ปรากฏการณ์อีสานหน้าฝน ตามล่า 4 น้ำตกกับ 2 สิ่งมหัศจรรย์
ฤดูแล้งพัดไป เมื่อสายฝนพัดมาพร้อมสายน้ำจากยอดป่าไหลลงสู่พื้นดิน กลายเป็น “น้ำตก”
โดย กาญจน์ อายุ
ฤดูแล้งพัดไป เมื่อสายฝนพัดมาพร้อมสายน้ำจากยอดป่าไหลลงสู่พื้นดิน กลายเป็น “น้ำตก” บนอีสานตอนล่างอย่าง 4 น้ำตกจากอุบลราชธานีถึงศรีสะเกษ ที่เหมาะแก่การเปิดศักราช “ล่าน้ำตก” อย่างเป็นทางการอุบลราชธานี วิถีน้ำตกกลางป่าใหญ่
จังหวัดที่มีทั้งประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และธรรมชาติรังสรรค์อย่าง อุบลราชธานี เป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติ 3 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ ที่ไม่โดดเด่นเรื่องน้ำตก แต่มีเอกลักษณ์ตรงเกาะแก่งกลางลำน้ำมูล
อุทยานแห่งชาติผาแต้ม มีความสำคัญด้านประวัติศาสตร์กับภาพเขียนสีศิลปะถ้ำโบราณกว่า 300 ภาพ
และอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้ำซึ่งเป็นจุดหมายออกล่าในฤดูกาลนี้
อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย มีเนื้อที่ประมาณ 686 ตร.กม. ครอบคลุมพื้นที่ อ.บุณฑริก นาจะหลวย และน้ำยืน มีอาณาเขตติดต่อกับ สปป.ลาว และกัมพูชา หรือที่เรียกว่า สามเหลี่ยมมรกต น้ำตกที่สวยงาม ยอดนิยม และเดินเหนื่อยที่สุดต้องยกตำแหน่งให้ “น้ำตกห้วยหลวง” หรืออีกชื่อคือ น้ำตกบักเตว
มีเรื่องเล่าว่า ในอดีตชาวบ้านมีอาชีพหาของป่าล่าสัตว์เพื่อการยังชีพ บักเตวและพวก 3 คนก็ได้พากันขึ้นมาหาของป่าและได้พบรวงผึ้งมากมายเกาะอยู่ตามหน้าผาน้ำตกแห่งนี้ จึงได้นำเถาวัลย์มาฟั่นปั่นเป็นเชือกหย่อนลงไป โดยมีนายเตวเป็นผู้โรยตัวแต่ไม่ได้มีการบนบานศาลกล่าวบอกเจ้าที่เจ้าทางก่อน ในระหว่างเก็บรวงผึ้งอยู่นั้นบักเตวได้ร่วงหล่นลงสู่หุบเหวเบื้องล่างและกระทบหินร่างแหลกถึงแก่ความตาย ชาวบ้านจึงได้ขนานนามน้ำตกแห่งนี้ว่า น้ำตกถ้ำบักเตว
ทว่าในแต่ละปีได้เกิดอุบัติเหตุมีนักท่องเที่ยวจมน้ำเสียชีวิตซึ่งเชื่อว่าเป็นอาถรรพ์บักเตว ทำให้ในปี 2535 หัวหน้าอุทยานฯ ในสมัยนั้นจึงให้เปลี่ยนชื่อเป็น น้ำตกห้วยหลวง ตามชื่อของลำห้วยที่ไหลผ่านน้ำตกจวบจนปัจจุบัน จากนั้นน้ำตกห้วยหลวงก็โด่งดังและถูกยกให้เป็นน้ำตกที่งดงามที่สุดในอุบลฯ
น้ำตกแห่งนี้มีขนาดใหญ่ที่สุดในอุบลฯ สูงประมาณ 30 ม. ไหลเป็นเส้นตรงตกลงสู่หุบเขาที่มีลักษณะเป็นอ่างน้ำ มีหาดทรายขาว และน้ำเป็นสีมรกต แต่ก่อนที่นักท่องเที่ยวจะลงไปชมความงามด้านล่างต้องผ่านด่านบันไดหินประมาณ 300 ขั้น ที่ทางอุทยานฯ มีป้ายเตือนตั้งแต่ขั้นที่ 1 ว่าถ้าใครเป็นโรคหัวใจหรือโรคหอบต้องพิจารณาร่างกาย
เพราะขาลงที่ว่าเหนื่อยแล้ว ขาขึ้นยิ่งเหนื่อยกว่า เพราะความชันตลอดแนวแบบไร้ทางราบ บันไดแต่ละขั้นที่สูงๆ ต่ำๆ และตะไคร่น้ำที่ทำให้พลาดพลั้งได้ทุกนาที ทำให้ทุกก้าวต้องใช้สติ สมาธิ และกำหนดลมหายใจ แต่สำหรับใครที่แข็งแรงและมีใจสู้ไหวขอแนะนำให้ไปเห็นกับตา
