posttoday

ชมพระอุโบสถ และสะพานวัดเบญจมบพิตร

04 มิถุนายน 2560

วันที่ 31 พ.ค. 2560 ผมเข้าไปในวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เพื่อกราบและถ่ายภาพพระพุทธรูปจำนวน 52 องค์

โดย...ส.สต

วันที่ 31 พ.ค. 2560 ผมเข้าไปในวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เพื่อกราบและถ่ายภาพพระพุทธรูปจำนวน 52 องค์ ที่ประดิษฐาน ณ วิหารคด ได้พบเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่าคนไทย ซึ่งนักท่องเที่ยวรู้จักในชื่อ The Marble Temple หรือวัดหินอ่อน ซึ่งเป็นความงามที่อัศจรรย์ยิ่งของสยามความงามที่โดดเด่น ได้แก่ พระอุโบสถที่สร้างด้วยหินอ่อนทั้งหลัง ศิลปะด้านสถาปัตยกรรมตัวอุโบสถโดดเด่น งามสง่า โดยไม่มีสิ่งใดมาบดบัง แม้กระทั่งวิหารคด เพราะสถาปนิกออกแบบให้วิหารคดโอบอยู่ด้านหลังอุโบสถ  ดังนั้นเมื่อมองด้านหน้า ด้านใต้ ด้านเหนือ พระอุโบสถ ล้วนกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หากเปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนแหวน ตัวพระอุโบสถเปรียบเหมือนหัวแหวน วิหารคดเปรียบเหมือนตัวเรือน ผู้ที่ออกแบบพระอุโบสถได้งดงามเป็นอมตะ ไม่ใช่ใครที่ไหน หากแต่เป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เคยตอบคำถามผู้ที่สรรเสริญการออกแบบพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรว่ามีแนวคิดที่เลอเลิศยิ่งนัก ว่าการออกแบบพระอุโบสถแห่งนี้ไม่ใช่ของใหม่เลยทีเดียว ท่านให้ไปดูวิหารหลวงพ่อพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก ที่โบราณบัณฑิต ได้ออกแบบและสร้างเป็นตัวอย่างไว้แล้ว ข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี กล่าวถึงปฐมเหตุการสร้างพระอุโบสถว่า เมื่อแรกสร้างในปี พ.ศ. 2441 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่ดินระหว่างคลองผดุงกรุงเกษมจนถึงคลองสามเสนเพื่อสร้างที่ประทับพักผ่อนพระอิริยาบถส่วนพระองค์ โดยพระราชทานนามว่า “สวนดุสิต” (พระราชวังดุสิต ในปัจจุบัน) ซึ่งบริเวณที่ดินที่ทรงซื้อนั้นมีวัดโบราณ 2 แห่ง คือ วัดดุสิตซึ่งอยู่ในสภาพทรุดโทรม ถูกใช้เป็นที่สร้างพลับพลา และวัดร้างอีกแห่งซึ่งจำเป็นต้องใช้ที่ดินของวัดสำหรับตัดเป็นถนน พระองค์จึงทรงกระทำผาติกรรม สร้างวัดแห่งใหม่เพื่อเป็นการทดแทนตามประเพณี โดยทรงเลือกวัดเบญจมบพิตรเป็นวัดที่ทรงสถาปนาตามพระราชดำริว่า การสร้างวัดใหม่หลายวัดยากต่อการบำรุงรักษา ถ้ารวมเงินสร้างวัดเดียวให้เป็นวัดใหญ่ และทำโดยฝีมือประณีตจะดีกว่า จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้ทรงออกแบบก่อสร้างพระอุโบสถและถาวรวัตถุอื่นๆ และมีพระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) เป็นนายช่างก่อสร้าง

ชมพระอุโบสถ และสะพานวัดเบญจมบพิตร สะพานถ้วย

 

เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2441 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมายังวัด ในการนี้มีพระบรมราชโองการประกาศพระบรมราชูทิศถวายที่ดินให้เป็นเขตวิสุงคามสีมาของวัด พร้อมทั้งพระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดเบญจมบพิตร อันหมายถึง วัดของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 5 และเพื่อแสดงลำดับรัชกาลในมหาจักรีบรมราชวงศ์ ต่อมาพระองค์ได้ถวายที่ดินซึ่งพระองค์ขนานนามว่า ดุสิตวนาราม ให้เป็นที่วิสุงคามสีมาเพิ่มเติมแก่วัดเบญจมบพิตร และโปรดฯ ให้เรียกนามรวมกันว่า วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

