posttoday

ยลถิ่นล้านช้าง ผ่านประตูชัย สู่หอพระแก้ว

05 กุมภาพันธ์ 2560

ทุกครั้งที่มีโอกาสได้เยือน เวียงจันทน์ เมืองหลวงประเทศลาว ก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงไปของประเทศ

โดย...ชายโย

ทุกครั้งที่มีโอกาสได้เยือน เวียงจันทน์ เมืองหลวงประเทศลาว ก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงไปของประเทศเพื่อนบ้านของเราไปในทิศทางที่ดีขึ้นทุกๆ ปี และไม่ว่าจะมากี่ครั้งเราก็ต้องมาจุดสำคัญที่ถือเป็นแลนด์มาร์คของเวียงจันทน์อย่างประตูชัย (ประตูไซ) และพิพิธภัณฑ์หอพระแก้ว 2 จุดสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ชาวลาวภาคภูมิใจ

ประตูชัยเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวต้องเดินมาเที่ยวเพื่อเอาฤกษ์เอาชัย ซึ่งเรามาแต่ละครั้งเคล็ดลับการเดินเอาชัยก็แตกต่างกันไปตามไกด์ที่เปลี่ยนครั้งแรกว่ากันว่าชาวลาวเขาถือให้เดินลอดผ่าน 3 ครั้งจะเป็นมงคล 2 ปีผ่านไปเรากลับมาอีกครั้งไกด์อีกท่านบอกให้เรากลั้นหายใจเดินผ่านประตูชัยและระยะทางลอดผ่านประตูชัยสั้นๆ กันเสียที่ไหน แต่ไม่ว่าวิธีไหนเราก็สนุกไปกับการเที่ยวประตูชัยเสมอ ประตูชัยนี้สร้างขึ้นในปี 2505 เป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะที่มีต่อฝรั่งเศสเมื่อครั้งสงครามปลดปล่อยเอกราชช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สมัยก่อนชาวลาว เรียกว่าอนุสาวรีย์ ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นประตูชัย โดยขบวนการปฏิวัติฝ่ายคอมมิวนิสต์ประเทศลาวยึดอำนาจรัฐบาลได้เด็ดขาดและบังคับให้พระมหากษัตริย์สละราชสมบัติ เปลี่ยนการปกครองจากแบบเดิมเป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ เพื่อเป็นเกียรติแก่ชัยชนะของคณะปฏิวัติ แต่เราก็มักจะได้ยินชาวลาวเรียกรวมทั้งสองชื่อเป็น อนุสาวรีย์ประตูชัย 

ยลถิ่นล้านช้าง ผ่านประตูชัย สู่หอพระแก้ว

 

ประตูชัยนี้สร้างโดยได้รับอิทธิพลมาจากประตูชัยฝรั่งเศส (The Arc de Triomphe) ตกแต่งด้วยศิลปะแบบล้านช้าง นำสัตว์ในตำนานตามความเชื่อของศาสนาพุทธ และเทพของพราหมณ์-ฮินดู ประดับตกแต่งโดยรอบเพื่อเป็นสิริมงคล แตกต่างจากประตูชัยฝรั่งเศสตรงที่ของฝรั่งเศสมีประตู 2 ด้าน แต่ของประตูชัยลาวมี 4 ด้าน มีความสูง 3 ชั้น รอบด้านเป็นรูปสี่เหลี่ยมมณฑล ตามแบบสถาปัตยกรรมลาว แบบเดียวกับพระธาตุหลวงและพระธาตุสีสองรัก ด้านบนมียอดช่อฟ้า 5 ยอด คือหลัก “ปัญจศิลา” หลักการปกครองประเทศ 5 ประการ ตามหลักพุทธธรรมสายกลาง จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ทำไมนักศึกษา ทหาร และผู้คนทุกสายอาชีพถึงได้นิยมเดินลอดผ่านประตูชัย

