posttoday

ซีรี่ส์ตลาดสูงวัย กรณีศึกษาจาก Grace & Frankie

02 กันยายน 2560

ขณะที่ทุกคนกำลังอินกับ "Game of Throne"

โดย เอกศาสตร์ สรรพช่าง ภาพ : เอพี

กรณีศึกษาจาก Grace & Frankie

ขณะที่ทุกคนกำลังอินกับ "Game of Throne" ชนิดแทบหยุดหายใจ ตัวผมเองก็กำลังอินกับซีรี่ส์ "Grace & Frankie" แบบดู 3 ซีซั่นรวดอยู่เช่นกัน

 ซีรี่ส์นี้ออกฉายบน Netflix เรื่องราวของเพื่อนสาวสองคน Grace และ Frankie ที่ไม่ค่อยชอบขี้หน้ากันสักเท่าไร สามีของเธอทั้งคู่เป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจที่ทำงานกันมายาวนาน เรื่องมาพลิกผันตรงที่สามีของเธอทั้งสองต้องการแต่งงานกัน และยอมรับว่าทั้งคู่แอบรักกันมาตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว แต่ไม่มีโอกาสและไม่กล้าพอที่จะบอกกับครอบครัวว่าตนเป็นโฮโมเซ็กชวล

 เรื่องทั้งหมดของ "Grace & Frankie" เริ่มหลังจากที่สาววัย 70 ปี ต้องหย่าสามี มาใช้ชีวิตร่วมชายคาบ้านริมทะเลที่ทั้งสองครอบครัวซื้อร่วมกัน ส่วนสามีของเธอทั้งคู่อยากใช้ชีวิตร่วมกันในเวลาที่เหลืออีกไม่มากของชีวิต

 ซีรี่ส์ดูสนุกดีครับ แต่ที่มากกว่าสนุกก็คือ ความพยายามสอดแทรกเนื้อหาสะท้อนสถานการณ์ของสังคมผู้สูงอายุปัจจุบันที่ต้องอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างของสังคม เพื่อปรับตัวให้ทัน

 ซีรี่ส์พยายามฉายภาพความกังวลของผู้สูงวัยที่ต้องต่อสู้กับความไม่มั่นคงทางจิตใจ เนื่องจากความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วกว่ารุ่นของพวกเธอ แต่ก็ยังฉายภาพตัวอย่างของการมีชีวิตที่มีคุณภาพในช่วงบั้นปลายชีวิตได้ดี

 คนดูอย่างเรารับรู้ได้ว่าซีรี่ส์ต้องการทำหน้าที่เป็นเหมือน “คู่มือ” สำหรับสังคมผู้สูงอายุที่ต้องเปิดใจให้กว้างขึ้นกับความหลากหลาย

 การเปิดเรื่องด้วยการไปให้ถึงสุดขอบของคนในยุคเบบี้บูมเรื่องการประกาศว่าตัวเองเป็นเกย์ ก็สะท้อนให้เห็นว่า ซีรี่ส์เรื่องนี้ท้าทายสังคมอยู่ไม่น้อย แต่ก็ไม่ได้ทำเอาสนุกอย่างเดียว แต่ยังทำเพื่อเป็นอุทาหรณ์และ "เป็นเพื่อน" สำหรับผู้สูงวัยที่กำลังมองหาทางออกให้ชีวิต ไม่ว่าทางออกนั้นจะเป็นเหมือนโรเบิร์ตกับซอลคู่สามี หรือจะเป็นเกรซและแฟรงกี้เพื่อนสาวที่ต้องตกลงปลงใจมาใช้ชีวิตบั้นปลายด้วยกันก็ตาม

 เนื้อเรื่องไม่ได้ทำออกมาให้ดูเครียด กลับกันมีส่วนผสมที่ลงตัวของความตลกขบขัน การมองโลกในแง่ดี สอดแทรกตัวละครที่สะท้อนถึงประเด็นทางสังคมที่ทำให้เราต้องคิด เช่น เรื่องการติดเหล้าของลูกบุญธรรมวัย 35 ของซอลและแฟรงกี้ เรื่องชีวิตคู่ที่ดูเฉยชาและจืดชืดของลูกสาวของโรเบิร์ตและเกรซ

 การยอมรับการเปลี่ยนแปลงของทั้งสองครอบครัว มีบางตอนที่แตะเข้าไปถึงประเด็นที่ละเอียดอ่อนอย่างมาก เช่น การป่วยไข้ของคนในวัยนี้ที่ดูหนักหนาเอาการ การดีลกับสังคมรอบข้างเรื่องของการเปิดเผยเรื่องรสนิยมทางเพศเมื่อตอนแก่ การใช้ปืนกับผู้สูงอายุในสหรัฐ การดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ เซ็กซ์ในวัยทอง รวมถึงสิทธิในการเลือกที่จะตายของคนสูงอายุ

