posttoday

กลุ่มชาติพันธุ์ในไทย คนที่ต้องไม่ถูกลืม

22 มกราคม 2561

ประเทศไทยยังมีผู้คนมากหน้าหลายตาอยู่ร่วมกันในสยามประเทศ ถ้าเราเคารพในความเป็นชาติพันธุ์ของกันและกัน ก็จะทำให้เราอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

 

หลังจากสังคมไทยมีความขัดแย้งทำให้ปัญญาชนกลุ่มหนึ่งหนีออกจากเมืองไปอยู่ป่า แล้วพบเข้ากับกลุ่มคนชาติพันธุ์อื่นที่ไม่ได้เรียกตัวเองว่าไทย แต่เป็นกะเลิง ผู้ไท อาข่า มูเซอ อีก้อ เย้า และอีกมากมาย ต่อมามีการอนุญาตให้ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) เปลี่ยนเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ทำให้กลุ่มนักศึกษาหรือปัญญาชนทั้งหลายกลับสู่สังคมเมือง

ด้วยเหตุนี้จึงมีการบอกเล่าความเป็นไปในสังคมว่า “แท้จริงแล้วคนไทยมีความหลากหลาย” ทำให้เกิดการก่อตั้งสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท หรือปัจจุบันคือ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อผลิตนักภาษาศาสตร์ให้ลงพื้นที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมในชนบทของไทย แล้วนำความรู้ที่ได้มาเผยแพร่ให้คนทั่วไปได้ทราบโดยทั่วกันผ่านสื่อที่เรียกว่า “สารานุกรม”

อาจารย์วีระพงศ์ มีสถาน หัวหน้าโครงการสารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย และนักวิจัย (ชำนาญการพิเศษ) สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สารานุกรมเป็นเครื่องมือที่จะส่งเสริมและก่อให้เกิดความภาคภูมิใจร่วมกันของชาวไทย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และความเข้าใจเพื่อนร่วมชาติ อันจะนำไปสู่ความสงบ ผาสุก และความเข้มแข็งของสังคม

 

กลุ่มชาติพันธุ์ในไทย คนที่ต้องไม่ถูกลืม

 

“เราทำสารานุกรมขึ้นมาเพื่อเชิดชูความเป็นมนุษย์ มนุษย์ที่ร่วมอยู่ในสังคมสยาม เพราะเราเห็นว่าสารานุกรมเป็นช่องทางหนึ่งที่จะบอกเล่าความเป็นชาติพันธุ์ในประเทศไทยสู่สังคม โดยเราจะไม่พูดในลักษณะของเรื่องแปลกแต่จริง แต่นำวิชาการว่าด้วยเรื่องของภาษา ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ความเชื่อ วิถีชีวิต แล้วนำมาเรียบเรียงเป็นเล่ม เราเชื่อในความเป็นมนุษย์ว่าถ้าเราให้เครดิตเขา ให้เครดิตความเป็นมนุษย์ที่อยู่ในท้องถิ่น จะทำให้เกิดสังคมที่มีวุฒิภาวะ คือ สังคมที่อยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจ เราไม่จำเป็นต้องเรียกเขาว่าไทยเพื่อให้เขาเป็นคนไทย เพราะอย่างไรเสียพวกเขาก็อยู่บนแผ่นดินสยาม”

ในขณะเดียวกัน ทางสถาบันฯ ยังทำโครงการศึกษาวิจัยเรื่องแผนที่ภาษาในประเทศไทย เพื่อสืบค้นว่าจังหวัด อำเภอ และหมู่บ้านไหนพูดภาษาอะไร เนื่องจากโดยทั่วไปนักภาษาศาสตร์จะเรียกชาติพันธุ์ตามภาษา แต่หากถามว่าในประเทศไทยมีกี่กลุ่มชาติพันธุ์คงไม่สามารถฟันธงได้

ข้อมูลส่วนใหญ่ระบุว่า ประเทศไทยมี 63 ชาติพันธุ์ แต่ในความเห็นของอาจารย์วีระพงศ์ มองว่ามีอยู่ 45-50 ชาติพันธุ์ ซึ่งไม่สามารถกำหนดตัวเลขที่ชัดเจน เพราะยังมีความไม่ชัดเจนในการกำหนดเกณฑ์แบ่งชาติพันธุ์

หัวหน้าโครงการสารานุกรมฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ชาติพันธุ์คือ ความสำนึกในความเป็นตัวตน ต่อให้พูดภาษาได้ชัดหรือต่อให้คลอดออกมาในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน แต่หากไม่มีสำนึกหรือความร่วมมือทางวัฒนธรรมก็ไม่ถือว่าเป็นชาติพันธุ์นั้น

