posttoday

อาวุโสเล่นโซเชียลฯ ป้องกันเสี่ยง เลี่ยงมิจฉาชีพ

19 พฤษภาคม 2561

ปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราการเพิ่มประชากรผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2560 ที่ผ่านมา มีผู้สูงอายุประมาณ 11.3 ล้านคน หรือคิดเป็น 16.7% ของประชากรไทย

เรื่อง : กันติพิชญ์ ใจบุญ/พรเทพ เฮง ภาพ : วิศิษฐ์ แถมเงิน/อมรเทพ โชติเฉลิมพงษ์

ปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราการเพิ่มประชากรผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2560 ที่ผ่านมา มีผู้สูงอายุประมาณ 11.3 ล้านคน หรือคิดเป็น 16.7% ของประชากรไทย ซึ่งคาดว่าไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2564 หรือในอีก 3 ปีข้างหน้า และในปี 2562 เป็นครั้งแรกที่ประชากรผู้สูงอายุจะมีจำนวนมากกว่าประชากรวัยเด็ก

จากข้อมูลการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2560 พบว่ามีผู้สูงอายุเพียงร้อยละ 4.2 ที่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์จากอินเทอร์เน็ต หรือโซเชียลมีเดีย ผู้สูงอายุไทยในอนาคตจึงต้องรู้เท่าทันและสามารถใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย และสมาร์ทโฟน ในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร โปรแกรมการดูแลสุขภาพต่างๆ ตลอดจนการทำธุรกรรมทางการเงิน ไม่ตกเป็นผู้เสียหาย โดนหลอกจากการเผยแพร่ข่าวสารปลอม นำไปสู่การละเมิดสิทธิ การฉ้อโกงทรัพย์สิน

ผู้สูงอายุที่หันมาเล่นอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ก็เป็นคนกลุ่มใหม่ที่ได้รับผลกระทบจากโซเชียลมีเดียเหมือนกัน อย่างการถูกหลอกลวงข้อมูลเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์​ ทำให้ส่งต่อเรื่องราวที่ได้มาแบบผิดๆ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในหลายๆ เรื่องได้

มาดูเรื่องราวหลากมิติของผู้สูงอายุในโลกโซเชียลมีเดีย ซึ่งกำลังมีผลกระทบในชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อยๆ ของคนในรุ่นอาวุโสนี้

อาวุโสเล่นโซเชียลฯ ป้องกันเสี่ยง เลี่ยงมิจฉาชีพ

โซเชียลมีเดีย

โลกใหม่ของวัยอาวุโส

แนวโน้มการใช้งานพบว่ามีอัตราการเข้าถึงที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแอพพลิเคชั่นไลน์ หรือเฟซบุ๊ก “หมอลี่” นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ขยายความว่า ที่จริงแล้วในอดีตที่ผ่านมาผู้สูงอายุก็เข้าถึงโทรศัพท์มือถือมาก แต่เป็นไปในลักษณะการติดต่อพูดคุยกับลูกหลานในครอบครัว

“แต่ในปัจจุบันที่มือถือถูกพัฒนาให้ฉลาดมากขึ้นมีระบบต่างๆ ที่อำนวยความสะดวกให้มากขึ้น หรือที่เรียกว่าสมาร์ทโฟน ทำให้ผู้สูงอายุที่ใช้งานมือถือสมาร์ทโฟนสามารถสื่อสารได้มากกว่าการพูดคุย ทั้งการส่งรูปภาพ คลิปวิดีโอ และทำให้ช่องทางการสื่อสารกว้างมากขึ้นกว่าแค่คนในครอบครัว

เพราะสมาร์ทโฟนจะพาผู้สูงอายุไปพบกับคนใหม่ที่ไม่รู้จักกันมาก่อน หรืออาจจะเคยรู้จักกันมาบ้าง รวมถึงสามารถเข้าถึงกลุ่มต่างๆ บนโลกออนไลน์ที่ผู้สูงอายุสนใจ เช่น การทำบุญ กีฬา เป็นต้น และจากจุดนี้ปัญหาการใช้งานก็จะเริ่มตามมาเรื่อยๆ”

