สงกรานต์หลังสงกรานต์ ที่ ‘กาญจนบุรี’
3 วัน 2 คืน ที่กาญจนบุรีหนนี้ ไม่เฉียดแม่น้ำแควหรือแลนด์มาร์คใดๆ สักแห่ง แต่กลับได้ความรู้และความรู้สึกใหม่เข้ามาแทน
โดย...กาญจน์ อายุ
3 วัน 2 คืน ที่กาญจนบุรีหนนี้ ไม่เฉียดแม่น้ำแควหรือแลนด์มาร์คใดๆ สักแห่ง แต่กลับได้ความรู้และความรู้สึกใหม่เข้ามาแทน แบบใครจะเชื่อว่าเมืองกาญจน์จะมี!
อย่างข้อแรกแปลกหรือไม่? คนจังหวัดนี้เล่นน้ำสงกรานต์กันวันที่ 17 เม.ย. แทนที่จะเปียกปอนกันตั้งแต่วันที่ 13 อย่างคนอื่นเขา
หรือเชื่อหรือไม่ เมืองกาญจน์มีประเพณีแห่ปราสาทผึ้งในช่วงสงกรานต์ เพราะเห็นแต่ในอีสานเขาแห่เข้าวัดช่วงเข้าพรรษากัน และรู้หรือไม่ว่า มีชาวไทยทรงดำตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นชุมชนใหญ่และแนบแน่น (มาก) กับประเพณีไทย เช่น งานยกธงสงกรานต์
ใยแมงมุม เครื่องประดับธงสมัยใหม่
ความแปลกจนน่าฉงนเหล่านี้ เพิ่งถูกค้นพบหลังจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ชักชวนไปหาคำตอบ บนเส้นทางสงกรานต์หลังสงกรานต์เมื่อสงกรานต์ที่ผ่านมา
ยกธงสงกรานต์ ความสนุกสนานแบบเบญพาด
ภาพที่ติดตาและติดใจจนถึงวันนี้คือ ธงหัก!
ประเพณียกธงสงกรานต์ เป็นประเพณีสำคัญของชาวเบญพาด ต.พังตรุ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี ที่ชาวบ้านสืบต่อกันมามากกว่า 100 ปี ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่ 13 บ้านเบญพาด เล่าว่า เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ชาวบ้านจะร่วมกันทำธงตลอด 5 วัน คือตั้งแต่วันที่ 13 จนถึงพิธีแห่วันที่ 17 เม.ย. ของทุกปี
ชาวบ้านพรมน้ำหอมบนลำไผ่อาบขมิ้น
เริ่มจากชาวบ้านแต่ละหมู่บ้าน จะเข้าไปหาต้นไผ่ลำต้นยาวตรงและมีกิ่งก้านแตกแขนง นำมาใช้เป็น “ธง” และจะช่วยกันเย็บผ้าผืนใหญ่ที่มีความยาวพอดีกับความสูงของต้นไผ่ ประดับด้วยลูกปัดสวยงาม ทำเป็น “ผ้าธง” อันเป็นสองส่วนประกอบหลักของธงสงกรานต์
ส่วนของกิ่งก้านบริเวณปลายต้นไผ่ ชาวบ้านจะช่วยกันประดิษฐ์ของตกแต่ง เช่น ใยแมงมุม ดอกไม้ ปลาตะเพียนสาน นกสาน ตะกร้อ หรือแล้วแต่ธีมของหมู่บ้านนั้นที่ตกลงกัน
ทว่าในอดีตของตกแต่งธงจะใช้พวกเศษผ้าสี ใบลาน ใบตาล ปุยฝ้าย หรือของประดิษฐ์จากธรรมชาติ ซึ่งช่วงเวลาลงแขกทำธงนี้จะเป็นยามดีที่ลูกหลานจะกลับบ้านมาทำกิจกรรมร่วมกัน
เด็กชายเอื้อมมือแต้มดอกผึ้ง
“แต่ก่อนต้นไผ่ก็หาตามมีตามเกิด” ผู้เฒ่าท่านหนึ่งกล่าว
“แต่เพราะทุกวันนี้มีการแข่งขันยกธง ชาวบ้านแต่ละหมู่เลยต้องหาต้นไม้ที่ใหญ่และสูงเพื่อให้ธงของตัวสูงที่สุดและแข็งแรงที่สุด ตรงกลางของธงจะมีรูปพญานาค เชื่อว่าขอน้ำขอฝน ขอความอุดมสมบูรณ์ในช่วงทำนาลำต้นจะใช้ขมิ้นแห้งผสมน้ำทาเสาธงให้เป็นสีเหลืองสวยงาม และเมื่อยกธงแล้วบ้านของเราจะมีความสุข มีความอุดมสมบูรณ์
