น้ำอัดลมแบบไดเอท ปลอดภัยหรือไม่?
โดย...พญ.พัชญา บุญชยาอนันต์ หน่วยต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม อายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดย...พญ.พัชญา บุญชยาอนันต์ หน่วยต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม อายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หลายๆ คนคงพอทราบกันอยู่แล้วนะคะ ว่าน้ำอัดลมมีผลเสียต่อสุขภาพอย่างไรได้บ้าง
“น้ำอัดลม” คือ เครื่องดื่มที่เติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไป เพิ่มความซาบซ่า และมักจะมีส่วนผสมของน้ำตาลและกาเฟอีนอยู่ด้วย การเติมน้ำตาลลงในเครื่องดื่มนั้นก็เพื่อให้เครื่องดื่มมีรสชาติดี ถูกปากผู้บริโภค การบริโภคน้ำตาลในปริมาณที่มากเกินไปส่งผลเสียต่อร่างกาย ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และหลอดเลือด ภาวะไขมันพอกตับ เป็นต้น
องค์การอนามัยโลก จึงแนะนำว่า ในผู้ใหญ่ไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชา/วัน (ประมาณ 25 กรัม/วัน) ทั้งนี้ในน้ำอัดลมทั่วไปขนาดปกติมักจะมีปริมาณน้ำตาล 6-7 ช้อนชา ผสมอยู่แล้ว ดังนั้นการดื่มน้ำอัดลมที่มีน้ำตาลเป็นประจำ จึงส่งผลเสียต่อสุขภาพดังที่กล่าวมาได้
ต่อมาจึงมีการพัฒนาน้ำอัดลมแบบไดเอท (Diet Soda) หรือน้ำอัดลมที่ไม่มีน้ำตาล แต่มีสารให้ความหวานแทนน้ำตาลอยู่ ฟังชื่อดูแล้วน่าจะปลอดภัย ไร้น้ำตาล และช่วยควบคุมน้ำหนักตัว แต่ในความเป็นจริงมีหลักฐานการวิจัยทางการแพทย์ออกมาหลายฉบับว่า เครื่องดื่มเหล่านี้อาจจะไม่ได้ดีต่อสุขภาพอย่างที่คุณคิด และอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพบางอย่างด้วย
เครื่องดื่มเหล่านี้อาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่ตัวมันเองไม่มีแคลอรีหรือพลังงานอยู่ มาดูกันดีกว่าว่ามีหลักฐานอะไรสนับสนุนบ้าง
หลักฐานจากการศึกษาแบบติดตามดู การศึกษานี้ทำในรัฐเทกซัส สหรัฐ และตีพิมพ์ในปี 2008 รัฐเทกซัสเป็นรัฐทางใต้ของประเทศที่มีประชากรเป็นโรคอ้วนอันดับต้นๆ ของประเทศเลยทีเดียว การศึกษานี้ติดตามดูผู้เข้าร่วมการศึกษากว่า 3,000 คน เป็นเวลาเกือบ 8 ปี พบว่าคนที่ดื่ม Diet Soda มีน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น (พอๆ กับคนที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลจริงๆ) และมีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนมากกว่าคนที่ไม่ได้ดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้
แต่อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้เป็นแค่การศึกษาแบบติดตามดู อาจจะเป็นไปได้ว่ามีปัจจัยอย่างอื่นซ่อนอยู่ที่ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น หรือเป็นไปได้ว่าคนที่เริ่มรู้ตัวว่าน้ำหนักขึ้นเลยพยายามควบคุมโดยที่หันมาบริโภค Diet Soda แทน
ต่อมามีอีกหลายการศึกษาทดลองที่ให้ผลไปในทางเดียวกันว่า Diet Soda ไม่ได้ช่วยในการลดน้ำหนักตัว มีการทดลองให้อาสาสมัครที่ต้องการลดน้ำหนักตัวเปลี่ยนจากการดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลหันมาดื่ม Diet Soda แทน พบว่าอาสาสมัครที่หันมาดื่ม Diet Soda เหล่านี้มีน้ำหนักตัวเท่าๆ เดิมไม่มีการลดลง
