posttoday

กลุ่มส่งเสริมเกษตรกรอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

02 ธันวาคม 2560

ข้าวหลากสายพันธุ์เมล็ดสวย และเป็นข้าวที่ปลูกแบบอินทรีย์ คือมีความปลอดภัยแก่ทั้งผู้ปลูกและผู้กิน

โดย...วราภรณ์ ภาพ : กนกพร ดิษฐกระจันทร์

ข้าวหลากสายพันธุ์เมล็ดสวย และเป็นข้าวที่ปลูกแบบอินทรีย์ คือมีความปลอดภัยแก่ทั้งผู้ปลูกและผู้กิน

ภายใต้แบรนด์ลูกแม่โพสพ "ข้าวคืนนา ภูมิปัญญาคืนถิ่น" ของกลุ่มส่งเสริมเกษตรกรอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เกษตรกรกลุ่มนี้มีการปรับเปลี่ยนระบบการทำนา จากนาเคมีมาเป็นนาอินทรีย์ 100% ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องยากสำหรับชาวนาทั่วไป แต่ชาวนากลุ่มนี้ทำได้และใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนเพียง 5 ปี

มีสมาชิกกลุ่ม 30 ครอบครัว โดยมี กนกพร ดิษฐกระจันทร์ รั้งตำแหน่งผู้ประสานงานกลุ่ม เธอเล่าแรงบันดาลใจในการหันมาปลูกข้าวแบบเกษตรอินทรีย์ คือเดิมทีที่ดินของครอบครัวที่ จ.กาญจนบุรี และสุพรรณบุรี

ดั้งเดิมพ่อแม่ของเธอเป็นชาวนาที่ปลูกข้าวแบบไร้สารเคมี แต่เมื่อปี 2527 มีการส่งเสริมให้ปลูกข้าวนาปีเป็นนาปรัง เริ่มมีการใช้ปุ๋ยเคมีเข้ามา โดยพ่อแม่เริ่มปลูกที่สุพรรณบุรีก่อน แต่ที่กาญจนบุรียังปลูกข้าวหอมมะลิกินเอง และไม่ใช้สารเคมี

ปรากฏว่าพ่อแม่ของเธอป่วยด้วยโรคมะเร็งทั้งคู่ ทำให้กนกพรเริ่มตระหนักเรื่อง การปลูกผักและข้าวแบบอินทรีย์ โดยไปศึกษาจากมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี และเริ่มปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวอินทรีย์แบบครบวงจร

“ปี 2549 พ่อป่วยเป็นมะเร็งแล้วก็เสียชีวิต ส่วนแม่ตรวจพบมะเร็งเต้านมเมื่อ 20 ปีที่แล้ว พอพ่อแม่เสียด้วยโรคมะเร็ง ดิฉันพยายามปลูกผักปลูกข้าวอินทรีย์กินกันเอง ไม่ซื้อของข้างนอกกิน ข้าวนาปีที่ปลูกที่ จ.กาญจนบุรีไม่ใช้สารเคมี ปลูกไว้กินเอง

และเริ่มตระหนักมากๆ หลังปีที่พ่อเสีย โดยดิฉันไปฝึกอบรมที่มูลนิธิข้าวขวัญ ที่สุพรรณบุรี อาจารย์สอนเรื่องการทำนาอินทรีย์โดยไม่ทำลายผู้อื่น ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง แต่ใช้จุลินทรีย์ท้องถิ่นที่มีตามธรรมชาติ ช่วยย่อยสลายฟางให้กลายเป็นปุ๋ย ทำให้เราฟื้นดินได้"

กนกพร บอกว่าลองปลูกข้าวแบบเกษตรอินทรีย์ที่สุพรรณบุรีโดยปรับมาปลูกเป็นนาปรัง พันธุ์ข้าวที่ปลูกได้แก่ สุพรรณ 1 หรือข้าว กข.ของกรมการข้าว

"เราหักดิบเอาเมล็ดพันธุ์ข้าวปกติที่เคยกินปุ๋ยกินยาฆ่าแมลงมาปลูกแบบไม่ใช้ปุ๋ยเคมีเลย ทำให้ได้ผลผลิตตกจาก 900 กิโลกรัม/ไร่ เหลือ 550 กิโลกรัม/ไร่ ปลูกเสร็จเราเก็บเมล็ดพันธุ์ อีกแปลงเราปลูกข้าวหอมปทุม 1 เดิมเราขายเข้าโรงสี พอใช้เมล็ดพันธุ์ของเราเอง ทำให้ต้นทุนถูกลงกว่ารุ่นพ่อแม่ที่มีต้นทุนที่สูงกว่าปลูกแบบอินทรีย์

เราจึงเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวดีๆ มาเรื่อยๆ พอปี 2552 เริ่มตระหนักว่าควรขายข้าวอินทรีย์ของเราเอง เพราะข้าวหอมปทุม 1 คนกินอยู่แล้ว และเวลาเอาข้าวอินทรีย์ไปให้โรงสี โรงสีก็เอาข้าวอินทรีย์ของเราไปสีปนกับข้าวปนเปื้อนสารเคมีอยู่ดี"

เมื่อตัดสินใจซื้อเครื่องสีข้าวมาสีข้าวเอง กนกพร ก็เริ่มเอาข้าวหอมปทุม 1 มาสีแล้วแจกให้เพื่อนๆ ลองกินก่อน ถือเป็นการแลกเปลี่ยนกับผลไม้และผลผลิตอื่นๆ ของเกษตรกร

