posttoday

ไตรกีฬาคืออะไร ใครๆ ถึงชอบเล่น

12 กุมภาพันธ์ 2561

คนที่ออกกำลังกายเช่นการวิ่งมาราธอน ปั่นจักรยาน หรือว่ายน้ำ เมื่อฝึกถึงระดับที่อยู่ตัวสามารถออกกำลังกายได้โดยไม่ได้รู้สึกเหนื่อยล้าเหมือนคนที่เพิ่งหัดเล่น

โดย...กั๊ตจัง ภาพ เอเอฟพี

คนที่ออกกำลังกายเช่นการวิ่งมาราธอน ปั่นจักรยาน หรือว่ายน้ำ เมื่อฝึกถึงระดับที่อยู่ตัวสามารถออกกำลังกายได้โดยไม่ได้รู้สึกเหนื่อยล้าเหมือนคนที่เพิ่งหัดเล่น ต่างก็มองหาเป้าหมายใหม่ที่ท้าทายตัวเองมากขึ้น และกีฬาที่ท้าทายขีดจำกัดของร่างกายมากที่สุดชนิดหนึ่งก็คือการลงแข่งไตรกีฬา (Triathlon) นั่นเอง

การแข่งไตรกีฬา คือการรวมเอาการออกกำลังกายสุดทรหด อย่างวิ่งมาราธอน ปั่นจักรยานทางไกล และว่ายน้ำระยะไกล เข้าไว้ด้วยกัน โดยเริ่มจากว่ายน้ำ เพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัวพร้อมรับกับการปั่นจักรยาน และตามด้วยการวิ่งปิดท้ายรายการ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเรียงไปตามความเบา ไปหาหนัก ถ้าหากเริ่มจากวิ่งมาราธอนแล้วตามด้วยว่ายน้ำ อาจเกิดการช็อกจากความเย็นของน้ำหลังออกกำลังกายอย่างหนักได้

ปัญหาของคนที่จะเข้ามาเล่นไตรกีฬาก็คือ ถนัดเพียง 2 ประเภทเป็นส่วนใหญ่ เช่น คนถนัดวิ่งมาราธอนก็มักจะถนัดว่ายน้ำ แต่ไม่ถนัดปั่นจักรยาน เป็นต้น นั่นเพราะร่างกายเรามีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อไม่เหมือนกัน

คนถนัดวิ่งก็มักจะไม่ถนัดปั่นจักรยานเพราะใช้กล้ามเนื้อคนละส่วน ก็ต้องแก้ด้วยการฝึกซึ่งคุณควรหากลุ่มเพื่อนที่เล่นไตรกีฬา หรือกลุ่มในโซเชียลมีเดีย เพื่อขอคำแนะนำในการฝึก

แม้แต่คนที่เก่งทั้ง 3 ชนิดกีฬาก็ต้องมาเรียนรู้กติกา และเทคนิคในการเล่น เช่น การว่ายน้ำในทะเลสาบที่มีคลื่นแรง จะใช้แรงมากกว่าการว่ายน้ำในสระเป็นเท่าตัว หรือจะเริ่มปั่นอย่างไรหลังจากว่ายน้ำให้ดีที่สุดโดยไม่หมดแรงก่อนการวิ่ง เมื่อรูปแบบการเล่นเปลี่ยนเทคนิคก็ต้องมีการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนใหม่เช่นกัน

การแข่งไตรกีฬานั้นแบ่งได้เป็น 4 ระดับ เริ่มต้นจากระยะสปรินต์ (Sprint) ว่าย 750 เมตร ปั่น 20 กม. และวิ่ง 5 กม. เหมาะสำหรับคนที่เพิ่งลองลงแข่งครั้งแรกเพื่อทดสอบขีดความสามารถของตัวเอง

ต่อมาคือระยะสแตนดาร์ด หรือระยะโอลิมปิก ว่าย 1.5 กม. ปั่น 40 กม. และวิ่ง 10 กม. เป็นระยะมาตรฐานการแข่งขันในระดับสากลของนักกีฬาทั่วโลก แต่ก็ยังมีระยะที่โหดกว่าก็คือระยะลอง คอร์ส (Long Course) ต้องว่าย 1.9 กม. ปั่น 90 กม. และวิ่ง 21.1 กม. เป็นระยะสำหรับนักกีฬาที่ต้องการฝึกฝนอย่างหนักเพื่อลงแข่งชิงชัยในระยะโอลิมปิก หรือเตรียมก้าวไปสู่ระดับคนเหล็กก็คือระดับอัลตร้า ต้องว่ายน้ำ 3.8 กม. ปั่น 180 กม. และวิ่ง 42.2 กม. เปรียบเทียบระยะทางก็คือแข่งวิ่งจากกรุงเทพฯ ไป จ.อุทัยธานี

การซ้อมไตรกีฬานั้นคงหาได้ยากที่จะมีที่ฝึกซ้อมกีฬาทั้ง 3 ประเภทพร้อมๆ กัน ส่วนมากนักกีฬาไตรกีฬาจะเลือกฝึกซ้อมร่างกายให้อยู่ตัวด้วยการออกกำลังกายในฟิตเนส และออกกำลังกายแบบเอาต์ดอร์ หลักในการแบ่งตารางฝึกซ้อมคร่าวๆ ใน 1 เดือนคือ สัปดาห์แรก เล่นกล้ามเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ สลับกับการวิ่ง

สัปดาห์ต่อมา เล่นกล้ามสลับกับการปั่นจักรยาน อีกสัปดาห์คือการเล่นกล้าม สลับกับการว่ายน้ำ และสัปดาห์สุดท้ายเป็นการพักให้ร่างกายได้พักฟื้นเต็มที่ และทุกเดือนจะต้องมีการออกกำลังกายพร้อมๆ กันทั้ง 3 ชนิดต่อเนื่อง 1 ครั้งเพื่อให้รู้ขีดความสามารถของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกายนี้ไม่มีสูตรตายตัวว่าต้องฝึกและทำอย่างไร เพราะร่างกาย ความพร้อมและความสะดวกของแต่ละคนไม่เหมือนกัน จึงต้องมีการปรับตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงสุขภาพเป็นหลัก

ในรอบปีจะมีรายการแข่งขันไตรกีฬาอยู่หลายรายการ ซึ่งนักกีฬาแต่ละคนจะมีรายการใหญ่อยู่ในใจ ระหว่างรอแข่งรายการใหญ่ก็จะลงแข่งในรายการเล็กๆ เป็นการซ้อมไปในตัว และเรียนรู้ประสบการณ์การเอาตัวรอด เช่น การว่ายน้ำฝ่าคลื่นทะเล การเอาตัวรอดจากแมงกะพรุน การหายใจ และการเรียนรู้ร่างกายตัวเองจากการเต้นของหัวใจไม่ให้เกินลิมิตจนเกิดอันตราย

ข้อดีของการเล่นไตรกีฬานั้นแน่นอนว่าจะได้ความแข็งแรงของร่างกายทุกส่วน แต่ที่ได้มากกว่าร่างกายที่แข็งแรงก็คือจิตใจที่แข็งแกร่งในแบบที่ไม่มีกีฬาชนิดอื่นสามารถให้ได้ เป็นกีฬาที่ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินความสามารถของคนเรา เพียงแค่อาศัยการฝึกซ้อมอย่างมีวินัย และเชื่อว่าเราทำได้ฝึกซ้ำจากเกิดความเคยชิน และเพิ่มความหนักขึ้นไปเรื่อยๆ คุณก็จะพบว่าธรรมชาติสร้างร่างกายเราให้แข็งแกร่งกว่าที่คิด