โหดจริงไม่อิงตำนาน 'แห่นาคโหด'
งานบุญที่แปลกประหลาดและโหดที่สุดในโลกคือ "แห่นาคโหด" จ.ชัยภูมิ ประเพณีที่เกิดขึ้นจากความคึกคะนองของชายฉกรรจ์
โดย...กาญจน์ อายุ
งานบุญที่แปลกประหลาดและโหดที่สุดในโลกคือ "แห่นาคโหด" จ.ชัยภูมิ ประเพณีที่เกิดขึ้นจากความคึกคะนองของชายฉกรรจ์ จนกลายเป็นตำนานแห่ง "บ้านโนนเสลา" ที่สืบทอดต่อกันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของนาครุ่นหลังจวบจนปัจจุบัน
เมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา ประเพณีบุญเดือนหก งานแห่นาคโหด ได้เวียนกลับมาอีกครั้ง ณ วัดตาแขก (วัดใน) โดยชาวบ้านโนนเสลาและโนนทันได้ร่วมกันจัดงานอุปสมบทหมู่ให้กับคนหนุ่มหรือบุตรหลานในหมู่บ้านที่มีอายุครบ 20 ปี เพื่อให้ลูกหลานได้บวชแทนคุณบิดามารดา ซึ่งมีการเตรียมตัวมาตั้งแต่เดือนสี่
ผู้เป็นบิดาจะพาบุตรชายไปฝากไว้กับเจ้าอาวาสใน 2 วัด คือ วัดบุญถนอมพัฒนาราม (วัดนอก) และวัดตาแขก (วัดใน) เพื่อถือขัน 5 ประกอบด้วย เทียน 5 คู่ ดอกไม้ 5 คู่ ไปฝากตัวเป็นนาคปฏิบัติธรรมถือศีล 8 เรียนรู้บทสวดที่จะบวช และเรียนรู้พระธรรมวินัยเบื้องต้นก่อนถึงกำหนดวันบวชของประเพณี
กองหมอนขิดที่ชาวบ้านนำมาถวายวัด
งานแห่นาคโหดเริ่มต้นด้วยพิธีการตัดและโกนผมนาค จากนั้นนาคทุกคนจะไปกราบศาลปู่ตา ซึ่งเป็นศาลประจำหมู่บ้านพร้อมกัน เมื่อเสร็จนาคจะกลับวัดเพื่อทำพิธีสู่ขวัญนาคอันศักดิ์สิทธิ์ หลังจากนั้นช่วงเวลาแห่นาคโหดจะเริ่มต้นขึ้น โดยใช้คนหนุ่มที่ยังไม่ได้บวชมาช่วยกันหามแคร่ไม้ไผ่ เขย่าโยนนาคอย่างรุนแรงเพื่อทดสอบความตั้งใจ
นาคต้องมีความมุ่งมั่นอดทนที่จะบวชแทนคุณบิดามารดาและต้องประคองตัวเองไม่ให้ตกลงมาจากแคร่ เป็นเช่นนี้ตลอดระยะทางที่แห่รอบหมู่บ้านกว่า 3 กม. ตลอด 3-4 ชม. และรอบโบสถ์วัดอีก 3 รอบ หากใครตกลงมาถูกพื้นดินจะถือว่าขาดคุณสมบัติ และอาจจะไม่ให้บวชก็เป็นได้
ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของประเพณีเกิดขึ้นในปี 2514 โอด ขวัญกล้า นักเลงหัวไม้ที่เป็นที่รักของคนในหมู่บ้านเกิดนึกพิเรนทร์ ตะโกนบอกให้คนหามโยกแคร่แรงๆ จนเกิดเป็นความสนุกสนาน ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้มีการทำตามจนกลายเป็นธรรมเนียมที่สืบทอดกันมานาน 46 ปี
ก่อนนาคจะไปรวมตัวที่วัด ต้องไปขอขมาญาติตามบ้านต่างๆ
แห่นาคโหดนั้นนับเป็นบททดสอบของลูกผู้ชาย เพื่อทดแทนพระคุณ "แม่" ที่ต้องอดทนอดกลั้นกับความเจ็บปวดเมื่อตอนคลอดลูกออกมา และต้องอดทนกับความทรมานในการอยู่ไฟบนแคร่ไม้ไผ่ ฉะนั้นก่อนนาคจะสามารถบวชได้ ต้องอดทนกับความเจ็บปวดและครองตัวให้มั่นบนแคร่ไม้ไผ่ที่ถูกเซิ้งถูกโยนอย่างรุนแรง
แห่นาคโหด 2560
ปีนี้มีชายอายุครบ 20 ปี เข้าพิธีสู่ขวัญนาคจำนวน 16 คน โดยพิธีเริ่มตั้งแต่เช้าตรู่ของวันที่ 2 พ.ค. ผู้เฒ่าผู้แก่จะไปทำบุญใส่บาตรถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ที่วัดตาแขก (วัดใน) ในขณะที่บ้านของนาคจะมีพิธีปลงผมนาค โดยญาติและเพื่อนบ้านจะนำหมอนขิดและปัจจัยใส่ซองมาร่วมทำบุญ ซึ่งฝ่ายเจ้าบ้านจะให้เนื้อหมูสดเพื่อให้นำไปประกอบอาหารเป็นสิ่งตอบแทน