“ชาวบ้านเราทำทุกปีไม่เคยขาด เพราะถ้าขาดแล้วความรู้สึกของชาวบ้านจะไม่ดี ไม่สบายใจ เหมือนว่าจะไม่มีความสุขเหมือนเดิม”
เด็กน้อยถูกอุ้มขึ้นไปปักพุ่มผ้าป่าบนต้นผึ้ง
พอได้ฟังเหมือนกันว่าประเพณีเป็นกุศโลบายให้ชาวบ้านมีความรัก ความสามัคคี และไม่ลืมที่จะเข้าวัดในช่วงสงกรานต์ ทั้งหมด 7 ธงสงกรานต์จะถูกแห่พร้อมกันในวันที่ 17 เม.ย. โดยแต่ละหมู่บ้านจะแห่ออกจากบ้านตนแล้วไปหยุดพร้อมกันที่วัดเบญพาดราวบ่ายแก่ๆ จากนั้นพิธียกธงจะเริ่มขึ้นและเสร็จสิ้นภายในไม่เกิน 10 วินาที ซึ่งผู้ชนะของแต่ละปีจะไม่ได้รับรางวัลใดๆ นอกจากความภูมิใจไปทั้งปี
“ปู่ย่าตายายไม่ได้บอกว่าถ้าเราทำแล้วเราจะได้อะไร แต่เราก็ทำไปเพราะปู่ย่าตายายเขาทำมา” ยายน้อย ม่วงศรี ชาวไทยทรงดำวัย 75 ปีเล่า
“ยายเกิดมาก็เห็น (ประเพณียกธง) รู้ว่าพอถึงวันขึ้นปีใหม่ไทยลูกหลานต้องมารวมตัวกันทำธง เป็นแบบนี้ทุกปีไม่มีขาด และเราจะไม่ทำได้ยังไง”
ปักยอดปราสาทผึ้ง
ทั้งนี้ คุณยายน้อยไม่ได้เล่าว่าสมัยก่อนขบวนแห่เป็นอย่างไร? แต่สมัยนี้ต้องใช้คำว่า“ปล่อยผี” เพราะทั้ง 7 ขบวนจัดเต็มทั้งเสื้อผ้าหน้าผมและระบบสเตอริโอ ร้องรำทำเพลงมาตั้งแต่หน้าหมู่บ้าน ไม่ว่าเด็กหรือคนชราก็แรงไม่ตก ทั้งเต้น ทั้งเดิน ทั้งผลัดกันแบกธง บนระยะทางร่วมหลายกิโลเมตรกว่าจะไปถึงวัดมีถึง 3 ชม. แต่ทุกคนยังแฮปปี้
เมื่อถึงวัดเบญพาดแล้ว ธงทั้ง 7 เสา จะวางเป็นแนวนอนให้ชาวบ้านได้พรมน้ำหอมจากโคนธงถึงปลายเสา เพื่อความเป็นสิริมงคล จากนั้นขบวนพุ่มผ้าป่าจะนำไปตั้งไว้บนศาลาการเปรียญเพื่อทำพิธีทอดผ้าป่า
เมื่อถึงพิธีทางศาสนานี้ ความบันเทิงทุกอย่างจะหยุดชะงัก และชาวบ้านจะพร้อมกันนั่งพนมมือฟังพระสวดอย่างตั้งใจ กระทั่งพระสงฆ์ทำพิธีสวดถึงวรรคสุดท้าย ชาวบ้านไม่จำกัดจำนวนจะร่วมแรงกันยกธงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้ง 7 ธง โอนเอนเปลี่ยนตำแหน่งเป็นแนวตั้งเพียงในพริบตา พร้อมเสียงโห่ร้องเชียร์ธงระงม
เบื้องหลังความสำเร็จหลังยกธง
ทว่าในปีนี้มีเรื่องไม่คาดคิด ธงเสาหนึ่งหักกลางปล้องไม่อาจตั้งตรงเหมือนธงอื่นได้ ในใจผู้ชมอย่างเราได้แต่คิดสงสารชาวบ้านที่ตั้งใจทำมา 5 วัน 5 คืน แต่ชาวเบญพาดไม่คิดเช่นกัน คนจากหมู่บ้านอื่นที่มัดธงของตนแล้วต่างกรูกันมาช่วยมัดลำไผ่ที่หักจนไม่เหลือช่องว่าง และช่วยกันยกธงอีกครั้งโดยปราศจากการแข่งขัน ลำไผ่ก้านยาวโอนเอนเหมือนจะคัดค้าน แต่ด้วยแรงสามัคคีที่ไม่อาจต้านทาน ธงที่หักได้กลายเป็นธงที่สมบูรณ์อีกครั้ง
