นพ.ธนกฤต จินตวร สุดระทึกกับแผ่นดินไหวนับ 10 ครั้งที่เนปาล
เรื่องราวความทรงจำของคนเรานั้นมีหลากหลาย โดยเฉพาะเรื่องราวที่ยากจะลืมเลือนนั้นมีได้ทั้งเรื่องราวเชิงบวกและเชิงลบ
โดย...อณุสรา ทองอุไร ภาพ วิศิษฐ์ แถมเงิน
เรื่องราวความทรงจำของคนเรานั้นมีหลากหลาย โดยเฉพาะเรื่องราวที่ยากจะลืมเลือนนั้นมีได้ทั้งเรื่องราวเชิงบวกและเชิงลบ เช่นเดียวกับคุณหมอหนุ่มท่านนี้ คุณหมอ มะเดื่อ-นพ.ธนกฤต จินตวร รองผู้อำนวยการด้านแพทย์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เขาเลือกที่จะจดจำแต่เรื่องที่ดีๆ ในบทบาทของการทำงานเป็นผู้ให้
การเป็นหมออาสาเพื่อไปบุกเบิกพื้นที่ต่างๆ เมื่อยามเกิดเหตุฉุกเฉินของแพทยสภา ซึ่งแพทย์ทีม 1 จะเข้าไปสำรวจพื้นที่ต่างๆ กรณีเกิดภัยพิบัติเพื่อไปประเมินสถานการณ์ว่า เหตุการณ์เลวร้ายมากน้อยเพียงใด ควรจะส่งแพทย์ด้านไหนเข้าไปลงพื้นที่ต่อไป ประชาชนในพื้นที่ต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง รวมถึง สิ่งของ อาหาร เสื้อผ้า ยารักษาโรค ทีมของเขาจะเป็นทีมเซอร์เวย์ล่วงหน้าไปก่อน
เขาเล่าย้อนอดีตให้ฟังถึงความทรงจำอันสุดแสนประทับใจและตื่นเต้นระทึกใจ เมื่อครั้งไปเป็นแพทย์อาสาช่วยผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ประเทศเนปาลเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ว่า ตลอดเวลาที่ไปเป็นแพทย์อาสา ยังมีการเกิดแผ่นดินไหวตามมาอีกหลายระลอก บางคืนต้องออกมานอนริมถนน เพราะอาคารสถานที่นอนนั้นมีความเสี่ยงจะถล่มซ้ำอันเกิดจากรอยร้าว ถือว่าเป็นประสบการณ์เฉียดตาย เพราะระหว่างนั้นก็มีคนแถวนั้นตายเพราะโดยตึกถล่มซ้ำ สงสารมาก เขารอดมาจากครั้งแรกได้ กลับต้องมาเจอถล่มซ้ำครั้งที่สองจนเสียชีวิต
เครื่องบินลงไม่ได้เพราะรันเวย์แตก
ทีมแพทย์ไทยเดินทางไปวันแรกก็เจออาฟเตอร์ช็อกกันทันที เครื่องบินดีเลย์เพราะลงจอดไม่ได้เพราะลานบินก็พื้นแตกแยกเป็นร่องโหว่เลย ที่พักที่เตรียมไว้ก็เข้าพักไม่ได้ ต้องมากางมุ้งนอนกันริมถนน ระหว่างที่ไป 10 วันนั้นมีลุ้นกันทุกวัน มีแผ่นดินไหวซ้ำเกือบทุกวัน
หลังจากแผ่นดินไหว ทีมแพทย์ก็ตั้งใจทำตามแผนที่วางไว้ แบ่งออกเป็นหลายๆ ส่วน โดยทีมของหมอมะเดื่อก็เปิดทีมรักษาดวงตา “คือก่อนหน้าที่จะมีแผ่นดินไหว เรามีโครงการที่จะผ่าตา 1,000 ดวง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลที่ประเทศเนปาลอยู่แล้ว โดยให้พระธรรมทูตที่เนปาลช่วยประสานงานคัดกรองผู้ที่จะเข้ามารับการผ่าให้ ซึ่งกำหนดผ่าที่วัดไทยที่ลุมพินี พอมีเหตุการณ์นี้ก็ต้องปรับแผนกันใหม่ มีความฉุกเฉินทุลักทุเลมาก
