‘ชุดไทย’ ใส่อย่างไร มิให้ร้อน
ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีมรดกทางวัฒนธรรมประจำชาติที่เป็นของตนเองมาเป็นระยะเวลายาวนาน
เรื่อง พริบพันดาว
ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีมรดกทางวัฒนธรรมประจำชาติที่เป็นของตนเองมาเป็นระยะเวลายาวนาน ไม่ว่าจะเป็นศิลปะไทย มารยาทไทย ภาษาไทย อาหารไทย และชุดประจำชาติไทย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีคุณค่า มีความงดงามบ่งบอกถึงเอกลักษณ์แห่งความเป็นไทยที่นำความภาคภูมิใจมาสู่คนในชาติ
จากกระแสของการแต่งกายชุดไทยย้อนยุคในงาน “อุ่นไอรัก คลายความหนาว” มาจนถึงละครโทรทัศน์ “บุพเพสันนิวาส” ที่ทำให้คนไทยลุกขึ้นหันมาแต่งชุดไทยใส่เพื่อถ่ายรูปสวยๆ เอามาอวด หรือแต่งไปเที่ยวยังอุทยานประวัติศาสตร์ต่างๆ โดยเฉพาะอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา มรดกโลก หรือพระนารายณ์ราชนิเวศน์ จ.ลพบุรี เพื่อตามรอยละครดัง
เมื่อเข้าถึงฤดูร้อน การแต่งชุดไทยไม่ให้ร้อนอบอ้าวเหมือนคนรุ่นเก่าก่อนตั้งแต่โบราณนานมา เขาทำกันอย่างไร?
คนแห่เห่อใส่ ตลาดชุดไทยบูม
เมื่อมาสำรวจตลาดชุดไทย ซึ่งปกติธรรมดาจะขายหรือให้เช่าในช่วงเวลาแต่งงานหรืองานพิธีกรรมต่างๆ รวมถึงเวลามีกิจกรรมกับทางโรงเรียนหรือหน่วยงานราชการ แต่จากกระแสการแต่งกายชุดไทยในโซเชียลเน็ตเวิร์กบูมตามละครดัง ได้กระตุ้นยอดจำหน่ายชุดไทยย่านประตูน้ำ ร้านค้าส่งค้าปลีกโบ๊เบ๊และย่านพาหุรัดคึกคักตามกระแสบุพเพสันนิวาส
รวมถึงภาครัฐและเอกชนรณรงค์ได้อัดแคมเปญใส่ชุดไทยทำให้ยอดขายโต 50% โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ยอดขายโตเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน
ด้านเจ้าของร้านขายชุดไทยและผู้ค้าต่างพูดตรงกันว่า ช่วงนี้ขายดีมาก ยอดขายได้เพิ่มกว่าช่วงปกติถึง 3 เท่า ประชาชนให้ความสนใจมาซื้อเพื่อสวมใส่ไปงาน โดยชุดที่เตรียมมาขายต้องสั่งก่อนล่วงหน้า แต่ก็ต้องสั่งเพิ่มและรอของ บางแห่งก็ไม่มีของแล้ว
เพ็ญศรี แซ่เบ้ เจ้าของร้านเจ้กรุง สะพานควาย หรือร้านชุดไทยเจ้กรุง ที่ขาย-เช่า และรับสั่งตัดชุดไทยทุกแบบ รวมถึงชุดไทยแก้บน ซึ่งเปิดร้านทุกวัน ตั้งแต่ 06.00-23.00 น. มีบริการจัดส่งทางไปรษณีย์ทั่วประเทศ บอกว่า เอาไม่ทันกันเลยทีเดียว
“ชุดไทยขายดีมาก ยอดขายเพิ่มเป็นเท่าตัว คนมาซื้อกันเยอะเลย มาเรื่อยๆ ไม่ขาดสาย”
