ผาปัง แดนในฝันเมืองลำปาง
หากดินแดนในฝันคือพื้นที่แห่งความสุข ชุมชน "ผาปัง" ก็คงเป็นหมุดหมายที่ทุกคนตามหา
โดย/ภาพ กาญจน์ อายุ
หากดินแดนในฝันคือพื้นที่แห่งความสุข ชุมชน "ผาปัง" ก็คงเป็นหมุดหมายที่ทุกคนตามหา
ลบภาพจำของ จ.ลำปาง ออกไปให้หมด เพราะที่นี่ไม่มีรถม้า ไม่มีโรงงานเซรามิก และไม่มีความฮิปส์ใดๆ มีแต่เพียงท้องนา ป่าไผ่ และหัวใจของพ่อๆ แม่ๆ
ชุมชนผาปัง ตั้งอยู่ใน ต.ผาปัง อ.แม่พริก จ.ลำปาง ห่างจากตัวเมืองประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง มุ่งสู่หมู่บ้านหลังเขาในเขตเงาฝน ที่ผู้คนยังคงรักษาวิถีชีวิตเกษตรกรรมตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
โดยชาวบ้านที่จะกลายเป็นพ่อและแม่ตั้งแต่วันแรกที่เจอหน้ากัน ล้วนคุ้นเคยกับลูกหลานต่างถิ่นที่เข้ามาศึกษาดูงานเป็นหมู่คณะ แต่เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา พวกท่านเพิ่งมีลูกหลานกลุ่มใหม่ที่เรียกตัวเองว่า "นักท่องเที่ยว"
หลังได้รับคำแนะนำด้านการท่องเที่ยววิถีชุมชนจากพี่เลี้ยงอย่าง โลเคิล อไลค์ และการสนับสนุนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส และหน่วยงานเอกชนต่างๆ ทำให้บ้านผาปังพร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวที่เปิดใจสู่ครอบครัวใหม่ที่แสนเรียบง่ายและมีความสุข
ดังนั้น จุดเด่นของผาปังคืออะไร คนที่เคยไปมาแล้วจะไม่ตอบว่าธรรมชาติที่มองปุ๊บแล้วรู้ปั๊บถึงความสวยงาม แต่คือพ่อๆ แม่ๆ หรือชาวบ้านที่มองไปกี่ครั้ง ก็เห็นแต่รอยยิ้มพิมพ์ใจและรู้สึกถึงได้ความจริงใจ ซึ่งเป็นที่มาของความสุขทั้งมวล
ความสุขคือชาวบ้าน รอยยิ้มจริงใจจากพ่อและแม่บ้านผาปัง
ความน่ารักที่สุดของชุมชนผาปังคือ ผู้สูงอายุ เพราะนอกจากชุมชนจะมีจำนวนผู้สูงอายุร้อยละ 42 ของประชากรทั้งหมด พวกท่านยังมีบทบาทเป็นผู้นำการท่องเที่ยวชุมชนตามฐานต่างๆ ด้วย
ตา-กันต์ระพี แก้วมณีพัชร์ เลขานุการเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนผาปัง เล่าให้ฟังว่า ชุมชนเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องไผ่และเรื่องพลังงานทดแทนให้กับกลุ่มศึกษาดูงานมานานกว่า 2 ปี ทำให้มีเกสต์เฮาส์ ห้องประชุม และโฮมสเตย์รองรับเป็นทุนเดิม ซึ่งเอื้อประโยชน์กับการท่องเที่ยวชุมชน ที่เพิ่งเริ่มเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา
รวมถึงทรัพยากรเรื่องคนที่มีอยู่แล้วในกลุ่มต่างๆ เช่น สภาเด็กและเยาวชน ชมรมการท่องเที่ยวเชิงวิถีผาปัง และศูนย์นวัตกรรมผู้สูงอายุ สมาชิกของกลุ่มเหล่านี้ได้เข้ามารับหน้าที่ในกระบวนการการท่องเที่ยวชุมชน อย่างน้องดาด้า ประธานสภาเด็กและเยาวชนรับหน้าหน้าที่เป็นไกด์ท้องถิ่น หรือพ่อๆ แม่ๆ สมาชิกศูนย์นวัตกรรมผู้สูงอายุก็กลายเป็นผู้นำกิจกรรมท่องเที่ยว