“วันที่ 2 หรือ 3 ของการไปลงพื้นที่เราเตรียมตัวจะออกไปบริจาคของไม่ไกลจากย่านนั้นนัก ไปนั่งรอรถมารับ รอเป็นชั่วโมงรถก็ยังไม่มา ชักแปลกใจเลยเข้าไปนั่งรอในตึก จัดยาเตรียมไว้แจกคนไข้ผู้ประสบเหตุ ราวๆ บ่ายโมงรู้สึกว่าห้องโคลงเคลงไปมา เห็นท่าไม่ดีเรารีบเผ่นกันออกมาจากตึก ไปรวมตัวกันที่ลานวัด พระเณรก็วิ่งกันจีวรปลิวเลย มีเสียงร้องตะโกนเรียกกันดังลั่นไปหมด ได้ยินเสียงตึกร้าวแบบจะแตกปริออกมาเลย พื้นลานวัดสั่นเหมือนจะยุบลงไป ต้นไม้ใหญ่ก็โยกเยกจะโค่นแลดูน่ากลัวมาก เด็กๆ ก็ร้องไห้ตกใจกลัว ทั่วบริเวณที่เราพักกันอยู่ดูวุ่นวายสับสนมาก แผ่นดินสะเทือนเลื่อนลั่นแบบนั้นอยู่กว่า 10 นาที กว่าจะสงบ ปรากฏว่าแผ่นดินไหวแรง 7.4 ริกเตอร์ ห่างจากที่เราอยู่ 70 กม. ทำให้อาคารที่ร้าวจากการไหวครั้งแรกถล่มเพิ่มอีกในครั้งนี้ และมีรอยร้าวเพิ่มอีกหลายแห่ง เสียงแตรดังจากรถที่แล่นอยู่ขวักไขว่อย่างโกลาหลมีผู้ได้รับบาดเจ็บบ้าง”
หลังจากแผ่นดินไหวสงบลง ทุกคนถูกห้ามไม่ให้ขึ้นไปบนตึก พระบางรูปเริ่มตั้งเต็นท์ปูผ้าใบบริเวณลานโล่งในวัด เพราะกลางคืนต้องนอนในเต็นท์พอตอนเย็นๆ คณะแพทย์ต้องไปช่วยดูแลผู้ป่วยที่โรงพยาบาลขนาด 50 เตียง สถานที่ไม่ห่างไปนักได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวเสียหายหนักมาก ทีมแพทย์ไม่รอช้าจัดชุดยาพร้อมอุปกรณ์ทำแผล 3 ลัง ไปที่โรงพยาบาล ระยะห่างแค่ 30 กม. ต้องใช้เวลาเดินทางนาน 45 นาที เนื่องจากถนนแคบ การจราจรแน่นขนัด ชาวบ้านออกจากจุดเสี่ยง ทางโรงพยาบาลต้องย้ายคนไข้ออกจากตัวอาคารมาตั้งเป็นแคมป์รักษากันอยู่ข้างถนน เพราะอาคารมีรอยร้าวมาก และไฟฟ้าถูกตัด
หลังจากกินอาหารเย็นเสร็จ ก็เตรียมจัดยาข้าวของที่ต้องใช้ในวันพรุ่งนี้ พอ 5 ทุ่มกว่าก็เริ่มทยอยเข้านอนในเต็นท์ ยังไม่ทันจะหลับพอเคลิ้มๆ สักเที่ยงคืน ยังไม่หายตื่นเต้นกันเลย ปรากฏว่าเริ่มรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนที่เคลื่อนผ่านแผ่นหลังที่นอนราบอยู่บนลานวัดเป็นระลอกๆ ไม่เกินตีหนึ่ง มีเสียงตะโกนเอะอะโวยวายเรียกให้ทุกคนออกจากเต็นท์ ทุกคนตกใจ