ส่วนภายในของประตูชัยเขาก็ไม่ได้ปล่อยให้ว่างเปล่า เปิดให้ร้านค้าเข้าไปตั้งขายสินค้าของที่ระลึกและขึ้นไปชมวิวเวียงจันทน์ชั้นดาดฟ้าได้ด้วย คล้ายๆ ตลาดย่อมๆ ก็ว่าได้ จุดนี้จึงเป็นสถานที่แรกที่ทุกคนต้องมาเยือนและไม่ว่าเราจะมาเที่ยวชมเวียงจันทน์กี่ครั้งก็ต้องมาเดินผ่านประตูชัยและตลาดที่อยู่ใกล้ๆ ประตูชัยเสมอ เห็นว่าถ้าได้มาช่วงหัวค่ำจะได้เห็น

ยลถิ่นล้านช้าง ผ่านประตูชัย สู่หอพระแก้ว

 

อีกจุดหนึ่งที่แนะนำว่าควรเดินเที่ยวชม ก็คือ หอพระแก้ว สถานที่ซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต หรือพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ว่ากันว่าชาวลาวนั้นเสียใจต่อการสูญเสียพระแก้วมรกตให้กับไทยอย่างมาก เพราะพระแก้วมรกตนี้เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของเขามาตั้งแต่ยุคพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชร่วม 200 กว่าปี ซึ่งก่อนหน้านี้พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชก็อัญเชิญมาจากเชียงใหม่หรืออาณาจักรล้านนา ก่อนหน้าล้านนาพระแก้วมรกตก็ได้ไปประดิษฐานอยู่หลายที่ จนกระทั่งถูกอัญเชิญลงมาประทับที่ประเทศไทยในสมัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ชาวลาวก็คิดว่าเป็นของเขา ส่วนไทยเราก็คิดว่าเป็นของเรา ไม่เว้นแม้แต่กัมพูชาที่พระแก้วมรกตได้เคยไปประดิษฐานเช่นกัน

เรื่องราวของหอพระแก้ว ตามคำบอกเล่าของไกด์ท้องถิ่นเล่าย้อนความถึงตำนานการเดินทางของพระแก้วมรกตในยุคพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช เมื่อปี 2108 สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตที่ได้อัญเชิญมาจากนครเชียงใหม่ อาณาจักรล้านนา เมื่อต้องเสด็จกลับมาสืบราชบัลลังก์ล้านช้าง สืบต่อจากพระเจ้าโพธิสาร พระราชบิดา

ยลถิ่นล้านช้าง ผ่านประตูชัย สู่หอพระแก้ว

 

พระเจ้าไชยเชษฐ์นี้มีศักดิ์เป็นพระนัดดาเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เมื่อครั้งเจ้านครเชียงใหม่เสด็จสวรรคต ไม่มีทายาทสืบทอดพระราชบัลลังก์ ขุนนางและคณะสงฆ์จึงลงความเห็นตรงกันว่าควรยกราชบัลลังก์ให้กับพระไชยเชษฐ์ และยกพระนามของพระองค์เป็นพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ซึ่งเวลานั้นพระแก้วมรกตได้มาอยู่นครเชียงใหม่ก่อนหน้านี้แล้ว

ต่อมาเมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชปกครองเมืองเชียงใหม่ ไม่นานนักพระเจ้าโพธิสาร พระบิดาของพระองค์ซึ่งประทับอยู่ที่หลวงพระบางก็เสด็จสวรรคต พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชจึงขอนำพระแก้วมรกตไปหลวงพระบางด้วย โดยพระองค์ทรงให้เหตุผลว่าพระประยูรญาติและประชาชนชาวหลวงพระบางจะได้มีโอกาสสักการบูชาพระแก้วมรกตบ้าง

เวลาผ่านไป 3 ปี พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชก็ยังไม่ยอมเสด็จกลับเชียงใหม่ บรรดาขุนนางจึงรู้ว่าพระองค์คงไม่ต้องการเสด็จกลับแล้ว จึงตั้งกษัตริย์พระองค์ใหม่ขึ้นครองราชย์แทน เวลานั้นกองทัพของพระเจ้าบุเรงนอง แห่งอาณาจักรตองอู (พม่า) ก็สามารถยึดที่มั่นเพื่อบุกเข้าโจมตีทางตอนใต้ของแม่น้ำโขงได้สำเร็จ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชก็ทรงย้ายไปประทับที่เวียงจันทน์ในช่วงปี 2103 โดยอัญเชิญพระแก้วมรกตไปด้วย จากนั้นพระแก้วมรกตจึงประดิษฐานในเวียงจันทน์เป็นเวลา 215 ปี จนถึงปี 2321