เมื่อปลงผมและแต่งกายนาคเสร็จ ผู้ติดตามนาคจะกางร่มพานาคไปขอขมาญาติตามบ้านต่างๆ จนกระทั่งเวลาเที่ยงกว่า นาคทุกคนจะไปรวมตัวกันที่วัดตาแขกเพื่อไปคารวะกราบไหว้ศาลปู่ตาซึ่งเป็นศาลประจำหมู่บ้าน และกลับมาคารวะหลักเส หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของวัด
มือของนาคถือใบบัวรองรับเส้นผม
ก่อนขึ้นไปนั่งพักบนศาลาวัดเพื่อเข้าสู่พิธีบายศรีสู่ขวัญนาค นาคทั้ง 16 คนจะนั่งล้อมพราหมณ์ผู้ทำพิธี พนมมือถือสายสิญจน์ตั้งใจฟังคำสวด โดยช่วงปลายของพิธีพ่อแม่และญาติของนาคจะช่วยกันร้องโห่และโถมตัวเข้ามาผูกข้อมือ
ไข่ต้มที่ปอกเปลือกแล้วถูกถือประคองในมือ ก่อนที่แม่ของนาคจะเด็ดเส้นผมของตนออกมาผ่าแบ่งครึ่งไข่ออกเป็น 2 ชิ้น ไข่ที่ถูกผ่าอย่างสวยงามจะถูกทำนายในแง่ดีจากพราหมณ์ผู้ทำพิธี หลังจากนั้นนาคทุกคนจะโน้มตัวลงรับน้ำมนต์จนถ้วนทั่วอันเป็นการเสร็จสิ้นพิธี
เมื่อผ่านพิธีสู่ขวัญ นาคจะห้ามเดินติดพื้นดิน แต่ต้องขึ้นหลังผู้ติดตามและอยู่ภายใต้ร่มของตนเท่านั้น ซึ่งรวมถึงตอนอยู่บนแคร่!
แม่ล้างผมนาคก่อนสวมชุดเต็มยศ
ตั้งแต่ปี 2514 เป็นต้นมา ยังไม่มีผู้ใดตกลงมาถูกพื้นดินเลยสักราย ถึงแม้จะได้รับบาดเจ็บรุนแรงอย่างศีรษะแตกและแขนหลุดก็ตาม ศรัทธามหามงคลยังคงดำเนินต่อไปตามความเชื่อและความรู้สึกในเส้นทางศาสนา แม้จะแห่ด้วยความโหด แต่ด้วยความมุ่งมั่นตลอด 3-4 ชม. ต่อเนื่อง ความศรัทธาก็ยังไม่เสื่อมคลาย
ในวันถัดไปพิธีการอุปสมบท ผู้ที่จะบวชเป็นพระภิกษุต้องขอนิสัยจากพระอุปัชฌาย์ การจะอุปสมบทบวชเป็นพระภิกษุ บริขารต้องครบทุกอย่าง หรือที่เรียกว่าบริขาร 8 จากนั้นสามเณรจะรับบาตรจากบิดามารดาที่นำมาประเคน เดินด้วยเข่าเข้าไปหาพระอุปัชฌาย์ น้อมบาตรถวายท่าน กราบลง 3 ครั้ง และยืนขึ้นกล่าวคำอุปสมบท เมื่อเสร็จสิ้นชาวบ้านจะทำบุญถวายพระสงฆ์เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีการ
สิ่งเหล่านี้ถือเป็น "ความแซ่บนัวของอีสาน" ที่หล่อหลอมด้วยเสน่ห์ของประเพณีวัฒธรรม อันควรค่าแก่การเรียนรู้และสืบทอด ซึ่งเป็นไปตามทิศทางการส่งเสริมตลาดในประเทศปี 2560 ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ต้องสร้างความเข้มแข็งจากภายในให้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือทำให้คนไทยมองเห็นคุณค่าความเป็นไทย จนเกิดความรักและความภาคภูมิใจในประเทศ สร้างความรู้สึกการเป็นเจ้าของที่จะร่วมกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม คงเอกลักษณ์ความเป็นไทย และเป็นเจ้าบ้านที่ดี
พ่อแม่เอื้อมมือผูกแขนนาค
ทั้งนี้ ททท.ได้ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวชาวไทยเปิดมุมมองใหม่จากการสัมผัสและมีส่วนร่วมกับประสบการณ์เอกลักษณ์เฉพาะแต่ละท้องถิ่น ภายใต้จุดขายเชิงคุณค่าของแต่ละภูมิภาคอย่างภาคอีสาน คือ อีสานแซ่บนัว เพื่อก่อให้เกิดการส่งต่อประสบการณ์ ความรู้ และความประทับใจแก่ผู้อื่น
