Hyperbaric Oxygen Therapy คืออะไร
มีการพยายามนำ HBOT มาใช้ในการรักษาโรคอื่นๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะในวงการเสริมความงามหรือเวชศาสตร์ชะลอวัย
โดย...รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ในช่วงอาทิตย์นี้ สำหรับท่านที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองต่างๆ ที่เกิดขึ้น คงไม่พลาดข่าวที่ได้รับความสนใจในระดับต้นๆ คือปฏิบัติการที่ในบริเวณวัดพระธรรมกาย และคงมีผู้ที่สังเกตเห็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ชนิดหนึ่งที่พบอยู่ในบริเวณวัด มีลักษณะคล้าย Capsule ที่คนสามารถเข้าไปนอนได้ และมีการสอบถามมาจากสื่อต่างๆ มากมายว่าอุปกรณ์ดังกล่าวคืออะไร มีจุดประสงค์เพื่ออะไร ซึ่งอุปกรณ์ที่เห็นนี้ คือ Hyperbaric Oxygen Chamber หรืออุปกรณ์สำหรับรักษาผู้ป่วยด้วยออกซิเจนที่มีความดันบรรยากาศสูง (Hyperbaric Oxygen Therapy, HBOT)
HBOT คืออะไร
เป็นที่ทราบกันดีว่าออกซิเจนเป็นก๊าซที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ โดยปกติในความดันบรรยากาศปกติจะมีออกซิเจนอยู่ในอากาศประมาณ 21% และมีความดันของก๊าซออกซิเจนประมาณ 150 mmHg ในบรรยากาศปกติและเมื่อเราหายใจออกซิเจนเหล่านี้ก็จะมีการดูดซึมที่บริเวณเส้นเลือดในปอดและถูกนำไปเลี้ยงเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย การให้การรักษาด้วยออกซิเจนความดันบรรยากาศสูงคือการปรับแรงดันบรรยากาศในห้อง (Chamber) ที่มีการสร้างแบบจำเพาะ เพื่อให้มีแรงดันบรรยากาศที่สูงกว่าแรงดันบรรยากาศปกติในระดับน้ำทะเลได้หลายเท่า (โดยปกติ 2-3 เท่า) เมื่อผู้ป่วยเข้าไปอยู่ในห้องปรับความดันที่มีออกซิเจนบริสุทธิ์ ก็จะทำให้ผู้ป่วยสามารถได้รับออกซิเจนเข้าไปในร่างกายในระดับที่สูงมากกว่าปกติได้
ผลของการใช้ HBOT
การให้ผู้ป่วยได้รับ HBOT อย่างเหมาะสม พบว่าจะสามารถช่วยเพิ่มระดับออกซิเจนในร่างกายผู้ป่วยได้ ในผู้ป่วยที่มีฟองอากาศอุดตันเส้นเลือด HBOT จะช่วยลดขนาดของก๊าซที่อุดตันเส้นเลือด มีฤทธิ์ต้านการติดเชื้อและอาจช่วยกระตุ้นการสร้างเส้นเลือดใหม่ได้ ปัจจุบันพบว่าสามารถประยุกต์ใช้ HBOT เพื่อรักษาโรคต่างๆ ได้ เช่น ภาวะที่ผู้ป่วยเกิด Decompression Sickness จากการดำน้ำ (โรคน้ำหนีบ) โดยพบในผู้ป่วยที่ไปดำน้ำแล้วขึ้นสู่ผิวน้ำเร็วเกินไป โดยผู้ป่วยจะมีอาการภายหลังขึ้นจากน้ำ โดยอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดเมื่อยตามตัว หรือรุนแรงขนาดหมดสติ อ่อนแรง ตามร่างกายได้ ภาวะที่มีก๊าซอุดตันในกระแสเลือด ภาวะที่มีแผลเรื้อรังที่บริเวณแขน ขา จากการที่ขาดเลือดไปเลี้ยง หรือในผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผลเรื้อรัง โดยการใช้ HBOT อาจช่วยกระตุ้นให้เกิดการสร้างเส้นเลือดใหม่ไปเลี้ยงบริเวณเนื้อเยื่อที่ขาดเลือดได้ นอกจากนี้ ยังมีการพยายามใช้ HBOT ในการรักษาเพื่อหวังผลด้านการชะลอวัย (Anti Aging) หรือเสริมความงาม เช่น ลดรอยย่นของผิวหนัง ต้านฤทธิ์ของรังสี UV และมีการนำมาใช้ในข้อบ่งชี้อื่นๆ อีกมากมาย แม้ว่าโดยทางทฤษฎีอาจดูน่าสนใจ แต่ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่า HBOT สามารถทำให้เกิดผลดีในภาวะอื่นๆ ดังกล่าวได้ จึงยังไม่ถือว่าเป็นการรักษามาตรฐานได้
แนวทางการรักษาด้วย HBOT
การรักษาด้วย HBOT จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และบุคลากรผู้มีความชำนาญในการใช้อุปกรณ์ในสถานพยาบาลที่มีความชำนาญเฉพาะ ปกติ Chamber ที่ใช้จะมีทั้งขนาดที่สามารถเข้าไปใช้ได้ทีละคน หรือแบบห้องใหญ่ที่สามารถเข้าไปได้พร้อมกันหลายคน หรือให้รถเข็นเข้าไปได้ การรักษาด้วย HBOT ผู้ป่วยมักเข้าไปรับการรักษาเป็นเวลาสั้นๆ 1-2 ชั่วโมง ภายใต้แรงดัน 2-3 เท่าบรรยากาศ ภายใต้การเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด ผลข้างเคียงที่เกิดจาก HBOT สามารถพบได้ เช่น ความดันบรรยากาศที่สูง อาจทำให้เกิดอาการหูอื้อหรือลมรั่วในปอดได้ การได้รับออกซิเจนในระดับสูงอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแน่นหน้าอก แสบร้อนบริเวณหน้าอก หรือในผู้ป่วยส่วนน้อยอาจมีอาการทางระบบประสาท เช่น อาการชักได้ แต่พบได้น้อยมาก
กล่าวโดยสรุป การรักษาด้วย HBOT สามารถทำให้ผลการรักษาผู้ป่วยที่มีความผิดปกติในบางภาวะดีขึ้น และจัดเป็นการรักษามาตรฐานที่ต้องได้รับการดูแลจากทีมผู้เชี่ยวชาญ แต่ยังมีการพยายามนำ HBOT มาใช้ในการรักษาโรคอื่นๆ อีกมากมาย แต่ยังคงต้องรอการศึกษาเพิ่มเติมว่าจะมีประโยชน์ที่แท้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะในวงการเสริมความงามหรือเวชศาสตร์ชะลอวัย