มลภาวะทางแสง การคุกคามที่เราไม่เคยรู้ตัว
เมืองฟ้ามืดเห็นดาว...กำลังจะเป็นเทรนด์ใหม่ : ดาร์กสกายแคมเปญ
ในงานเสวนา “เมืองฟ้ามืดเห็นดาว...กำลังจะเป็นเทรนด์ใหม่ : ดาร์กสกายแคมเปญ” ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจัดขึ้น ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ ได้พูดถึงรณรงค์ให้คนทั่วโลกใช้ไฟอย่างคุ้มค่า ลดการคุกคามธรรมชาติและวิถีชีวิต ด้วยแสงสว่าง เพราะแสงสว่างยามค่ำคืนส่งผลกระทบมากกว่าที่เราคิด
ทางช้างเผือกที่หายไป
มติพล ตั้งมติธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ ตั้งคำถามสำคัญถึงผลกระทบจากมลภาวะทางแสงขึ้นมาว่า หากถามเด็กรุ่นใหม่ว่ามีใครได้เคยเห็นทางช้างเผือกบ้าง ส่วนใหญ่จะตอบว่าไม่เคยเห็น “มีการศึกษามาว่า ในสหรัฐอเมริกาคนกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ไม่เคยเห็นทางช้างเผือก และคนทั่วโลกจำนวนประมาณ 1 ใน 3 ไม่เคยเห็นทางช้างเผือกเลย
คำถามเดียวกันย้อนกลับไปเมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา ทุกคนจะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าเคยเห็นทางช้างเผือก ซึ่งทางช้างเผือกที่หายไปจากท้องฟ้าของเรานั้น เกิดจากมลภาวะทางแสง (Light Pollution) ในเมืองใหญ่ทุกวันนี้มองไม่เห็นแสงดาวเพราะว่าสังคมเมืองเปลี่ยนไป
มนุษย์สามารถทำให้เกิดแสงสว่างได้ในตอนกลางคืน แต่ข้อเสียก็คือ ทำให้ท้องฟ้าตอนกลางคืนนั้นไม่มืดพอที่จะเห็นแสงดาวที่มีความสว่างน้อย ด้วยแสงจากหลอดไฟไปส่องขึ้นท้องฟ้า แต่หากจะบอกว่าผลกระทบมีแค่มองไม่เห็นแสงดาวนั้นต้องบอกว่า ไม่ใช่
ผลกระทบจากมลภาวะทางแสง มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่อมนุษย์ และสัตว์หลายๆ ชนิด เช่น กบบางสายพันธุ์ที่จะต้องส่งเสียงร้องหาคู่ตอนกลางคืน พอเริ่มมีแสงเมืองเข้ามามาก ก็จะเกิดการสับสนระหว่างกลางวันและกลางคืน เต่าทะเลที่ขึ้นวางไข่ริมชายหาดแล้วมองหาน้ำ เมื่อมีแสงเมืองก็จะเกิดความสับสนได้เช่นกัน
แม้กระทั่งนกอพยพที่บินตอนกลางคืน ต้องใช้ดวงดาวและดวงจันทร์ในการนำทาง เมื่อมีแสงอื่นเข้ามาบดบังก็จะมีผลในเรื่องทิศทาง หรือแม้แต่นกที่อาศัยอยู่ตามต้นไม้ พอมีการตัดถนน มีเสาไฟ แสงไฟจากถนนจะรบกวนเวลานอนของนก ในที่สุดนกก็จะสูญเสียที่อยู่ รวมทั้งสัตว์ที่ออกหากินตอนกลางคืนจะได้รับผลกระทบอย่างมากจากอิทธิพลของแสงเมืองเกิดความสูญเสียระบบนิเวศตรงนี้ไป
นอกจากนี้ ผลกระทบที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลืองในเวลากลางคืน โดยเฉพาะไฟที่เปิดอยู่ข้างนอกอาคาร เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการใช้ไฟนอกอาคารในปัจจุบัน เป็นการส่องสว่างเพื่อความปลอดภัยในบริเวณที่มืด แต่ปัญหาก็คือไฟเหล่านี้ไม่ได้ส่องแค่ลงพื้นดินเท่านั้น ยังมีการกระจายแสงส่วนหนึ่งเล็ดลอดขึ้นไปบนท้องฟ้าทำให้มีมลภาวะทางแสงเกิดขึ้น ซึ่งแสงที่ส่องขึ้นไปบนท้องฟ้านั้นมันไม่ได้มีประโยชน์เกิดขึ้นกับใครใดๆ เลย”
