ใครบ้างที่เข้าข่าย...เป็น ‘Global Manager’ ?
โดย ศิริยุพา รุ่งเริงสุข สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หลายปีมาแล้วที่บุคคลในวงการธุรกิจทั่วโลกคุ้นหูกับคำว่า “Globalization” (โลกาภิวัตน์) ก็เพราะเราอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ที่แปลว่า “โลกไร้พรมแดน” นี่แหละ จึงทำให้การดำเนินชีวิตประจำวันของเราไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสื่อสาร การศึกษาหาความรู้ การจับจ่ายใช้สอย การทำงาน ฯลฯ ล้วนได้รับผลกระทบจาก “โลกาภิวัตน์” แทบทั้งสิ้น ลองมองดูเสื้อผ้าที่คุณสวมใส่อยู่สิคะ ยี่ห้อหรือแบรนด์อาจจะเป็นแบรนด์ดังของฝรั่งเศส แต่ตัดเย็บในประเทศจีนหรือไทย ตัวเนื้อผ้าเป็นผ้าไหมจากอิตาลี กระดุมทำจากประเทศตุรกี เป็นต้น อาหารก็เช่นกัน วัตถุดิบ เช่น ปลา หรือกุ้ง หรือเนื้อ อาจถูกจัดส่งมาจากประเทศใดประเทศหนึ่งในโลก แต่ได้รับการแปรรูปปรุงเป็นอาหารในอีกประเทศหนึ่ง แล้วถูกส่งไปจำหน่ายต่อยังนานาประเทศทั่วโลก... ไม่น่าเชื่อใช่ไหมคะว่าโลกของเรา “ไร้พรมแดน” ได้ถึงขนาดนี้
นับวันกระแสโลกาภิวัตน์ก็เพิ่มระดับขึ้นทุกทีๆ โดยเฉพาะในเรื่องของการบริหารธุรกิจที่นักลงทุนชาติต่างๆ พากันขยายกิจการไปลงทุนในต่างประเทศ มีผลให้บรรดาพนักงานต้องบินว่อนเป็นแมลงวันเข้าประเทศนู้นออกประเทศนี้ หรือต้องย้ายถิ่นฐานไปทำงานในประเทศต่างๆ เป็นระยะเวลานาน กลายเป็น Expatriate หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “Expat” และถ้าพนักงานเหล่านี้อยู่ในตำแหน่งบริหารที่ต้องบริหารคนงานที่เป็นคนท้องถิ่น ทางบริษัทแม่ก็ต้องทำการฝึกอบรมเตรียมความพร้อมผู้บริหารที่จะไปเป็น “Expat” ให้สามารถทำงานในต่างแดนร่วมกับคนท้องถิ่นได้อย่างกลมกลืนและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้บทบาทของผู้บริหารที่ต้องบริหารงานข้ามวัฒนธรรมจึงถูกมองว่าเป็นบทบาทของผู้จัดการระดับสากล (International Manager) และหากเขาหรือเธอคนนั้นต้องบริหารกิจการหรือพนักงานหลากหลายประเทศในทวีปต่างๆ เขาหรือเธอก็จะกลายเป็นผู้จัดการระดับ “โลกาภิวัตน์” (Global Manager) ในที่สุด
อย่างไรก็ตาม การเป็น Global Manager นั้นไม่ได้หมายความถึงเฉพาะผู้จัดการที่เป็น Expat ซึ่งต้องไปอยู่ประจำการทำงานในต่างประเทศเป็นช่วงเวลานานๆ เท่านั้น Richard Steers ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการบริหารข้ามวัฒนธรรมได้จัดประเภทบุคคลที่เข้าข่ายเป็น Global Manager ออกเป็น 3 ประเภท
ประเภทที่ 1 : Expatriate = คนที่ทำงานอยู่นอกประเทศเป็นช่วงเวลานานๆ (ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว)
ประเภทที่ 2 : Frequent Flyers = คนที่เดินทาง (บิน) บ่อยๆ เพื่อไปทำงานต่างประเทศในหลายประเทศ
ประเภทที่ 3 : Virtual Managers = ผู้จัดการเสมือนจริง คือ ผู้ที่ทำงานบริหารหรือติดต่อพนักงานและลูกค้าในหลายๆ ประเทศที่บริษัทมีกิจการอยู่ผ่านทางอินเทอร์เน็ตหรือเครื่องมือสื่อสารอื่นๆ โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปประเทศต่างๆ เหล่านั้น
จากการจำแนกประเภทผู้จัดการระดับโลกาภิวัฒน์ของ Steers ทำให้เราได้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับนิยามของคำว่า Global Manager ดีขึ้นแล้วใช่ไหมคะ? เพราะมิฉะนั้นแล้วหลายคนอาจเข้าใจว่ามีแต่ Expat เท่านั้นที่เข้าข่ายเป็น Global Manager
ทีนี้พอเข้าใจแล้วว่า Global Manager คือใครบ้าง คำถามต่อไปที่เราน่าให้ความสนใจก็คือ คนที่เป็น Global Manager ทั้ง 3 ประเภทดังกล่าวนี้ เขาต้องมีความสามารถ (Key Competencies) อะไรบ้าง จึงจะสามารถทำงานในระดับโลกาภิวัตน์ได้ ซึ่งความสามารถในการบริหาร (ทั้งงานและคน) ในระดับโลกาภิวัตน์นี้เรียกว่า Global Competencies ค่ะ
สัปดาห์หน้าคุยกันเรื่อง Global Competencies ดีไหมคะ?