posttoday

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา พันธกิจ ‘บุญ 1 บาท เพื่อล้านชีวิต’

25 พฤศจิกายน 2560

เพราะพลังแห่งการให้คือ พลังแห่งความสุข โรงพยาบาลศิริราช

โดย อณุสรา ทองอุไร ภาพ : นาราวิญจน์ นาราวรนันท์

เพราะพลังแห่งการให้คือ พลังแห่งความสุข โรงพยาบาลศิริราช มีพันธสัญญาตั้งแต่เปิดโรงพยาบาลจนถึงวันนี้ว่าจะเป็นโรงพยาบาลที่จะสืบสานปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สืบสานต่อมาถึงสมเด็จพระราชบิดา จนมาถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้เป็นโรงพยาบาลของแผ่นดิน

นี่จึงเป็นสิ่งที่ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ต้องผลักดันโครงการก่อสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษาเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และยกระดับการให้บริการผู้ป่วยอย่างครบวงจรถวายเป็นพระราชกุศล โครงการก่อสร้างจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ เดือน พ.ค. 2562 แต่ปีหน้าเดือน ส.ค.จะมีการเปิดใช้พื้นที่ชั้น 1-4 ส่วนหนึ่งก่อน

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา พันธกิจ ‘บุญ 1 บาท เพื่อล้านชีวิต’

เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา ทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จึงจัดสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา โดยจะก่อสร้างอาคารสูง 25 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 7 หมื่นตารางเมตร ขนาด 376 เตียง เป็นห้องไอซียู 62 เตียง มีศูนย์บริการคนไข้ทั้งหมด 14 ศูนย์ รองรับผู้ป่วยนอก 3 แสนราย/ปี ผู้ป่วยใน 2 หมื่นราย/ปี ซึ่งจะลดความหนาแน่นของผู้ป่วยนอกจากตึกผู้ป่วยนอกเดิมได้ถึง 8 หมื่นคน

โดยตึกเดิมก็ยังใช้รับผู้ป่วยนอกอยู่เช่นเดิม และตึกใหม่นี้จะไม่มีห้องพิเศษจะเป็นห้องผู้ป่วยรวมเพื่อให้ดูแลผู้ป่วยยากไร้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น และได้รับบริการที่เท่าเทียมมีมาตรฐานไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย

'สุขถาวร' คือสุขใจ สุขที่ให้โดยไม่หวังผลตอบแทน

 อาจารย์หมอเล่าว่า ที่ผ่านมาทางคณะแพทยศาสตร์ต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐเพียง 20% ซึ่งไม่เพียงพอทางคณะต้องจัดหาเอง ตอนนี้ในส่วนอาคารมีงบประมาณเพียงพอแล้ว ที่ขาดคืองบประมาณในการซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ อีกจำนวนหนึ่ง จึงคิดโครงการ "บุญ 1 บาท เพื่อล้านชีวิต" ชวนคนไทยบริจาคคนละ 1 บาท โดยรวมกับห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อหลายแห่ง

"เวลาไปซื้อของ เช่น 99 หรือ 199 มีเงินเศษเหลือ 1 บาทหรือมากกว่านั้น ถ้าอยากทำบุญก็บอกว่ามอบให้กับศิริราชแคชเชียร์จะบันทึกเงินทอนให้กับโครงการได้เลย

อาคารนี้สร้างถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เราอยากชวนคนไทยทุกคนมีส่วนร่วม ไม่จำเป็นต้องใช้เงินเยอะ แค่ 1 บาทก็ได้ช่วยชีวิตคนอื่น ถ้ามีมากกว่านั้นก็ได้ เงินทุกบาททุกสตางค์อยู่ในกองทุนศิริราชเพื่อซื้ออุปกรณ์การแพทย์ ถ้ามีเหลือก็เก็บไว้ช่วยผู้ป่วยยากไร้ด้อยโอกาส สุขถาวร คือ สุขใจ สุขที่ให้โดยไม่หวังผลตอบแทนนั่นเอง และอยากเชิญชวนให้ทุกๆ คนได้มีส่วนร่วมในการสร้างอาคารหลังนี้ เพราะโรงพยาบาลศิริราชเป็นโรงพยาบาลของแผ่นดิน"