แสงรบกวนชีวิต
ซีเหลิงเจิง ผู้ประสานงานบริการวิชาการนานาชาติ สำนักงานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล ประเทศญี่ปุ่น อธิบายเสริมถึงผลกระทบที่มีต่อมนุษย์อีกว่า ในดวงตาของมนุษย์จะมีเซลล์ประสาทส่วนหนึ่งที่ทำหน้าที่รับรู้ถึงกลางวันและกลางคืน ทำให้มนุษย์มีสิ่งที่เรียกว่านาฬิกาชีวิตอยู่ในตัว ถ้านั่งเครื่องบินข้ามทวีป แล้วนาฬิกาชีวิตปรับตัวไม่ทันจะเกิดอาการเจ็ตแล็ก นาฬิกาชีวิตนี้ส่งผลถึงเรื่องการหลั่งฮอร์โมนที่เรียกว่า เมลาโทนิน ซึ่งจะหลั่งออกมาเฉพาะเวลานอนหลับ มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระจะหลั่งได้ดีเมื่อเราหลับสนิทและอยู่ในที่มืดเท่านั้น
หากว่าเวลากลางคืนนั้นไม่มืดสนิท มีแสงเล็ดลอดเข้ามาในห้อง เช่น แสงไฟจากถนนก็จะทำให้เรานอนไม่หลับ หรือหลับไม่สนิทมีอาการอ่อนเพลีย
นอกจากนี้ยังค้นพบอีกว่า แม้กระทั่งคนตาบอดก็ได้รับผลกระทบจากมลภาวะทางแสง ทำให้นาฬิกาชีวิตเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน เพราะเมลาโทนิน มีหน้าที่ช่วยในการรักษาจังหวะเวลาชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ เช่น วงจรการนอนหลับและการตื่น
หากร่างกายได้รับแสงตลอดเวลา จะทำให้หลั่งฮอร์โมนเมลาโทนินออกมาน้อยเกินไป จนเกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งบางชนิด เพราะมีข้อมูลการศึกษา ที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของระดับเมลาโทนินที่ลดลงกับการเกิดมะเร็งด้วย
ลดแสง บังไฟ ให้ฟ้ามืด
มติพล บอกว่า เรื่องนี้การแก้ไขในมุมมองทางวิทยาศาสตร์ได้ง่ายๆ ก็คือ ถ้าแสงไฟมีมากเกินไปก็ปิดไปหรือลดความสว่างลง “แต่ทางสังคมไม่ง่ายขนาดนั้น เรามีการใช้ไฟฟ้ามานานจนกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ และปัญหาหลักก็คือแสงที่ส่องขึ้นท้องฟ้า ทำให้บดบังการมองเห็นของดาว และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศยามค่ำคืน
ทางแก้แนวทางแรกก็คือ ลดความสว่างของไฟนอกบ้านลง เพียงแค่พอมองเห็น เราอาจจะคิดว่ายิ่งสว่างมากก็ยิ่งดี แต่ความจริงแล้วการที่เราเปิดไฟที่สว่างมากๆ จะทำให้ทัศนวิสัยในการมองในที่มืดของเราแย่ลง เราจะเห็นแค่พื้นที่ที่มีความสว่างมาก แต่ในพื้นที่ที่มีแสงสว่างน้อยแต่ไม่ถึงกับมืด สายตาเราจะมองไม่เห็นเลย แค่มีคนยืนอยู่นอกรัศมีของแสงก็ไม่เห็นแล้ว การลดกำลังวัตต์ของหลอดไฟลงมาก็จะช่วยให้เรามองเห็นโดยรอบได้ดีกว่า
ต่อมาคือการหาโคมไฟที่ช่วยทำให้แสงสว่างส่องลงพื้นดินในจุดที่เราต้องการ ช่วยให้ประหยัดไฟ และลดปริมาณแสงกระจายสู่ท้องฟ้า
