posttoday

‘ประกวดร้องเพลง’ ไทยเทรนด์ที่ไม่เคยตกกระแสบันเทิง

19 สิงหาคม 2560

รายการประกวดร้องเพลงกำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน รายการเดอะ วอยซ์ (The Voice) กับรายการหน้ากากนักร้อง (The Mask Singer)

โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล, พริบพันดาว

 รายการประกวดร้องเพลงกำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน รายการเดอะ วอยซ์ (The Voice) กับรายการหน้ากากนักร้อง (The Mask Singer) ที่ออกอากาศอยู่ในปัจจุบัน เป็นสองรายการที่ประสบความสำเร็จระดับสูงทั้งเรตติ้งและการพูดถึงแบบทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ถือเป็นรายการแข่งขันร้องเพลงที่ได้รับกระแสตอบรับที่ดีมาก

 โดยเฉพาะรายการหน้ากากนักร้อง ซึ่งปิดซีซั่น 2 ไปด้วยความสำเร็จอย่างท่วมท้น จนกลายเป็นรายการทีวีอันดับ 1 ของเมืองไทยในยุคทีวีดิจิทัลอยู่ในเวลานี้

 รายการในโทรทัศน์ ณ ปัจจุบัน จะพบว่ามีรายการประกวดร้องเพลงมากกว่า 20 รายการ โดยนับจากเวทีประกวด เช่น รายการเคพีเอ็น อวอร์ด (KPN Awards) จัดโดยกลุ่มสยามกลการ รายการทรู อะคาเดมี แฟนเทเชีย (True Academy Fantasia) รายการเดอะ สตาร์ ค้นฟ้าคว้าดาว (The Star ค้นฟ้าคว้าดาว) โดยบริษัท เอ็กแซกท์ รายการกิ๊กดู๋ สงครามเพลง โดยบริษัท เจเอสแอล รายการมาสเตอร์คีย์ เวทีแจ้งเกิด ของทีวีธันเดอร์ รายการตีสิบ ในช่วงดันดารา รวมถึงการประกวดนักร้องลูกทุ่งในรายการชุมทางเสียงทอง ชิงช้าสวรรค์ และลูกทุ่งเงินล้าน ฯลฯ ซึ่งสอดคล้องกับการมาถึงของทีวีดิจิทัลที่เพิ่มเข้ามาอีก 20 กว่าช่อง

 การบูมของการประกวดร้องเพลงในเมืองไทยยุคใหม่นั้น คงต้องตั้งต้นมาจากรายการประกวดร้องเพลงลักษณะเรียลิตี้โชว์ที่ให้ผู้ชมมีส่วนร่วมในการโหวตอย่าง เดอะ สตาร์ ก็ออกอากาศครั้งแรกในปี 2546 และได้รับความนิยมมากระดับหนึ่ง

 ก่อนที่ปี 2547 มีรายการอะคาเดมี แฟนเทเชีย หรือเรียกสั้นๆ ว่า เอเอฟ ซึ่งซื้อลิขสิทธิ์มาจากรายการ La Academia ของประเทศเม็กซิโก เป็นรายการเรียลิตี้โชว์ประกวดร้องเพลงเต็มรูปแบบรายการแรกของประเทศไทย ที่ให้ผู้ชมสามารถรับชมความเคลื่อนไหวของผู้เข้าแข่งขันตั้งแต่การคัดตัว การฝึกซ้อม จนกระทั่งถึงรอบการแข่งขัน เรียกว่าให้ชมชีวิต 24 ชั่วโมงกันเลยทีเดียว ซึ่งพอพูดได้ว่ากระแสของการที่มีคนดูติดตามเป็นแฟนคลับของผู้เข้าแข่งขันถึงระดับแม่ยกพ่อยกนั้นมาจาก 2 รายการนี้นี่เอง

‘ประกวดร้องเพลง’ ไทยเทรนด์ที่ไม่เคยตกกระแสบันเทิง

 หลังจากที่ เดอะ สตาร์ กับเอเอฟ เข้ามาสู่ประเทศไทย ก็มีรายการที่แข่งขันร้องเพลงเพิ่มขึ้นมาอีกเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันร้องเพลงในแนวอื่นๆ อีกมากมาย มีขอบข่ายตั้งแต่การประกวดร้องเพลงที่หลากหลายครอบคลุมครบทุกแนว