ปัญหาที่ว่าผ่านการใช้สมาร์ทโฟนบน
โซเชียลมีเดียของผู้สูงอายุตามที่ นพ.ประวิทย์ สะท้อนคือ เพราะสมาร์ทโฟนนำไปพบกับเพื่อนใหม่และผู้สูงอายุเองที่ใช้งานก็ไม่อาจทราบได้เลยว่าเพื่อนใหม่นั้นมีพื้นเพเป็นอย่างไร เป็นข้อมูลจริงดังที่แสดงเอาไว้หรือไม่ เพราะสถานการณ์ปัจจุบันมิจฉาชีพก็ใช้การสร้างโปรไฟล์ส่วนตัวที่ปลอมแปลงขึ้นมาเพื่อต้มตุ๋นหลอกลวงเหยื่อ และผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่ต้องสูญเสียเงินทองผ่านการหลอกลวงในโซเชียลมีเดีย

“เพราะการคิดแบบผู้สูงอายุ คือการคิดแบบตรงไปตรงมา เชื่อเพราะคิดว่าไม่มีใครมาหลอกลวง และผู้สูงอายุมักเชื่อว่าตัวเขาเองอยู่ในสังคมที่ไว้วางใจกันมาตลอด แต่สังคมจริงๆ มันไม่ใช่แบบนั้น เพราะมิจฉาชีพมีอยู่ทุกที่ และผู้สูงอายุมักจะไม่รู้เท่าทันเหลี่ยมกลโกงของมิจฉาชีพเหล่านี้ ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มวัยรุ่นที่มักจะรู้เท่าทันเสมอ” นพ.ประวิทย์ กล่าว

นพ.ประวิทย์ ฉายภาพอีกว่า หากมองอีกด้านหนึ่งก็จะเห็นว่าสมาร์ทโฟนที่พาผู้สูงอายุสู่โลกโซเชียลมีเดียนั้น หากจะใช้เพื่อประโยชน์จริงๆ ก็นับว่าเป็นเครื่องมือที่สะดวกไม่น้อย โดยเฉพาะการเข้าถึงระบบต่างๆ ทั้งข้อมูลสุขภาพ การเชื่อมต่อกับโรงพยาบาล บริการสาธารณะต่างๆ ของภาครัฐ ซึ่งก็คือเรื่องของเงินสวัสดิการ

“ทุกวันนี้รัฐบาลกำลังก้าวเข้าสู่คำว่ารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ใครก็หนีไม่ได้ และเป็นไปไม่ได้ที่ใครจะหลีกหนีโลกดิจิทัล หากไม่มีหรือไม่มีความรู้ด้านการใช้โซเชียลมีเดีย
ผู้สูงอายุก็จะกลายเป็นคนที่ถูกทอดทิ้ง ต้องรอเจ้าหน้าที่มาช่วยเหลือ แต่หากเข้าถึงระบบก็จะไม่ตกสำรวจ อยู่ในกลุ่มที่ได้รับสวัสดิการอย่างครบถ้วน

ข้อควรระวังคือผู้สูงอายุอย่าพยายามทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับคนที่ไม่รู้จัก จนกว่าจะมีการยืนยันตัวตนที่ชัดเจน ลูกหลานก็ต้องบอกย้ำด้วย รวมถึงอีกเรื่องที่สำคัญคืออย่าเชื่อข่าวสารบนโซเชียลมีเดียทั้งหมด แต่ควรคิดวิเคราะห์เพื่อช่วยในการตรวจสอบ อย่าแชร์จนกว่าจะแน่ใจเพราะอาจมีผลกระทบตามมาได้”