ดังส่วนหนึ่งของคำนำ “สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย : กะเลิง” โดย อาจารย์วีระพงศ์ มีสถาน ตีพิมพ์ในปี 2548 ที่เขียนไว้ว่า การเกิดมีชนชาติหรือเผ่าพันธุ์ผู้คนขึ้นมาในโลก นับได้ว่าเป็นความพิเศษและยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ เพราะมิใช่การเสแสร้งแกล้งให้เกิดขึ้นของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นความสอดคล้องของหมู่กลุ่มผู้คน มีความสืบเนื่องทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการแต่งกาย ภาษา ขนบประเพณี ความคิด ความเชื่อ และที่สำคัญคือ ความรู้สึกร่วมเป็นพวกพ้อง จึงจะนับเนื่องได้ว่าเป็นชาติพันธุ์เดียวกัน ดังนั้น การเสื่อมสูญของชาติพันธุ์ใดๆ นั่นย่อมหมายถึงหลักฐานและพัฒนาการของมนุษยชาติได้กร่อนหายและสูญสิ้นไปด้วย

กลุ่มชาติพันธุ์ในไทย คนที่ต้องไม่ถูกลืม

 

“ประเทศไทยยังมีผู้คนมากหน้าหลายตาอยู่ร่วมกันในสยามประเทศ ถ้าเราเคารพในความเป็นชาติพันธุ์ของกันและกัน ก็จะทำให้เราอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข” อาจารย์วีระพงศ์ กล่าว

สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์จึงจะช่วยเติมเต็มแง่คิดมุมมอง อีกทั้งเป็นเครื่องมือส่งเสริมและก่อให้เกิดความภาคภูมิใจร่วมกันของชาวไทย ซึ่งทำให้ตระหนักถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กลุ่มชาติพันธุ์และสิทธิตามกฎหมาย

ในขณะที่นักภาษาศาสตร์ขะมักเขม้นในการรวบรวมความรู้จากเอกสาร ข้อเขียน หนังสือ และเก็บข้อมูลภาคสนามเพื่อใช้เป็นข้อมูลหลักในการเขียนสารานุกรม ยังมีนักกฎหมายกลุ่มหนึ่งในโครงการ “บางกอกคลินิก” คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงพื้นที่ทับเฒ่าไข่ ต.ปาล์มพัฒนา 

อ.มะนัง จ.สตูล เพื่อถ่ายภาพ บันทึกประวัติ และสำรวจข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเข้าถึงสิทธิต่างๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์มานิ (ซาไก) เพื่อเป็นข้อมูลนำส่งกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย สำหรับใช้ประกอบในกระบวนการรับรองสิทธิในสัญชาติไทย โดยการเกิดตามหลักสืบสายโลหิตของคนมานิดั้งเดิมแห่งเทือกเขาบรรทัด

อาจารย์ศิวนุช สร้อยทอง นักกฎหมายโครงการบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เขียนบทความเรื่อง “กฎหมายเพื่อการพัฒนาสังคมที่เป็นธรรม : สิทธิตามธรรมชาติที่เกี่ยวกับสถานะบุคคลของชนพื้นเมืองดั้งเดิมแห่งคาบสมุทรมลายู-กรณีศึกษาน้องแอ๊ด ศรีมะนัง คนชาติพันธุ์มานิ (ซาไก) แห่งอำเภอละงู จังหวัดสตูล” ในบทความได้เล่าถึงน้องแอ๊ดและครอบครัวเป็นกรณีศึกษาต้นแบบ เพื่อให้สังคมได้ตระหนักถึงปัญหาของ “คนที่ด้อยโอกาสที่สุดกลุ่มหนึ่งในประเทศไทย”

เมื่อกลางเดือน มิ.ย. 2560 อาจารย์ได้จัดทำโครงการสตูลศึกษา 2 ลงพื้นที่หมู่บ้านวังนาใน ต.น้ำผุด อ.ละงู จ.สตูล เพื่อพบกับครอบครัวของ “เฒ่าไข่ ศรีมะนัง” คนชาติพันธุ์มานิ บิดาของน้องแอ๊ด ค้นพบว่า บุตรและหลานของครอบครัวเฒ่าไข่ยังประสบปัญหาความไร้รัฐโดยสิ้นเชิง ทั้งที่เขาเหล่านี้เป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมในคาบสมุทรมลายู และมีเชื้อสายไทยตามชั้นบรรพบุรุษ ตลอดจนปรากฏหลักฐานทางทะเบียนชัดแจ้งว่า เฒ่าไข่ถือบัตรประชาชนไทย