 มาดูกันว่ารายการประกวดร้องเพลงในเมืองไทยจากอดีตสู่ปัจจุบันเป็นอย่างไร

แกะรอยผู้บุกเบิก เส้นทางสายดนตรีของ “สยามกลการ”

 หากย้อนไปเมื่อ 30-40 กว่าปีที่แล้ว ชื่อ "โรงเรียนดนตรีสยามกลการ" คงเป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงคนดนตรี เพราะนักร้องดังๆ ในยุคนั้น ล้วนต้องผ่านเวทีการประกวดของสยามกลการมาทั้งนั้น จนกลายเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังในการปั้นนักร้องที่มาพร้อมกับการการันตีคุณภาพแบบคับแก้ว

 เส้นทางความเป็นมาของเวทีแห่งนี้ก็มีความน่าสนใจไม่น้อย เพราะผ่านกาลเวลามายาวนาน แต่ก็ยังยืนหยัดเป็นต้นไม้ใหญ่ที่มีรากฝังแน่น

 พีรวัฒน์ ชูเกียรติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามดนตรียามาฮ่า บอกว่า วันนี้สิ่งที่เปลี่ยนไปของโรงเรียนสยามกลการ คือการปรับตัวเองให้ทันสมัย และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “สยามดนตรียามาฮ่า” แต่ในเรื่องของคุณภาพแล้ว รับรองว่าดีกว่าเดิม พร้อมทั้งพาย้อนวันวานไปถึงจุดเริ่มต้นของที่แห่งนี้ว่า สยามกลการ หรือสยามดนตรียามาฮ่า เกิดขึ้นเมื่อ 51 ปีก่อน โดย ดร.ถาวร พรประภา เป็นผู้ก่อตั้งขึ้นมาด้วยความชื่นชอบสินค้าญี่ปุ่น จนเป็นผู้นำเข้ารถยนต์ยี่ห้อ "ดัทสัน" หรือ "นิสสัน" บวกกับความรักในดนตรี

 “แรงบันดาลใจเริ่มจากจุดเล็กๆ เมื่อครั้งที่ ดร.ถาวร มีโอกาสได้เดินทางไปกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย แล้วเกิดความประทับใจที่ถนนเส้นนั้นเต็มไปด้วยเสียงดนตรี จึงเกิดความคิดว่าถ้าทำให้ประเทศไทยเป็นแบบนั้นก็คงจะมีความสุขไม่น้อย

 เมื่อมีความฝัน ก็เดินตามรอยฝัน ดร.ถาวร จึงเดินทางเข้าไปคุยกับทาง "ยามาฮ่า" ขณะนั้นเป็นผู้ผลิตเครื่องดนตรีรายใหญ่อันดับต้นๆ ทำให้สยามกลการได้รับไลเซนส์ในการเป็นผู้นำเข้าสินค้าภายใต้แบรนด์ยามาฮ่าทั้งหมด ซึ่งรวมถึงรถจักรยานยนต์เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย”

‘ประกวดร้องเพลง’ ไทยเทรนด์ที่ไม่เคยตกกระแสบันเทิง

 พีรวัฒน์ เล่าต่อว่า สิ่งที่ได้ตามมาคือระบบการศึกษา จึงเกิดเป็นอะคาเดมีที่ชื่อว่า โรงเรียนดนตรีสยามกลการ ขึ้นเมื่อปี 2509 เพื่อส่งเสริมให้เด็กไทยเล่นดนตรีมากขึ้น จนคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือซีอีโออยู่ ก็เห็นว่าควรจะมีแรงผลักดันให้เด็กๆ ที่มาเรียนเกิดแรงบันดาลใจในการเรียนดนตรี จึงมีแนวคิดจัดการประกวด “Thailand Sining Contest” ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2526 และนั่นเองที่กลายเป็นคลื่นลูกใหญ่ (Big Wave) ของวงการดนตรี

 “การประกวดในช่วงแรกๆ จะเป็นการเปิดเวทีให้เด็ก 2-3 หมื่นคน ที่เรียนดนตรีจากโรงเรียนสยามกลการ ที่ตอนนั้นมีอยู่ 90 กว่าแห่งทั่วประเทศ เข้ามาประกวดแสดงความสามารถ โดยมีอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งผู้ที่ชนะการประกวดในแต่ละด้านก็จะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทาน

 “จากเวทีนี้เองที่กลายเป็นจุดเริ่มต้น กลายเป็นก้าวสำคัญในการแจ้งเกิดนักร้องดังๆ ที่มีคุณภาพมาประดับวงการเพลงไทยมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ แอน-นันทนา บุญ-หลง เกล ดีล่า ปนัดดา เรืองวุฒิ ตั๊ก-ศิริพร อยู่ยอด เจเน็ต เขียว และทาทา ยัง เป็นต้น”

 เมื่อมีนักร้อง พีรวัฒน์ ย้อนความหลังต่อว่า สยามกลการก็คิดต่อที่จะทำเป็นแบรนด์ขึ้นมา ภายใต้ชื่อ "ยามาฮ่า ซาวด์" โดยเริ่มจากการชักชวนนักดนตรีที่มีความสามารถในยุคนั้นมาร่วมวง เพื่อใช้ซัพพอร์ตเวลาการประกวด เพราะตอนนั้นวงดีๆ หายาก เลยคิดที่จะทำให้เป็นวงต้นฉบับของบิ๊กแบนด์ (Big Band) ที่มีนักดนตรีและเครื่องดนตรีที่ใช้ตอนนั้นประมาณ 20 ชีวิต 20 ชิ้น และขยายเพิ่มเครื่องสายเข้ามา หรือออร์เคสตรา ที่มีเครื่องดนตรีรวมกันกว่า 40 ชีวิต ทำให้กลายเป็นซิกเนเจอร์จูน (Signature June) ของยามาฮ่า ซาวด์ ที่เมื่อได้ฟังก็จะรู้ทันทีว่านี่แหละยามาฮ่า ซาวด์

 “สยามกลการวันนี้เปรียบเหมือนต้นไม้ใหญ่ที่ฝังรากลึกลงดิน ไม่โค่นล้มง่ายๆ เพราะวิสัยทัศน์ของผู้ก่อตั้งและผู้บริหารยุคก่อนๆ ที่ขยายสกิล และโนว์ฮาว พร้อมทั้งจัดกิจกรรมล้อกับธุรกิจหลักของสยามกลการไป แต่ก็ยอมรับว่าในบางช่วงที่มีกระแสลมแรง ต้นไม้ใหญ่ต้นนี้ก็มีโอนเอนบ้าง แต่ก็ยังกลับมายืนได้อย่างสง่างาม” พีรวัฒน์ กล่าว

‘ประกวดร้องเพลง’ ไทยเทรนด์ที่ไม่เคยตกกระแสบันเทิง

 พีรวัฒน์ บอกอีกว่า ด้วยความที่สยามกลการเป็นโรงเรียนสอนดนตรีแห่งแรกในประเทศไทย จึงทำให้เติบโตและฝังแน่น แม้ว่าในช่วงหลังๆ จะมีโรงเรียนดนตรีเกิดขึ้นมากมาย สยามกลการก็ไม่ได้มองเป็นคู่แข่ง แต่กลับดีใจด้วยซ้ำที่เห็นว่าเด็กไทยเล่นดนตรีมากขึ้น และภาพของคนที่เรียนดนตรีในปัจจุบันก็เปลี่ยนไป ได้รับการยอมรับมากขึ้น เท่ากับว่าจะมีการซื้อเครื่องดนตรีมากขึ้น ซึ่งก็ส่งผลดีต่อสยามกลการ เพราะเป็นธุรกิจหลักของสยามกลการ

 “แน่นอนว่าสยามกลการเองก็พยายามปรับตัวเองให้ทันสมัย ก้าวตามทันและนำคนอื่นได้ เพราะภาพลักษณ์ของสยามกลการที่อยู่มานาน ก็เหมือนวัยกลางคน แต่การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดจะต้องอยู่ภายใต้จุดยืนของบริษัทที่มีมายาวนาน โดยโจทย์คือรักษาจุดแข็งที่มีอยู่ให้ดีขึ้น และจะทำอย่างไรให้แทรกซึมเข้าไปอยู่ในทุกที่ที่มีดนตรี เช่น การเปลี่ยนบริบทบางอย่าง การทำตลาดเชิงรุก (Out side in) มากขึ้น จากเดิมที่เด็กจะต้องเดินเข้ามาหาก็ปรับเป็นเดินออกไปหาเด็กมากขึ้น โดยจะเน้นสร้างพันธมิตรให้มากขึ้น เพราะเชื่อว่าสังคมไทยเป็นสังคมมิตรภาพ