หมอลี่ ทิ้งท้ายว่า การให้ความรู้กับผู้สูงอายุเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมนับว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก ภาครัฐหรือภาคเอกชน แม้แต่ภาคการศึกษาควรจะต้องเข้ามามีบทบาทในการถ่ายทอดความรู้ตรงนี้สู่ผู้สูงอายุ เฉกเช่นที่ต่างประเทศถึงกับมีหลักสูตรเพื่อให้ผู้สูงอายุเรียนรู้การใช้โซเชียลมีเดีย ไม่เช่นนั้นกลุ่มผู้สูงอายุจะเป็นกลุ่มเสี่ยงอย่างมากต่อโลกเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

อาวุโสเล่นโซเชียลฯ ป้องกันเสี่ยง เลี่ยงมิจฉาชีพ

เหยื่ออาวุโสในโลกโซเชียลฯ

ผู้สูงอายุถูกหลอกลวงให้ซื้อสินค้าในโลกออนไลน์จากการที่อยู่บ้านลำพังนั้น ซึ่งอาจเกิดได้จากการกดสั่งซื้อโดยไม่ได้อ่านรายละเอียด หรืออ่านไม่เข้าใจ จากปัญหาสุขภาพดวงตาไม่ดี หรือมองเห็นไม่ชัด

การป้องกันปัญหานี้เป็นไปได้ ลูกหลานควรดูแลท่านอย่างใกล้ชิด หรือให้คำแนะนำท่านว่า หากไม่เข้าใจเรื่องการเล่น
โซเชียลฯ ให้รีบถามหรือปรึกษาก่อนที่จะซื้อสินค้าอะไรก็ตาม ไม่ควรตัดสินใจซื้อโดยลำพัง หรือหากจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ก็ควรเลือกเวลาที่ลูกหลานอยู่ เพื่อให้คำแนะนำคุณตาคุณยาย กรณีที่สินค้าเสี่ยงต่อการไม่ได้มาตรฐาน

พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ จากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องผู้สูงอายุที่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพในโลกโซเชียลมีเดียไว้เมื่อเดือน ต.ค. 2560 ว่า การดูแลผู้สูงอายุที่เล่น
โซเชียลฯ ให้ปลอดภัย ก็มีความคล้ายคลึงกับเด็กมาก

เนื่องจากลูกหลานต้องให้ความรู้กับผู้สูงวัยว่าการใช้แอพพลิเคชั่นต่างๆ เล่นอย่างไร เช่น ไลน์ และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อแม่ด้วยการหมั่นพูดคุยจะทำให้เกิดความไว้วางใจ ซึ่งช่วยป้องกันผู้สูงอายุเล่นโซเชียลฯ โดยไม่ถูกหลอก

โดยเฉพาะเฟซบุ๊ก แอพพลิเคชั่นยอดฮิตของคนสูงวัย ต้องเรียนรู้ว่าปุ่มเพิ่มเพื่อนกดตรงไหน และจะไม่รับเพื่อนแปลกหน้าต้องคลิกออกอย่างไร และต้องอธิบายให้ท่านรู้ว่าภัยในโลกออนไลน์มีอย่างไรบ้าง ทั้งการถูกหลอกโอนเงินโดยการปลอมชื่อเพื่อนในกลุ่มไลน์ การถูกหลอกซื้อสินค้าไม่มีคุณภาพ ฯลฯ

ที่สำคัญ ไอคอนแบบไหนที่ไม่ควรคลิกเข้าไปดู เช่น การขายสินค้าที่มีพรีเซนเตอร์ดูดี และข้อความโฆษณาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ดูอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ก็ไม่ควรคลิกเข้าไปดู กระทั่งสอนการตั้งสถานะที่ให้เฉพาะเพื่อนสนิทดูได้ ก็ถือเป็นการเซฟความปลอดภัยในโลกออนไลน์ที่ลูกหลานควรให้ความรู้ แต่ทั้งนี้จะต้องไม่ใช่การสอนด้วยคำพูดรุนแรง แต่ต้องค่อยๆ อธิบายพร้อมกับทำเป็นตัวอย่างให้ดู จากนั้นค่อยให้ลองฝึกทำเอง

