Japan Origin 1
เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้อ่านท่านหนึ่งโทรศัพท์มาคุยกับผมเรื่องอยากไปเที่ยวตามรอยที่ผมเขียน
เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้อ่านท่านหนึ่งโทรศัพท์มาคุยกับผมเรื่องอยากไปเที่ยวตามรอยที่ผมเขียน พร้อมทั้งสอบถามว่าที่เขียนอยู่นี้มาจากประสบการณ์ตรงหรือเปล่า คำตอบของผมทำให้ผู้อ่านท่านนั้นชื่นชมมาก เพราะเป็นอาชีพที่น่าอิจฉา แต่ผมอยากแอบกระซิบเรียนท่านไว้ตรงนี้ครับว่า อย่าอิจฉาผมเลยครับ ในการเดินทางไปญี่ปุ่นทุกครั้ง มันเป็นงานแทบทั้งสิ้น บางครั้งก็ไปในฐานะผู้นำทัวร์ อันนี้ก็เหนื่อยหน่อยเพราะต้องดูแลลูกค้าตลอดทริปเรียกว่าได้ไปเห็นแต่ไม่ได้เที่ยว หรือบางครั้งมีเจ้าภาพเชิญไปให้สำรวจเส้นทาง อันนี้ได้เที่ยวแถมมีคนดูแลแต่ก็ต้องกลับมาใช้หนี้ด้วยการขายของให้เขา โลกนี้ไม่มีอะไรที่ได้มาฟรีๆ ครับ
นอกจากภารกิจที่ว่ามาแล้ว ผมยังมีอีกหนึ่งโอกาสในสถานะผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่นที่เคยผลิตมาแล้วก็เช่น รายการ Holiday Japan (2010-2012) รายการ Japan X (2012-2013) และรายการ Majide Japan (2014-2017) โดยเฉพาะ 2 รายการหลังเป็นการแนะนำวิธีการเที่ยวญี่ปุ่นด้วยตัวเอง ยิ่งได้รับความนิยมเพราะออกมาในจังหวะที่คนไทยเริ่มไปเที่ยวญี่ปุ่นเองพอดิบพอดี ปัจจุบันสื่อไหนๆ ที่เขียนเรื่องไปญี่ปุ่นต้องมีเรื่องของการเดินทางสอดแทรกไปด้วยทุกครั้ง จนกลายเป็นข้อมูลที่หาง่ายไม่แปลกใหม่อีกต่อไป ผมจึงหยุดการผลิตรายการไประยะหนึ่งเพื่อค้นหาสิ่งที่น่าสนใจในมุมอื่น จนได้แนวคิดผลิตรายการ Japan Origin ขึ้น เพื่อแนะนำสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นตั้งแต่ที่เที่ยว ของกิน สินค้า และผู้คน อันจะทำให้ผู้ชมและนักท่องเที่ยว เที่ยวประเทศญี่ปุ่นได้อย่างลุ่มลึกไม่ฉาบฉวย และเพื่อให้ข้อมูลเหล่านี้ครบถ้วนทั้งภาพเคลื่อนไหวและตัวอักษร ผมจึงขอให้ทีมงานช่วยสรุปสาระสำคัญของรายการในแต่ละตอน และนำมาขัดเกลาก่อนที่จะส่งต้นฉบับให้ทางโพสต์ทูเดย์ตีพิมพ์ อย่างไรก็ดี ผมอยากรักษาสำนวนการเขียนให้มากที่สุดเพื่อให้เกียรติกับน้องบิว ทีมงานที่เดินทางไปจริงกับกองถ่าย ดังนั้น ลีลาการเขียนอาจจะไม่เหมือนเดิม แต่มั่นใจได้ว่าสาระประโยชน์ยังคงเต็มเปี่ยมเหมือนเช่นเคยครับ
เริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่ จุดหมายปลายทางของเราอยู่ที่จังหวัดโคจิ เชื่อเหลือเกินว่าคงไม่เป็นที่คุ้นหูคนไทยสักเท่าไร แม้แต่คนญี่ปุ่นเองก็ยังมีอีกมากที่ไม่เคยไป และอีกจำนวนหนึ่งที่ตอบไม่ได้ในทันทีว่าจังหวัดนี้ตั้งอยู่ส่วนไหนของประเทศ อธิบายคร่าวๆ อย่างนี้ว่าเป็น 1 ใน 4 จังหวัดบนเกาะชิโกกุ ซึ่งเป็นเกาะที่อยู่ค่อนไปทางตอนใต้ตั้งระหว่างเกาะคิวชู ภูมิภาคจูโกกุและคันไซ นาทีแรกที่แตะเมืองนี้สัมผัสได้ถึงบรรยากาศของเมืองที่เงียบสงบ ผู้คนใช้ชีวิตด้วยความเรียบง่ายไม่หวือหวา ตามประสาชีวิตคนต่างจังหวัดที่ไม่มีความเร่งรีบวุ่นวาย ในตอนนั้นตั้งใจไว้ว่าตลอดการเดินทางในทริปนี้จะใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ตามกระแสกันสักหน่อย แต่เมื่อจบการถ่ายทำเรากลับพบว่าจังหวัดเล็กๆ ที่ห่างไกลเมืองใหญ่แห่งนี้ มีเรื่องราวดีๆ และของดีๆ อัดแน่นอยู่ในทุกพื้นที่
อันดับแรกเหมือนกับธรรมเนียมโดยทั่วไปของการเจอเพื่อนใหม่ มาทำความรู้จักกับจังหวัดโคจิกันสักหน่อย จังหวัดโคจิชื่อเดิมถูกเรียกว่า แคว้นโทะสะ มาจนถึงสมัยก่อนปฏิรูปเมจิ จังหวัดโคจิถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ฝั่งตะวันออก ตอนกลาง และฝั่งตะวันตก ทริปของเราเริ่มต้นจากสนามบินโคจิเรียวมะ Kochi Ryoma Airport วิ่งลงมาทางฝั่งตะวันตกของจังหวัด เพื่อจะพบกับของดีอย่างแรกของจังหวัดนี้ เราใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ประมาณชั่วโมงเศษก็ถึงจุดหมายแรกที่ย่านคุเระ เมืองนากะโทสะ ลงจากรถปุ๊บเจอป้ายขนาดใหญ่เขียนว่า Kure Taisho Town Market แปลว่าตลาดเมืองคุเระไทโช ซึ่งมีรูปปลาตัวใหญ่ประดับอยู่บนนั้น
ด้วยความสงสัยว่านั่นคือปลาอะไร ทำไมถึงไปอยู่บนป้ายแต่เพียงตัวเดียว เราจึงตามหาคำตอบโดยการเดินเก็บข้อมูล ตลาดแห่งนี้มีลักษณะเป็นแผงลอยขายของสารพันไม่ว่าจะอาหาร ผักสด ผลไม้ แน่นอนว่าเยอะที่สุดคือ ร้านขายอาหารทะเล ซึ่งเป็นปลาที่จับเองโดยชาวประมงท้องถิ่นราวๆ 11 โมง สังเกตว่าผู้คนในตลาดนั้นคึกคักมากขึ้นเจ้าหน้าที่การท่องเที่ยวได้อธิบายเพิ่มเติมถึงความผูกพันของตลาดกับชาวบ้านให้เราทราบว่าสำหรับชาวเมืองคุเระแล้วนั้นที่นี่เป็นดั่งห้องครัวของเมืองมานานกว่าร้อยปี จึงผูกพันกับชีวิตพวกเขามาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวด จึงไม่แปลกใจเลยที่เราเห็นความสนิทสนมของเหล่าพ่อค้าแม่ค้ากับลูกค้าตลอดระยะทางที่เราเดินชมตลาด
เดินมาจนจะสุดทางเราเจอกับร้านขายของทะเลใหญ่ที่สุด ชื่อร้านทานากะเซนเกียวเทน Tanakasengyoten หน้าร้านมีกระบะน้ำแข็งเรียงรายไปด้วยปลาหลากหลายชนิด แต่ที่สะดุดตาคือปลาที่มีลักษณะเหมือนตัวที่อยู่บนป้ายที่เราตามหา
สอบถามกับคุณทานากะเจ้าของร้านจึงทราบว่ามันคือ ปลาคัทสึโอะ เป็นปลาทูน่าชนิดหนึ่งที่มีแถบสีดำ 4-6 แถบบริเวณสันข้างลำตัว เป็นปลาผิวน้ำคือ มีนิสัยชอบกระโดดโลดเต้นเรี่ยระดับผิวน้ำ จึงได้ชื่อว่า Skipjack Tuna คุณทานากะเล่าต่อว่าแถบย่านคุเระได้ชื่อว่าเมืองแห่งปลาคัทสึโอะมาตั้งแต่ 400 ปีก่อน และยังเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะเมืองแห่งการตกปลาคัทสึโอะที่ยังใช้วิธีตกทีละตัวด้วยเบ็ดเกี่ยว และไม่ได้ตกกินกันเองภายในเมืองหรือจังหวัดเท่านั้น แต่ส่งไปขายทั่วประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย โดยที่โคจิมีสัดส่วนในการจับปลาคัทสึโอะได้มากถึง 1 ใน 4 ของตลาดรวม ทำให้พวกเขามีความเชี่ยวชาญทั้งการตกปลา จำแนกคุณภาพ และประกอบอาหารจากปลาคัทสึโอะ แถมเพิ่มเติมคำตอบอย่างติดตลกว่า เรายังชำนาญการกินปลาคัทสึโอะที่สุดอีกด้วย ถึงขนาดที่ว่าในหนึ่งวันบนโต๊ะอาหารจะต้องมีเมนูจากปลาคัทสึโอะอย่างน้อยหนึ่งมื้อ ปลาคัทสึโอะสำหรับพวกเราคงเป็นเหมือนชีวิตเพราะผูกพันกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เกิดมาเป็นชาวเมืองคุเระยังไงก็ต้องรู้จักคัทสึโอะตั้งแต่เกิดอยู่แล้ว ตลอดการบอกเล่าเรื่องของเจ้าปลาคัทสึโอะจากพ่อค้าท่านนี้ เรารับรู้ได้ถึงความรู้สึกผูกพันและความภาคภูมิใจที่มีต่อเมืองคุเระบ้านเกิดกับปลาคัทสึโอะของดีที่เขาเรียกว่า มันคือชีวิตของคนที่นี่นั่นเอง
ถึงตรงนี้แล้วข้อสงสัยเรื่องเจ้าปลาตัวเดียวที่อยู่บนป้ายหน้าตลาดก็ได้คำตอบอย่างละเอียด และเพื่อให้ข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์คุณทานากะได้นำเมนู คัทสึโอะซาชิมิ ที่เลือกเองแล่เองกับมือมาให้พวกเราได้ชิมรสชาติที่แสนภาคภูมิใจ ระหว่างนั่งรับประทานกันอยู่นั้นคุณทานากะได้บอกกับเราว่า อันที่จริงแล้วเมนูที่สร้างชื่อเสียงที่สุดให้กับปลาคัทสึโอะคือ คัทสึโอะทาทากิ แต่เนื่องจากเมนูนี้มีขั้นตอนสำคัญที่ทำกันในตลาดค่อนข้างยาก เราจึงต้องย้ายกองไปอีกที่หนึ่ง จะเป็นที่ไหน โปรดติดตามต่อได้ในสัปดาห์หน้า