posttoday

Ishikawa น่าไปมาก 13

25 มีนาคม 2561

อีกตัวที่ผมชอบมากคือผนังแม่สีของ Colour activity house ที่สอนเรื่องการประสมสีได้อย่างดีเยี่ยม

อีกตัวที่ผมชอบมากคือผนังแม่สีของ Colour activity house ที่สอนเรื่องการประสมสีได้อย่างดีเยี่ยม  ด้วยการออกแบบพื้นที่โล่งด้านนอก โดยใช้แผ่นอะครีลิกโปร่งแสงย้อมสีมาจัดวางเป็นรูปทรงกระบอกขนาดใหญ่ มีทางเข้าออกหลายช่องทาง โดยให้แต่ละสีวางเหลื่อมกัน ตรงไหนที่ทับซ้อนสีก็จะเปลี่ยนไป เช่น แดงซ้อนน้ำเงินเป็นม่วง น้ำเงินซ้อนเหลืองเป็นเขียว ตามหลักการเป๊ะ ตรงนี้เลยเป็นที่ที่ผู้ปกครองพาเด็กๆ มาวิ่งเล่นกัน ได้ทั้งความรู้และความสนุก ขอย้อนกลับมาพูดถึง Leandro Erlich นิดหนึ่ง คุณลีอานโดรเป็นศิลปินชาวอาร์เจนติเนียนที่สร้างงานศิลปะแนว Conceptual Art มีผลงานเด่นๆ หลายชิ้นและเคยจัดแสดงงานเดี่ยวทั้งในยุโรปและอเมริกามาหลายครั้ง และไม่น่าเชื่อว่าในผลงานกว่า 40 ชิ้นของคุณลีอานโดร เป็นการเปิดตัวครั้งแรกในญี่ปุ่นถึง 30 กว่าชิ้น รวมทั้ง The Swimming Pool ที่เป็นงานถาวรชิ้นเดียวในญี่ปุ่นด้วย ตอนแรกที่เห็นรูปสระว่ายน้ำนี้ในเอกสารการท่องเที่ยว ผมหมายตาไว้ว่าต้องมาให้ได้ พอได้เห็นงานตัวจริงก็อดชื่นชมไม่ได้ เลยอยากเห็นงานของคุณลีอานโดรชิ้นอื่นๆ อีก ซึ่งบังเอิญว่าในสัปดาห์ถัดมาหลังจากจบทริปอิชิกาวะ ผมได้มีโอกาสไป Roppongi Hill และขึ้นไปชมงานที่ Mori Art Museum โดยไม่ได้เช็กก่อน ว่ามีงานแสดงของใคร ปรากฏว่าแจ็กพอตครับ เจองานแสดงผลงานเด่นๆ ของคุณ Leandro เข้าอย่างจัง โดยเฉพาะงานศิลปะชิ้นใหญ่ที่สุดในโลก Seeing and Believing ที่จำลองผนังด้านหน้าของตึกสูง 3 ชั้น มาวางบนพื้น และมีกระจกเงาขนาดเท่ากันตั้งฉากอยู่ ผู้ชมสามารถมีส่วนร่วมในงานศิลปะชิ้นนี้ได้เพียงแค่ไปแอ็กท่าทางต่างๆ บนผนังจำลอง เพื่อให้ภาพสะท้อนขึ้นไปปรากฏที่กระจกแล้วเกิดเป็นงานศิลปะที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ก็ถูกยกมาแสดงที่นี่ด้วยเช่นกัน ใครที่ดูสระว่ายน้ำของคุณลีอานโดรแล้วอยากดูเพิ่มก็ตีตั๋วรถไฟไปโตเกียว แต่งานมีถึงแค่วันที่ 1 เม.ย.นี้เท่านั้น รีบตัดสินใจนะครับ

