‘โลหะปราสาท’ พุทธศิลป์สถาปัตย์หัวแหวนแห่งรัตนโกสินทร์

07 มกราคม 2560

กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีอายุเดินทางมาถึง 235 ปี เข้าไปแล้ว เพราะฉะนั้นทุกพื้นที่ในเขตเมืองเก่าแก่ชั้นใน

โดย...โสภิตา สว่างเลิศกุล ภาพ... คลังภาพโพสต์ทูเดย์

กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีอายุเดินทางมาถึง 235 ปี เข้าไปแล้ว เพราะฉะนั้นทุกพื้นที่ในเขตเมืองเก่าแก่ชั้นใน รวมถึงชั้นนอกก็มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน เรียกว่าหากจะศึกษาและท่องเที่ยวกันอย่างละเอียดลออคงต้องใช้เวลากันมากมายหลายสิบปีอย่างแน่นอน

 ตัวเมืองเก่าของกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ได้รับสมญาว่าเป็น “หัวแหวนแห่งรัตนโกสินทร์” มีสถาปัตยกรรมไทยที่มีรูปแบบแปลกไปจากธรรมเนียมประเพณีบนพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างมาก นั่นคือ “โลหะปราสาท” มียอดปราสาทประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่วัดราชนัดดารามวรวิหาร และอยู่ในบริเวณลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์

โดยในปี 2555 กรมศิลปากรได้ร่วมกับทางวัดบูรณะมณฑปให้เป็นสีทอง ปัจจุบันเสร็จแล้วเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2560

โลหะปราสาท หมายถึง คฤหาสน์ที่มียอดเป็นโลหะ เป็นชื่อดั้งเดิมของอินเดีย เรียกมาแต่ครั้งพุทธกาล

แนวความคิดของมนุษยชาติที่มีต่อการสร้างสถาปัตยกรรมในศาสนสถานที่ตนนับถือนั้น อุรา สุนทรศารทูล ช่างเอกแห่งกรมโยธาธิการให้ความเห็นว่า ช่างมักมีปรัชญาอย่างเดียวกัน ลักษณะของสถาปัตยกรรมย่อมมีความคล้ายคลึง และมีความสำคัญเท่าเทียมกันด้วย

 โลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร เป็นพุทธสถานสำคัญ นับเป็นองค์ที่ 3 ของโลก ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย องค์แรกสร้างขึ้นในประเทศอินเดีย องค์ที่ 2 ที่เมืองอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกา ซึ่งทั้งสององค์ได้ปรักหักพังสูญสิ้นไปแล้ว

ในประวัติศาสตร์ก็เคยมีการสร้างโลหะปราสาทมาแล้ว 2 หลังด้วยกัน หลังแรกก็คือปราสาทของนางวิสาขา บุตรีของธนัญชัย เศรษฐีแห่งเมืองสาวัตถี ประเทศอินเดีย โดยได้สร้างโลหะปราสาทที่มีชื่อว่า “มิคารมาตุปราสาท” เพื่อถวายเป็นที่อยู่ให้แก่พระสงฆ์ มีลักษณะเป็นปราสาท 2 ชั้น มี 1,000 ห้อง ปัจจุบันโลหะปราสาทหลังนี้หักพังจนไม่เหลือร่องรอยให้เห็นแล้ว

ส่วนโลหะปราสาทหลังที่ 2 ผู้สร้างคือพระเจ้าทุฏฐคามณี กษัตริย์แห่งกรุงอนุราชปุระ ประเทศลังกา ทรงสร้างเมื่อประมาณปี 382 โลหะปราสาทหลังนี้มี 9 ชั้น 1,000 ห้อง หลังคามุงด้วยแผ่นทองแดง ผนังเป็นไม้ประดับด้วยหินมีค่าและงาช้าง สร้างให้พระภิกษุสงฆ์อยู่อาศัยเช่นกัน ภายหลังโลหะปราสาทนี้ได้ถูกไฟไหม้และถูกทำลาย จนตอนนี้เหลือเพียงซากปราสาท แต่ก็ยังเห็นความยิ่งใหญ่ของเสาหินถึงประมาณ 1,600 ต้นด้วยกัน

สำหรับโลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร ตั้งอยู่ข้างพระอุโบสถ ถัดไปทางทิศตะวันตก ตรงส่วนที่เป็นศูนย์กลางของพื้นที่ทั้งหมด พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ช่างออกแบบก่อสร้างเมื่อปี 2389 ตามลักษณะของโลหะปราสาทที่พรรณนาไว้ในหนังสือมหาวงศ์ พงศาวดารลังกา ซึ่งพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัย กษัตริย์ลังกาสร้างไว้เมื่อปี 387 โดยมอบหมายให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) ขณะยังเป็นพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา ดำรงตำแหน่งอธิบดีก่อสร้าง ว่าช่างสิบหมู่และช่างศิลา เป็นแม่กองดำเนินการก่อสร้าง การออกแบบก่อนก่อสร้างได้เล่าขานกันว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ช่างเดินทางไปดูแบบโลหะปราสาท ณ ลังการประเทศด้วย โดยนำเค้าเดิมมาเป็นแบบ แล้วปรับปรุงให้เป็นสถาปัตยกรรมตามลักษณะศิลปกรรมไทย

แผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสตามโลหะปราสาทที่เมืองลังการ ส่วนลักษณะสถาปัตยกรรมนั้น สร้างตามแบบศิลปกรรมไทย ฐานกว้างด้านละ 23 วา เป็นอาคาร 7 ชั้น ลดหลั่นกันขึ้น อาคารชั้นล่างชั้นที่ 3 และชั้นที่ 5 จะเป็นคูหาและระเบียงรอบ ในชั้นที่ 2 ชั้นที่ 4 ชั้นที่ 6 ทำเป็นคูหาจตุรมุขมียอดเป็นบุษบกชั้นละ 12 ยอด และชั้นที่ 7 เป็นยอดปราสาทจตุรมุขสำหรับประดิษฐานพระบรมธาตุ รวมเป็น 37 ยอด หมายถึงหลักธรรมในพระพุทธศาสนา 37 ประการ ที่เป็นปัจจัยให้ดำเนินไปสู่ความหลุดพ้นเข้าสู่ดินแดนพระนิพพาน ที่เรียกว่า “โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ” การขึ้นสู่โลหะปราสาทแต่ละชั้น จะมีบันไดวนตั้งอยู่ใจกลางของอาคาร โดยตั้งซุงขนาดใหญ่ยึดเป็นแม่บันได

โลหะปราสาท ได้รับการปรับปรุงหลายครั้ง ภายหลังก่อสร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ภายหลังพระองค์สวรรคตลง โลหะปราสาทก็มิได้ปรับปรุงแล้วเสร็จ จนกระทั่งได้บูรณะครั้งใหญ่จนแล้วเสร็จในสมัยพระราชปัญญาโสภณ (สุข ปุญญรํสี) ปี 2506 โดยมี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ร่วมกันปรับปรุงแล้วเสร็จ เป็นแบบก่อโบกปูนสีแดง มณฑปทาสีขาว และเมื่อปี 2525 ครั้งสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี โลหะปราสาทได้รับการตกแต่งให้สง่างามอีกครั้งหนึ่ง

ครั้งเมื่อปี 2530 มีการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ครบ 200 ปีวันพระราชสมภพ ได้มีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวและพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ได้มีการรื้อถอนอาคารหรือโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทยที่บดบังโลหะปราสาทอยู่เป็นเวลานานออก โลหะปราสาทจึงปรากฏให้เห็นความงามสง่าเด่นชัดอยู่ท่ามกลางสถาปัตยกรรมไทยของวัดราชนัดดารามวรวิหาร

ในปี 2539 พล.อ.ต.อาวุธ เงินชูกลิ่นศิลปินแห่งชาติสาขาสถาปัตยกรรม (ในเวลาต่อมา) ได้ออกแบบวัสดุมุงและเครื่องประดับหลังคาเป็นโลหะและทองแดงรมดำ ทำให้ออกมาเป็นสีดำ ก่อนที่จะบูรณะมณฑปให้เป็นสีทองในปัจจุบัน

สามารถเข้าชมโลหะปราสาทได้ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. มีรถโดยสารประจำทาง สาย 2 5 12 15 35 39 503 511 512 หรือจะนั่งเรือโดยสาร (คลองแสนแสบ) มาลงท่าเรือผ่านฟ้าลีลาศ

Thailand Web Stat