จากมุมด้านล่างจะเห็นสายน้ำตกสีขาวผืนกว้างและสูงตระหง่าน ตัวคนจะถูกละอองน้ำสาดเข้าร่างเพราะความแรงน้ำที่ตกกระทบหินทราย และต้นไม้ที่มีรากชอนไชจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวครึ้ม โดยนักท่องเที่ยวจะถูกจำกัดวงเล่นน้ำเพื่อความปลอดภัย เฉพาะในเดือนนี้ (ก.ย.) ที่น้ำมากและแรงที่สุด ซึ่งมีข้อดีตรงที่คุณจะได้ชุ่มฉ่ำที่สุดและเห็นภาพน้ำตกที่งามที่สุด แต่ข้อเสียคือจะไม่สามารถเข้าใกล้สายน้ำตกได้มากที่สุดเท่านั้นเอง
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาสุขภาพแล้วคิดว่าไม่ไหว ก็สามารถชมจากจุดชมวิวได้ จุดนั้นจะเห็นภาพน้ำตกห้วยหลวงท่ามกลางป่าใหญ่และผาหินที่จะงามหมดจดในช่วงเช้าตรู่ เพราะควันหมอกที่พวยพุ่งจากป่าผสมกับละอองน้ำตกที่ลอยตัวขึ้น ธรรมชาติได้สร้างบรรยากาศเหมือนมีใครมาจัดฉากให้เป็นยามเช้าที่สมบูรณ์แบบ
นอกจากนี้ อุทยานแห่งชาติภูจองนายอยยังเป็นที่ตั้งของ “น้ำตกแสงจันทร์” ที่ได้รับสมญานามว่า น้ำตกลงรู จัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันซีนของอุบลฯ ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นน้ำตกขนาดเล็กแต่มีความพิเศษ คือ ลำห้วยเล็กๆ บนลานหินจะไหลลอดผ่านหน้าหินที่มีลักษณะเป็นรูลงสู่เพิงผาด้านล่าง
หากชมตอนเที่ยงวันแสงอาทิตย์จะลอดผ่านรูพอดีและจะเปลี่ยนสายน้ำตกให้เป็นเหมือนแสงจันทร์ เช่นเดียวกับ “น้ำตกห้วยทรายใหญ่” หรือแก่งอีเขียว ที่เป็นน้ำตกขนาดเล็ก ชื่อไม่ดัง แต่เดินถึงตัวน้ำตกง่าย ไม่โลดโผน และที่สำคัญคือ เงียบสงบ ถึงขนาดที่คุณจะได้นั่งเอาเท้าแช่น้ำให้ปลาตอดและฟังเสียงน้ำตกบอกคุณว่า ซู่ๆ จนพลังชีวิตที่หายไปกลับคืนมา
อุบลราชธานี ยังมีธรรมชาติที่น่าตื่นตาตื่นใจกับสิ่งมหัศจรรย์ “กุ้งเดินขบวน” ที่แก่งลำดวน บริเวณนี้มีลักษณะเป็นแก่งหินและลานกว้าง ชาวบ้านเรียกว่า พลาญหิน ในช่วงฤดูน้ำหลาก (ก.ย.) แก่งลำดวนจะมีกระแสน้ำเชี่ยวกรากจึงทำให้บรรดากุ้งก้ามขนพร้อมใจกันขึ้นมาเดินขบวนทวนกระแสน้ำบนลานหิน มุ่งสู่แหล่งต้นน้ำลำโดมใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์
กุ้งเดินขบวนจะเกิดขึ้นเฉพาะช่วงเวลากลางคืนเท่านั้น แต่คืนไหนจะมาเดินมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยธรรมชาติ ฤดูกาล และปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในบริเวณต้นน้ำลำโดมใหญ่ ถ้าปริมาณน้ำฝนมาก กระแสน้ำแรงจะพบกุ้งเดินขบวนจำนวนมาก หากปริมาณฝนน้อย กระแสน้ำไม่ค่อยแรงกุ้งก็จะเดินน้อยหรือไม่ขึ้นมาเดินบนบบก
ปรากฏการณ์กุ้งเดินขบวนจึงพบเห็นได้ยากและเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างแท้จริง ไม่ต่างจากน้ำตกที่ต้องรอฤดูกาลและรอให้ธรรมชาติอนุญาตก่อนพบเจอความงาม
ศรีสะเกษ สุดเขตความงาม
ดินแดนปราสาทขอมและแหล่งรวมวัฒนธรรมไทย ลาว กัมพูชา ส่วย เยอ คือแผ่นดินเดียวกับดินแดนแห่งธรรมชาติอย่างน้ำตกที่จะออกล่า 2 แห่งใน อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ จังหวัดที่คนมักมองข้ามแต่ต้องไม่ใช่ในคราวนี้
เริ่มต้นที่ “น้ำตกสำโรงเกียรติ” หรือน้ำตกปีศาจ อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก ลักษณะเป็นน้ำตกขนาดกลาง เหนือน้ำตกเป็นธารน้ำไหลไปตามลานหินและตกจากหน้าผาสูง 8 ม. ซึ่งต้องสารภาพว่าสมญานาม น้ำตกปีศาจ ไม่ทราบว่ามาจากไหน แต่คนตั้งให้อาจจะยังไม่เคยไปช่วงบ่ายสามคล้อยบ่ายสี่ในฤดูฝนเยี่ยงนี้
เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นคงให้สมญานามใหม่ว่า น้ำตกนางฟ้า ซึ่งมีแสงพระอาทิตย์ที่ส่องผ่านกิ่งก้านลงมาช่างเหมาะเจาะและงดงามพอดีประหนึ่งแสงของนางฟ้ายามปรากฏตัว ซึ่งความมหัศจรรย์นี้ต้องใช้จังหวะและโชคช่วยอยู่บ้างตามคอนเซ็ปต์ของธรรมชาติที่มักหยอกล้อมนุษย์หลังเลนส์เสมอ
จากนั้นตามมาด้วย “น้ำตกห้วยจันทร์” หรือน้ำตกกันทรอม ที่มีสายน้ำต้นกำเนิดจากเทือกเขาบรรทัดไหลลดหลั่นมาตามชั้นหินทรายก่อนไหลลงแม่น้ำมูล ระหว่างทางน้ำจะมีลานหินให้นั่งพักผ่อนหย่อนใจหลายจุด จึงน่าพกชุดปิกนิกที่ประกอบด้วยข้าวเหนียวไก่ย่างส้มตำมานั่งจกริมสายน้ำเย็น
นอกจากนี้ อาณาเขตของศรีสะเกษยังติดต่อกับประเทศกัมพูชา โดยมีเทือกเขาพนมดงรักและอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารเป็นแนวกั้นเขตแดน ที่ถึงแม้ว่าคนไทยจะไม่ได้รับอนุญาตเข้าเขตปราสาทเขาพระวิหาร แต่สามารถมองเห็นบางส่วนของปราสาทได้จากอุทยานฯ
อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารตั้งอยู่ใน อ.กันทรลักษ์ มีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และแหล่งศึกษาธรรมชาติอย่าง ภาพสลักนูนต่ำ โดยทางทิศใต้จะมีบันไดทางลงเลียบหน้าผาไปชมภาพสลักนูนต่ำรูปเทพสามองค์บนผาหินทราย สันนิษฐานว่ารูปบุรุษเป็นท้าวกุเวร หนึ่งในจตุมหาราชประจำทิศเหนือ หรือรูปบุคคลสูงศักดิ์ในราวพุทธศตวรรษที่ 17 ส่วนรูปบุคคลประทับบนนาค สันนิษฐานว่าเป็นเทพวรุณทรงนาคหรือพระนารายณ์ทรงนาค และภาพสัตว์สองตัวที่ยังแกะสลักไม่เสร็จอาจเป็นเทพพาหนะ และบริเวณดังกล่าวยังเชื่อว่าเป็นที่ซ้อมมือของช่างแกะสลักก่อนจะดำเนินการแกะสลักจริงที่ปราสาทเขาพระวิหาร
ส่วนทางทิศตะวันตกเป็นที่ตั้งของสถูปคู่ ชาวบ้านเรียกว่า ธาตุ ทำมาจากหินทรายตัดเป็นทรงสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ ด้านบนกลมมนตั้งอยู่คู่กัน ข้างในเป็นโพรงบรรจุสิ่งของ เชื่อกันว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปราสาทเขาพระวิหารเช่นกัน
ส่วนจุดที่พลาดไม่ได้ที่สุดคงจะเป็น “ผามออีแดง” สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 556 ม. เป็นจุดชมทัศนียภาพสองฝั่งชายแดนไทย-กัมพูชากว้างไกลสุดสายตา และเป็นจุดชมทะเลหมอกไหลผ่านเหลี่ยมเขาเหนือยอดป่าจวบจนพระอาทิตย์ขึ้นพ้นฟ้า หรือหากตื่นมาตอนเช้ามืดก็จะได้ชมทั้งสายหมอกและแสงดาวอยู่คู่กัน
คราวนี้คงปฏิเสธไม่ได้แล้วว่าศรีสะเกษมีดีมากกว่าเป็นแค่เมืองผ่าน เพราะที่นี่มีความงดงามที่ต้องใช้เวลาละเลียดและรอเพื่อสัมผัสความลับที่ซุกซ่อนอยู่
การออกล่า 4 น้ำตก 2 อุทยานแห่งชาติ 2 จังหวัด จึงเป็นเรื่องสนุกและผิดหวังได้ง่ายมากถ้าคาดหวังกับธรรมชาติ เลยเป็นเรื่องสนุกกว่าถ้าปล่อยให้ “เขา” รังสรรค์ความงดงาม ณ ขณะ แล้ว “เรา” เสพสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ปรารถนาความจริงที่ปรากฏออกมา หรือหากไม่พอใจก็แค่มาใหม่วันหน้า เพราะไม่ว่าวันไหนธรรมชาติก็มีเรื่องเซอร์ไพรส์ให้ลุ้นระทึกได้อยู่ดี