“ผมก็ควานหาแว่นตากับกระเป๋า งัวเงียแบบเพลียๆ คลานออกจากเต็นท์ หมออีกคนก็หาที่เปิดซิปของเต็นท์ไม่เจอ (หัวเราะ) ตัวยังติดอยู่ในถุงนอน แต่ตอนนั้นขำกันไม่ออกนะ ตกใจกันทุกคนเก็บของออกมาไม่หมด ต้องใช้เวลาหลายนาทีกว่าจะคลานกันออกมาได้อย่างทุลักทุเล พระบางรูปกระโจนออกมาทางช่องหน้าต่างเล็กๆ ของเต็นท์จนเต็นท์พัง” คุณหมอเล่าอย่างขำๆ
พอตั้งสติกันได้ ต่างก็ขำกับพฤติกรรมของตัวเองที่ลนลานหนีออกจากเต็นท์ รอดูสถานการณ์อยู่สักระยะก็ง่วงกลับเข้าไปนอนในเต็นท์กันใหม่ พอตีสามก็มีอาฟเตอร์ช็อกอีกครั้ง ทุกคนก็ต้องออกจากเต็นท์อีกรอบ นั่งๆ นอนๆ กันอยู่อย่างนั้นไม่มีใครได้หลับสนิท เพราะมีแผ่นดินไหวหนักบ้าง เบาบ้าง สลับกันไปตลอดทั้งคืน ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่ลืมไม่ลงจริงๆ ที่เจอแผ่นดินไหวติดต่อกันแบบนั้นเกือบ 10 ครั้ง ตลอด 3-4 วันที่เราไปตั้งแคมป์ที่วัด ได้แต่ช่วยกันภาวนาให้พวกเราและทุกคนรอดปลอดภัยกันทุกๆ คนเถิด
เหนื่อยกายแต่อิ่มใจ...
“สงสารคนของเขาที่ต้องเจอเรื่องแบบนี้ซ้ำๆ และเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ครอบครัวอันเป็นที่รัก ขนาดเราไปอยู่แค่ 5-6 วัน ยังรู้สึกยากลำบาก แล้วคนที่อยู่ในพื้นที่เขาจะลำบากเพียงใด เห็นใจเขาจริงๆ หวังให้เหตุการณ์รุนแรงนี้สิ้นสุดเสียที ขอให้ผลบุญที่เราทำมาช่วยให้ทุกคนปลอดภัยด้วยเถอะ”
สิ่งที่พระไทยและแพทย์ไทยไปช่วยเหลือนั้น เป็นความปรารถนาดีที่ชาวเนปาลเขาซาบซึ้งใจมาก เราหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว เพื่อสร้างสรรค์ความสุขและช่วยบรรเทาความทุกข์ให้กับชาวเนปาลด้วยความจริงใจ
อีกเหตุการณ์ประทับใจที่จำได้ไม่ลืม ก็คือเมื่อ 3 ปีที่แล้วเขาไปทำแพทย์อาสาในถิ่นทุรกันดารทางเหนือ มีเด็กชายวัย 10 ขวบ เดินแบกน้องวัย 3 ขวบ มาหาหมอเพราะน้องชายท้องเสีย เดินมาเกือบวันกว่าจะมาถึง น้องนี่สภาพดูไม่ได้ ปรากฏว่าเป็นท้องร่วงอย่างหนัก ตอนมาถึงน้องชายเขาชีพจรอ่อนมาก เกือบไม่รอด
“พวกเราต้องรีบรักษาเพราะร่างกายเสียน้ำมาก หลังจากช่วยเด็กคนนี้ไปแล้วเราก็เลยไปช่วยกันหาเงินบริจาคสร้างเรือนที่พักให้กับเด็กที่วัดแถวๆ นั้น เด็กๆ จะได้ไม่ต้องเดินเท้าไกลๆ วันละหลายชั่วโมง มีเรือนนอนแยกหญิงแยกชาย โดยมีพระที่วัดคอยช่วยดูแล ก็สร้างเสร็จแล้วนอนได้เรือนละ 20 คน มีความสุขมากที่เห็นรอยยิ้มของเด็กๆ ที่ทำมาหายเหนื่อยเลย” เขาเล่าอย่างมีความสุข