เมื่อมีการจัดระเบียบพระอารามหลวงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ. 2458 วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามได้รับการจัดเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ดังนั้น ชื่อวัดจึงมีสร้อยนามต่อท้ายด้วย “ราชวรวิหาร” ดังเช่นในปัจจุบัน

ด้านข้างพระอุโบสถหินอ่อน มีลำคลองเล็กๆ เป็นแนวแบ่งเขตพุทธาวาส กับสังฆาวาส ที่สะดุดตา ได้แก่ สะพานข้ามคลองมีถึง 3 สะพาน แต่ละสะพานมีชื่อปรากฏทั้งสิ้น ได้แก่ สะพานพระรูป สะพานถ้วย และสะพานงาข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (อีกแล้ว) บอกว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบส่งไปหล่อเป็นสะพานเหล็กมาจากอิตาลี คานและลูกกรงเป็นเหล็กหล่อลวดลาย ที่กลางสะพานติดป้ายแผ่นเหล็กมีสัญลักษณ์และประวัติความเป็นมาของสะพาน ซึ่งเป็นผลมาจากการจัดงานประจำปีวัดเบญจมบพิตร ในปี 2444 นำรายได้จากขายสิ่งของเป็นทุน สร้างเสร็จพร้อมกันในปี 2446

ชมพระอุโบสถ และสะพานวัดเบญจมบพิตร ประกาศของเจ้าอาวาส ห้ามขาย ห้ามปล่อยห้ามให้อาหารสัตว์น้ำ

 

สะพานพระรูป มีแผ่นป้ายจารึกประวัติติดไว้ที่สะพานว่า

สพานนี้ได้สร้างขึ้นด้วยเงินค่าขายพระรูป อันจำหลักในแผ่นทองแดงก้าไหล่ทอง ซึ่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสรรพสาตร์ศุภกิจ ถวายช่วยในการปฏิสังขรณ์พระอารามเมื่อ ร.ศ. ๑๑๙ จึงพระราชทานนามว่า สพานพระรูป สร้างสำเร็จเมื่อ ร.ศ. ๑๒๑

สะพานถ้วย อยู่ตรงกลาง มีแผ่นป้ายจารึกประวัติของสะพานติดไว้ว่า 

สพานนี้ได้สร้างขึ้นด้วยเงินค่าถ้วยชาพื้นสีลายทองงานพระเมรุ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จำหน่ายในการออกร้านที่วัด เมื่อ ร.ศ. ๑๑๙ ทรงพระราชอุทิศเงินค่าถ้วยชานั้นให้สพานนี้ จึงพระราชทานนามว่า สพานถ้วย ได้สร้างแล้วเสร็จเมื่อ ร.ศ. ๑๒๑

สะพานงา ซึ่งเป็นสะพานที่ 3 ตรงข้ามกับพระวิหารสมเด็จ ส.ผ. มีแผ่นป้ายจารึกประวัติของสะพานติดไว้ว่า

สพานนี้ได้สร้างขึ้นด้วยเงินค่างาช้าง ซึ่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพถวาย เพื่อจำหน่ายเป็นเงินช่วยในการปฏิสังขรณ์พระอาราม เมื่อออกร้านในวัด ร.ศ. ๑๑๙ จึงพระราชทานนามว่า สพานงา สร้างสำเร็จเมื่อ ร.ศ. ๑๒๑

ชื่นชมสะพาน แต่ห้ามให้อาหารปลาและเต่าในคลอง เพราะเจ้าอาวาสประกาศว่าอาหารที่เราให้ ไปทำลายสิ่งแวดล้อม รวมทั้งชีวิตสัตว์น้ำด้วย ตั้งใจทำบุญ แต่กลายเป็นบาป นะครับ

ชมพระอุโบสถ และสะพานวัดเบญจมบพิตร พระอุโบสถหินอ่อน วัดเบญจมบพิตร (ภาพ : สมาน สุดโต)

ชมพระอุโบสถ และสะพานวัดเบญจมบพิตร สะพานงา