 “ภาพของสยามกลการเมื่อก่อนจะอยู่ข้างหลังความสำเร็จของคนดนตรีมาตลอด แต่จากนี้ไปจะขึ้นมาอยู่ข้างหน้ามากขึ้น เพราะมองว่าคนไทยปัจจุบันชอบอยู่กับตัวเองมากขึ้น และมองภาพไปถึงอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า ที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งตรงนั้นจะทำอย่างไรให้สามารถตอบสนองให้เข้าถึงการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น และทำอย่างไรทำให้คนรักและสนใจด้านดนตรีต้องนึกและคิดถึงยามาฮ่าเป็นอันดับแรก”

 อย่างไรก็ดี เพื่อตอกย้ำความขลังของเวทีประกวด Thailand Singing Contest ในเดือน ก.ย.ปีนี้ จึงได้มีการจัดคอนเสิร์ตขึ้นมาต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 ภายใต้ธีม We are Family โดยจะเป็นการรวมตัวของนักร้องดังกว่า 40 ชีวิตที่เคยผ่านเวทีประกวดแห่งนี้มาในช่วงปี 2526-2546 และนักดนตรีคุณภาพอีกกว่า 20 ชีวิต

 “ซึ่งจะเหมือนกับการรียูเนียนของครอบครัวดนตรีสยามกลการ ที่จะได้กลับมาขึ้นเวทีร้องเพลงเดียวกับเวทีที่ใช้ประกวดคัดเลือกรอบ 100 คนสุดท้ายอีกครั้ง” พีรวัฒน์ ปิดท้าย

ความเป็นจริงผ่านสายตาสื่อบันเทิงรุ่นเก๋า

 ปริศนา รัตนเกื้อกูล อดีตประชาสัมพันธ์และนักข่าวสายบันเทิงที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการไม่ต่ำกว่า 40 ปี ผันผ่านวงการบันเทิงตั้งแต่ยุค 2.0-4.0 อย่างเข้าใจและรู้ทันแบบถ่องแท้ เธอบอกว่าตามดูการประกวดวงดนตรีตั้งแต่สมัยเป็นวัยรุ่น ยุควง ดิ อิมพอสสิเบิ้ล เป็นแชมป์ 3 สมัย กับการประกวดวงดนตรีสตริงคอมโบ ชิงถ้วยพระราชทานพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9

 “ถ้าจำไม่ผิด จะจัดในนามสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ถ้วยพระราชทานนั้นศักดิ์สิทธิ์ จะมาร้องเพลงประกวดแบบสมัยนี้ที่หาเงินสร้างบ้าน หรือรักษาพ่อ อยากได้เงินไปใช้หนี้ ไม่ได้นะ” ปริศนาเริ่มต้นเล่าถึงการประกวดร้องเพลงในยุคหลายทศวรรษที่แล้ว ซึ่งเธอได้สัมผัสและประทับใจ

‘ประกวดร้องเพลง’ ไทยเทรนด์ที่ไม่เคยตกกระแสบันเทิง

 “เคยเป็นหนึ่งในกรรมการประกวดวงดนตรี ตั้งแต่ยุคโค้ก มิวสิค อะวอร์ด เป๊ปซี่ มิวสิค อะวอร์ด รวมถึงงานประกวดอีกหลายงาน และตามทำข่าวการประกวดร้องเพลงของสยามกลการในสมัยนั้นเกือบทุกปี จนได้มีโอกาสทำงานช่วงสั้นๆ สมัยเคพีเอ็น อวอร์ด

 “เด็กๆ นักร้องนักดนตรีสมัยโน้น  โดยเฉพาะยุคโค้ก มิวสิค อะวอร์ด นี่สนุกสุด วงอย่างโมเดิร์นด็อก สไมล์ บัฟฟาโล่ ก็มาจากเวทีนี้ สั้นๆ ง่ายๆ สมัยก่อนทั้งผู้จัดประกวด ทั้งผู้เข้าประกวด ต่างมีความรักในดนตรีไม่น้อยไปกว่ากัน”