เมื่อดูลงไปในรายละเอียด พบว่า อาสาสมัครเหล่านี้ได้รับพลังงานเป็นแคลอรีรวมทั้งวันในประมาณเท่าเดิม กล่าวคือถึงแม้จะไม่ได้รับปริมาณพลังงานจากเครื่องดื่ม Diet Soda แต่ก็รับประทานอาหารอย่างอื่นเพิ่มมากขึ้น จนได้พลังงานรวมต่อวันเท่าๆ เดิม เป็นที่มาสู่ทฤษฎี Sweet tooth hypothesis หรือการติดหวาน
เชื่อว่าสมองเราเมื่อติดรสหวานก็จะพยายามมองหาพลังงานแคลอรี (ไม่ว่าจากอะไรก็ตาม) มาทานเพิ่มอยู่ดี หรือการทานหวานนั้นจะกระตุ้นความอยากอาหารอยู่ดีนั่นเอง
นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาทั้งในมนุษย์และในสัตว์ทดลอง พบว่า การรับประทานสารให้ความหวานปริมาณมากและต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงของแบคทีเรียในลำไส้และเพิ่มภาวะดื้อต่ออินซูลิน
แบคทีเรียในลำไส้คนเรานี่มีความสำคัญอย่างไร ในลำไส้ของมนุษย์เราจะมีแบคทีเรียประจำถิ่นอยู่หลายชนิด ซึ่งแบคทีเรียเหล่านี้ก็เสมือนเป็นตัวเชื่อมระหว่างสิ่งแวดล้อมภายนอกและร่างกายมนุษย์ แบคทีเรียในลำไส้มีผลต่อสุขภาพร่างกายหลายอย่าง ทั้งต่อระบบการเผาผลาญ การดูดซึมสารอาหาร และภูมิคุ้มกันของร่างกาย
มีหลักฐานทางการศึกษา พบว่า การเปลี่ยนแปลงของชนิดของแบคทีเรียในลำไส้นั้นมีผลต่อน้ำหนักตัวและโรคเบาหวานอีกด้วย สิ่งต่างๆ ที่เรารับประทานเข้าไปนั้นสามารถมีผลต่อแบคทีเรียในลำไส้และมีผลต่อระบบเผาผลาญของร่างกายได้ เช่น การรับประทานอาหารที่มีกากใยมากจะช่วยเพิ่มแบคทีเรียชนิดที่ดีในลำไส้ เป็นต้น
จากหลักฐานที่ว่าการรับประทานสารให้ความหวานทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของแบคทีเรียในลำไส้ อาจจะพอสรุปได้ว่าสารให้ความหวานอาจส่งผลต่อภาวะดื้อต่ออินซูลินและภาวะอ้วนลงพุงได้
ล่าสุด มีการศึกษาที่เพิ่งตีพิมพ์ไปเมื่อต้นปี ระบุว่า การดื่ม Diet Soda นั้นเพิ่มความเสี่ยงจะเป็นโรคหลอดเลือดสมองและสมองเสื่อม การศึกษานี้มีข้อวิจารณ์ในวงการแพทย์อย่างมากมายว่าผลการศึกษานั้นเชื่อถือได้หรือไม่ เนื่องจากการศึกษานี้ใช้วิธีสำรวจพฤติกรรมการกินของอาสาสมัคร โดยการให้ตอบแบบสอบถามและติดตามดูการเกิดโรคในอาสาสมัครเหล่านี้เป็นระยะเวลา 10 ปี ซึ่งในช่วงระยะเวลา 10 ปีนี้ไม่ได้มีข้อมูลว่าปัจจัยส่งเสริมอื่นๆ มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาด้วยหรือไม่ จึงเป็นการสรุปได้ยากว่าการดื่ม Diet Soda เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองและสมองเสื่อมจริงหรือไม่
จากข้อมูลข้างต้น ทำให้พอสรุปได้ว่า การดื่มน้ำอัดลมแบบไดเอทไม่ได้ช่วยลดน้ำหนักตัว และการดื่มในปริมาณมากอย่างต่อเนื่องอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย กระตุ้นความอยากอาหาร การเปลี่ยนแปลงของแบคทีเรียในลำไส้ เพิ่มภาวะอ้วนลงพุง (เมื่อเทียบกับการดื่มน้ำเปล่า)
บางคนที่คิดว่าถ้าเราดื่มแบบพอประมาณ นานๆ ดื่มทีจะมีผลต่อสุขภาพอย่างไรหรือไม่ ตรงนี้คงยังไม่มีข้อมูลมาตอบคำถามได้ แต่ที่แน่ๆ คือการดื่มน้ำเปล่าในปริมาณที่พอเหมาะนั้นปลอดภัยและมีประโยชน์ต่อสุขภาพแน่ๆ ค่ะ
ที่มา :
- Fowler SP et al. Fueling the obesity epidemic? Artificially sweetened beverage use and long-term weight gain. Obesity (Silver Spring, Md.) 2008
- Suez J et al. Artificial sweeteners induce glucose intolerance by altering the gut microbiota. Nature. 2014
- Pase et al. Sugar- and Artificially Sweetened Beverages and the Risks of Incident Stroke and Dementia. Stroke. 2017