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครราชสีมา ซึ่งดูแลพื้นที่โคราชและชัยภูมิ ได้แนะนำแหล่งท่องเที่ยวในเส้นทางงานประเพณีแห่นาคโหด ดังนี้
1.ผ้าไหมบ้านเขว้า
แหล่งทอผ้าไหมที่มีชื่อเสียงของชัยภูมิ โดยเฉพาะผ้าไหมมัดหมี่ที่มีลวดลายดั้งเดิม ณ ศูนย์ส่งเสริมผ้าไหมบ้านเขว้า เป็นที่ตั้งของนิทรรศการผ้าไหมลายต่างๆ และชมกระบวนการทำไหม ทอผ้าไหม และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ผ้าไหมคุณภาพจากแหล่งผลิต
ไข่ต้มจากพิธีบายศรีสู่ขวัญ
2.ไร่กาแฟ บี แอนด์ พี ชัยภูมิ
ร้านกาแฟริมไร่กาแฟสายพันธุ์อราบิกา ที่ได้ปลูกแบบผสมผสานกับพืชชนิดอื่น เช่น ประดู่และสัก โดยนำสายพันธุ์มาจากโครงการหลวงทางภาคเหนือ ตั้งอยู่ที่ ต.เก่าย่าดี อ.แก้งคร้อ โทร. 08-1876-3366
3.วัดพระธาตุหนองสามหมื่น
สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 21-22 ในสมัยพระไชยเชษฐาธิราชแห่งราชอาณาจักรลาว โดยพระธาตุเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ประดิษฐานพระพุทธรูปปางรำพึงและปางลีลา นับเป็นโบราณสถานที่สำคัญของชัยภูมิ
4.ผ้าขิดบ้านโนนเสลา
แหล่งผลิตผ้าขิดที่ใหญ่ที่สุดของชัยภูมิ โดยชุมชนมีการรวมกลุ่มทอผ้าแปรรูปจำหน่ายจนกลายเป็นแหล่งผลิตผ้าขิดที่สำคัญ ซึ่งสามารถซื้อหาได้ที่ร้านประยัติ โทร. 08-1073-3258
นาคทั้งสองคนกระเด้งสูงต้านแรงคนนับสิบ
5.พิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณชัยภูมิ Komgrish
ก่อตั้งโดย คมกฤช ฤทธิ์ขจร ศิลปินแห่งชาติด้านเรขศิลป์และนักอนุรักษ์ผ้าโบราณ โดยได้รวบรวมผ้าขิดและผ้าไหมโบราณของลูกหลานเจ้าพ่อพญาแลไว้ในพิพิธภัณฑ์ สามารถเข้าชมฟรี โทร. 08-1725-5215
6.สวนน้ำโปรแหวน วอเตอร์พาร์ค
โดยโปรแหวน-พรอนงค์ เพชรล้ำ ที่ได้เปิดสวนน้ำและสนามไดรฟ์กอล์ฟในบ้านเกิด ณ อ.เกษตรสมบูรณ์ ซึ่งเป็นสวนน้ำแห่งแรกและแห่งเดียวของจังหวัด เพื่อเติมความสุขให้เด็กในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง
7.น้ำตกตาดโตน
มีน้ำไหลตลอดปี ลักษณะเป็นลานหินกว้างสามารถเล่นน้ำได้และเข้าถึงได้ง่าย เปิดทุกวัน เวลา 08.00-18.00 น.
ความแรงของแคร่เพื่อทดสอบความตั้งใจของนาค
8.น้ำผุดทัพลาว
เป็นสวนรุกขชาติในเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม บ้านผาเบียด ลักษณะเป็นน้ำบาดาลไหลออกมาสู่ผิวดิน และบางแห่งเป็นน้ำพุแรงดันสูง
9.วัดเจดีย์
สันนิษฐานว่าสร้างสมัยกรุงสุโขทัย เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย หรือหลวงพ่อปากแดง ศิลปะสมัยสุโขทัยตอนต้น โดยกลางเดือน มี.ค. ชาวบ้านจะมีงานบุญเดือนสี่ และนิยมเล่นสะบ้ากันในบริเวณวัด
ญาติของนาคล้อมวงระหว่างพิธีบายศรีสู่ขวัญนาค ณ วัดตาแขก (วัดใน)
เครื่องแต่งกายเต็มยศของนาค