"เช่น กลุ่มเพื่อนๆ เกษตรกรจันทบุรี เราก็มีผลไม้อร่อยๆ กิน สมุทรสงครามเราก็ได้กินดอกเกลือ ซึ่งหากินยากมาก เราเอาไปให้กลุ่มเพื่อนที่แม่กลอง เราก็มีปลาทูกิน พอเพื่อนๆ กินข้าวอร่อยก็กลายเป็นลูกค้าประจำ เมื่อเรามีผลผลิตมากพอที่จะจำหน่าย ถือเป็นเศรษฐกิจพอเพียงตามทฤษฎีของในหลวง รัชกาลที่ 9 เหมือนวิถีชาวบ้านแบบดั้งเดิม ”

จากนั้นเธอได้เริ่มชักชวนสมาชิกในกลุ่มให้หันมาทดลองทำนาอินทรีย์ แปรรูปและวางแผนการตลาดข้าวอินทรีย์ร่วมกัน ปัจจุบันการทำนาอินทรีย์ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจระดับหนึ่ง เนื่องจากสมาชิกในกลุ่มทั้ง 30 ครอบครัวที่เคยทำนาเคมี ได้หันมาทำนาอินทรีย์กันทั้งหมด

โดยปลูกแบบอินทรีย์และแปรรูปขาย 8 สายพันธุ์ คือ ข้าวปทุมเทพ ข้าวหอมสุพรรณแท้ ข้าวหอมมะลิเตี้ย ข้าวหอมนางมล ข้าวหอมนิลต้นเขียว ข้าวหอมสนั่นทุ่งหรือข้าวขาวตาเคลือบ ข้าวเหลืองอ่อน และข้าวหอมมะลิ 105 โดยที่กลุ่มสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวได้เอง ไม่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์มาปลูกทุกปี ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตไปได้มาก

"เราขายข้าวได้เรื่อย ๆ มีลูกค้าประจำตลอด ตั้งแต่ปี 2553 จากเดิมข้าวอินทรีย์ที่เราปลูกได้เดือนละ 300-400 กว่ากิโลกรัม/เดือน ถือว่าไม่เยอะ เพราะเราเก็บไว้กินด้วย ปัจจุบันเพิ่มปริมาณเป็นเดือนละ 700-800 กิโลกรัม/เดือน”

นอกจากข้าวแบบอินทรีย์ ในกลุ่มยังทำข้าวแปรรูป เช่น ข้าวเหนียวดำพันธุ์กล่ำกาดำสามารถแปรรูปนำไปทำขนมปัง มัฟฟิน ข้าวจ้าวนำปลายข้าวไปทำโจ๊กภายใต้แบรนด์เดียวกันทั้งหมด และยังมีผักผลไม้พื้นบ้านปลูกตามฤดูกาล มีสมาชิกกลุ่มราว 30 ครัวเรือน ปลูกข้าวและพืชผักผลไม้ราว 200 ไร่

“หากมีพืชผักเหลือ เราก็ส่งมาจำหน่ายกับผู้ประสานงานกลุ่มคือดิฉัน แล้วดิฉันจะทำการกระจายสินค้าไปตามสถานที่ต่างๆ โดยเราจะมีการตรวจมาตรฐานกลุ่มพีจีเอส มีการรับรองแบบมีส่วนร่วมมีเจ้าหน้าที่เกษตรมาตรวจแปลงร่วมกัน มีอีกกลุ่มคือ ผูกปิ่นโต มาช่วยกันตรวจและช่วยหาเจ้าสาวคือผู้บริโภคด้วย เรามีจำหน่ายตั้งแต่ผักก้านตรง ตำลึง ผักบุ้งจีน คะน้า กวางตุ้ง ขึ้นฉ่าย ต้นหอม ผักชี และอีกมากมาย” กนกพร เล่าอย่างมีความสุข

หากใครสนใจผักและข้าวอินทรีย์ของกลุ่ม สามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่เฟซบุ๊กส่วนตัวของ กนกพร ดิษฐกระจันทร์ จะมีแจ้งไว้หมดว่า กลุ่มจะไปที่ไหนออกบูธที่งานไหน กี่โมง

“นอกจากออกบูธตามสถานที่ต่างๆ แล้วเราส่งสินค้าไปที่ร้านปันสุขที่สุพรรณบุรี และยังมีสินค้าขายในอู่ทอง เราจะบอกสมาชิกแต่ละบ้านว่า ลูกค้าอยากได้อะไร บ้านใครมี ก็ส่งมาที่ดิฉัน แล้วดิฉันจะนำไปส่ง หรือการออกบูธขายที่อยู่ประจำที่กรุงเทพฯ เช่น เอสบีพระราม 3 ออกบูธทุกวันศุกร์ทุกสิ้นเดือน นอกนั้นออกบูธที่ไทยพีบีเอส ลานคนเมือง มีที่รูทการ์เด้นทองหล่อซอย 3 คาราวานอาหารปลอดภัย โรงเรียนทอสีแถวสุขุมวิท หรือ โทร.มาที่เบอร์ผู้ประสานงานกลุ่ม 086-010-7212 ก็ได้ค่ะ”