posttoday

"ความเหงา" ภัยเงียบต่อเศรษฐกิจ

31 มกราคม 2561

นอกจากความเหงาจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและใจของบุคคลแล้ว ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างคาดไม่ถึงอีกด้วย!

โดย...ผศ.ดร.ทัศนีย์ สติมานนท์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) www.econ.nida.ac.th , [email protected]

ความเหงานับเป็นปัญหาที่สำคัญระดับประเทศ สำคัญจนกระทั่งสหราชอาณาจักรได้ประกาศจัดตั้งกระทรวงความเหงา (Loneliness Ministry)เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีรายงานจาก Jo Cox Commission on Loneliness ว่า ประชากรร้อยละ 13.71 ในสหราชอาณาจักร รู้สึกเหงาตลอดเวลาหรือรู้สึกเหงาบ่อยครั้ง และประชากร 1.2 ล้านคนมีปัญหาความเหงามาเป็นเวลานาน ทั้งนี้ผู้สูงอายุในสหราชอาณาจักรที่มีอายุตั้งแต่ 75 ปี จะอาศัยอยู่เพียงลำพังเป็นส่วนใหญ่ และมีผู้สูงอายุมากถึง 2 แสนคนที่ไม่ได้พูดคุยกับใครนานกว่า 1 เดือน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจมาก เนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์สังคมซึ่งไม่ได้ต้องการเพียงแค่ปัจจัยสี่ที่ใช้ในการดำรงชีวิตเท่านั้น แต่ยังต้องการการพบปะพูดคุยสื่อสารกับมนุษย์ด้วย ... และสถานการณ์ความเหงานี้ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นเนื่องจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยของสหราชอาณาจักร

จากงานวิจัย พบว่า ความเหงาส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น 3.4 เท่า ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น 1.9 เท่า ความเหงายังรบกวนการนอน ทำให้เพิ่มฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความเครียด ทำลายระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ และความเหงายังส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าการเป็นโรคอ้วน และการสูบบุหรี่ 15 มวน/วัน!!!

นอกจากนี้ ความเหงายังส่งผลถึงการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วย ซึ่งผลร้ายของความเหงานี้ช่างสอดคล้องกับสำนวนไทยที่ว่า ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว เป็นอันมาก

นอกจากความเหงาจะส่งผลต่อสุขภาพกายและใจต่อผู้ที่เหงาแล้ว ความเหงายังทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียงบประมาณด้านสาธารณสุขเป็นจำนวนมาก โดยมีการประมาณการว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ความเหงาก่อให้เกิดต้นทุนจำนวน 6,000 ปอนด์/คน และแพทย์ส่วนใหญ่ในสหราชอาณาจักรจะพบคนไข้ที่มาด้วยสาเหตุความเหงาประมาณ 1-5 คน/วัน ซึ่งคนไข้เหล่านี้อาจไม่ได้มีอาการป่วยทางกายแต่อย่างใด หากแต่ต้องการพบปะพูดคุยกับใครสักคน นอกจากนี้ ความเหงายังทำให้เกิดการขาดงาน และลดประสิทธิภาพในการทำงานด้วย

ความเหงาเป็นปัญหาของคนทุกวัย ซึ่งอาจมีสาเหตุแตกต่างกันตามกลุ่มวัย เช่น วัยรุ่นอาจมีความเหงาหรือเก็บตัวอยู่คนเดียวเนื่องจากรู้สึกว่าโดนปฏิเสธจากกลุ่มเพื่อนหรือสังคม หรือรู้สึกว่าไม่สามารถเข้ากับสังคมได้

ในขณะที่ผู้สูงวัยอาจเกิดความเหงาเนื่องจากการสูญเสียคนที่รัก หรือการอยู่ลำพังเพียงคนเดียว ซึ่งทำให้ไม่สามารถปรึกษาปัญหาหรือพูดคุยเรื่องราวต่างๆ ได้ แม้ว่าในปัจจุบันจะช่วยให้มีการพูดคุย และมองเห็นกันผ่านทางเครื่องมือสื่อสาร แต่การพบปะพูดคุยกันต่อหน้ายังคงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับมนุษย์

จากการศึกษาของนักวิจัยจาก London School of Economics พบว่า เงิน 1 ปอนด์ที่ใช้จ่ายเพื่อป้องกันความเหงาจะส่งผลให้ประหยัดต้นทุนทางสาธารณสุขได้ถึง 3 ปอนด์ ส่งผลให้การป้องกันความเหงาเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สูงมากสำหรับรัฐบาล ซึ่งเป็นที่มาของการจัดตั้งกระทรวงใหม่นี้ในสหราชอาณาจักร

อย่างไรก็ตาม ได้มีการดำเนินโครงการเพื่อป้องกันและกำจัดความเหงามาก่อนหน้านี้แล้ว (Campaign to End Loneliness) เช่น การเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุ การกระตุ้นให้ผู้สูงอายุได้ออกไปพบปะผู้คนนอกบ้าน และ Silver Line ซึ่งเป็นการให้บริการพูดคุยกับผู้มีความเหงา โดยมีผู้ใช้บริการประมาณ 1 หมื่นสาย/สัปดาห์ ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้เป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรการกุศล หน่วยงานท้องถิ่น และอาสาสมัครจำนวนมาก

ปัญหาความเหงาไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในสหราชอาณาจักรเท่านั้น ประชากรในประเทศออสเตรเลียร้อยละ 10 รู้สึกเหงาอยู่ตลอดเวลา และร้อยละ 17 รู้สึกเหงาอยู่บ่อยครั้งผู้สูงอายุในญี่ปุ่นเสียชีวิตเพียงลำพังประมาณ 4,000 คน/สัปดาห์ และปัญหาความเหงามักจะเพิ่มขึ้นสำหรับประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัย...

ประเทศไทยซึ่งก้าวสู่สังคมสูงวัยควรตระหนักถึงการเตรียมรับกับปัญหาความเหงาที่อาจเกิดขึ้นหรือได้เกิดขึ้นแล้ว ซึ่ง “การป้องกัน” ปัญหาย่อมให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า “การแก้ไข” ปัญหา... และคำถามที่ท่านอาจจะถามตัวเองและขบคิดต่อไป คือ... ท่านไม่ได้พูดคุยกับใครมาเป็นเวลานานเท่าไรแล้ว? วันนี้ท่านได้พูดคุยกับพ่อแม่ผู้สูงอายุของท่านแล้วหรือยัง? และท่านหรือรัฐบาลควรจัดการกับปัญหาความเหงานี้อย่างไร?

ภาพ เอเอฟพี