 ปริศนา มองอดีตว่า อย่างเวทีสยามกลการนั่นก็ยิ่งใหญ่ มีถ้วยพระราชทานเป็นรางวัล เวลาจัดการประกวดจึงมีวิธีการเลือก คนที่จะมาเป็นกรรมการนั้น ต้องเป็นคนที่มีความรู้ทางด้านดนตรี

 “มีหูที่ฟังเพลงเป็น แยกแยะเป็นว่าใช่หรือไม่ใช่ และกรรมการนั้นมากันที 20-30 คนกันเลยทีเดียว นักร้องผู้เข้าประกวดมาด้วยใจรักในการร้องเพลงชิงถ้วยพระราชทาน เป็นเกียรติเป็นศรีกับตัวเองและวงศ์ตระกูล ถ้าเขาไม่ใช่ตัวจริง ใครจะกล้ามา จริงไหม? ไม่ได้มาเผื่อฟลุก ฝึกซ้อมกันมาอย่างตั้งใจ กว่าจะผ่านการคัดเลือกแต่ละขั้นนั้นไม่ง่าย เพราะกรรมการรู้จริง ฟังเป็น นักร้องถ้าไม่ดีจริงจะมาคว้าแชมป์นี่ยาก ไหนคนดูที่มีเต็มฮอลล์การประกวดอีก ไม่มีใครอยากจะมาลองของหรอก เพราะการประกวดนั้นเป็นบันไดขั้นแรกที่จะก้าวสู่การเป็นนักร้องอาชีพต่อไป”

 ปริศนา เล่าว่า หรือบางทีนักร้องอาชีพนั่นแหละ หวังมาใช้เวทีประกวดร้องเพลงเป็นที่สร้างชื่อเสียง และยุคนั้นก็เป็นช่วงที่วงการเพลงกำลังเฟื่องฟู ประกอบกับคุณภาพนักร้องที่ผ่านเวทีประกวดนั้นเก่งจริง เวลามีผลงานก็เป็นที่ยอมรับ

 “มีรายการวิทยุที่สามารถเผยแพร่ผลงานเพลงให้เป็นที่รู้จัก คนดูก็มีส่วน นักร้องที่ยืนยาวในวงการ ไปดูเหอะ มาจากเวทีสยามกลการเยอะสุด เบิร์ด ธงไชย ฟอร์ด สบชัย เจนนิเฟอร์ คิ้ม และอีกมากมาย คนดูคนฟังเพลงสมัยนั้น มีโอกาสฟังเพลงดีๆ มากกว่าสมัยนี้เยอะ ทั้งเพลงไทยและเพลงสากล การประกวดเลยสนุกและน่าสนใจ”

 เมื่อหันมามองในปัจจุบัน ปริศนา ชี้ว่าเป็นเรื่องของยุคสมัย เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นธรรมดา ที่การประกวดร้องเพลงจะเปลี่ยนมาอยู่ในจอโทรทัศน์ และมาโด่งดังจากการซื้อลิขสิทธิ์รายการประกวดร้องเพลงจากต่างประเทศ

 “กว่าจะออกมาเป็นรายการประกวดร้องเพลง แต่ละรายการคงผ่านการคิดมาไม่น้อย ว่าจะทำอย่างไรให้คนติดตาม คนดูก็ติด ต้องยอมรับว่าของแบบนี้ คนยุคนี้เขาคิดเก่งกว่า และอีกอย่างคือบ้านเรานั้นประหลาด ไม่มีรายการดนตรีดีๆ ให้คนดูเลย สมัยก่อนยังมีรายการโลกดนตรีในการแจ้งเกิดให้ได้ดู พอมีรายการประกวดร้องเพลงที่ซื้อลิขสิทธิ์มาเติมสิ่งที่ไม่มีในทีวี มันก็เลยเป็นอย่างที่เห็นทุกวันนี้”

 ปริศนา ยอมรับว่ารายการประกวดร้องเพลง หรือเรียลิตี้โชว์ หรือวาไรตี้ประกวดร้องเพลงทุกรายการดูเหมือนจะทำเพื่อธุรกิจทางทีวี ที่ปกติซึ่งเธอไม่ค่อยได้ดู ทำให้วิจารณ์ลำบาก 

