posttoday

PBWF ทางแก้สำหรับเด็กที่แพ้อาหาร

11 มกราคม 2560

เรื่องแพ้อาหารอย่าว่าแต่ผู้ใหญ่ที่แพ้ได้เด็กก็แพ้เป็น ในผู้ใหญ่ถ้ามีอาการแพ้ยังพอรู้ตัวว่าแพ้

โดย...ชลญ่า

เรื่องแพ้อาหารอย่าว่าแต่ผู้ใหญ่ที่แพ้ได้เด็กก็แพ้เป็น ในผู้ใหญ่ถ้ามีอาการแพ้ยังพอรู้ตัวว่าแพ้ และแพ้เพราะกินอะไร แต่เด็กน้อยแพ้อาหารบางคนยังพูดไม่ได้ ก็บอกพ่อแม่ไม่ได้ว่าตัวเองเป็นอะไร ส่วนคนไหนสื่อสารรู้เรื่องจึงจะช่วยพ่อแม่ได้เยอะ เพราะฉะนั้น พ่อแม่ต้องใส่ใจ และพยายามสังเกตว่าลูกมีอาการผิดแปลกอะไรบ้างหลังจากกินอาหารอะไรไป

ส่วนใหญ่อาหารที่ทำให้ทารกและเด็กเล็กเกิดอาการแพ้กันบ่อยนั้นมักเป็นอาหารง่ายๆ ใกล้ตัว ที่รับประทานกันอยู่ทุกวัน เช่น นมวัว ถั่ว แป้งสาลี ไข่ขาว อาหารทะเล หรืออาหารแปรรูปต่างๆ นอกจากนี้อาหารบางอย่างยังมีสารเคมีตกค้าง และสารปนเปื้อนเป็นปัญหาหนักอกของพ่อแม่ ที่มีลูกในช่วงวัยทารกตั้งแต่ 6 เดือนไปจนถึงเด็กเล็กในการสรรหาอาหารที่ดีและปลอดภัย เพียบพร้อมด้วยคุณค่าสารอาหารครบถ้วนและไม่ทำให้ลูกน้อยแพ้ด้วย

อาการแพ้อาหารที่สำแดงออกมา เช่น ไอ คอแห้ง คันคอและลิ้น คันตามผิวหนังและร่างกาย คลื่นไส้และท้องอืด ท้องเสีย อาเจียน หายใจหอบถี่ ริมฝีปากและคอบวม น้ำมูกไหลหรือคัดจมูก ปวดตา ตาแดงและคัน พ่อแม่ต้องคอยสังเกตลูกน้อยว่ามีอาการแบบที่กล่าวมาไหม

พ่อแม่หลายคนจึงพยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้ลูกแพ้ ซึ่งอาจทำให้ได้คุณค่าทางสารอาหารไม่ครบ ทางเลือกหนึ่ง คือ การให้ลูกรับประทานอาหารแบบ Plant-based, Whole food (PBWF) ซึ่งหมายถึงการรับประทานอาหารที่เน้นพืชเป็นหลัก โดยพืชผักหรือธัญพืชที่รับประทานนั้นต้องไม่มีการสกัด ไม่มีการขัดสี และไม่มีการแปรรูปใดๆ

ทำไมต้องอาหาร PBWF

อาหารแบบ PBWF ยกตัวอย่างเช่น ข้าวกล้องบด ข้าวกล้องบดผสมผักผลไม้ชนิดต่างๆ เช่น แครอต ผสมกล้วย หรือฟักทอง เป็นอาหารมีสารก่อภูมิแพ้ในปริมาณที่น้อยมากและน้อยกว่าอาหารทั่วไป เพราะฉะนั้นการรับประทานอาหารประเภทนี้จึงทำให้ลูกมีความเสี่ยงในการแพ้อาหารลดลง ทั้งช่วยให้ระบบการย่อยอาหารดีขึ้น และมีสุขภาพดี ในวารสารกุมารเวชศาสตร์ในสหรัฐอเมริการะบุว่า เด็กที่รับประทานสารอาหารพืชเป็นหลักในรูปแบบใกล้เคียงอาหารธรรมชาติกลุ่มโฮลฟู้ดที่เน้นพืชผักผลไม้นั้นมีน้ำหนักและค่าความดันโลหิตที่ลดลง รวมทั้งมีค่าคอเลสเตอรอลอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้น ด้านไอคิวก็สูงกว่าค่าเฉลี่ย ขณะรูปร่างก็ได้สัดส่วนดี

