ความหลัง...วังวินด์เซอร์
เมื่อเห็นภาพของพระราชวังวินด์เซอร์ ตั้งอยู่ที่มณฑลบาร์คเชอร์ สหราชอาณาจักร ซึ่งสร้างใน ค.ศ. 1070
โดย...นริศรา อนุมานสถาปินันท์
เมื่อเห็นภาพของพระราชวังวินด์เซอร์ ตั้งอยู่ที่มณฑลบาร์คเชอร์ สหราชอาณาจักร ซึ่งสร้างใน ค.ศ. 1070 โดยสมเด็จพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 แห่งอังกฤษ และทำการบูรณะโดยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 ใน ค.ศ. 1350-1374 โดยสร้างแทนสิ่งก่อสร้างเดิม
การก่อสร้างครั้งแรกเป็นสถาปัตยกรรมแบบโรมาเนสก์ พระราชวังวินด์เซอร์เป็นพระราชฐานที่ยังมีผู้อยู่อาศัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นพระราชฐานที่เก่าที่สุดที่มีผู้อยู่อาศัยที่ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่เริ่มสร้าง เนื้อที่การใช้สอยมีทั้งหมดด้วยกัน 4.84 แสนตารางฟุต หรือ 4.5 หมื่นตารางเมตร
ประวัติของพระราชวังจึงเกี่ยวพันกับประวัติของพระมหากษัตริย์และกษัตริย์ของอังกฤษอย่างใกล้ชิด การศึกษาประวัติก็ทำได้โดยการศึกษาจากประวัติของรัชสมัยต่างๆ ของพระมหากษัตริย์ที่มาประทับ ในยามสงบจากศึกสงครามพระราชวังก็ได้รับการขยายเพิ่มเติมด้วยห้องชุดสำหรับเป็นที่อยู่อาศัย ยามสงครามพระราชวังก็ใช้เป็นป้อมปราการด้วยการสร้างเสริมอย่างแน่นหนา ระบบนี้ก็ยังใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 หรือที่มักจะเรียกกันว่า “เอ็ดเวิร์ดแห่งวินด์เซอร์” ทรงรื้อปราสาทเก่าทิ้งและสร้างปราสาทใหม่ยกเว้นหอเคอร์ฟิว และสิ่งก่อสร้างเล็กๆ อื่นๆ นอกจากนั้นก็ยังทรงสั่งให้เสริมสร้างความแข็งแกร่งเพื่อเพิ่มการป้องกันข้าศึกด้วย
ทำให้ย้อนหวนคิดถึงวังวินด์เซอร์ของไทย เมื่อหยิบภาพขาวดำที่ถูกลงสีในเฟซบุ๊กสยามพหุรงค์ โดย หนุ่มรัตนะ มาดู เป็นภาพลงสีลำดับที่ 668 ของเขา นั่นคือภาพวังวินด์เซอร์ (วังกลางทุ่ง หอวัง วังประทุมวัน วังใหม่) ซึ่งเป็นวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เคยเสด็จทอดพระเนตรตั้งแต่ยังเป็นที่นาเสมอๆ ก่อนมีการสร้างวังขึ้นเพื่อพระราชทานให้กับพระราชโอรส คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
โดยหนุ่มรัตนะ ได้เขียนบอกว่า น่าเสียดายมากครับ ถ้ายังอยู่ถึงทุกวันนี้คงจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของไทยไปแล้ว วังแห่งนี้ยังเคยเป็นตึกเรียนหลังแรกของคณะอักษรศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ โรงเรียนเกษตราธิการ (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) โรงเรียนปรุงยา (ปัจจุบันคือคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) และคณะรัฏฐประศาสนศาสตร์ (ปัจจุบันคือคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระหว่างที่รอให้อาคารบัญชาการ (อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ในปัจจุบัน) สร้างเสร็จ อีกทั้งยังเคยเป็นที่ตั้งของโรงเรียนมัธยมหอวังแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ปัจจุบันคือโรงเรียนหอวัง อยู่หลังเซ็นทรัลลาดพร้าว)
เมื่อมาดูถึงรายละเอียดของวังวินด์เซอร์ ถือเป็นวังทรงนีโอ-กอธิก ที่มีความสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของไท
สถาปัตยกรรมแบบฟื้นฟูกอธิก หรือนีโอ-กอธิก (Neo-Gothic Architecture หรือ Gothic Revival Architecture) หรือสถาปัตยกรรมวิกตอเรีย (Victorian Architecture) เป็นสถาปัตยกรรมที่เริ่มราวปี ค.ศ. 1840 ที่อังกฤษ เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ผู้ที่นิยมและสนใจสถาปัตยกรรมกอธิกใหม่พยายามฟื้นฟูสถาปัตยกรรมยุคกลาง ซึ่งต่างจากสถาปัตยกรรมฟื้นฟูกรีกโรมันที่เป็นที่นิยมกันในสมัยนั้น ความนิยมนี้เผยแพร่ไปทั่วสหราชอาณาจักร ทวีปยุโรป และทวีปอเมริกา กล่าวกันว่าจำนวนสิ่งก่อสร้างแบบฟื้นฟูกอธิกจะมากกว่าสิ่งก่อสร้างแบบกอธิกต้นฉบับเสียด้วยซ้ำ
สำหรับวังวินด์เซอร์ เป็นวังที่สร้างขึ้นโดยพระประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานเป็นสถานที่ประทับของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามบรมราชกุมารองค์แรกแห่งสยามประเทศ ตั้งอยู่บริเวณทุ่งประทุมวัน กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการขยายขอบเขตวังออกนอกเขตพระนคร จึงเป็นเหตุให้เรียกชื่อ วังกลางทุ่ง และสืบเนื่องจากตัววังที่เหมือนกับพระราชวังวินด์เซอร์ ที่ประเทศอังกฤษ จึงเป็นเหตุให้เรียกว่า วังวินด์เซอร์
วังนี้ถูกสร้างขึ้นในปี 2424 ได้มีการออกแบบโดยสถาปนิกชาวอังกฤษ โดยนำแบบของพระราชวังวินด์เซอร์แห่งสหราชอาณาจักรมาย่อส่วน ทว่าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร หาได้เสด็จมาประทับ ณ พระตำหนักแห่งนี้แต่อย่างใด ด้วยเสด็จทิวงคตในปี 2437
เมื่อมีการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นในปี 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานพระราชวังนี้ รวมทั้งพื้นที่โดยรอบเป็นสมบัติของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเคยใช้เป็นศูนย์กลางการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวิทยาเขตปทุมวัน ก่อนการก่อสร้างอาคารบัญชาการ
ในช่วงปี 2478 น.ท.หลวงศุภชลาศัย อธิบดีกรมพลศึกษาในขณะนั้น ดำริที่จะจัดสร้างกรีฑาสถานแห่งชาติขึ้น จึงได้พิจารณาเช่าที่ดินบริเวณพระตำหนักหอวัง และได้ทำการรื้อถอนพระตำหนักหลังนี้ รวมถึงอาคารหอพักนิสิตโดยรอบ การก่อสร้างกรีฑาสถานแห่งชาติแล้วเสร็จในราวปี 2481 ซึ่งได้ใช้เป็นที่ทำการสอนของโรงเรียนพลศึกษากลางและกรมพลศึกษา
ปิดฉากวังวินด์เซอร์อย่างสมบูรณ์แบบจนถึงวันนี้ร่วม 79 ปีผ่านมาแล้ว