ชมชิโนโปรตุกีส ณ ย่านเก่าเมืองกลาง
นานที 10 ปีหนที่เราจะได้แวะมาเยี่ยมเยือน จ.ภูเก็ต กลับมาอีกครั้งแทบจำเค้าลางของเมืองเดิมแทบไม่ได้เพราะดูเกือบทุกสิ่งพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ
โดย / ภาพ โยธิน อยู่จงดี
นานที 10 ปีหนที่เราจะได้แวะมาเยี่ยมเยือน จ.ภูเก็ต กลับมาอีกครั้งแทบจำเค้าลางของเมืองเดิมแทบไม่ได้เพราะดูเกือบทุกสิ่งพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะย่านเมืองเก่า เช่น ซอยรมณีย์ ซึ่งเชื่อมถนนถลางและถนนดีบุกในเขตเมืองเก่า ภูเก็ต เป็นย่านเมืองเก่าที่ทำให้เรานึกถึงย่านอาคารเก่าในสิงคโปร์และมาเลเซีย
ทุกอาคารที่มีอายุเกินกว่า 100 ปี ได้รับการบูรณะซ่อมแซมตกแต่งและทาสีใหม่อย่างสวยงาม อาคารเก่าเหล่านี้เราพบเห็นได้ทั่วไปตามหัวเมืองใหญ่ในภาคใต้ ดูเหมือนธรรมดาแต่ที่จริงแล้วนี่คือ บันทึกทางประวัติศาสตร์ชั้นดีของ จ.ภูเก็ต ที่ไม่ได้อยู่ในหนังสือ แต่เป็นบันทึกทางสถาปัตยกรรมที่ชื่อ ชิโนโปรตุกีส
อาคารที่ผสมผสานระหว่างจีนและโปรตุเกสได้อย่างลงตัว ซึ่งหาสภาพที่สมบูรณ์ที่สุดต้องที่ ถนนถลาง กระบี่ ดีบุก เยาวราช และซอยรมณีย์ เพราะเป็นย่านที่มีอาคารแบบชิโนโปรตุกีส ตั้งอยู่อย่างหนาแน่น วิธีที่ง่ายที่สุดในการเดินชมคือ การจอดรถเป็นจุดๆ แล้วเดินชม ถ่ายรูป ช่วงเวลาที่ดีที่สุดจะเป็นช่วงเย็น เนื่องจากอากาศไม่ร้อน มีร้านค้า ร้านอาหารหลายร้านในย่านชิโนโปรตุกีส ช่วยเพิ่มสีสันให้ย่านเมืองเก่ามีชีวิตชีวา
ความเป็นมาของอาคารเหล่านี้อาจต้องย้อนความถึงวิถีชีวิตของชาวภูเก็ต หรือชาวถลางตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ในช่วงยุคสมเด็จพระนารายณ์ และพระเพทราชา ที่ชาวต่างชาติ ทั้งจีน ฮอลันดา โปรตุเกส ฝรั่งเศส และอังกฤษ เริ่มเข้ามามีบทบาททางการค้าขายกับไทยเรามากขึ้น
มีชาวจีนเดินทางมาทำการค้าและตั้งรกรากในเมืองถลางและหัวเมืองการค้าใหญ่ทางตอนใต้ของประเทศ ซึ่งในเวลานั้นเมืองถลาง หรือเมืองภูเก็ต ชาวต่างชาติจะเรียกว่า จังซีลอน
ชาวโปรตุเกสได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานและทำการค้าบริเวณเมืองท่ามะละกา และได้นำศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนวิทยาการตะวันตกในเรื่องการสร้างอาคาร แต่สันนิษฐานว่าเอามาแต่เพียงองค์ความรู้ในการสร้างอาคารในลักษณะของการก่อสร้างอาคารที่ใช้ปูนก่อ แต่การตกแต่งประดับอาคาร ลวดลายต่างๆ เปลี่ยนเป็นของจีน โดยช่างชาวจีนในเวลานั้น จึงกลายเป็นที่มาของชื่อสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีส คำว่า ชิโน หมายถึงจีน และโปรตุกีสก็หมายถึงโปรตุเกส นั่นเองและแทบไม่เปลี่ยนแปลงไปแม้จะมีชาติอื่นๆ เข้ามามากขึ้น
จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี หรืออีกชื่อของท่านก็คือ คอซิมบี้ ณ ระนอง ชื่อนี้เป็นชื่อที่มีความสำคัญในหลายๆ อย่างกับเมืองภูเก็ตอย่างมาก ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นสมุหเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลภูเก็ต ในช่วงปี 2444-2456 มีการทำเหมืองแร่ดีบุกเพื่อการส่งออก มีโกดังสินค้าสำหรับการส่งแร่ไปต่างประเทศ และมีผู้คนเข้ามาลงหลักปักฐานอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นมากขึ้น จึงเริ่มมีย่านการค้าและอยู่อาศัย เช่น ซอยรมณีย์ ถนนกระบี่ และพังงานี้ขึ้นมา
จนกระทั่งปี 2537 ทางเทศบาลนครภูเก็ต รวมทั้งหน่วยงานจากภาครัฐและองค์กรเอกชน องค์กรท้องถิ่น ได้กำหนดพัฒนาและอนุรักษ์ย่านเมืองเก่าขึ้นมาให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม โดยคงอาคารอายุมากกว่า 100 ปีนี้เอาไว้ และห้ามก่อสร้าง
สิ่งปลูกสร้างสูงเกินกว่า 12 เมตรขึ้นในบริเวณนี้
จุดเด่นของสถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกีส คือ จีน-โปรตุเกส คือ หน้าต่างวงโค้งเกือกม้า หรือหัวเสาแบบไอโอนิก มีการเว้นช่องทางเดินหน้าบ้าน 5 เมตร มีลวดลายการตกแต่ง ไม่ว่าจะเป็นภาพประติมากรรมนูนต่ำหรือนูนสูงแบบจีน แต่ทำบนอาคารสไตล์โคโลเนียลของโปรตุเกส
สถานที่ที่น่าชมสำหรับในย่านซอยรมณีย์ ก็มีอย่างพิพิธภัณฑ์ไทยหัว ซึ่งเคยเป็นโรงเรียนจีน สร้างขึ้นในปี 2477 ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ แหล่งเรียนรู้ภาษาจีนที่เก่าแก่ที่สุดในภูเก็ต รวมทั้งบันทึกประวัติศาสตร์เมืองไว้อย่างครบถ้วน
ถัดมาเป็นบ้านชินประชา เป็นบ้านเก่าที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วยสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีส ข้าวของเครื่องใช้ในบ้านตั้งแต่ยุคแรกถูกเก็บเป็นอย่างดีแล้วก็ยังมีคนอาศัยอยู่ แต่เปิดให้นักท่องเที่ยวเยี่ยมชมด้านใน
เดินไปที่ถนนพังงา จะเห็นอาคารธนาคารชาร์เตอร์ ซึ่งเป็นธนาคารแรกที่เข้ามาตั้งใน จ.ภูเก็ต ปัจจุบันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์บาบ๋าภูเก็ต
เดินถัดไปที่ถนนดีบุก ถนนเทพกระษัตรี จะมีบ้านหลวงอำนาจนรารักษ์ ผู้ริเริ่มการกินเจใน จ.ภูเก็ต จนกลายเป็นประเพณีกินเจที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งมีบางส่วนได้รับการพ่นสีแนวสตรีทอาร์ทร่วมสมัย ที่ใครเห็นก็ต้องชมและแวะเซลฟี่กันทุกคน
การเดินเที่ยวสถานที่แห่งนี้ เราแนะนำให้เดินเที่ยวชมในช่วงเช้าตั้งแต่ 07.00 - 10.00 น. อากาศกำลังเย็นสบายและจะได้เห็นวิถีชีวิตของผู้คนชาวภูเก็ตกว่าจะเดินครบ เซลฟี่กันเสร็จก็ร่วม 3 ชั่วโมง หากมีเวลาเหลือยังสามารถขอเข้าชมพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ในบริเวณนี้ได้ ออกมาช่วงกลางวันก็ยังมีร้านอาหารอร่อย ทั้งชา กาแฟ ขนมหวาน และอาหารคาว เปิดอยู่เป็นระยะๆ เป็นถนนที่เดินแล้วอิ่มตา อิ่มใจ และอิ่มท้องมาก ปวดขานิดๆ แต่ชาวเซลฟี่ที่ชอบถ่ายกับประตูและกำแพงจะต้องชอบแน่นอน