ส่วนร้านที่อยู่ชานเมือง อย่างร้านเช่าชุดไทย ชุดเพื่อนเจ้าสาว-บ่าว by อุ๋ย อรพรรณ ซึ่งมีเจ้าของเพจและกิจการคือ อรพรรณ ศิลาวรรณ บอกสอดคล้องกันว่า ยอดสั่งเข้ามาเยอะกว่าเดิมมาก
“ถ้าเดือนนี้ ปกติจะไม่มียอดเข้ามามาก แต่ปีนี้ถือว่าเยอะจนน่าตกใจ เป็นผลมาจากละครบุพเพสันนิวาส ห้างร้าน บริษัท คนทั่วไป ก็จะวางธีมชุดไทยกันหมด บวกกับการเดินทางท่องเที่ยวใส่ชุดไทยไปตามรอยอยุธยาและลพบุรี คนไปเที่ยวก็ใส่ชุดไทยกันหมดเกือบทุกคน”
บรรดาร้านค้าชุดไทยในตลาดโบ๊เบ๊บอกในรายงานข่าวว่า ถือว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปีนับตั้งแต่เปิดร้านจำหน่ายชุดไทย ยอดขายโต 50% ส่วนยอดขายชุดไทยย่านตลาดพาหุรัด เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว หลังประชาชนไปจับจ่ายซื้ออย่างคึกคักมาตั้งแต่งาน “อุ่นไอรัก คลายความหนาว”
ใส่ชุดไทยไม่ให้ร้อน คำตอบสุดท้ายคือ “ร่ม”
เพ็ญศรี เจ้าของร้านเจ้กรุงชุดไทย สะพานควาย บอกถึงเทคนิคการใส่ชุดไทยไม่ให้ร้อนว่า อยู่ที่คนสวมใส่คนนั้นๆ เอง
“ร้อนไม่ร้อนอยู่ที่คนใส่ ธรรมดาทั่วๆ ไป ผ้าก็เป็นแบบปกติ แล้วแต่คนใส่ตามใจคนใส่ ร้อนๆ ก็ต้องหาเทคนิควิธีใส่เอาเอง ใส่แล้วสวยสบายดีก็ใส่ไป”
หากมองให้ลึกลงไปว่าใส่ชุดไทยแล้วร้อนไหม? ตามหลักฐานประวัติศาสตร์ ถ้าเป็นไพร่สามัญชน เป็นชาวบ้านจะทอผ้าไว้ใช้ในครัวเรือนกันเอง แต่ถ้าเป็นชนชั้นสูงมีเงินก็จะซื้อผ้าจากจีนและอินเดียที่เอาเข้ามาขายไว้ใช้ เพราะเนื้อผ้าดีกว่า วิธีการตัดเย็บของไทยจะเป็นการตัดเย็บแบบง่ายๆ เพราะเป็นลักษณะของการห่มผ้าทั้งผืน
รายละเอียดของงานช่างจะไปอยู่ที่การปักเนื้อผ้า ผ้าถือเป็นของมีราคา ชั้นเจ้านายก็จะสวมใส่ผ้าเนื้อดีหน่อย ย้อมสีสวยงาม สไบมีซับนอกซับในใส่เมื่อออกนอกบ้าน ถ้าอยู่ในบ้านเจ้านาย บ่าวก็นุ่งผ้าแถบเอาง่ายๆ เพราะอากาศมันร้อน ถ้าเป็นไพร่ชาวบ้าน หรือทาส ก็จะมีแค่ผ้าผืนธรรมดาสีตุ่นๆ ไม่ได้ย้อมสีสวยงาม
ในงาน “อุ่นไอรัก คลายความหนาว” ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ หน่วยราชการในพระองค์ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกันจัด เพื่อพระราชทานความสุขให้กับประชาชน และเผยแพร่ความงดงามของความเป็นไทยในรูปแบบต่างๆ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ พระลานพระราชวังดุสิต และสนามเสือป่า