แม้จะรับประทานอาหารตามแนวทางนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องให้ลูกงดการทานเนื้อสัตว์ไปเลย เพียงแค่ลดปริมาณของเนื้อสัตว์กับอาหารแปรรูปให้น้อยลง และรับประทานอาหารที่เน้นผักผลไม้และธัญพืชเป็นหลักให้มากขึ้น พ่อแม่จึงไม่ต้องกังวลว่าลูกจะเสี่ยงต่อการขาดสารอาหาร

นอกจากนี้ การรับประทานอาหาร PBWF นั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่ผักใบเขียว หากให้ลูกรับประทานผักและธัญพืชหลากหลายชนิดลูกก็จะได้รับสารอาหารที่หลากหลายและครบถ้วน ยกตัวอย่างเช่น การได้รับโปรตีนจากถั่วฝักเมล็ดกลม (Peas) ถั่วฝักเมล็ดไม่กลม (Bean) ถั่วเลนทิล (Lentil) คาร์โบไฮเดรตจากธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสีหรือขัดสีแต่น้อย (Whole Grains) โดยเฉพาะข้าวกล้อง และไขมันจากอโวคาโด มะกอก ถั่วเปลือกแข็ง (Nut) เมล็ดพืช

ตัวอย่างเมนูอาหารสำหรับเด็ก

สำหรับอาหาร Plant based, Whole food diet พ่อแม่สามารถเริ่มให้ลูกรับประทานได้หลายวิธี และสามารถเริ่มได้ตั้งแต่วัยทารกเมื่ออายุ 6 เดือนขึ้นไป นอกจากจะช่วยป้องกันอาการแพ้และช่วยให้ลูกน้อยมีสุขภาพที่ดีในระยะยาวยังช่วยให้ลูกกระตือรือร้นและฉลาดขึ้นด้วย สำหรับเมนูถ้าพ่อแม่นึกไม่ออกและไม่รู้จะทำยังไงเรามีสูตรมาฝาก 3 สูตร 

สูตร A : บำรุงสายตา

ฟักทอง ประกอบด้วยวิตามินเอและแคโรทีนอยด์ซึ่งช่วยบำรุงสายตาและทำให้การมองเห็นในที่ที่มีแสงน้อยดีขึ้น หากรับประทานข้าวกล้องบดผสมกับฟักทอง นอกจากลูกจะได้รับวิตามินบีหลายชนิดจากข้าวกล้องบดแล้วยังช่วยบำรุงสายตาให้ลูกรักของคุณไปด้วยในตัว

สูตร B : กระตุ้นระบบย่อยอาหาร

หากลูกมีปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่าย ลองให้รับประทานข้าวกล้องบดผสมแครอต เพราะการรับประทานแครอตช่วยให้ลูกมีระบบขับถ่ายที่ดีขึ้น เมื่อผสมแครอตกับข้าวกล้องบดซึ่งประกอบด้วยไฟเบอร์สูงก็ยิ่งช่วยกระตุ้นให้ระบบขับถ่ายของลูกน้อยดีขึ้นทวีคูณ

สูตร C : เพิ่มพลัง

กล้วยอุดมไปด้วยน้ำตาลธรรมชาติมากถึง 3 ชนิด ได้แก่ ฟรุกโตส ซูโครส และกลูโคลส ทำให้ลูกได้รับพลังงานจากน้ำตาลธรรมชาติ นอกจากนี้คาร์โบไฮเดรตในกล้วยยังเป็นคาร์โบไฮเดรตที่ให้พลังงานได้ทันที เมื่อให้ลูกรับประทานข้าวกล้องบดผสมกับกล้วย ลูกก็จะได้รับพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตอย่างเต็มเปี่ยมแน่นอน