คุณหมอเล่าว่า ตั้งแต่จบแพทย์จากศิริราช เขาก็จะทำงานเป็นแพทย์อาสามาตลอด เพราะเห็นถึงความสำคัญของการให้ เนื่องจากเขาเคยเป็นผู้รับมาก่อน เป็นผู้ที่เคยได้โอกาสมาก่อน เมื่อวันหนึ่งพอมีความพร้อมบ้าง ก็คิดว่าต้องให้กลับไปบ้าง
“ผมเป็นเด็กต่างจังหวัด เป็นคนปักษ์ใต้ จบ ม.3 สอบเข้า ม.ปลายได้ที่เตรียม ไม่มีญาติพี่น้องที่กรุงเทพฯ แม่ก็เอามาฝากหลวงพ่อไว้ที่วัดปทุมวนาราม ไม่รู้จักท่านมาก่อน แม่เข้ามาขอฝากลูกไว้เพราะใกล้กับโรงเรียนเตรียม พระท่านก็รับฝากแม้เจอกันเพียงครั้งแรก ผมก็อยู่วัด 3 ปีจนจบมัธยมปลาย ปิดเทอมก็บวชเณร โตมากับข้าวก้นบาตร เอนทรานซ์ครั้งแรกไม่ติดแพทย์นะ ไปติดฟู้ดไซน์ที่มหาวิทยาลัยเกษตร ก็เรียนไปปีหนึ่งแล้วมาสอบใหม่จนได้แพทย์ศิริราชเพราะตั้งใจจะเป็นหมอตั้งแต่แรก ยังไงก็ต้องสอบให้ได้” เขากล่าวอย่างมุ่งมั่น
ยิ่งให้ยิ่งได้...
เขาตั้งใจทำแพทย์อาสาตลอดเวลาที่ผ่านมา เพราะคิดว่าการให้คือประโยชน์และความสุข ทุกคนควรได้รับโอกาสที่ดีๆ ในชีวิต เหมือนกับที่เขาเคยได้ สำหรับเขายิ่งให้จะยิ่งได้ เขาเคยได้รับมาแล้ว หลังจากนี้เขาก็จะเป็นผู้ให้บ้าง จะให้ทุกครั้งที่มีโอกาส
ตอนเขาบวชเณรก็ไปช่วยสอนให้กับเด็กๆ ต่างจังหวัด พอเรียนมหาวิทยาลัยก็ไปทำค่ายอาสา ตอนสึนามิที่ใต้ เขาก็ไปเป็นทีมแพทย์อาสา น้ำท่วมปี 2554 ก็ไปออกหน่วยแพทย์ จนกระทั่งปัจจุบันเขาก็เป็นทีมแพทย์อาสาทีมที่ 1 ของแพทยสภา เพื่อเข้าเซอร์เวย์พื้นที่ประสบเหตุก่อนจะส่งทีมแพทย์ชุดอื่นเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งเขาจจะเดินทางไปทั้งในและต่างประเทศ เพื่อร่วมทีมแพทย์อาสาจากประเทศอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะแผ่นดินไหวที่ไต้หวัน พายุถล่มที่เมียนมา
หากในภาวะปกติไม่เกิดเหตุการณ์พิบัติใดๆ เขาก็จะมีทีมแพทย์เดินทางไปตรวจรักษา รวมทั้งผ่าตัดตาให้กับประชาชนในถิ่นทุรกันดาร โดยร่วมกับทีมแพทย์อาสาอื่นๆ อีกเกือบ 10 ท่าน อย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้งเสมอ
“การให้มีหลายแบบ ไม่ได้หมายความถึงตัวเงินอย่างเดียว ให้เวลาให้โอกาส แต่โชคดีอาชีพหมอสร้างโอกาสในการให้ได้มากกว่าอาชีพอื่นๆ แต่ไม่ว่าคุณจะมีอาชีพอะไรคุณก็เป็นผู้ให้ได้เสมอ ให้เป็นสิ่งของ ให้อะไรก็ได้ทั้งนั้น สังคมที่น่าอยู่เพราะมีผู้ให้มากพอ เขาคิดเช่นนั้น” คุณหมอกล่าวอย่างมุ่งมั่นในความดี