 ทั้งหมดเล่าเรื่องออกมาในแบบน่ารัก พอดิบพอดี จะมีที่เคืองๆ อยู่บ้างก็คือที่บางตอนดู "จบสวย" ไปนิด แต่โดยรวมแล้วเป็นซีรี่ส์ที่น่าดูเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว

 ประเด็นสำคัญอีกอย่างที่ดีก็คือ แฟนๆ เก่าๆ มีโอกาสได้เห็นดาราโปรดของตัวเองกลับมาแสดงอีกครั้ง ทั้งฝีไม้ลายมือที่ยังเก๋าอยู่ เจน ฟอนด้า ยังสวยอยู่เลย มาร์ติน ชีน ที่แสดงเป็นโรเบิร์ต ก็แสดงได้เหมือนเกย์ผู้สับสนกับบทบาทใหม่ของตัวเอง ศักยภาพของนักแสดงสูงวัยเหล่านี้ยังมีอยู่เต็มเปี่ยมจริงๆ

 จะเรียกว่าเป็นโปรเจกต์ "โยนหินถามทาง" ของ Netflix ก็ไม่น่าจะผิด เพราะหากว่าการทำหนังที่เจาะตลาดกลุ่มวัยเกษียณที่มีแต่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ไปได้สวย ก็ไม่แน่ว่าอาจจะมีซีรี่ส์แบบนี้ออกมาให้เราได้ดูอีก ซึ่งก็มีแนวโน้มว่าจะไปได้ดีนะครับ เพราะเมื่อดูจาก Product Placement ที่โผล่ในหนังอย่าง "Apple" ที่จงใจสื่อสารเรื่องการเป็นผลิตภัณฑ์ใช้ง่ายสำหรับคนแก่ ก็ยังมีทั้งรถยนต์ทั้ง Audi และ Nissan ที่ดูเหมือนว่าอยากได้คนกลุ่มนี้ไปเป็นลูกค้า

 ประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งสหรัฐ ญี่ปุ่น และหลายประเทศในยุโรป เริ่มวางแผนรับมือกับสังคมผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มของตัวเลขที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ตามกระแสการเปลี่ยนแปลงที่คนวัยทำงานนิยมมีลูกน้อยลง และวิทยาการทางการแพทย์ที่ทำให้เรามีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น โดยเฉพาะในญี่ปุ่นเองมีการประมาณกันว่า ไม่น่าจะเกิน 15 ปีนี้ พวกเขาจะมีประชากรที่อายุเกิน 65 ปี แซงหน้าวัยทำงาน

ส่วนในเมืองไทยหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง (เช่น สงคราม หรือโรคระบาด) อีกประมาณ 20 ปีเราจะมีประชากรวัยเกษียณต่อวัยทำงาน คือ 1 ต่อ 4 คน ตลาดนี้เป็นตลาดใหญ่นะครับ และต้องการคอนเทนต์ที่เหมาะกับพวกเขาด้วยเช่นกัน

 การเปิดตัวของ "Will & Grace" ที่จะกลับมาทำใหม่ คิดว่าก็น่าจะมาจากการที่สถานี NBC มองเห็นลู่ทางของกลุ่มผู้ดูที่ยังชื่นชอบและมองเห็นว่า กลุ่มคนอายุประมาณ 40-60 ปี เป็นกลุ่มที่น่าสนใจอยู่ ผมคิดเอาเองว่าไม่แน่ว่า อีกไม่นานเราอาจจะเห็นซีรี่ส์ดังอย่าง "Friends" กลับมาทำใหม่

 "Grace & Frankie" ออกมาแล้ว 3 ฤดูกาล และน่าจะมีต่อ เพราะตอนสุดท้ายก็ทิ้งปมของตัวละครแต่ละตัวไว้ รอการไขต่อในฤดูกาลถัดไป ซีรี่ส์นี้ได้เข้าชิงหลายรางวัลทั้งใน Golden Globe Awards และ Primetime Emmy Awards โดยเฉพาะการแสดงของ ลิลี่ ทอมลิน (รับบทเป็น Frankie Bergstein) นั้น ได้รับการกล่าวขวัญมาก จริงๆ แล้วตัวละครหลักทั้งสี่คนแสดงได้ดีหมด

 หากจบ "Game of Throne" แล้วไม่มีอะไรดู ลองเปิดใจให้กับหนังสูงวัยพล็อตดีเรื่องนี้ดูหน่อยก็ได้นะครับ