9 สัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณกำลังจะเป็นโรควิตกกังวล
ลักษณะนิสัยที่มักพบบ่อยในผู้ที่มีความวิตกกังวลซ่อนอยู่
ลักษณะนิสัยที่มักพบบ่อยในผู้ที่มีความวิตกกังวลซ่อนอยู่
โรควิตกกังวล (Anxiety) เป็นความผิดปกติทางจิตที่ขึ้นอยู่กับความวิตกกังวลและความกลัวต่อเหตุการณ์ในปัจจุบัน และเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต มักเกิดร่วมกับโรคอื่นๆ เช่น โรคซึมเศร้า โดยหากมีอาการนานติดต่อกันประมาณ 2 – 6 เดือน ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยต่อไป
1. เกิดความทุกข์มากเป็นพิเศษเมื่อประสบความล้มเหลว
ผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลจะรู้สึกว่าความล้มเหลวมีผลกระทบต่อจิตใจมากกว่าคนอื่น ในสายตาของคนอื่นอาจจะดูทุกข์เกินจริง หรือแม้แต่ความล้มเหลวเล็กๆ น้อยๆ ก็อาจทำให้ไม่มีอารมณ์จะทำอะไรจนต้องพักอยู่บ้านไป 1 -2 วัน
2. กลัวความเสี่ยง
เนื่องจากความล้มเหลวในชีวิตจะทำให้ผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลเครียดมากเป็นพิเศษ ดังนั้นพวกเขาจะไม่ค่อยกล้าเสี่ยง เพราะไม่อยากประสบพบเจอกับความละอายใจ ความผิดหวัง และความเศร้า
3. สูญเสียสมาธิ
ผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลมักจะคิดเรื่องที่ตนเองกังวลอยู่ในหัวตลอดเวลา ซึ่งจะส่งผลให้พวกเขาไม่ได้ใส่ใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมากเท่าที่ควร บางทีอาจจะจำบทสนทนาตรงหน้าไม่ค่อยได้ มักหลงๆ ลืมๆ กับเรื่องที่เพิ่งเกิดได้ไม่นาน
4. ป่วยบ่อย
ความเครียดอย่างต่อเนื่องมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลมักจะป่วยอยู่บ่อยๆ เนื่องจากภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกทำลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่พวกเขาต้องซ่อนความกังวลจากคนอื่น จะทำให้เกิดความเครียดเพิ่มขึ้นมากยิ่งกว่าเดิม ส่งผลให้ป่วยง่ายกว่าผู้ที่ระบายความกังวลให้คนอื่นรับรู้อยู่บ่อยๆ
5. สนใจคำวิจารณ์จากคนอื่น
ผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลมักจะใส่ใจคำพูดของคนอื่น และเก็บมาคิดมาก ส่งผลให้พวกเขาตั้งมาตราฐานต่อตัวเองไว้สูง และอาจมีมาตราฐานที่สูงขึ้นเรื่อยๆ
6. รู้สึกกระวนกระวาย
ภาษากายเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บ่งบอกได้ว่าคุณกำลังจะเป็นโรควิตกกังวล เนื่องจากความวิตกกังวลมีผลต่อร่างกายของเรา อาจส่งผลต่อการแสดงออกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาการมือสั่น เขย่าขา หรือการนั่งงอเขา
7. สายเสมอ
การไปสายกว่าเวลานัดอยู่บ่อยๆ อาจเป็นสัญญาณของโรคซึมเศร้า รวมไปถึงโรควิตกกังวลด้วย ผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลมักจะไม่อยากตื่นไปทำงาน ไม่พร้อมเจอกับปัญหา เริ่มหลีกเลี่ยงที่จะเข้าสังคมทั้งกับที่ทำงาน เพื่อน และครอบครัว
8. ต้องการการวางแผน
ผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลมักจะรู้สึกไม่ดีเวลาไม่มีแพลน หรือทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ การวางแผนการใช้ชีวิตในแต่ละวันจะส่งผลให้พวกเขาสงบขึ้น รวมไปถึงการจัดระเบียบพื้นที่ส่วนตัวของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นห้องนอน หรือโต๊ะทำงานด้วย
9. รู้สึกลังเลที่จะหาเพื่อนใหม่
ผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลอาจรู้สึกลำบากใจ หรือไม่เต็มใจที่จะผูกมิตรกับเพื่อนใหม่ เนื่องจากไม่อยากให้ใครสัมผัสกับความอ่อนแอของพวกเขา และมักกังวลเกี่ยวกับการสูญเสียเพื่อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต
ที่มา: bustle