เผ่าทอง ทองเจือ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและประวัติศาสตร์ ได้มาเล่าถึงวิวัฒนาการของชุดไทยภายในงานนี้ ซึ่งสรุปได้ว่า สมัยก่อนการแต่งกายเป็นเครื่องจำแนกความแตกต่างทางสังคม ชุดไทยสมัยรัชกาลที่ 1-4 สำหรับเจ้านายฝ่ายใน ไม่ว่าจะเป็น พระมเหสี พระเทวีต่างๆ
เจ้าจอม พระราชธิดา ส่วนใหญ่จะนุ่งซิ่นจีบหน้านาง ผ้าถุงยาว โดยใช้ผ้าลายอย่างจากอินเดีย ห่มทับท่อนล่าง ส่วนท่อนบนห่มสไบแพรจีนเปิดไหล่หนึ่งข้าง หรือใส่เสื้อคอตั้งผ้าไหมจีนผ่าอก ติดขัดดุม (ติดกระดุม) แขนกระบอก โดยแขนกระบอกจะฟิต ทั้งนี้ ถ้าใส่เสื้อจะมีสไบห่มทับเสมอ โดยจะห่มสไบทับอัดกลีบ หรือไม่อัดกลีบก็ได้
สมัยรัชกาลที่ 5 มีอิทธิพลจากตะวันตกเข้ามา จากเสื้อแพรจีนก็เปลี่ยนมาเป็นเสื้อแหม่มแบบฝรั่ง โดยได้รับอิทธิพลจากราชสำนักรัสเซียและออสเตรีย เสื้อแบบฝรั่งที่นิยมใส่ก็เป็นผ้าลูกไม้จีบระบายต่างๆ ทั้งปลายแขน รอบอก รวมทั้งเสื้อแขนหมูแฮม โดยต้นแขนจะจีบฟองขึ้นฟู และค่อยๆ แคบลงมาถึงข้อมือ การแต่งกายแบบนี้เป็นพระราชนิยมตลอดรัชกาล
สมัยรัชกาลที่ 6 วิวัฒนาการสมัยนี้เปลี่ยนจากการสวมเสื้อแบบสมัย รัชกาลที่ 5 มาเป็นเสื้อแบบที่เราเรียกกันว่า “แก๊สบี้” คือ ตัวเสื้อยาวลงไปจนถึงเข่า และนิยมใช้ผ้าบางเบา ส่วนใหญ่เป็นเสื้อคอปาด แขนล้ำ รูปแบบการแต่งกายของสุภาพสตรีไทยโน้มเอียงไปทางตะวันตกมากขึ้น
สมัยรัชกาลที่ 7-8 รูปแบบการแต่งกายยังเลียนแบบสมัยรัชกาลที่ 6 อยู่ แต่กระโปรงจะเป็นกระโปรงที่สั้นมาถึงใต้เข่า จากนั้นเริ่มเป็นชุดเดรสหรือชุดเสื้อกับกระโปรงติดกัน และสะท้อนให้เห็นว่าราชสำนักมีความเป็นสากลมาก
สมัยรัชกาลที่ 9 ช่วงต้นรัชกาล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ยังทรงแต่งชุดไทยตามพระราชนิยมต่อเนื่องจาก รัชกาลที่ 7 กระทั่งเสด็จฯ อเมริกา และยุโรป ถึงได้มีการประดิษฐ์ชุดไทยพระราชนิยมขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับวาระโอกาสที่จะต้องออกงาน ประเทศไทยก็จะมีชุดไทยพระราชนิยม 8 แบบ ได้แก่ ชุดไทยเรือนต้น ชุดไทยจิตรลดา ชุดไทยดุสิต ชุดไทยอัมรินทร์ ชุดไทยจักรี ชุดไทยบรมพิมาน ชุดไทยศิวาลัย และชุดไทยจักรพรรดิ ซึ่งเป็นแบบอย่างของการแต่งกายชุดไทยสืบมาจนถึงปัจจุบัน