‘ประกวดร้องเพลง’ ไทยเทรนด์ที่ไม่เคยตกกระแสบันเทิง

 “แต่เชื่อไหมว่าบางทีมันหนีไม่พ้น เพราะเปิดไปช่องไหนก็เจอ ก็จะเห็นว่าทำไมรายการประกวดร้องเพลงมันเยอะจริงๆ จะดูบ้างแบบไม่เกาะติด ก็มีรายการเดอะ วอยซ์ คิด ดูความน่ารักของเด็กๆ ที่ร้องเพลงเก่ง แต่ไม่ตามติดว่าใครเป็นแชมป์หรืออะไร คือเจอก็แวะดู

 “รายการหน้ากากนักร้องในซีซั่นแรกก็มาดูย้อนหลังวันที่ตัดสินแล้ว เพราะคนพูดถึงเยอะมาก และมาดูอีกครั้งเดียวของซีซั่นใหม่ ดูว่าทำไมรายการถึงประสบความสำเร็จ และก็ไม่เคยดูอีก เพราะไม่นอนดึก เป็นคนชอบฟังคนร้องเพลง ไม่ชอบดูคนคอมเมนต์ ขำๆ สนุกๆ ส่วนเวทีเอเอฟ เดอะ สตาร์นั้น มาในช่วงหมดอารมณ์ที่จะดูจะฟัง เพราะห่างออกมาจากวงการเพลง เด็กหน้าใหม่มาร้องเพลงให้ฟัง ก็เลยไม่เคยดู”

 สำหรับการประกวดร้องเพลงนั้น ปริศนา ในฐานะผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการบันเทิงก็มองว่าสามารถสร้างนักร้องมาประดับวงการมากมาย

 “การที่คนชอบร้องเพลง ชอบดูการประกวดร้องเพลงนั้น ก็ดีนะ ไม่เสียหาย เพราะดนตรีนั้นไม่มีพิษภัยกับทั้งคนร้องและคนฟัง”

มุมมองเชิงวิเคราะห์

 ปัจจุบันรายการประกวดร้องเพลง เป็นรายการที่เรียกกันว่า Hybrid Program คือเป็นรายการที่ผสมผสานระหว่างรูปแบบรายการที่หลากหลายเพื่อสร้างความแตกต่างจากความบันเทิงในรูปแบบเดิมๆ แต่แก่นสำคัญก็คือต้องการความสดใหม่ ความเป็นเนื้อแท้ และความแท้จริง ซึ่งจะเกิดผลลัพธ์ทางความรู้สึกกับผู้ชมได้ง่ายกว่า ทัพพ์เทพ ภาปราชญ์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร วิเคราะห์ในรายการเปิดบ้านไทยพีบีเอส ถึงประเด็นรายการประกวดร้องเพลงมีเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 20 รายการในปัจจุบัน เพราะอะไร? ว่า

 “มันเหมือนกับการสะท้อนไปมาระหว่างผู้ผลิตกับผู้ชม ความต้องการเป็นเหมือนดีมานด์กับซัพพลายซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นถ้าช่วงนี้เห็นรายการประเภทประกวดร้องเพลงจึงมีเยอะ ในทางกลับกันก็ควรมีการตั้งคำถามว่า ผู้ชมเองอยากดูรายการประกวดร้องเพลงหรือเปล่า? แต่ว่า ณ ปัจจุบัน ผมรู้สึกว่าสถานการณ์ของรายการประกวดร้องเพลงเปลี่ยนไป เพราะว่ามันไม่ใช่การประกวดร้องเพลงแบบเพียวๆ แล้ว เหมือนกับว่าต้องเอาคอนเทนต์อะไรบางอย่างเข้ามาอุ้ม แล้วการแข่งขันร้องเพลงก็เหมือนส่วนประกอบ ซึ่งถ้าลองไล่โครงสร้างรายการของบ้านเราที่เกี่ยวกับการประกวดร้องเพลงทั้งหมดจะไม่ใช่การแข่งขันร้องเพลงอย่างเดียว”