“ต.ผาปัง เป็นตำบลเล็กๆ ประกอบด้วย 5 หมู่บ้าน และทุกคนเป็นเครือญาติกันหมด แต่ไหนแต่ไรชาวบ้านจะช่วยเหลือกัน สมมติว่าวันนี้หมู่ 3 จะเข้าไปพัฒนาป่า ชาวบ้านหมู่อื่นก็จะไปช่วยเหลือโดยไม่ต้องบอกเลย ที่เห็นว่าทำไมชาวบ้านสามัคคีกัน ดูรักกัน ก็เพราะว่าทุกคนต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกันแต่ดั้งเดิมอยู่แล้ว ทุกอย่างที่เห็นคือสิ่งที่เราเป็น ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเพราะมีใครเข้ามา” ตา กันต์ระพี กล่าว
ชุมชนผาปังจึงพร้อมรับนักท่องเที่ยวและแทบไม่ต้องปรับเปลี่ยนสิ่งใด เพราะวิถีชีวิตของชาวบ้านล้วนเป็นสิ่งที่คนเมืองสนใจ แม้ว่าจะเป็นสิ่งเรียบง่ายที่สุดก็ตาม
บูชาพระธาตุประจำวันเกิดด้วยสวยดอก
ฐานหนึ่ง สวยดอก
สิ่งแรกที่ผู้มาเยือนควรปฏิบัติคือ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน โดยการเรียนรู้การทำสวยดอกหรือกรวยดอกไม้จากแม่ๆ คนสวยเพื่อนำไปบูชาพระธาตุ 12 ราศี ตามพระธาตุประจำวันเกิด บนเนินทางทิศใต้ของวัดผาปังกลาง
น้องดาด้า เล่าตามประวัติว่า แต่เดิมเนินแห่งนี้เคยชื่อ วัดดอยน้อย มีกำแพงเป็นก้อนหินล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีพื้นที่เดิมประมาณ 50 ตารางวา ล้อมรอบด้วยแมกไม้และอุดมไปด้วยเห็ดต่างๆ แต่ก่อนใช้เป็นที่พักของพระธุดงค์ที่เดินทางมาจาริกแสวงบุญ
ต่อมาได้ถูกทิ้งเป็นวัดร้างทำให้โบสถ์และวิหารที่สร้างด้วยไม้ถูกธรรมชาติกัดกร่อนไปตามกาลเวลา เหลือไว้เพียงกำแพงหิน ปัจจุบันเนินวัดดอยน้อยเป็นที่ตั้งของโครงการก่อสร้างมหาธาตุเจดีย์ 12 ราศี เคียงคู่กับอนุสาวรีย์พระนเรศวรมหาราช สิ่งรำลึกถึงประวัติศาสตร์การเคลื่อนทัพผ่านชุมชนในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยาที่มีการเคลื่อนทัพจากอยุธยาไปเชียงใหม่ เมืองหลวงของอาณาจักรล้านนาในยุคนั้น โดยผ่านเส้นทางลัดดอยแม่ดงเก๊าะผ่านผาปังไปยัง อ.ลี้ จ.ลำพูน
จากนั้นเคลื่อนย้ายไปสักการะพระไม้โบราณ ณ วัดศิริภูมิวนา หรือวัดห่าง อายุกว่า 400 ปี ที่มีเรื่องเล่าอีกเช่นกันว่า มีพระรูปหนึ่งมาสร้างวัดอยู่บริเวณวัดห่างแห่งนี้นาม พระดำ พร้อมพระลูกวัดอีก 6 รูปจำพรรษา ซึ่งวัดทางล้านนาทุกวัดจะมีกลองเพื่อตีเป็นสัญญาณให้ชาวบ้านรู้วันพระ วันโกน แต่ด้วยความมักง่ายที่นำไม้กลวงมาสร้างกลอง ทำให้ชาวบ้านเข้าใจคิดว่า “ขึด” หรือเกิดอาถรรพ์ จนเป็นเหตุให้พระดำและพระลูกวัดมรณภาพพร้อมกันทั้ง 7 รูป เป็นเหตุให้กลายเป็นวัดร้าง