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา พันธกิจ ‘บุญ 1 บาท เพื่อล้านชีวิต’

นอกจากนี้ ทางศิริราชตั้งใจที่จะสร้างโปรแกรมจำลองคอมพิวเตอร์และจำลองโครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาไว้ที่ตึกนี้ รวมทั้งยังมีศิลปินหลายท่านที่ตั้งใจวาดภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ หล่อ ปั้น ประติมากรรมรูปเหมือนของพระองค์ท่านเพื่อมาประดิษฐานไว้ที่ตึกนี้อีกด้วย

“เราอยากให้คนทุกคนที่เข้ามาที่อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา ได้เห็นผลงานของพระองค์ท่านและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณคำสอนต่างๆ ของพระองค์ท่านตลอดไป การตกแต่งภายในที่เกี่ยวเนื่องถึงพระองค์ท่านในเรื่องงานด้านต่างๆ นั้น มี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นที่ปรึกษา” อาจารย์หมอชี้แจงในรายละเอียด

ถ้าทำดีแล้วอย่าท้อจงทำต่อไป

ด้านหลักปรัชญาในการทำงาน อาจารย์หมอเล่าว่า จะยิ้มไว้เสมอเมื่อเหนื่อยหรือมีปัญหาในการทำงาน จงยิ้มสู้เข้าไว้ คนไข้อยากเห็นรอยยิ้มของเรา

 “ผมเป็นคนเดียวของบ้านที่จบแพทย์ ตอนเรียนจบใหม่ๆ แม่สอนว่าเวลาแม่ไปหาหมอ แล้วเจอหมอที่ใจดียิ้มแย้มแจ่มใส ได้เจอพยาบาลที่ไม่หงุดหงิดกับคนไข้ จะเป็นวันที่แม่มีความสุขมาก เป็นวันที่ไปหาหมอแล้วจะสบายใจที่สุด แม่อยากให้ลูกเป็นหมอที่ใจดียิ้มแย้มกับคนไข้ ไม่ว่าลูกจะเหนื่อยสักแค่ไหนก็ขอให้ลูกยิ้มกับคนไข้ มีเมตตากับคนไข้นะ

 คำพูดของแม่นี้อยู่ในใจผมตลอดมา เวลาสอนนักศึกษาแพทย์ผมจะเล่าเรื่องนี้ให้พวกเขาฟังเสมอ ไม่ว่าเหนื่อยแค่ไหนเวลาตรวจคนไข้ก็พยายามยิ้มเข้าไว้ คนไข้เขาทุกข์กายแล้วก็ขอให้เขาสบายใจกันเถอะ” อาจารย์หมอเล่าด้วยรอยยิ้ม   

 พอทำงานผ่านไป 20 กว่าปี ได้มีโอกาสถวายงานในหลวงรัชกาลที่ 9 อาจารย์หมอก็ได้น้อมรับคำสอน ได้เห็นพระจริยวัตรในการทำงานของพระองค์ท่าน ก็จดจำใส่เกล้าใส่กระหม่อมนำไปเป็นหลักในการทำงาน ตอนที่มาเป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์ใหม่ๆ มีหลายครั้งได้ไปเข้าเฝ้าฯ พระองค์ท่านที่พระราชวังไกลกังวล

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา พันธกิจ ‘บุญ 1 บาท เพื่อล้านชีวิต’

"พระองค์ท่านจะทรงมีเมตตาถามเรื่องงานที่ศิริราชว่าเป็นอย่างไร เพราะเพิ่งมาเป็นคณบดีใหม่ๆ เราก็ทูลตอบพระองค์ท่านมีปัญหาอะไร อย่างไร พระองค์ท่านจะฟังเงียบๆ แล้วทรงแย้มพระสรวลตรัสว่า ทำดีแล้วทำต่อไปอย่าท้อ พระองค์ท่านตรัสสั้นๆ เป็นการให้กำลังใจ