Ishikawa น่าไปมาก 13

นอกจากงานศิลปะเจ๋งๆ แล้ว ห้องอาหารของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็ยังมีบริการดีๆ ด้วยเช่นกัน เป็นบุฟเฟ่ต์แบบมีอาหารจานหลักให้เลือกด้วย ผนังห้องอาหารเป็นกระจกโปร่งใสมองเห็น Colour activity house อยู่ด้านนอก เรียกว่ากินไปเสพงานศิลป์ไปกันเลยทีเดียว ที่ผมชอบอีกอย่างคือจานใส่อาหารออกแบบเป็นรูปจานผสมสี ยิ่งทำให้อารมณ์ศิลปินมันพรั่งพรู ตักอาหารคำเล็กคำน้อยประดิดประดอยให้เข้ากับจาน ทำตัวประดุจศิลปินบรรจงเลือกสีที่จะใช้เพนต์งาน ไอเดียสุดยอดมากครับ มันทำให้เราสนุกกับการตักอาหารให้ลงตัว และไม่ใช่แค่สนุกแต่รสชาติก็ดีด้วย มองไปรอบๆ ส่วนใหญ่จะเป็นสุภาพสตรี เดาว่าคงเป็นคุณแม่บ้าน ซึ่งพอจะอนุมานได้ว่าร้านไหนที่แม่บ้านชอบไปอย่างน้อยรสชาติต้องใช้ได้ บรรดาแม่บ้านเขามักจะสมาคมกัน ร้านไหนดีไม่ดีก็จะบอกต่อ อย่างที่สองราคาต้องเหมาะสม เรื่องของอร่อยราคาย่อมเยาคุณแม่บ้านเขาช่างสรรหา เพราะฉะนั้นเมื่อรอบตัวมีแต่คุณแม่บ้าน จึงมั่นใจได้ว่ามาเจอของดีราคาถูกแน่นอน อาหารในไลน์บุฟเฟ่ต์ว่าดีแล้ว พอมาเจออาหารจานหลักเป็นเนื้อโนโตะยิ่งตอกย้ำความอร่อย สเต็กเนื้อ 2 ชิ้นกะด้วยสายตาน่าจะราวๆ 120 กรัม กำลังเหมาะสำหรับมื้อเที่ยง ติดใจตั้งแต่วันแรกที่กินในโรงแรม Aenokaze แล้วยังมาต่อ ที่ร้าน Piccoro วันนี้ปิดท้ายที่ร้านของมิวเซียม สรุปอยู่อิชิกาวะ 3 คืน กินเนื้อโนโตะ 3 ครั้ง แต่ก็ยังไม่หายอยาก แปลกมากเพราะระยะหลังกินเนื้อญี่ปุ่นเกรดดีก็มีเลี่ยนบ้าง แต่เนื้อโนโตะนี่ไม่เลี่ยนเลยครับ

