‘โลกสะท้อน’ สะท้านโลกันตร์
การเข้าไปชมภาพยนตร์แบบไม่คาดหวังอะไร และก็ได้อะไรกลับมา แม้ไม่เต็มที่ แต่ก็ได้เปิดมุมมองและความคิดเกี่ยวกับโลกคู่ขนาน
โดย...พริบพันดาว
การเข้าไปชมภาพยนตร์แบบไม่คาดหวังอะไร และก็ได้อะไรกลับมา แม้ไม่เต็มที่ แต่ก็ได้เปิดมุมมองและความคิดเกี่ยวกับโลกคู่ขนาน
พลังสะท้อนกลับระหว่างกัน ในแง่มุมของจินตนาการและความคิดที่ไปไกลสุดกู่ แต่สามารถอ้างอิงด้วยทฤษฎีฟิสิกส์เควนตัม เรื่องเอกภพคู่ขนานซึ่งดำรงอยู่ควบคู่ไปกับเอกภพของเรา แต่เคลื่อนที่ผ่านมิติที่เราไม่สามารถรับรู้ได้ ซึ่งแนวคิดนี้เหมือนการเปิดโลกทรรศน์ใหม่ มีหลักฐานถึงรูปแบบที่แตกต่างกันหลากหลาย เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “พหุภพ” (Multiverse)
รวมถึงโลกคู่ขนาน หรือโลกสะท้อน (Echo) ในตัวภาพยนตร์ที่มีแรงดึงดูดจากโลกจริงทำให้วัตถุขนาดใหญ่ อย่าง เรือ รถไฟ เครื่องบิน ฯลฯ ถูกดูดเข้ามาสู่โลกคู่ขนานกับโลกมนุษย์ ซึ่งสะท้อนให้คิดถึงคำว่า โลกันตร์ ที่มีความหมายตามรูปศัพท์แปลว่า อยู่ระหว่างโลก ใช้เป็นชื่อ “นรก” ซึ่งเป็นนรกพิเศษคือนรกโลกันตร์ อยู่ระหว่างภพทั้งสามคือ สวรรค์ โลก และนรก คนที่ตกนรกขุมนี้จะเป็นคนที่ทำโทษใหญ่ ลงโทษหนักที่สุดไม่ให้ผุดไม่ให้เกิด
เพราะถ้าโลกคู่ขนานทั้งสองยังส่งถ่ายดูดพลังงานให้แก่กัน สมดุลทุกอย่างจะพังพินาศและจะแตกดับไปทั้งสองโลก
ภาพยนตร์ “Kill Switch” (วันหายนะพลิกโลก) ได้หยิบเอาประเด็นตรงนี้มาขยายสร้างเรื่องราว ผ่านการเดินเรื่องของตัวละคร วิล พอร์เตอร์ ซึ่งรับบทโดย แดน สตีเวนส์ ซึ่งคนดูน่าจะคุ้นหน้าจากบทเจ้าชายอสูร ใน “Beauty and the Beast” ที่เพิ่งเข้าฉายไปไม่นาน
เขาเปรียบเสมือนแกนกลางของเรื่องที่เล่าสลับกันระหว่างโลกมนุษย์จริงกับโลกคู่ขนานที่อยู่อีกด้าน โดยมีตัวเชื่อมคือ อันเตอร์เพล็กซ์ ที่เป็นบริษัทพลังงานที่คิดค้นการหาพลังงานนำมาใช้ในอนาคตอีกเป็นพันปี ด้วยวิธีการดึงมาจากช่องว่างทางผ่านของโลกคู่ขนาน แต่กลับไม่เป็นดังคิด สมดุลของเอกภพและจักรวาลได้เปลี่ยนไปจนเกิดหายนะ
ฝีมือการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของ ทิม สมิต ซึ่งโด่งดังจากการทำภาพยนตร์สั้นลงในโลกออนไลน์อย่างยูทูบ “What’s in the Box” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในเกมยอดฮิต Haft-Life ที่ได้สร้างเครดิตให้กับเขาอย่างล้นหลาม ได้รับเสียงชื่นชมและเป็นที่ชื่นชอบจากบรรดาเกมเมอร์ทั่วโลก ในความลุ้นระทึกและสนุกเขย่าใจ
พอมาถึงภาพยนตร์แบบจริงจังที่เขาได้รับโอกาสในเรื่องนี้ ก็ดูไม่ขี้เหร่ แต่ตามประสามือใหม่ยังมีช่องโหว่ จุดอ่อน และข้อบกพร่องมากมาย ถ้าเป็นผู้กำกับสายฮอลลีวู้ดจ๋า จะมีน้ำหนักและความสมจริงของตัวบท โดยเฉพาะปมสะเทือนใจที่นำไปสู่การตัดสินใจต่างๆ ในการกอบกู้โลกกลมกลืนกลมกล่อมกว่านี้มากมาย เพราะพล็อตเรื่องและประเด็นรวบยอดเกี่ยวกับโลกคู่ขนานนั้นดีน่าสนใจอย่างมากๆ
ความอ่อนประสบการณ์และชั่วโมงบินจะเห็นได้ชัดในการเล่าเรื่อง โดยเฉพาะในส่วนของการปูพื้นฐานตัวละครหลักผ่านความผูกพันและสายสัมพันธ์พี่ชายกับน้องสาวและหลานชาย ไม่สามารถตรึงคนดูให้เชื่อเพื่อนำไปสู่การเสียสละเพื่อโลกที่กำลังเดินทางเข้าสู่หายนะ แม้ตัวเรื่องพยายามเล่าตัดกลับเพื่อสร้างอารมณ์รันทด แต่ดูเหมือนลอยๆ ออกมา ไม่รู้ว่าทั้งสามคนผ่านร้อนหนาวอะไรร่วมกันมา
การวางน้ำหนักของการถ่ายทำ ใช้กล้องเหมือนกับคนดูเป็นสายตาของตัวละครเดินเรื่องหรือพระเอก ในรูปแบบของการมองผ่านกล้องที่ติดอยู่บนข้างหน้า คล้ายกล้องหน้าที่ติดอยู่บนหัวหรือเทคนิคแบบเกมต่อสู้เอฟพีเอสเชื่อมหูฟังระบบคอมพิวเตอร์อย่างใจสั่ง
แน่นอน การเล่าด้วยมุมกล้องและภาพแบบนี้เคยถูกใช้ในภาพยนตร์ “Hardcore Henry” มาก่อนในปี 2016 ซึ่งไม่ใช่ของใหม่ แต่ ทิม สมิต หยิบมาทำได้ดีและนวลเนียนกว่า
สรุปรวมความเป็นภาพยนตร์แอ็กชั่น ไซ-ไฟ ที่พอใช้ แต่ยังไปไม่สุด สนุกและยั่วยวนให้ขบคิดได้แบบครึ่งๆ กลางๆ การผสมผสานด้านที่เกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกที่ร่วมกับเหตุการณ์ใหญ่ ยังไม่มีพลังมากพอในการตรึงคนดูให้ไปถึงจุดสูงสุดของตัวเรื่องได้ จบแบบกลวงโหวงและไม่อิ่มเอิบ
แต่ก็พอมองเห็นแนวทางที่ดีในอนาคต หากมีการสร้างภาพยนตร์ในแนวทางของตัวเองอย่างต่อเนื่องอีกหลายๆ เรื่อง
“Kill Switch” (วันหายนะพลิกโลก)
ประเภท แอ็กชั่น ไซ-ไฟ
ประเทศ สหรัฐอเมริกา-เนเธอร์แลนด์
ภาษา อังกฤษ
ความยาว 92 นาที
ผู้กำกับ ทิม สมิต
แสดงนำ แดน สตีเวนส์ เบเรนิซ มาร์โลห์ ไมค์ รอยส์