แน่นอน จากข้อมูลของเผ่าทอง จะเห็นได้ถึงภาพรวมชุดไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 5-9 แต่เมื่อย้อนหลังกลับไปกรุงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ผู้ชายไม่ใส่เสื้อ ออกนอกบ้านก็ไม่ใส่เสื้อ พอสมัยรัชกาลที่ 4 ต้องออกกฎหมายบังคับให้ใส่เสื้อเวลาออกนอกบ้าน ส่วนผู้หญิงก็ห่มสไบหรือไม่ก็เปลือยอกสำหรับหญิงที่มีสามีและลูกแล้ว ในสมัยปฏิรูปประเทศ แฟชั่นและผ้าแบบตะวันตกเข้ามาผู้หญิงในกลุ่มชนชั้นสูงก็ได้นำเอาผ้าและรูปแบบการตัดเสื้อแบบตะวันตกมาประยุกต์ใช้กับชุดไทย ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย
อรพรรณ ศิลาวรรณ เจ้าของร้านเช่าชุดไทย ชุดเพื่อนเจ้าสาว-บ่าว by อุ๋ย อรพรรณ มองว่า จริงๆ ปัจจุบันชุดไทยถ้าใส่ก็เหมือนเสื้อผ้าทั่วไป
“อย่างผู้หญิงก็ใส่สไบ ซึ่งค่อนข้างเป็นผ้าที่เบาๆ อยู่แล้ว เวลาใส่ก็ค่อนข้างที่ไม่ร้อนอยู่แล้ว เพราะเปิดไหล่และโปร่งลม ส่วนคนที่ใส่ชุดเสื้อลูกไม้แขนยาวก็อาจจะร้อนหน่อย แต่ว่ามันก็เหมือนกับเป็นการกันแดดไปในตัว แต่ถ้าใส่สไบจะค่อนข้างสบายไม่ได้อึดอัดอะไรมาก ส่วนการใส่ผ้าถุงก็ระบายลมเหมือนเรือนไทยที่มีใต้ถุน โจงกะเบนก็เหมือนกางเกงทั่วไปไม่ได้หนักไม่ได้มีอะไรมากมาย ใส่ได้สบายคล่องแคล่วตัวด้วย”
สำหรับคนที่ใส่จัดเต็มเพื่อถ่ายรูปโดยเฉพาะ อรพรรณ ก็บอกว่าต้องยอมรับว่าหนักหน่อย ร้อนเลยทีเดียว
“ชุดผู้ชายก็ร้อนหน่อยเพราะเสื้อราชปะแตนค่อนข้างหนา แต่ตอนนี้นิยมมาใส่เป็นเสื้อคอกลมดูแบบไม่เป็นทางการเกินไปเหมือนจ้อยในบุพเพสันนิวาส ใส่จัดเต็มร้อนอยู่แล้ว แต่ถ้าแบบปกติธรรมดาคนโบราณก็ออกแบบมาให้เหมาะกับสภาพอากาศอยู่แล้ว ก็เหมือนเสื้อผ้าทั่วไป”
ชุดไทยปัจจุบัน อรพรรณ ขยายภาพให้เห็นว่า มีการประยุกต์ได้หลายๆ อย่าง ก็แบ่งเป็นงานทั่วไปที่เรียบง่าย ส่วนงานที่เป็นพิธีใหญ่ๆ ก็มีการประยุกต์มากขึ้น อย่างงานแต่งงานชุดไทยของเจ้าสาวก็ปรับไปตามยุคสมัย เอาอุปกรณ์ต่างๆ มาผสมผสานให้ดูดีตามยุคสมัย
“คำแนะนำอากาศร้อนใส่ชุดไทยอย่างไร? ต้องบอกว่า ต้องมีตัวช่วยเพื่อให้ถ่ายรูปได้สวยๆ ก็ต้องอาศัยร่ม เพราะเหมือนเป็นการป้องกันแดดไปในตัว เพราะอากาศบ้านเรามันร้อนมากอยู่แล้ว การใส่ชุดไทยมีอุปกรณ์ประกอบคือ ร่ม โดยเลือกร่มที่ออกแบบเป็นไทยๆ ให้เข้าชุดด้วยการมิกซ์แอนด์แมตช์ให้เข้ากับชุดที่ใส่ รวมถึงสีสันด้วย”
ท้ายสุด มีคำแนะนำสำหรับผู้ที่อยากจัดเต็มชุดไทยแบบเต็มยศครบองค์ทรงเครื่อง ทำอย่างไรไม่ให้ร้อนอบอ้าวจนเหงื่อแตกพลั่กทนไม่ไหว ทางที่ดีที่สุดให้เลือกงานที่จัดในห้องแอร์เย็นฉ่ำจะได้ไม่ร้อนและถ่ายรูปออกมาแชร์ในโซเชียลมีเดียได้สวยๆ ไม่แคร์ร่มบังแดด