เมื่อทราบถึงขั้นตอนในการเล่นโซเชียลฯ ที่ถูกต้อง หากมีข้อมูลสินค้าหรือเบอร์มือถือแปลกๆ ส่งเข้าที่อุปกรณ์สมาร์ทโฟนของผู้สูงอายุ ลูกหลานต้องให้ข้อมูลว่าควรนำมาให้ลูกหลานดูก่อน เช่น หากมีข้อความชวนเชื่อ ซื้อยาบำรุงร่างกาย ส่งมาที่โปรแกรมข้อความในเฟซบุ๊ก หรือแม้แต่โฆษณาชวนเชื่อที่แชร์ต่อๆ กันอยู่หน้าเฟซบุ๊ก 

ที่สำคัญ ผู้สูงอายุต้องรู้จักบ่ายเบี่ยงเพื่อหาเวลาในการเช็กข้อมูล ว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้ดีจริงหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อปรึกษาลูกหลานก่อน โดยบอกว่ามีหลายแบรนด์ที่เข้ามาชวนให้ซื้อสินค้าประเภทนี้ สิ่งสำคัญขณะที่ผู้สูงอายุนำข้อความเหล่านี้มาให้ดู ลูกหลานไม่ควรตำหนิ เพราะคนแก่จะน้อยใจและเกิดการประชด กระทั่งพิสูจน์ด้วยตัวเองด้วยการกดคลิกสั่งซื้อสินค้าในโลกออนไลน์โดยปราศจากการไตร่ตรอง

ส่วนกรณีการที่ผู้สูงอายุในต่างจังหวัดเล่นเฟซบุ๊ก และถูกลากเข้าไปอยู่กลุ่มแชร์ลูกโซ่ จนกระทั่งตกเป็นเหยื่อลงเล่นแชร์ที่ผิดกฎหมาย หรืออยู่ในขั้นที่กำลังตัดสินใจจะหลงเชื่อนั้น อยากแนะนำสั้นๆ ว่า อยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างลูกหลานกับคนสูงอายุ เพราะถ้าหากความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวที่ไม่ดี พ่อแม่ก็ไม่นำมาให้ลูกดู แต่ถ้าผู้สูงอายุไว้วางใจ และมีการพูดคุยกันได้ดีในทุกเรื่องๆ ผู้สูงอายุฟังคำเตือนของลูกหลาน ก็จะช่วยแก้ปัญหาการถูกหลอกลวงในโลกออนไลน์รูปแบบดังกล่าวได้

การที่จะทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคน 2 วัย ลูกหลานควรหมั่นพูดคุย หรือเข้าไปทักทายผู้สูงอายุในกลุ่มไลน์หรือเฟซบุ๊ก เพื่อกระชับความสัมพันธ์ เช่น เข้าไปถามว่าวันนี้ไปเที่ยวไหน หากคุณยายส่งรูปขณะไปนอกบ้านมาให้ดูในไลน์ เมื่อนั้นความไว้วางใจก็จะมาเอง

สรุปอย่างง่ายเลยว่า การป้องกันภัยจากการใช้โซเชียลฯ ของผู้สูงอายุอยู่ที่ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างลูกหลาน และการควบคุมเวลาในการเล่นให้เหมาะสม แต่สิ่งที่ลืมไม่ได้ ลูกหลานไม่ควรไปแอบดูเวลาที่ผู้สูงอายุเล่นโซเชียลฯ กับใคร อย่างไร เพราะอย่างไรเสียถ้าความสัมพันธ์ดี ปู่ย่าตายายก็เต็มใจให้ลูกหลานดูโดยไม่ต้องขอ

