ขนมพ่นควัน กินอย่างไรไม่อันตราย
ทุกวันนี้ในธุรกิจอาหารมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ร่วมกับกระบวนการผลิตมากมาย
โดย...ชลญ่า ภาพ btsstation.com
ทุกวันนี้ในธุรกิจอาหารมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ร่วมกับกระบวนการผลิตมากมาย ส่วนหนึ่งเพื่อเพิ่มความแปลกใหม่และดึงดูดให้ลูกค้าสนใจ ล่าสุดมีร้านค้านำไนโตรเจนเหลวมาใช้ในการทำขนมเพิ่มความน่าสนใจในการกินด้วยการพ่นควันพวยพุ่งออกอย่างสนุกสนาน แต่ขณะเดียวกันก็มีข่าวว่าเคยมีคนต่างชาติกินอาหารที่มีไนโตรเจนเหลวเข้าไปแล้วกระเพาะทะลุ เราจึงควรรู้ว่าจริงๆ การนำไนโตรเจนมาใช้ในอาหารและกินอาหารพวกนี้อันตรายหรือไม่
ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ให้ข้อมูลว่า ไนโตรเจนเป็นก๊าซที่ไม่มีอันตรายเพราะในอากาศที่เราหายใจกันอยู่มีปริมาณก๊าซไนโตรเจนสูงมากที่สุดถึง 79% ส่วนไนโตรเจนเหลวคือก๊าซไนโตรเจนที่ถูกทำให้อยู่ในรูปแบบละอองน้ำที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่พอสมควร ทำให้แสงผ่านไม่ได้เราจึงเห็นเป็นหมอกควันที่สัมผัสแล้วรู้สึกเย็นๆ เพราะมีความเย็นที่สูงมากมีจุดเดือดที่จะเปลี่ยนจากของเหลวกลายเป็นไอที่อุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส
ดร.วรวรงค์ กล่าวต่อว่า การนำไนโตรเจนเหลวมาใช้กับอาหารไม่มีอันตรายเพราะจะระเหยไปหมด ปัจจุบันนิยมนำมาใช้ในการถนอมอาหาร แต่การใช้กับอาหารต้องดูที่ความบริสุทธิ์ของไนโตรเจนเหลวที่ร้านค้านั้นเลือกซื้อมาใช้ด้วยเพราะมีหลายคุณภาพหลายราคา ไนโตรเจนเหลวที่บริสุทธิ์จริงๆ 99.99% ราคาจะสูงและไม่มีสิ่งเจือปน แต่ถ้า 98% อาจมีสิ่งเจือปนอย่างอื่นที่เราไม่รู้ว่าเป็นอันตรายต่อร่างกายหรือไม่รวมอยู่ก็ได้
“ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคจึงจำเป็นต้องรู้ว่าอะไรก็ตามที่เราใช้ สัมผัส และกินเข้าไป นั้นคืออะไร มีประโยชน์ หรือมีโทษอย่างไรเพื่อจะได้ระมัดระวังและปฏิบัติให้เหมาะสม อย่างการกินอาหารที่มีส่วนผสมของไนโตรเจนเหลว สิ่งสำคัญคือต้องรอให้ควันของไนโตรเจนเหลวระเหยหมดไปเสียก่อนแล้วจึงค่อยรับประทาน”
ดร.วรวรงค์ กล่าวว่า การสัมผัสโดยตรงกับไนโตรเจนเหลวในขณะที่ยังเป็นของเหลว และการสูดดมก๊าซไนโตรเจนว่า ถ้าไนโตรเจนมาสัมผัสกับร่างกาย ผิวหนัง หรือเนื้อเยื่อภายในอวัยวะต่างๆ ในสถานะที่ยังเป็นของเหลวอยู่สิ่งที่เกิดขึ้นคือจะทำให้ผิวหนังถูกเผาไหม้คล้ายๆ กับการนำมือไปวางบนกระทะร้อนๆ
“ลองนึกภาพเหมือนเรานำหยดน้ำหนึ่งหยดใส่ลงในกระทะร้อนๆ น้ำจะระเหยหายในทันที แต่ถ้านำน้ำหนึ่งแก้วใส่เข้าไปในกระทะร้อนๆ น้ำไม่สามารถระเหยหมดในทันที ฉะนั้นถ้ามีน้ำที่ค้างอยู่บนกระทะที่ร้อนจัดก็จะกลายเป็นอุณหภูมิที่เกิดการเผาไหม้ เช่นเดียวกันกับไนโตรเจนเหลวถ้าสัมผัสผิวหนัง หรือกินเข้าไปปริมาณมากๆ ในสถานะที่ยังเป็นของเหลวอยู่ไนโตรเจนเหลวก็ไม่สามารถระเหยหายไปได้ในทันที ทำให้เกิดการเผาไหม้บริเวณผิวหนังได้ เรียกว่า Nitrogen Burn หรือการเผาไหม้จากไนโตรเจนเหลว”
สำหรับการสูดดมก๊าซไนโตรเจน ดร.วรวรงค์ เตือนว่า เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง ควันที่ระเหยออกมาของไนโตรเจนเหลวไม่ควรสูดดมในปริมาณมาก เพราะในอากาศมีก๊าซไนโตรเจนสูงมากอยู่แล้ว ถ้าสูดดมเข้าไปเพิ่มอีกอาจทำให้ร่างกายมีปริมาณออกซิเจนไม่เพียงพอ เพราะร่างกายคนเราสร้างขึ้นมาให้รับไนโตรเจนในอากาศได้มากถึง 80% และรับออกซิเจนเพียง 20% เท่านั้น ซึ่งหากสูดดมไนโตรเจนเข้าไปมากขึ้นอีกจะส่งผลให้ร่างกายขาดออกซิเจน หมดสติและเป็นอันตรายต่อสมองได้