ทว่า ปัจจุบันวัดห่างยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่ทำด้วยไม้ ซึ่งชาวบ้านเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนี้ยังมีประเพณีประจำปีโดยถือเอาวันปากปี 16 เม.ย.ของทุกปี เป็นวันสรงน้ำพระธาตุและสืบชะตาบ้านเมือง ซึ่งเป็นประเพณีใหญ่และสำคัญของชุมชน
ฐานสอง ตุงล้านนา
กระดาษสี กรรไกร และไม้ไผ่เป็นอุปกรณ์ง่ายๆ ในการทำตุงล้านนา โดยมีแม่ๆ พร้อมประจำการภายในวัดห้วยไร่ คอยสอนวิธีทำตุงอย่างใจเย็น ตั้งแต่ขั้นตอนพับ ขึ้นลาย ตัดกระดาษ จนคลี่คลายเป็นตุง ซึ่งชาวบ้านมักทำตุงล้านนาเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและอุทิศให้กับผู้ล่วงลับ โดยเชื่อว่าเมื่อถวายตุง (ทานตุง) จะได้เกาะชายตุงขึ้นสวรรค์
นักท่องเที่ยวจะนำตุงไปไว้ใต้ต้นโพธิ์ใหญ่อายุหลายร้อยปี และในวันที่ 15 เม.ย.ของทุกปี ชาวบ้านจะมาร่วมกันแห่ไม้ค้ำศรี อันเป็นประเพณีที่ฟื้นฟูให้กลับมาใหม่ หลังจากถูกละเลยไปเพราะคนเข้าใจว่าการตัดไม้ค้ำศรีเป็นการตัดไม้ทำลายป่า ปัจจุบันจึงมีการตกลงกันให้นำไม้ค้ำศรีของแต่ละหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 ต้น มาร่วมกันแห่รักษาประเพณีไว้และเพื่อความเป็นสิริมงคล
ฐานสาม สวนเกษตรพอเพียง นักท่องเที่ยวโบกตุงล้านนากลางนาข้าว
ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ภาพตรงหน้าเป็นอย่างนั้นไม่ผิดเพี้ยนที่ สวนเกษตรพอเพียง (โต้งครูอาวรณ์) ศูนย์กลางด้านการเกษตรของชุมชน ซึ่งเป็นสวนแห่งแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตแบบพอเพียง โดยได้น้อมนำหลักเกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับใช้ในพื้นที่
คุณลุงเจ้าของสวน เล่าว่า สวนแห่งนี้ทำเกษตรอินทรีย์ ปลูกนาข้าวอินทรีย์ เลี้ยงไก่ เป็ด ปลา และวัวแบบอินทรีย์ โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ทำเอง หลักๆ จะเน้นปลูกเพื่อกินเอง หากเหลือก็แบ่งขายหรือแบ่งปันกันในชุมชน
“เราอยู่เขตเงาฝน” คุณลุงกล่าว
“เพราะ ต.ผาปังอยู่ในหุบเขาและถูกล้อมรอบด้วยภูเขาสูง ดังนั้นลมจะพัดเมฆฝนให้ไปตกที่อื่น รวมถึงหอบความชุ่มชื้นไปด้วย”
ชาวผาปังจึงเริ่มดำนาช้ากว่าที่อื่น อย่างปีนี้เริ่มลงแขกเมื่อเดือน ส.ค. เข้า ก.ย. โดยแต่ละปีจะไม่มีช่วงดำนาที่แน่นอน ถ้าฝนมาเร็วก็ดำนาเร็ว หรือถ้าฝนไม่มานาก็ร้าง (เหมือน 3 ปีที่ผ่านมา)
ดังนั้น ส่วนใหญ่ชาวบ้านจึงทำนาเพื่อเก็บข้าวไว้กินเอง เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าปีหน้าจะมีข้าวให้เก็บหรือไม่?
ฐานสี่ ป่าไผ่ ป่าไผ่ชางที่รอวันเติบโตเป็นอุโมงค์
ความน่าทึ่งของพื้นที่ในเขตเงาฝน คือความเขียวชอุ่มเหมือนป่าฝน เพราะชาวบ้านไม่ตัดไม้ทำให้ป่าอุ้มน้ำทำดินชุ่มชื้นแม้ไม่มีฝน รวมถึงยังใช้ภูมิปัญญา ปลูกไผ่ พืชกินน้ำน้อยแต่อุ้มน้ำมาก ให้ออกซิเจนมากกว่าพืชทุกชนิดร้อยละ 35 และมีประโยชน์ครบปัจจัย 4 บวกปัจจัยที่ 5 คือ สามารถนำไปแปรรูปทำเป็นถ่านให้พลังงานทดแทน
โดยชาวบ้านได้จัดตั้งวิสาหกิจชุมชนไผ่ แจกพันธุ์ไผ่ให้ชาวบ้านนำไปปลูกไว้ที่หัวไร่ปลายนา จากนั้นเมื่อได้อายุ 2 ปีกว่า ก็ได้ตัดขายให้บริษัท (ชาวบ้านได้พัฒนาจากวิสาหกิจสู่บริษัทเพื่อจัดจำหน่าย) เพื่อนำมาแปรรูปเป็นตะเกียบ ไม้เสียบลูกชิ้น และถ่าน
“หลักการทำงานของเราจะเริ่มจากการวิจัยและพัฒนาก่อน ดูว่าไผ่ชนิดนี้สามารถไปแปรรูปทำอะไรได้บ้าง หากทดลองใช้แล้วมีประสิทธิภาพจึงค่อยเชื่อมโยงตลาด และเมื่อมีตลาดรองรับก็จะกลับมาวางแผนการผลิต มาบอกชาวบ้านให้ปลูกเพราะเราไม่อยากให้ชุมชนไปเสี่ยง อย่างถ่านจากไม้ไผ่เราก็พัฒนาจดเป็นบริษัท รับซื้อไผ่จากชาวบ้าน สร้างโรงงานผลิตถ่าน และขายสินค้าตามออร์เดอร์” ตา กันต์ระพี กล่าวเพิ่มเติม
ในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้า ป่าไผ่ที่ทั้งตำบลร่วมกันปลูกจะกลายเป็นอุโมงค์ไผ่ขนาดใหญ่แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งนอกจากประโยชน์จากไผ่ มันจะเป็นตัวดึงดูดให้คนทั้งประเทศรู้จักผาปังผ่านความสวยงามและความอลังการตามธรรมชาติ
ฐานสุดท้าย ออกกำลัง
ในทุกเย็นชาวบ้านจะมารวมตัวกันที่วัดผาปังกลางเพื่อออกกำลังกาย แน่นอนว่าสมาชิกหน้าใหม่ในฐานะนักท่องเที่ยวก็สามารถเข้าร่วมได้ โดยเสียงเพลงภาษาเหนือจะถูกเปิดเป็นตัวกำกับจังหวะร่างกายไปพร้อมกับแม่ๆ ที่เริ่มขยับจากช้าไปถึงเร็ว
บรรยากาศเป็นกันเองนับเป็นการปิดท้ายกิจกรรมท่องเที่ยวที่น่ารักที่สุด ซึ่งในเวลานั้นเหมือนกับว่าคนแปลกหน้าได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนโดยสมบูรณ์ เหมือนคนต่างถิ่นได้กลับบ้าน และเหมือนเป็นลูกหลานของพ่อแม่ทุกคน
ถ้าถามย้ำว่า จุดเด่นของผาปังคืออะไร ก็คงไม่ตอบว่าธรรมชาติที่มองปุ๊บแล้วรู้ปั๊บถึงความสวยงาม แต่ยังยืนยันว่าเป็น พ่อๆ แม่ๆ หรือชาวบ้านที่มองไปกี่ครั้งก็เห็นแต่รอยยิ้มพิมพ์ใจและรู้สึกได้ถึงความจริงใจซึ่งเป็นที่มาของความสุขทั้งมวล
...........ใต้ภาพ...........
00 รูปเปิด รอยยิ้มจริงใจจากพ่อและแม่บ้านผาปัง
01 จุดชมวิวทุ่งนาที่สวยที่สุดของหมู่บ้าน
02 ป่าไผ่ซางที่รอวันเติบโตเป็นอุโมงค์
03 นักท่องเที่ยวโบกตุงล้านนากลางนาข้าว
04 บูชาพระธาตุประจำวันเกิดด้วยสวยดอก
05 เครื่องแต่งกายสุดฮิปสเตอร์ของคุณลุงชาวสวน
06 รถอีแต๋นบรรทุกนักท่องเที่ยวสู่ป่าไผ่
07 นักท่องเที่ยวและชาวบ้านร่วมกันออกกำลังกายตอนเย็นภายในวัด
08 ร่วมประดิษฐ์ตุงล้านนากับแม่ๆ ในหมู่บ้าน
09 ประสานมือทำสวยดอกบูชาพระธาตุ
10 ฝายไม้ไผ่โดยภูมิปัญญาของชาวบ้าน
11 ปราชญ์ชาวบ้านสอนวิธีดำนา
12 คุณป้านั่งขายผลิตภัณฑ์จากใบตาล ของฝากจากผาปัง
13 การชำกิ่งไผ่ซาง
14 วิวท้องนาและภูเขายามเช้าจากบ้านเคียงดอย
15 อุโบสถวัดห่างที่ประดิษฐานพระไม้โบราณ
16 ความสุขในสวนเกษตรอินทรีย์