“ชาวบ้านเราทำทุกปีไม่เคยขาด เพราะถ้าขาดแล้วความรู้สึกของชาวบ้านจะไม่ดีไม่สบายใจ เหมือนว่าจะไม่มีความสุขเหมือนเดิม”
คำพูดนี้ลอยมาเมื่อเห็นภาพมหัศจรรย์สักครู่ และรู้ทันทีว่าปู่ย่าตายายคงไม่ได้หวังให้ลูกหลานได้อะไรจากประเพณี นอกเหนือไปจากความสามัคคีเช่นนี้เอง
คนละไม้คนละมือช่วยกันยกธง
จากขี้ผึ้งถึงปราสาท ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง
รัชนี แห้วเพ็ชร หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ สำนักปลัดเทศบาลตำบลหนองปรือ เล่าว่า ประเพณีแห่ปราสาทผึ้งเกิดขึ้นพร้อมกับการมาตั้งถิ่นฐานของชาวหนองปรือ ซึ่งเป็นคนลาวอพยพมาจากเวียงจันทน์ นับเป็นเวลาเกือบ 100 ปีมาแล้ว
“เดือนห้าของทุกปีหรือเดือน เม.ย. ชาวบ้านจะออกไปตีผึ้ง ไปหาน้ำผึ้ง แล้วมันจะมีขี้ผึ้งที่นำมาใช้ทำเป็นเทียนให้แสงสว่าง ซึ่งสิ่งที่ได้จากการออกไปหาน้ำผึ้งก็จะนำมาถวายพระด้วย ต่อมาชาวบ้านมีการคิดค้นว่าน่าจะทำอะไรที่มีความสวยงาม เลยทำเป็นปราสาทสร้างด้วยไม้ไผ่ บุด้วยกาบกล้วย และประดับด้วยดอกผึ้ง” รัชนี กล่าวเพิ่มเติม
ชาวบ้านจะเดินทางมาที่วัดหนองปรือ เพื่อติดดอกผึ้งบนปราสาท โดยวันที่ 16 เม.ย. จะมีการแห่ปราสาทผึ้งไปรอบหมู่บ้าน กลับมาแห่รอบโบสถ์ 3 รอบ และตั้งไว้ที่ศาลาการเปรียญ จากนั้นวันที่ 17 เม.ย. จะมีพิธีสวดฉลองปราสาทผึ้งและถวายแด่พระสงฆ์เพื่อเป็นพุทธบูชา
หญิงไทยทรงดำกำลังนำเครื่องสานประดับธง
ทั้งนี้ ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง บ้านหนองปรือ จะมีขึ้นช่วงหลังสงกรานต์เท่านั้น ต่างจากการแห่ปราสาทผึ้งทางภาคอีสานที่จะจัดขึ้นช่วงวันเข้าพรรษาเพื่อถวายขี้ผึ้งทำเทียนพรรษา
อย่างไรก็ตาม รากของประเพณีดังกล่าวก็มาจากคนเวียงจันทน์และทำขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาเช่นเดียวกัน อาจจะต่างตรงความเข้มข้นที่อีสานจะมีมากกว่า เพราะชาวหนองปรือที่กล้าเรียกตัวเองว่าเป็นลาวเวียงจันทน์นั้นหาแทบไม่มีแล้ว
ทั้งสองประเพณีสงกรานต์ที่จัดขึ้นหลังสงกรานต์นับเป็นความพิเศษของสงกรานต์ที่ผ่านมาอย่างแท้จริง เพราะ 3 วัน 2 คืนที่กาญจนบุรีหนนี้ไม่เฉียดแม่น้ำแควหรือแลนด์มาร์คใดๆ สักแห่ง แต่กลับได้ความรู้และความรู้สึกใหม่เข้ามาแทน
ซึ่งตอนนี้เชื่อแล้วว่าเมืองกาญจน์ก็มีเพราะจังหวัดนี้มีมากกว่าสะพานข้ามแม่น้ำแควหรือประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยประเพณีวัฒนธรรมเก่าแก่ที่สืบทอดกันมา และน่าบันทึกไว้ว่าปีหน้าอย่าลืมมาเยือน
ยายน้อย ม่วงศรี ผู้สืบทอดประเพณียกธงของหมู่บ้านไทยทรงดำ
ลูกปัดและดอกไม้สำหรับเป็นเครื่องประดับผ้าธง