หลังจากนั้น เราคิดแล้วบอกตัวเองว่าอย่าบ่น งานทุกงานมีปัญหาทั้งนั้น ตั้งใจทำต่อไป ดูพระองค์ท่านเป็นตัวอย่าง พระองค์ท่านทำ 4,600 โครงการ คิด หาข้อมูล ลงมือทำ ปรับปรุงพัฒนา พระองค์ไม่เคยย่อท้อ แล้วไม่ได้นั่งฟังใครมารายงานนะ แต่พระองค์ลงไปดูให้เห็นด้วยองค์เอง เริ่มด้วยพระองค์เอง แล้วจึงให้หลายหน่วยงานมาช่วยประสานงานกัน ตรวจสอบ ปรับปรุง นำการทำงานของพระองค์มาเป็นครูในการทำงานของเรา พระองค์จะทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ไม่ตรัสอะไรมาก พระองค์ทำมากกว่าพูด ได้ถวายงานพระองค์ท่านมา 17 ปี ได้เรียนรู้สิ่งที่พระองค์ทำให้เห็นเป็นบุญของชีวิตอย่างหาที่สุดไม่ได้”

อยากให้อาคารนี้เสร็จสมบูรณ์ก่อนเกษียณ

 อาจารย์หมอกล่าวต่อไปว่า เวลาที่คิดถึงพระองค์ท่าน อย่าแค่คิดถึงอย่างเดียว แต่ให้นำคำสอนที่พระองค์ท่านเคยสอน เคยปฏิบัติให้เห็น นำมาปรับใช้ได้จริงเพราะเป็นของดีของมีประโยชน์ทั้งสิ้น

 "ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประหยัด พอเพียง ความกตัญญูต่อสมเด็จย่าในฐานะลูกพระองค์ท่านมีความกตัญญูรู้คุณ ในฐานะบิดาพระองค์ท่านทรงมีเมตตาธรรมอ่อนโยน ในแง่การทำงานก็คือ รู้ลึกรู้จริง หาข้อมูลลงมือทำด้วยความอุตสาหะ ด้วยความเพียร ทรงริเริ่มทำเรื่องใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและทรงทำอย่างต่อเนื่อง จากที่ได้ถวายงานพระองค์ท่าน ประเมินได้ว่า มี 5 เรื่องที่พระองค์ทรงทำมาโดยตลอดคือ 5 ส. สุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การศึกษา 5 เรื่องนี้มีความเกี่ยวเนื่องกัน และพระองค์ทำครบทั้งหมดและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนชั้นกลางของประเทศเป็นอย่างมาก

 ตอนนี้ชีวิตผมโดยส่วนตัวไม่ต้องการอะไรมากไปกว่านี้แล้ว ลูกสาวเรียนอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ปี 4 แล้ว ลูกชายเรียนรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภรรยาก็เป็นคุณหมอ ครอบครัวเราพอเพียงสายกลาง ที่ห่วงก็คือ อยากจะทำภารกิจ 1 บาท เพื่อล้านชีวิตให้ จบเพื่อหาเงินมาซื้ออุปกรณ์การแพทย์ของอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา ให้เสร็จก่อนเกษียณภายในปี 2562 ชื่ออาคารพระองค์ก็ประทานมาให้เป็นตึกสุดท้ายที่พระองค์ตั้งให้ นี่เป็นเรื่องที่อยากทำให้เสร็จ ห่วงที่สุด” อาจารย์หมอกล่าวอย่างตั้งใจ

ฝึกร่างกายให้พร้อมเพื่อถวายงานพระราชพิธี

ส่วนเรื่องที่สุดในชีวิตที่ไม่อาจลืมได้อีกเรื่องหนึ่ง ก็คือ การที่อาจารย์หมอได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวงรัชกาลที่ 10 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าพนักงานภูษามาลา ประคองพระบรมโกศในขบวนพิธีนั้น เป็นเรื่องสูงสุดในชีวิตที่มิอาจลืมได้และมิอาจนำมาเล่าได้ในรายละเอียด