Ishikawa น่าไปมาก 13

สถานที่สุดท้ายที่เราแวะไปเยี่ยมเยียนในทริปนี้คือโรงผลิตสาเก Fukumitsuya ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานเกือบ 400 ปี ก็ราวๆ อยุธยาตอนกลางสมัยพระเจ้าปราสาททอง ช่วงนี้ละครเรื่องบุพเพสันนิวาสกำลังโด่งดัง เลยง่ายต่อการเปรียบเทียบ ท่านผู้อ่านลองนึกดูว่า กิจการต่างๆ ของไทยที่เกิดขึ้นในยุคก่อนละครบุพเพสันนิวาสนิดหน่อยและยังคงดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้มีหรือไม่ แต่ที่ญี่ปุ่นนี่เยอะเลยครับ โรงสาเกก็เป็นหนึ่งในประเภทของกิจการที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนานเช่นกัน และการที่จะดำเนินกิจการอย่างยาว นานได้โดยไม่สูญหายไปกับหน้าประวัติศาสตร์ ก็ต้องมีเอกลักษณ์หรือความโดดเด่นที่ทำให้ผู้คนจดจำ มาดูกันว่าโรงสาเกแห่งนี้มีดีอย่างไร จุดเด่นที่สำคัญของ Fukumitsuya ก็คือ การผลิตแบบดั้งเดิมโดยใช้แค่ข้าว โคจิ และน้ำเท่านั้น ซึ่งสาเกที่ผลิตโดยการใช้วัตถุดิบแบบนี้มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Junmai เป็นการทำสาเกโดยก่อปฏิกิริยาให้เกิดแอลกอฮอล์โดยธรรมชาติ แต่ในระยะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ข้าวที่เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตสาเกนั้นขาดแคลนจึงมีการลดสัดส่วนของข้าวและเติมวัตถุดิบอื่นเพิ่ม อีกทั้งลดต้นทุนโดยการเติมแอลกอฮอล์เข้าไปเกิดเป็นสาเกยุคปัจจุบันที่เรียกว่า non-Junmai ซึ่งก็มีรายละเอียดแยกออกไปอีกหลายแขนง ปัจจุบัน Junmai มีสัดส่วนในตลาดสาเกเพียงแค่ร้อยละ 17.2 เท่านั้น ดังนั้นหากท่านอยากจิบสาเกดีๆ ก็ต้องเริ่มจากการเลือก Junmai แล้วตามด้วยเกรดที่เรียกว่า Ginjo และ Daiginjo ซึ่งจะต่างกันตรงขนาดของเมล็ดข้าวที่ใช้ผลิต ปกติเวลาสีข้าวสำหรับการบริโภคจะมีการขัดผิวออกราวๆ 1 ส่วน เหลือเนื้อข้าว 9 ส่วน แต่ถ้าเอามาทำสาเกจะขัดผิว ออกมากขึ้น Ginjo ก็คือการใช้ข้าวที่ขัดผิวออก 4 ส่วน เหลือใช้ 6 ส่วน และถ้าเป็น Daiginjo ก็ขัดออกครึ่งหนึ่งเหลืออีกครึ่งที่เป็นแก่นหรือส่วนที่ดีที่สุดของเมล็ดข้าวเอาไว้ใช้ทำสาเกเท่านั้น เท่ากับว่าวัตถุดิบของ Junmai จะสิ้นเปลืองกว่า non-Junmai ครึ่งหนึ่งหรือเกือบครึ่งหนึ่งนั่นเอง ผมถามว่าแล้วทำไมต้องขัดผิวนอกออกเยอะขนาดนั้น คำตอบคือ ชั้นนอกของเมล็ดข้าวอุดมไปด้วยโปรตีนและ Lipid ซึ่งจะทำให้รสชาติและกลิ่นของสาเกผิดเพี้ยนไป

Ishikawa น่าไปมาก 13

นอกจากข้าวแล้วน้ำก็ยังเป็นวัตถุดิบที่สำคัญอีกอย่าง โรงสาเกดั้งเดิมมักจะใช้น้ำจากธรรมชาติ อย่างของที่นี่เป็นน้ำจากภูเขา Hakusan ที่เกิดจากการละลายตัวของหิมะแล้วซึมลงชั้นผิวดินที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุและสะสมเป็นร้อยปีเรียกน้ำชนิดนี้ว่า Hyakunensui ผู้ก่อตั้งโรงสาเกรุ่นแรกได้ขุดบ่อน้ำที่มีน้ำร้อยปีซึมขึ้นแล้วนำมาใช้ในการผลิตสาเกจนถึงทุกวันนี้ และโดยฝีมือของผู้ชำนาญการแบบดั้งเดิมด้วยวิธีการแบบเดิมๆ จึงทำให้ได้สาเกคุณภาพดีเยี่ยมออกมา ผมโชคดีมากที่มีโอกาสได้เข้าไปชมการผลิตในทุกขั้นตอนจนเกิดความเข้าใจและประทับใจ อันที่จริงก็เคยไปชมโรงสาเกมาหลายแห่งแล้ว แต่ที่นี่ให้ความรู้และประสบการณ์ได้ดีที่สุดเท่าที่เคยไปมาเป็นการปิดทริปเสพศิลป์กินอร่อยอยู่สบายและได้ความรู้ของจังหวัด Ishikawa อย่างสมบูรณ์แบบที่สุดเลยครับ