สถานการณ์มลภาวะทางแสง เป็นปัญหาที่ทั่วโลกตระหนักมากขึ้น แต่ในประเทศไทยมีการพูดถึงปัญหานี้กันน้อย ทั้งที่ในเวลานี้หาพื้นที่ในประเทศไทยที่ปราศจากแสงเมืองรบกวนการดูดาวนั้นแทบไม่มีอีกแล้ว ต่อให้เข้าไปในเขตป่าอุทยานแห่งชาติ เราก็ยังได้เห็นแสงเมืองรบกวนการดูดาวบริเวณเส้นขอบฟ้าอยู่ดี
ไม่เพียงแค่แสงเมืองเท่านั้นที่สร้างมลภาวะทางแสง ปัจจุบันเราพบว่า การทำเกษตรกรรมที่มีการใช้ไฟฟ้าในเวลากลางคืนก็ส่งผลต่อการเกิดมลภาวะทางแสง เทียบเท่ากับเมืองอีกด้วย ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด ก็คือยอดดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองค่อนข้างไกล เมื่อ 10 ปีที่แล้วยังสามารถมองเห็นดาวต่างๆ ได้อย่างชัดเจน แต่ทุกวันนี้ได้รับผลกระทบจากแสงเมืองที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ที่น่าตกใจไปกว่านั้น ก็คือผลกระทบจากการปลูกดอกเบญจมาศ ที่ต้องปลูกในโดมพลาสติกและต้องเปิดไฟตอนกลางคืน เพื่อหลอกต้นไม้ว่า ยังเป็นเวลากลางวันอยู่ เพื่อให้ก้านดอกนั้นยาวและออกดอกได้มากขึ้น มีผลผลิตที่ดีขึ้น
การเปิดไฟของเกษตรกร ก็คือการเอาหลอดฟลูออเรสเซนต์มาเปิดแบบไม่มีโคมไฟบังแสงขึ้นสู่ด้านบน ล่าสุด จึงมีโครงการปรับเปลี่ยนหลอดไฟให้กับเกษตรกรฟรี โดยทดลองใช้หลอดไฟแอลอีดีที่มีกำลังวัตต์ต่ำกว่า 3 เท่า ติดตั้งให้แสงส่องลงเฉพาะแปลงไม่กระจายแสงขึ้นท้องฟ้า ผลที่ได้ก็คือประสิทธิภาพไม่แตกต่างไปจากหลอดเดิม ผลผลิตดีเหมือนเดิม แต่ประหยัดพลังงานมากกว่า 3 เท่า แถมยังลดปริมาณแสงส่งขึ้นท้องฟ้าได้ราว 80 เปอร์เซ็นต์
อีกโครงการหนึ่งที่เริ่มมีการรณรงค์ทั่วโลกในเวลานี้ ก็คือโครงการอุทยานฟ้ามืด เป็นโครงการที่รณรงค์พื้นที่ฟ้ามืดสำหรับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการดูดาว ตัวอย่างหนึ่งในประเทศไทย คือ ที่ ต.แม่อูคอ อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน สถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง โดยมีนักท่องเที่ยวมาพัก
ค้างคืนกับโฮมสเตย์ที่นี่มากขึ้นๆ สาเหตุก็เพราะที่นี่ฟ้ามืดเหมาะกับการดูดาวอย่างมาก เขาจึงพยายามรักษาฟ้ามืดแบบนี้เอาไว้ เพราะเป็นแหล่งรายได้อย่างหนึ่ง แสดงให้เห็นว่าการรณรงค์ลดมลภาวะทางแสงนี้ ไม่ได้มีผลดีเฉพาะเรื่องการประหยัดพลังงาน รักษาสภาพแวดล้อม แต่ยังช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชนได้อีกด้วย”
มลภาวะทางแสงอาจดูเหมือนไม่ใช่ปัญหาใหญ่เท่ากับปัญหามลภาวะประเภทอื่นๆ แต่ผลกระทบนั้นไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แสงเล็กๆ ที่ลอดผ่านช่องหน้าต่างทำให้เราหลับไม่สนิท แสงสีสวยงามในเมือง ทำให้เราลืมไปว่ายังมีแสงงามของดวงดาวรอให้เราเห็นอยู่
รู้อย่างนี้แล้ว เรามาช่วยกันแก้ไขง่ายๆ เพียงแค่หาที่บังแสงไม่ให้ขึ้นสู่ท้องฟ้า ใช้หลอดไฟให้เหมาะสม ประหยัดพลังงาน ประหยัดเงิน คืนความสวยงามของท้องฟ้ายามราตรี ให้เรายังมีคุณภาพชีวิตที่ดียามนิทราต่อไปในอนาคต