 เช่นกันจากงานวิจัยชิ้นที่มีชื่อว่า “รายการการแข่งขันร้องเพลง : ประเภทย่อยของรายการเรียลลิตี้โชว์” ของ ทัพพ์เทพ ได้แจกแจงถึงประเด็นความเฟื่องฟูของรายการประกวดร้องเพลงว่า ถ้าการดูรายการประกวดแข่งขันร้องเพลงทางโทรทัศน์ และได้รู้ว่าจุดเริ่มต้นถูกคิดขึ้นภายใต้ความเป็นเรียลิตี้โชว์ที่ใช้การแข่งขันประกวดร้องเพลงมาเล่าเรื่อง โดยมุ่งเน้นความสมจริงจากบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่ดาราหรือนักแสดง ซึ่งเป็นแก่นของรายการประเภทเรียลิตี้ที่ไม่ต้องการใช้ดารานักแสดงหรือคนสวยคนหล่อ เพราะผู้ชมส่วนใหญ่รับชมรายการโทรทัศน์ในลักษณะเพื่อตอบสนองความพึงพอใจและความต้องการหลายอย่างในชีวิตของปัจเจกชนที่ไม่มีหนทางจะบรรลุได้ในโลกแห่งความเป็นจริง

 เพราะมายาคติในการดูรายการโทรทัศน์ที่มีต่อโลกแห่งความเป็นจริงในระดับปัจเจกบุคคล มีดังนี้

‘ประกวดร้องเพลง’ ไทยเทรนด์ที่ไม่เคยตกกระแสบันเทิง

 1) ช่วยตอบสนองความต้องการหลายอย่างในชีวิตของปัจเจกชนที่ไม่มีหนทางจะบรรลุได้ในโลกแห่งความเป็นจริงให้สามารถทะลุเป้าหมายได้ในโลกแห่งความฝัน

 2) แก้ไขความขัดแย้งที่ไม่อาจจะแก้ไขได้ในโลกแห่งความเป็นจริง ให้สามารถแก้ไขได้ในโลกแห่งจินตนาการ

 3) ช่วยทำให้ปัญหาบางอย่างในชีวิตของคนเราที่เกินขีดความสามารถที่จะแก้ไขได้ผ่อนคลายไปโดยปริยาย

 เป็นความจริงที่ว่ารายการประกวดร้องเพลงจะต้องยึดความสามารถของนักร้อง แต่สุดท้ายก็จะคำนึงถึงผลลัพธ์ที่ได้จากการเล่าเรื่องเป็นหลัก เพราะจะเห็นได้ว่าปัจจัยหลายอย่างที่ทางรายการได้ควบคุมไว้สามารถช่วยนักร้องบางคนให้เข้ารอบต่อไปได้ เช่น การเลือกเพลง และการคัดเลือกของกรรมการ เป็นต้น

 ผู้ชมคนไทยอาจคุ้นชินกับการรับชมรายการโทรทัศน์ในลักษณะที่มุ่งแสวงหาความพึงพอใจ ผ่านรายการโทรทัศน์เพื่อเติมเต็มชีวิตจริงที่อาจไม่สวยงามอย่างที่ตัวเองคาดหวัง ดังเช่นเนื้อหาของรายการประเภทละครโทรทัศน์ส่วนใหญ่ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ผู้ชมรู้สึกร่วมไปกับตัวละคร ผู้ชมรู้สึกกับผลการตัดสินที่ไม่ตรงใจกับความคาดหวัง จึงเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นมา ผลการแข่งขันอาจสร้างความพึงพอใจให้ผู้ชมกลุ่มหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถสร้างความพึงพอใจให้ผู้ชมที่กำลังเอาใจช่วยนักร้องที่ตกรอบ เพราะไม่โดนใจกับจินตนาการที่พวกเขาสร้างขึ้นมาในระหว่างการรับชม

ผู้ชมต้องยอมรับความจริงว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องตอบโจทย์การตลาดและตอบโจทย์เพื่อความเป็นโชว์ที่ดีที่สุดที่ผู้ผลิตได้กำหนดไว้แล้ว แต่ทั้งหมดนี้คือเสน่ห์ของการรับชมรายการประเภทเรียลิตี้ที่ผู้ชมจะต้องรอรับการหักมุมที่จะเกิดขึ้นให้ได้ราวกับดูละครหรือดูภาพยนตร์อยู่ตลอดเวลา การแข่งขันหรือประกวดร้องเพลงจึงเป็นเนื้อหาของรายการที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบันที่ถูกหยิบมาใช้ในการผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อผู้ชมยุคนี้