ยลถิ่นล้านช้าง ผ่านประตูชัย สู่หอพระแก้ว

 

หอพระแก้วที่เวียงจันทนี้แลดูคล้ายที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตบ้านเรา เชื่อว่าสมัยก่อนนั้นคงมีความสวยงามไม่แพ้กัน แต่ด้วยของเดิมถูกทำลายในยุคสงครามและถูกต่างชาติเข้ามาเปลี่ยนแปลงซึ่งน่าจะหมายถึงชาวฝรั่งเศสสมัยยังเป็นอาณานิคม ที่ได้เข้ามาเปลี่ยนวัดพระแก้วให้เป็นสำนักงานของฝรั่งเศสในการปกครองลาว จึงทำให้หมดความเป็นวัด เปลี่ยนเป็นหอพระแก้ว และได้รับการบูรณะใหม่เกือบทั้งหมด ในปี 2480-2483 โดยยึดรูปแบบเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด และได้รับการบูรณะอีกครั้งในปี 2550 เปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์หอพระแก้วให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาศึกษาเยี่ยมชม เสียค่าเข้าคนละ 50 บาท เปิดปิดตามเวลาราชการของลาว

ภายในพิพิธภัณฑ์นั้น พระแท่นบัลลังก์ปิดทองจารึกพระไตรปิฎก ภาษาขอม และกลองสำริดประจำราชวงศ์ลาว มีประตูใหญ่ทั้งสองเป็นของเก่าที่หลงเหลือมาแต่เดิม ภายในมีแท่นประดิษฐานของพระแก้วมรกตซึ่งถูกแทนที่ด้วยพระบางจำลอง และมีพระพุทธรูปเก่าแก่ที่ยังหลงเหลือและมีมูลค่าประมาณมิได้อีกเป็นจำนวนมากเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ โดยรอบจะมีพระพุทธรูปศิลปะล้านนาประดิษฐานและมีพระพุทธรูปศิลปะไทยแฝงอยู่หลายองค์

ในความสวยงามร่มรื่นของหอพระแก้วรู้สึกได้ถึงความเก่าแก่มีมนตร์ขลังของอาณาจักรล้านช้างคุ้มค่าแก่การเดินเที่ยวชม แต่ในใจเรากลับรู้สึกเสียดายหลายอย่าง เสียดายตรงที่พระพุทธรูปเกือบทุกองค์ล้วนถูกตัดยอดเกศไป ต้องเก็บไว้เตือนใจชนรุ่นหลังว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำ เสียดายที่เราไม่สามารถห้ามความรู้สึกของชาวลาวที่มีต่อไทยในประเด็นเรื่องพระแก้วมรกต เพราะในทางกลับกันหากถูกแย่งของรักของหวงประจำชาติไปก็คงรู้สึกไม่พอใจเช่นกัน หลายครั้งเราก็มักจะได้ยินเรื่องราวเหล่านี้และรู้สึกได้ผ่านน้ำเสียงแฝงความขุ่นเคืองเล็กๆ ของไกด์ท้องถิ่น แต่ถามว่าเราคนไทยที่ได้ไปเดินเที่ยวชมรู้สึกอึดอัดไหม บอกได้เลยว่า “ไม่” เพราะเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาหลายร้อยปีแล้ว หากจะก้าวไปข้างหน้าเราต้องเก็บอดีตไว้เป็นเพียงแค่บทเรียนและอย่าจดจำความเกลียดชังติดมาด้วย

ยลถิ่นล้านช้าง ผ่านประตูชัย สู่หอพระแก้ว

 

ยลถิ่นล้านช้าง ผ่านประตูชัย สู่หอพระแก้ว