posttoday

ภาพพิมพ์ประวัติศาสตร์ 3 มหาราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

01 มกราคม 2560

มหาวิทยาลัยศิลปากร ถือว่าอยู่ในเขตที่ชิดใกล้เพียงข้ามถนนกับพระบรมมหาราชวัง เพราะตั้งอยู่ในวังท่าพระ หรือวังล่าง

โดย...พริบพันดาว ภาพ : ภาควิชาภาพพิมพ์ คณะจิตรกรรมประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

มหาวิทยาลัยศิลปากร ถือว่าอยู่ในเขตที่ชิดใกล้เพียงข้ามถนนกับพระบรมมหาราชวัง เพราะตั้งอยู่ในวังท่าพระ หรือวังล่าง ตั้งอยู่ข้างพระบรมมหาราชวัง ริมถนนหน้าพระลานทางด้านทิศตะวันตกใกล้ท่าช้าง

เพราะฉะนั้น มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ จึงมีประวัติศาสตร์ร่วมของกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลปัจจุบัน ที่นี่ถือเป็นสถาบันศิลปะสมัยใหม่ชั้นแนวหน้าของประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้จัดนิทรรศการ “ภาพพิมพ์ประวัติศาสตร์ 3 มหาราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์” โดยภาควิชาภาพพิมพ์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งมีบรรยากาศอันอบอุ่นวันเปิดงาน ที่ได้รับเกียรติจาก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการ

ธีมหรือใจความสำคัญของงานศิลปะภาพพิมพ์ครั้งนี้คือ “มหาราช” (The Great) เป็นชื่อต่อท้ายพระนามของกษัตริย์หรือผู้ปกครองที่ได้ทำภารกิจอย่างมากมาย ช่วยเหลือผู้คนทั้งด้านการรบ การแก้ไขปัญหาภายในประเทศ การรักษาเอกราชของประเทศ คงไว้ด้วยความยุติธรรมอันเป็นแบบอย่างที่ดี จึงได้รับการยกย่องว่าเป็น มหาราช เขียนไว้ที่ท้ายพระนาม

ภาพพิมพ์ประวัติศาสตร์ 3 มหาราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

 

กรุงรัตนโกสินทร์มีพระมหากษัตริย์ที่ได้รับการยกย่องให้มีคำว่า มหาราช ท้ายพระนาม 3 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์
พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สมเด็จพระปิยมหาราช มีความหมายว่า พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ประชาชนชาวไทยพร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญานาม “สมเด็จพระภูมิพลมหาราช” มีความหมายว่า กษัตริย์ ผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งทรงเป็นกำลังของแผ่นดิน

นิทรรศการภาพพิมพ์ครั้งนี้ เป็นชุดผลงานทางด้านศิลปกรรมที่หลอมรวมระหว่างคุณค่าทางประวัติศาสตร์เข้ากับคุณค่าทางด้านศิลปกรรมผ่านงานศิลปะภาพพิมพ์ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติมหาราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทั้ง 3 พระองค์ ซึ่งมีความสำคัญต่อประเทศไทยทั้งในด้านรัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ศาสนา ศิลปะ

ผลงานภาพพิมพ์ทั้งสิ้น 19 ภาพ ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นโดยการถ่ายทอดภาพจากต้นแบบของศิลปินผู้มีชื่อเสียงระดับชาติ ได้แก่ ชัย ราชวัตร (สมชัย กตัญญุตานันท์) พิษณุ ศุภนิมิตร ปรีชา เถาทอง สุรสิทธิ์ เสาว์คง ปัญญา วิจินธนสาร เกริกบุระ ยมนาค ไพรวัลย์ ดาเกลี้ยง ญาณวิทย์ กุญแจทอง ไกรศักดิ์ จิรชัยสกุล พัดยศ พุทธเจริญ ธีรวัฒน์ งามเชื้อชิต ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ ธีระวัฒน์ คะนะมะ จินตนา เปี่ยมศิริ เนติกร ชินโย ทินกร กาษรสุวรรณ ชัยรัตน์ แสงทองทิพเนตร์ แย้มมณีชัย และอนุพงษ์ จันทร

ภาพพิมพ์ประวัติศาสตร์ 3 มหาราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

 

พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวในการเปิดงานตอนหนึ่งว่า งานวิจัยสร้างสรรค์เรื่องภาพพิมพ์ประวัติศาสตร์ 3 มหาราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มิได้เป็นเพียงงานค้นคว้าเพียงอย่างเดียว แต่เป็นงานวิจัยเชิงสร้างสรรค์ทางศิลปะ ซึ่งจะต้องประกอบไปด้วยความรู้ในทางวิชาการด้านประวัติศาสตร์แห่งรัตนโกสินทร์ และนำไปสู่การใช้จินตนาการเพื่อการสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะ โดยนิทรรศการนี้ใช้ศิลปินมากถึง 19 คน ซึ่งทุกคนต้องศึกษาประวัติศาสตร์ในยุคสมัยของมหาราชทั้ง 3 พระองค์ โดยเลือกสรรเหตุการณ์พระราชกรณียกิจที่ยังประโยชน์ให้ปรากฏแก่แผ่นดิน ถ่ายทอดผ่านกระบวนการทำงานภาพพิมพ์ที่ซับซ้อนประณีต จึงเป็นผลงานนิทรรศการที่น่าชื่นชม อันที่จะแสดงถึงการยกย่องพระเกียรติคุณและเชิดชูพระบูรพมหากษัตริยาธิราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระมหาราชทั้ง 3 พระองค์ และร่วมแสดงความอาลัยอย่างที่สุด ในวาระมหาวิปโยคของประชาชนชาวไทยที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคต

ศ.เกียรติคุณ พิษณุ ศุภนิมิตร หัวหน้าโครงการภาพพิมพ์ประวัติศาสตร์ฯ กล่าวว่า พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีล้วนแต่ทรงทะนุบำรุงศิลปกรรม และทรงใช้ศิลปกรรมเป็นเป้าหมายสำคัญในการทำให้เกิดความรักชาติและแผ่นดิน

“ขณะที่โครงการนี้ได้ย่นย่อเอาพระปรีชาสามารถ พระอัจฉริยภาพเฉพาะพระมหากษัตริย์ที่ทรงได้รับการถวายคำเชิดชูให้เป็นมหาราช 3 พระองค์มาถ่ายทอด เพื่อให้คนไทยได้รับรู้ ชื่นชม และเข้าถึงในพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ทั้ง 3 พระองค์ โดยผ่านสุนทรียภาพในด้านศิลปะขั้นสูง”

นอกจาก 19 ภาพพิมพ์ที่ถูกรังสรรค์ขึ้นมาใหม่จากศิลปินแต่ละคนในครั้งนี้ ในนิทรรศการยังได้นำผลงานส่วนหนึ่ง ที่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับรัชกาลที่ 9 อีกจำนวน 14 ภาพ ในชุดโครงการ 35 ภาพพิมพ์ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ 9 รัชกาล” ที่เคยจัดแสดงไปเมื่อปี 2553 นำกลับมาเผยแพร่ร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง

ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่ประวัติศาสตร์ถูกบันทึกผ่านผลงานภาพพิมพ์ผ่านฝีมือและมุมมองของศิลปินภาพพิมพ์ระดับชั้นยอดของประเทศ