบบซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติ เช่น จ้างคนวาดรูป 1 แสนบาท เขาให้จ่ายมัดจำ 5 หมื่นบาท เขาแค่สเกตช์ภาพแล้วเขาก็หายไป แล้วอ้างว่าเป็นมะเร็ง พอตามเจอขอเงินอีก
3 หมื่น 5 ก็ให้เขาอีก แล้วเขาก็หายไปอีกทั้งหมดโดนหลอกไป 8 หมื่น 5 พันบาท สิ่งที่แก้ปัญหาคือ ทำใจเราง่ายที่สุด อีกเคสเจอคนรับเหมาก่อสร้างรับเงินไปก็ทำไม่เสร็จอีก อย่าค่าก่อสร้างวงเงิน 2 ล้านบาท จ่ายไปแล้ว 1.8 ล้านบาทแล้ว แต่งานไม่เสร็จ มีการโกงเงินกันระหว่างคนรับงานกับช่าง งานเลยไม่เดิน เราจึงต้องทำเอง โดยจ้างช่างอีกเจ้าหนึ่งมาทำ การป้องกันคือคุ้มเอง ทุกอย่างพยายามคิดภายใต้เงินจำกัด ไม่เคยทำโรงแรมทุกอย่างต้องเซฟ ช่วงก่อสร้างผมทะเลาะกับคนเยอะมาก คนใกล้ตัวที่โกงเรา ผมคิดว่าถ้าทุกคนทำกันตามข้อตกลง ไม่ช้า ทำงานเท่านี้ได้เท่านี้ แต่กลายเป็นไม่ทำตาม แล้วโทษเราว่าเราผิด ผมก็สไตล์เดิม เราจะใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ครับ”