posttoday

มะม่วงของดีชาวเมืองร้อน

02 พฤษภาคม 2561

ฤดูร้อนทุกครั้งเรามักจะเห็นมะม่วงออกผลผลิตเป็นจำนวนมาก หลายคนเห็นแล้วก็เกิดอาการเปรี้ยวปาก

เรื่อง กั๊ตจัง ภาพ เอพี

ฤดูร้อนทุกครั้งเรามักจะเห็นมะม่วงออกผลผลิตเป็นจำนวนมาก หลายคนเห็นแล้วก็เกิดอาการเปรี้ยวปาก บ้างก็นิยมนำมะม่วงดิบรับประทานกับน้ำปลาหวาน ถ้ามีมะม่วงสุกก็หาซื้อมารับประทานกับข้าวเหนียวมูน อร่อยกันไป แต่ประโยชน์ของมะม่วงนั้นไม่ได้มีแค่ความอร่อย แต่ยังมีประโยชน์ทั้งในสารอาหารบำรุงร่างกายและทางยาอีกด้วย

มะม่วงมีถิ่นกำเนิดที่ประเทศอินเดีย และแพร่ขยายพันธุ์ไปทั่วทวีปเอเชีย สายพันธุ์ของมะม่วงในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 50 สายพันธุ์ แต่นิยมปลูกรับประทานเพื่อส่งขายยังตลาดไม่กี่สายพันธุ์ เช่น น้ำดอกไม้ อกร่อง เขียวเสวย แรด ฯลฯ

ตามข้อมูลที่ได้รับจากเว็บไซต์พบแพทย์ (pobpad.com) ระบุว่า มะม่วงเป็นแหล่งอาหารที่ให้พลังงานสูง มะม่วงสุกผลใหญ่ 1 ลูก ให้พลังงานสูงถึง 250 แคลอรี มีโพแทสเซียม เส้นใยอาหาร และวิตามินเอ บี ซี ในปริมาณสูง

ในมะม่วง 165 กรัม ประกอบไปด้วย วิตามินเอถึง 25 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน ซึ่งวิตามินเอมีส่วนสำคัญต่อการทำงานของร่างกาย โดยเฉพาะดวงตาและผิวพรรณส่งผลดีต่อกระดูก ระบบสืบพันธุ์ และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีการนำมะม่วงมาสกัดสารต้านมะเร็ง สารต้านทานอนุมูลอิสระ

โดยเฉพาะสารที่ชื่อ แมงจิเฟอริน (Mangiferin) ทำหน้าที่ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันการเกิดความเสียหายของร่างกายจากโรคหลอดเลือดและโรคมะเร็ง สารต้านอนุมูลอิสระยังมีบทบาทสำคัญต่อการรักษาหรือป้องกันโรคมะเร็ง โรคจอประสาทตาเสื่อม โรคอัลไซเมอร์ รวมถึงโรคข้ออักเสบด้วย

นอกจากนี้ มะม่วงอาจมีคุณสมบัติต้านการอักเสบที่ส่งผลดีต่อโรคบางชนิด เช่น โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากระบบภูมิต้านทานร่างกายตอบสนองไว ทำให้เกิดการอักเสบของผนังเยื่อบุลำไส้ และอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ในอนาคต มีงานศึกษาวิจัยแสดงให้เห็นว่าสารพฤกษเคมีที่พบในมะม่วง มีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบ เช่น การใช้สารสกัดจากเปลือกต้นมะม่วงที่ประกอบไปด้วยสารพอลีฟีนอล (Polyphenols) และฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) เป็นสารในการรักษาโรคลำไส้อักเสบ

มีวิธีการนำเอาส่วนต่างๆ ของมะม่วงมาปรุงเป็นยารักษาอาการอักเสบและโรคที่เกี่ยวข้อง เช่น มีการนำเปลือกของลำต้นมะม่วงล้างให้สะอาดมาต้มดื่ม ช่วยรักษาอาการเยื่อปากอักเสบ จมูกอักเสบ หรือนำใบมะม่วงสดล้างให้สะอาดแล้วนำมาตำและพอกบริเวณที่เป็นแผล ใช้เป็นยาสมานแผลสด หากนำใบมาต้มดื่มจะช่วยรักษาอาการลำไส้อักเสบเรื้อรัง

ส่วนผลมะม่วงดิบใช้รักษาโรคเลือดออกตามไรฟันเพราะมีวิตามินซีสูง อีกทั้งยังช่วยแก้อาการบิด ช่วยบำรุงกระเพาะอาหาร ช่วยขับปัสสาวะ ในขณะที่มะม่วงสุกมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน จึงสังเกตได้ว่าทุกครั้งที่รับประทานมะม่วงสุกหรือแม้แต่มะม่วงกวน จะรู้สึกอยากขับถ่ายมากเป็นพิเศษ

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยถึงเปลือกมะม่วงกับคุณสมบัติต้านมะเร็งหลายชนิด เช่น สารสกัดจากเปลือกมะม่วงมีส่วนช่วยทำลายเซลล์มะเร็งตับอ่อน เร่งให้เซลล์มะเร็งปากมดลูกตายเร็วขึ้น ในขณะที่เนื้อมะม่วงเองก็มีสารที่ช่วยทำลายเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ ทำลายเซลล์มะเร็งเต้านมได้ แต่อย่างไรก็ตามข้อมูลนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการทดลองในงานวิจัยก่อนที่จะผลิตเป็นตัวยาเพื่อใช้จริง

มะม่วงยังมีส่วนช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือด เพราะมีการทดลองให้ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินรับประทานอาหารเสริมจากมะม่วงวันละ 10 กรัม เป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่าระดับน้ำตาลในเลือดของอาสาสมัครทดลองทั้งเพศชายและเพศหญิงลดต่ำลง

งานวิจัยสุดท้ายที่ชวนให้เรามารับประทานมะม่วงกันมากขึ้น ก็คือ “งานวิจัยองค์ความรู้เรื่องปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระในผลไม้เพื่อส่งเสริมสุขภาพ (วิตามินซี วิตามินอีและเบต้าแคโรทีน) ในผลไม้” ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำการศึกษาในผลไม้ 83 ชนิด พบว่าผลไม้ที่มีเบต้าแคโรทีนสูงเป็นอันดับหนึ่งก็คือ มะม่วงน้ำดอกไม้สุก

เบต้าแคโรทีน วิตามินซีและอี เป็นกลุ่มของสารอาหารที่ช่วยกำจัดอนุมูลอิสระที่ก่อให้ร่างกายเกิดการอักเสบ ทำลายเนื้อเยื่อ เกิดต้อกระจกในผู้สูงอายุ โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด สารทั้ง 3 ตัว โดยเฉพาะเบต้าแคโรทีนจะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ยับยั้งการก่อกลายพันธุ์ ป้องกันเนื้องอก ลดความเสี่ยงการเป็นต้อกระจก มะเร็งและหัวใจได้

อย่างไรก็ดี การรับประทานมะม่วงต่อวันอย่างปลอดภัย ควรจำกัดการรับประทานอย่าให้เกิน 150-200 กรัม/วัน หรือรับประทานไม่เกิน 2 ลูก/วัน โดยเฉพาะมะม่วงสุกที่มีปริมาณน้ำตาลในเนื้อมะม่วงสูงกว่ามะม่วงดิบค่อนข้างมาก มิฉะนั้นจากสุขภาพดีจะกลายเป็นมีพุงไปเสียแทน