"เป็นความทรงจำที่ติดตรึงไว้ในใจไม่มีวันลืม ซึ่งก็ได้เตรียมพร้อมเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี ทำร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกาย ทดลองนั่งท่าประคองพระบรมโกศตอนดูทีวีตอนค่ำๆ ที่บ้านวันละ 1 ชั่วโมง หลายสัปดาห์เป็นเวลาเกือบ 1 ปี เพื่อเป็นการถวายงานครั้งสุดท้ายแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 "

 สุดท้ายอาจารย์หมอ กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล นอกจากมีพันธกิจด้านการศึกษาเพื่อผลิตบัณฑิตและบุคลากรทางการแพทย์ทุกระดับ ยังส่งเสริมการวิจัยเพื่อสร้างผลงานทางวิชาการ โดยยึดหลักจริยธรรม คุณธรรมทางวิชาชีพ สอดคล้องกับนโยบายด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา พันธกิจ ‘บุญ 1 บาท เพื่อล้านชีวิต’

 รวมทั้งให้บริการทางการแพทย์ที่ทันสมัย มีคุณภาพตามหลักมาตรฐานสากล อีกทั้งเป็นผู้ชี้นำทางสังคม ด้านสุขภาพ ตลอดจนความรับผิดชอบต่อสังคมไทย ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน  

 เงิน 1 บาทของคุณ กำลังจะมีความหมายต่อคนอีกหลายล้านชีวิต ในการสมทบทุนซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา เพื่อผู้ป่วยด้อยโอกาส โรงพยาบาลศิริราช 
 โดยสามารถบริจาคผ่านบาร์โค้ดที่จุดแคชเชียร์ หรือกล่องบริจาคที่จุดบริการลูกค้า Family Mart, Tops Market, Central Food Hall สาขาที่ร่วมโครงการ พลังแห่ง “การให้” พลังแห่ง “ความสุข” #OneBahtForMillion

..........โปรย 1.........

"เวลาที่คิดถึงพระองค์ท่าน อย่าแค่คิดถึงอย่างเดียว แต่ให้นำคำสอนที่พระองค์ท่านเคยสอน เคยปฏิบัติให้เห็น นำมาปรับใช้ได้จริงเพราะเป็นของดี ของมีประโยชน์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประหยัดพอเพียง ความกตัญญูต่อสมเด็จย่าในฐานะลูกพระองค์ท่านมีความกตัญญูรู้คุณ ในฐานะบิดาพระองค์ท่านทรงมีเมตตาธรรมอ่อนโยนกับพสกนิกร ในแง่การทำงานก็คือ รู้ลึกรู้จริง หาข้อมูลลงมือทำด้วยความอุตสาหะ ทรงริเริ่มทำเรื่องใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างต่อเนื่อง"

............โปรย 2...........

"ตอนเรียนจบใหม่ๆ แม่ก็สอนว่าเวลาแม่ไปหาหมอแล้วเจอหมอที่ใจดียิ้มแย้มแจ่มใส เจอพยาบาลที่ไม่หงุดหงิดกับคนไข้ จะเป็นวันที่แม่มีความสุขมากเป็นวันที่ไปหาหมอแล้วจะสบายใจที่สุด แม่อยากให้ลูกเป็นหมอที่ใจดียิ้มแย้มกับคนไข้ไม่ว่าลูกจะเหนื่อยสักแค่ไหน ก็ขอให้ลูกยิ้มกับคนไข้มีเมตตากับคนไข้นะ คำพูดของแม่นี้อยู่ในใจตลอดมา เวลาสอนนักศึกษาแพทย์ก็จะเล่าเรื่องนี้ให้พวกเขาฟังเสมอ ไม่ว่าเหนื่อยแค่ไหนเวลาตรวจคนไข้ก็พยายามยิ้มเข้าไว้ เขาทุกข์กายแล้วก็ขอให้เขาสบายใจ"