ระวัง! พิษสุนัขบ้าหน้าร้อน
เข้าช่วงหน้าร้อนมาไม่กี่วัน ก็ได้ยินข่าวโรคพิษสุนัขบ้าระบาด มีผู้เสียชีวิตแล้วถึง 3 คน
เรื่อง บีเซลบับ ภาพ คลังภาพโพสต์ทูเดย์
เข้าช่วงหน้าร้อนมาไม่กี่วัน ก็ได้ยินข่าวโรคพิษสุนัขบ้าระบาด มีผู้เสียชีวิตแล้วถึง 3 คน (ตั้งแต่เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา) กรมปศุสัตว์ประกาศเขตโรคพิษสุนัขบ้า กำหนดเป็นพื้นที่สีแดงที่ต้องเฝ้าระวังแล้ว 13 จังหวัด รวมทั้งประกาศเขตโรคพิษสุนัขบ้าชั่วคราวอีก 31 จังหวัด มาตรการเฝ้าระวังสูงสุด ขณะที่เราๆ ท่านๆ ทุกคนมีหน้าที่ต้องดูแลตัวเองเช่นกัน
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า โรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากเชื้อไวรัสเรบีส์ (Rabies Virus) สัตว์นำโรคได้แก่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์บ้าน เช่น สุนัข แมว กระต่าย กระรอก กระแต หนู ลิง ชะนี แพะ แกะ วัว ควาย ค้างคาว ฯลฯ ทว่าสัตว์นำโรคที่สำคัญที่สุดคือสุนัข เพราะใกล้ชิดกับมนุษย์มากที่สุดนั่นเอง ปัจจุบันไม่มียารักษาโรคพิษสุนัขบ้า ไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์ที่ติดเชื้อนี้ เป็นแล้วเสียชีวิตหมด
คนติดโรคพิษสุนัขบ้าได้ยังไง
1.ถูกสัตว์ที่เป็นโรคกัด เชื้อไวรัสจากน้ำลายของสัตว์ที่เป็นโรคเข้าสู่บาดแผลที่ถูกกัด
2.ถูกสัตว์ที่เป็นโรคเลีย ซึ่งปกติจะไม่ติดโรคจากสัตว์เหล่านั้น ยกเว้นในกรณีที่บริเวณที่ถูกเลียมีบาดแผล รอยถลอก หรือรอยขีดข่วน ในกรณีนี้จะมีโอกาสติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้ รวมทั้งกรณีถูกเลียที่ริมฝีปากหรือนัยน์ตา
ข้อปฏิบัติภายหลังถูกสัตว์กัด
1.ล้างแผลทันทีด้วยน้ำสะอาด ฟอกด้วยสบู่ 2-3 ครั้ง แล้วทาแผลด้วยโพวิดีน (เบตาดีน) หรือแอลกอฮอล์ หรือทิงเจอร์ไอโอดีน แล้วรีบไปปรึกษาแพทย์ทันที
2.ถ้าสุนัขตายให้นำซากมาตรวจ ถ้าหากสุนัขไม่ตายให้ขังไว้ดูอาการ 10 วัน หรือนำไปให้สัตวแพทย์ดูอาการ ขณะเดียวกันให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมทันที ส่วนการรักษาทางสมุนไพรหรือแผนโบราณ ไม่สามารถป้องกันโรคได้ ไม่ต้องรอดูอาการสุนัข เพราะอาจทำให้การรักษาล่าช้าเกินไป
3.กรณีที่ติดตามสัตว์ที่กัดไม่ได้ เช่น เป็นสัตว์ป่า สัตว์จรจัด กัดแล้วหนีไป หรือจำสัตว์ที่กัดไม่ได้ จำเป็นต้องได้รับการรักษาทันที
4.ผู้ที่ต้องการรับการรักษาเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า คือผู้มีบาดแผล ไม่ว่าจะเป็นรอยช้ำเขียว หรือแผลมีเลือดไหล แผลถลอก แผลตื้น แผลลึกหรือไม่แค่ไหนก็ตาม รวมทั้งในรายที่ถูกสุนัขเลียตา ริมฝีปาก และผิวหนังที่มีแผลถลอก
ผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า ส่วนใหญ่ถูกสุนัขหรือแมวกัด ข่วน แล้วไม่ได้ไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันอย่างรวดเร็วและครบถ้วน กลุ่มเด็กเป็นกลุ่มที่ถูกสุนัขกัดมากที่สุด ปัญหาสำคัญเกิดจากยังไม่สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขให้ครอบคลุมทุกตัวได้ กลุ่มเสี่ยงทุกรายถูกกัดและไม่ได้ฉีดวัคซีนหลังถูกกัด
สำหรับอาการของผู้ติดเชื้อ เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจนเกิดอาการโรคพิษสุนัขบ้า ส่วนใหญ่ใช้เวลา 2-8 สัปดาห์ แต่อาจสั้นแค่ 7 วัน หรือยาวเกิน 1 ปี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของบาดแผลและปริมาณเชื้อที่ได้รับ อาการโรคเป็นการอักเสบของสมองและเยื่อสมอง 2-3 วันแรกผู้ป่วยจะปวดเมื่อยตามตัว มีไข้ ชา เจ็บเสียวหรือปวดบริเวณรอยแผลที่ถูกกัด คันอย่างรุนแรงที่แผลและลำตัว
อาการจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือแบบคลุ้มคลั่ง กระวนกระวาย กระสับกระส่าย ไม่ชอบแสงสว่าง ไม่ชอบลม ไม่ชอบเสียงดัง กลืนลำบากแม้ของเหลว ระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติ ประสาทหลอน ชัก หายใจหอบ หมดสติ ส่วนกลุ่มที่สอง คือแบบอัมพาต พบน้อย แขนขาเป็นอัมพาต พูดไม่ชัด น้ำลายฟูมปาก มีอาการกลัวน้ำ กลัวลม เอะอะมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งสองแบบจะเสียชีวิตทุกรายในท้ายที่สุด
โรคพิษสุนัขบ้าสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน โดยนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนเมื่ออายุ 3 เดือนขึ้นไป และฉีดซ้ำทุกปี นอกจากฉีดวัคซีนแก่สัตว์เลี้ยงแล้ว ก็ควรลดความเสี่ยงจากการถูกสุนัขกัดหรือโดนสุนัขทำร้าย มาตรการอย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแยก อย่าหยิบ อย่ายุ่ง (กับหมาแมว) ก็ยังใช้ได้อยู่นะ!