อาจารย์ศิวนุชจึงเลือกเรื่องราวของน้องแอ๊ดเป็นต้นแบบการใช้กฎหมายในการขจัดปัญหาความด้อยโอกาสและอำนวยความเป็นธรรม เพราะหากสามารถจัดการสิทธิตามกฎหมายของน้องแอ๊ดได้ก็จะเป็นเข็มทิศและเครื่องมือในการจัดการสิทธิของคนชาติพันธุ์มานิคนอื่นๆ ซึ่งตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน อันเป็นการสร้างมาตรฐานความเป็นธรรมทางสังคมภายใต้หลักนิติธรรม โดยมิให้ความยุติธรรมปรากฏอยู่เพียงตัวบทกฎหมาย แต่ยังขับเคลื่อนในความเป็นจริง

กลุ่มชาติพันธุ์ในไทย คนที่ต้องไม่ถูกลืม

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา ครอบครัวของนายเฉดและนางแดง ชาวมานิในทับเฒ่าไข่ได้รับการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนและเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน ซึ่งเป็นการรับรองสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักสืบสายโลหิตเป็นที่เรียบร้อย ณ ที่ว่าการอำเภอละงู จ.สตูล ส่งผลให้พวกเขาสามารถเข้าถึงสิทธิตามกฎหมายและสวัสดิการของรัฐในฐานะคนไทยคนหนึ่ง รวมทั้งยังเป็นการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลของคนมานิอย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ การบันทึกและสำรวจกลุ่มชาติพันธุ์มานิยังนำไปสู่การทำ “สารานุกรมเพื่อคนดั้งเดิมที่ยังอยู่ในวิกฤตการณ์แห่งชีวิต” ซึ่งจะขยายวงกว้างไปยังกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมอื่นในประเทศไทยที่มีปัญหาการเข้าถึงสิทธิมนุษยชน

“ตอนนี้ชาวมานิบางกลุ่มไม่อยากอยู่ในป่าร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะในป่าเริ่มไม่มีอาหาร สภาพป่าไม่สมบูรณ์เหมือนแต่ก่อน ทำให้เขาอยากเข้าสู่ความเป็นเมือง แต่พวกเขาแทบไม่ได้เรียนหนังสือ อย่างในทับเฒ่าไข่มีคนรู้หนังสือแค่ 3 คน จาก 51 คน 

ดังนั้นถึงแม้ว่าเขาจะมีสิทธิตามกฎหมายแต่ก็ไม่มีความรู้พอที่จะเข้าถึงสิทธิเหล่านั้น และเขายังไม่มีศักยภาพพอที่จะทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง เหมือนมีความด้อยโอกาสผสมอยู่ในนั้น” อาจารย์ศิวนุช กล่าวต่อ

“สิ่งที่เฒ่าไข่ขอมี 3 เรื่อง อย่างแรกคือ ขอมีบัตรประชาชนเพื่อรับรองสิทธิตามกฎหมาย สอง ขอบ้านที่มีความปลอดภัย เพราะตอนนี้ป่าไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ทับของเฒ่าไข่จึงต้องปักหลัก และสาม ขอการศึกษา อย่างน้อยก็ให้คนในทับอ่านออกเขียนได้และนับเลขเป็น เพื่อป้องกันการเอาเปรียบจากคนเมือง”

นักกฎหมายท่านนี้ยังมองว่า เมื่อกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมได้รับความยุติธรรมและความเป็นธรรมตามกฎหมายจะสร้างแรงกระเพื่อมขนาดใหญ่ 2 ประการ คือ ก่อให้เกิดสันติภาพในประเทศชาติ เพราะการปล่อยให้ใครสักคนยากลำบาก ถูกกดขี่ หรือถูกล่วงละเมิดเป็นเวลานาน อาจเป็นสาเหตุของความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคม และก่อให้เกิดสังคมที่เป็นธรรม เพราะความยุติธรรมที่เกิดแก่มนุษย์ ซึ่งเป็นหน่วยเล็กที่สุดของสังคมเป็นกุญแจที่นำไปสู่ความเป็นธรรมและสันติ หรือที่เรียกว่า สังคมแห่งนิติธรรม (The Rule of Law)

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่อง “กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย” ยังคงต้องดำเนินต่อไปและไม่อาจละทิ้งได้ ทั้งในแง่วิชาการด้านภาษาศาสตร์เพื่อเป็นหลักฐานของมนุษยชาติ และในแง่ของนิติศาสตร์ที่เป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาสิทธิขั้นพื้นฐานเพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรม และ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” อันเป็นจริยธรรมสำคัญเบื้องหลังเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน