เทพเจ้าไร้รูปรอย
ในเทพปกรณัมนอร์ส ซึ่งแพร่หลายในยุโรปเหนือและแถบสแกนดิเนเวียมาตั้งแต่โบราณกาล “ธอร์”
โดย เพรงเทพ
ในเทพปกรณัมนอร์ส ซึ่งแพร่หลายในยุโรปเหนือและแถบสแกนดิเนเวียมาตั้งแต่โบราณกาล “ธอร์” เป็นเทพถือค้อนซึ่งเกี่ยวข้องกับสายฟ้า ฟ้าร้อง พายุ ต้นโอ๊ก พละกำลัง ดูแลปกป้องมนุษยชาติ มีความศักดิ์สิทธิ์ช่วยรักษาและความอุดมสมบูรณ์
ธอร์ จึงถูกนับให้เป็น “เทพแห่งสายฟ้า” ชื่อของธอร์คือที่มาของวันพฤหัสบดี (Thursday) ตลอดจนยังเป็นที่มาของคำว่า “ฟ้าร้อง” หรือ “ฟ้าผ่า” ในภาษาอังกฤษ (Thunder) อีกด้วย เป็นเทพที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างสำคัญตลอดประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกของชาวเยอรมัน ไปจนถึงการขยายชนเผ่าในสมัยการโยกย้ายถิ่นฐานได้รับความนิยมอย่างสูงในยุคไวกิ้ง เมื่อย่างเข้าสู่สมัยใหม่ ธอร์ยังได้การยอมรับต่อไปในตำนานพื้นบ้านชนบททั่วภูมิภาคเยอรมนี
ส่วนแร็กนาร็อก (Ragnarok) แปลว่า “อวสานของจักรวาล” ในเทพปกรณัมของชาวนอร์ส
การที่มาร์เวลได้ผลิตหนังในสกุลซูเปอร์ฮีโร่เพื่อเป็นความบันเทิงแบบฮอลลีวู้ด หยิบเอาตัวละครที่เป็นตำนานเทพเจ้าหรือเทพปกรณัมนอร์สมารื้อสร้างแบบคอมิกหรือการ์ตูนแล้วแปลงแผลงมาสู่หนัง ซึ่งเดินทางมาภาคที่ 3 ของ ธอร์ เทพเจ้าสายฟ้า ในภาคนี้ ธอร์ รับบทโดย คริส เฮมส์เวิร์ธ
หากย้อนกลับในปี 2011 “Thor” ภาคแรกเป็นผลงานการกำกับการแสดงของ เคนเนต บรานาห์ ซึ่งเดินตามขนบหนังแฟนตาซีแบบจริงจังของลิเกฝรั่ง หลังจากนั้นในภาคต่อ “Thor: The Dark World (2013) เป็นผลงานของ อลัน เทย์เลอร์ ก็มีโทนหนังที่แตกต่างออกไปอย่างเห็นได้ชัด
สำหรับภาคนี้เป็นผลงานการกำกับการแสดงของ ไทกา ไวติติ ที่ขยับตีความรื้อสร้างเปลี่ยนโหมดความบันเทิงในแง่มุมของคอมเมดี้ หรือตลกผ่านคำสนทนาของตัวละครที่มีลูกเล่นทิ้งทวนปล่อยมุขแบบหน้าตายจริงจัง มีการแทรกไว้ตั้งแต่ตั้งต้นจนจบเรื่อง นับเป็นความกล้าหาญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งโดยภาพรวมแล้วถือว่าทำได้ดี และอดประหวัดไปถึงจังหวะอย่างนี้น่าจะคล้ายกับหนังแอ็กชั่น-แฟนตาซีแบบฮ่องกงที่คนไทยคุ้นเคย
การตีความของหนังเรื่องนี้ที่ใช้คำว่า แร็กนาร็อก หรือศึกสุดท้าย ซึ่งเส้นเรื่องหรือโครงเรื่องตามเทพปรกณัมนอร์สยังเป็นหัวใจหลัก มีเพียงการดัดแปลงตัวร้ายสุดคือ เฮลา หรือเทพีแห่งความตาย ผู้บ้าคลั่งเลือดและสงคราม มาเป็นพี่สาวคนโตที่ถูกจองจำและลบประวัติศาสตร์จากทวยเทพของธอร์
เฮลา ผู้แสนชั่วร้ายได้หมายจะยึดครองดินแดนแห่งเทพเจ้าแอสการ์ด จนได้เข้าสู่ศึกการตัดสินเพื่อชี้ชะตาการอยู่รอด โดยคำว่า แร็กนาร็อก ตามปกรณัมนอร์สได้กล่าวถึงชะตากรรมของเหล่าทวยเทพ ที่สงครามใหญ่ระหว่างเหล่าทวยเทพได้สร้างความเสียหายทำให้
แอสการ์ดสูญสลายไป
ความน่าสนใจและความสนุกของตัวหนังคือการเดินเรื่องที่ฉับไว จังหวะจะโคนส่ง-รับในแต่ละฉากของตัวละครและสถานที่สนุกและไม่เยิ่นเย้อ แม้ตัวละครจะพยายามปล่อยมุขตลกจนดูเกินเลยในบางครั้งก็ตาม แต่ไม่ออกทะเล ความสัมพันธ์ของตัวละครทั้งหมดและที่เติมเข้ามาก็ไม่ได้หลุดไปจากตำนาน ซึ่งทำให้เห็นว่าความร่วมสมัยของตำนานธอร์ คือรายละเอียดที่ถูกเสริมเติมแต่งเข้าไปอย่างฉลาดและเข้าใจถึงผู้ชมในยุคปัจจุบัน และไม่สูญเสียบุคลิกแบบมาร์เวลที่ยังเข้มข้นเฉกเช่นเดิม
แน่นอน หากต้องการดราม่าที่ลึกล้ำและคำคมคายที่แทรกปรัชญาอยู่ในตัวเรื่อง หนังยังตอบโจทย์ไม่ได้มากนัก แต่ดูโดยองค์รวมและทุกสิ่งที่ประกอบเข้าด้วยกัน คนทำหนังมีความเข้าใจในการตีความเป็นอย่างสูง และมีความกล้าหาญที่จะรื้อสร้างให้หลุดโลกแต่เคารพแก่นของตำนานเทพแห่งสายฟ้าได้ครบถ้วน