สิ้นตำนานครูเพลงลูกทุ่ง "ครูลพ บุรีรัตน์" ศิลปินแห่งชาติ
วงการเพลงลูกทุ่งเศร้า ครูลพ บุรีรัตน์ เสียชีวิตเเล้ว ด้วยอาการติดเชื้อที่ปอด
วงการเพลงลูกทุ่งเศร้า ครูลพ บุรีรัตน์ เสียชีวิตเเล้ว ด้วยอาการติดเชื้อที่ปอด
วิเชียร คำเจริญ หรือ ครูลพ บุรีรัตน์ ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (นักแต่งเพลงลูกทุ่ง) ประจำปี พ.ศ.2548 วัย 77 ปี เสียชีวิตอย่างสงบ เมื่อเวลา 21.19 น. ของคืนวันที่ 10 ธ.ค. ที่ผ่านมา ณ รพ.ศูนย์วิจัยจุฬาภรณ์
ก่อนหน้านี้ ครูลพ เข้ารักษาที่ รพ.บางโพ ตั้งแต่วันที่ 17 ต.ค. ด้วยอาการปอดติดเชื้อรา นอกจากนั้นผลการตรวจยังพบก้อนเนื้อขนาดใหญ่ ที่บริเวณตับ ผลตรวจเลือดก็พบสารบ่งชี้มะเร็ง ถึง75% แต่เนื่องจากมีอาการติดเชื้อราที่ปอดทำให้ปอดทำงานได้ไม่ดีหมอจึงรักษาเรื่องปอดก่อน โดยมีอาการทรงตัวมาตลอด จนเมื่อปลายเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา น.ส.บุษบา คำเจริญ บุตรสาว ได้พาไปรักษาตัวที่ รพ.ศูนย์วิจัยจุฬาภรณ์ โดยเชื้อราที่ปอดรักษาหมดแล้ว แต่มีอาการติดเชื้อซ้ำซ้อนที่ปอด ปอดมีผังพืด ทำให้ระบบการหายใจยังไม่ดี โดยตลอดระยะเวลาที่รักษาตัวในห้อง ICU นั้น ครูลพ ยังรู้สึกตัว ก่อนจะเสียชีวิตอย่างสงบเมื่อประมาณ 21.00น. ของวันที่ 10 ธ.ค.ที่ผ่านมา
สำหรับประวัติของครูเพลงระดับตำนาน "ลพ บุรีรัตน์" มีชื่อจริงว่า "วิเชียร คำเจริญ" เกิดเมื่อ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2482 ที่บ้านบางมะยม ต.บางลี่ อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี จังหวัดลพบุรี จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสิงหฤกษ์ประสิทธิ์ และเรียนสายวิชาชีพแผนกช่างตัดผม โรงเรียนการช่าง จ.ลพบุรี ชอบฟังเพลงและร้องเพลงมาตั้งแต่เยาว์วัย เริ่มอาชีพครั้งแรกเป็นช่างตัดผม มีความปรารถนาที่จะเป็นนักร้องและนักแต่งเพลง ต่อมาได้มีโอกาสชมการแสดงดนตรีคณะกรุงเทพฯ แมมโบ จึงได้สมัครเป็นนักร้องกับ นายบังเละ วงษ์อาบู และได้ทดลองแต่งเพลง 'เพลงกอดหมอนนอนเพ้อ' เป็นเพลงแรก
ต่อมาได้เป็นลูกศิษย์ของครูไพบูลย์ บุตรขัน แล้วเริ่มฝึกฝนการแต่งเพลงและการร้องเพลง และเป็นลูกศิษย์ครูมงคล อมาตยกุล อยู่กับวงดนตรีจุฬารัตน์ ทำหน้าที่แต่งเพลงและร้องเพลง ฯลฯ อยู่ในวงดนตรีนี้ใช้ชื่อว่า 'กนก เกตุกานต์' ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อใหม่ชื่อ 'ลพ บุรีรัตน์' ให้ครูไพบูลย์ บุตรขัน เป็นคนตั้งชื่อให้ เพลงที่้สร้างชื่อเสียงให้ครูลพ บุรีรัตน์ เป็นที่รู้จักมากขึ้นคือเพลง 'โนราห์หาย'
ครูลพมีผลงานเพลงที่ได้รับความนิยมอย่างมากในวงการลูกทุ่ง โดยเฉพาะการประพันธ์เพลงให้ราชินีลูกทุ่ง 'พุ่มพวง ดวงจันทร์' เป็นผู้ขับร้อง โดยรวมเเล้วผลงานเพลงของนายวิเชียร คำเจริญ มีมากกว่า 2,000 เพลง ด้วยความสามารถในด้านการประพันธ์เพลงที่มีเนื้อหาสาระทั้งประเภทเพลงลูกทุ่งแนวสนุกสนาน แนวรัก แนวสร้างสรรค์ แนวเพลงเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ จึงได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย อาทิ
- พ.ศ. 2520 ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในเพลง 'ข้าคือคนไทย' ขับร้องโดย ก้องเพชร แก่นนคร
- พ.ศ. 2522 ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเพลง 'รางวัลนักรบ' ขับร้องโดย ยอดรัก สลักใจ
- พ.ศ. 2525 ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในเพลง 'ทำดีสักทีเถอะน่า' พร้อมกับได้รับโล่เชิดชูเกียรติในฐานะนักประพันธ์เพลงตัวอย่าง
- พ.ศ. 2533 แต่งเพลง 'น้ำพระทัยสมเด็จย่า' ขับร้องโดย พุ่มพวง ดวงจันทร์ ถวายเนื่องในวันครบรอบ 90 พรรษา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
- พ.ศ. 2534 ได้รับพระราชทานรางวัลเพลงดีเด่นในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทยครั้งที่ 2 จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในเพลง 'สยามเมืองยิ้ม' ขับร้องโดย พุ่มพวง ดวงจันทร์
- พ.ศ. 2537 ได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะผู้ประพันธ์คำร้องและทำนองเพลงดีเด่นถึง 3 เพลง ในงานกึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทยสืบสานคุณค่าวัฒนธรรมไทย คือเพลง 'ทรงมหาเสน่ห์' ขับร้องโดย ลัดดาวัลย์ ประวัติวงศ์, เพลง 'แบ่งกันคนละครึ่ง' ขับร้องโดย ยอดรัก สลักใจ และเพลง 'หลงมนต์คนเอฟเอ็ม' ขับร้องโดย ศิรินทรา นิยากร
- พ.ศ. 2539 ได้รับยกย่องจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ในฐานะผู้ประพันธ์เพลงรณรงค์วัฒนธรรมไทย ด้วยผลงานเพลง 3 เพลง คือ เอกลักษณ์ไทย, ย่องเมืองเท่ เท่ และพระเทพฯ ทรงบุญ
- พ.ศ. 2548 ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักแต่งเพลงลูกทุ่ง)
- พ.ศ. 2550 ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ คนดีศรีลพบุรี
ที่มา www.fm91bkk.com