แต่หากการที่ผู้สูงอายุเล่นโซเชียลฯ อย่างพอดี หรือเล่นไลน์หรือเฟซบุ๊กเพียงแค่สำหรับติดต่อหาเพื่อนๆ บ้างโดยที่ไม่ได้ทำให้เสียสุขภาพ ซึ่งก็เปรียบเสมือนการดูทีวี ถ้าผู้สูงอายุดูเพื่อรับรู้ข่าวสารบ้านเมือง และมีรายการบันเทิงบ้างเล็กน้อยก่อนเข้านอน ก็เป็นสิ่งทำได้ โดยสรุปแล้ว ในหนึ่งวันผู้สูงอายุไม่ควรเล่นโซเชียลฯ เกิน 2 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้กระทบกับกิจกรรมปกติ ซึ่งผู้สูงวัยที่ถูกลูกหลานตำหนิจะทำให้เกิดภาวะน้อยใจ และไม่ยอมปรึกษาขณะเกิดปัญหาเมื่อใช้สื่อออนไลน์ จึงมีโอกาสเสียทรัพย์จากการใช้โซเชียลมีเดีย

อาวุโสเล่นโซเชียลฯ ป้องกันเสี่ยง เลี่ยงมิจฉาชีพ

ปรากฏการณ์

“เจโรทรานสเซนเดนซ์”

การพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุให้มีทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) คือการมีทักษะในการนำเครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่ในปัจจุบัน อาทิ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ แท็บเล็ต โปรแกรมคอมพิวเตอร์ และสื่อออนไลน์ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการสื่อสาร การปฏิบัติงาน และการอยู่ร่วมกัน ที่สำคัญจะต้องไปสู่สังคมสูงวัยที่ก้าวไปด้วยกัน

นพ.กฤษฎา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ เสริมกับเรื่องผู้สูงอายุกับการเข้าถึงโซเชียลมีเดีย หรือโลกออนไลน์ในมุมมองของแพทย์ไว้อย่างน่าสนใจ

เขาสะท้อนว่าไม่ใช่แค่เรื่องของสังคม หรือบริบทรอบข้างผู้สูงอายุเพียงอย่างเดียวที่จะเป็นสาเหตุให้เกิดการใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้น แต่ยังเกี่ยวกับตัวเนื้อสมองและสรีรวิทยาด้วย เรียกง่ายๆ คือผู้สูงอายุมีร่างกายและจิตใจที่เปลี่ยนแปลงในลักษณะที่เปิดกว้าง ให้ความสนใจสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัว หรืออยากจะเข้าไปร่วมมีส่วนในกิจกรรมต่างๆ ทั้งจิตอาสา การหาเพื่อนหาสังคม ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “เจโรทรานสเซนเดนซ์” (Gerotranscendence) หรือลักษณะจิตทางความคิดของผู้สูงวัยที่มุ่งให้ความสำคัญกับสิ่งรอบข้าง

“จึงไม่แปลกที่ผู้สูงอายุจะหันมาสนใจโซเชียลมีเดีย และใช้งานมากขึ้น แต่ความสนใจในโลกออนไลน์จะแตกต่างกับคนหนุ่มสาว ผู้สูงอายุมักเลือกใช้เป็นช่องทางพูดคุยกับลูกหลานและติดตามความเคลื่อนไหวของคนรู้จักมากกว่า”

นพ.กฤษฎา เสริมอีกว่า “ความเหงา” ก็เป็นอีกแรงผลักดันให้ผู้สูงอายุต้องเข้าสู่โลกออนไลน์ เพราะด้วยพฤติกรรมที่เรียกว่า “รังที่ว่างเปล่า” หมายถึงความห่างจากบุตรหลาน หรือการต้องอยู่คนเดียว หรืออยู่กันแค่เพียงสองคน การเข้าถึงกลุ่มเพื่อนใหม่ๆ ที่สนใจในเรื่องราวเหมือนๆ กัน ก็จะช่วยเติมเต็มได้

“ผมเคยเจอผู้สูงอายุที่เข้าสังคมเลี้ยงสุนัขพันธุ์เดียวกัน และติดต่อกันผ่านโซเชียลฯ ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนวัยเดียวกันก็ได้”

ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ ยังสะท้อนถึงด้านมุมมืดของโลกออนไลน์กับผู้สูงอายุ ที่ต้องระมัดระวังการใช้งานด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการถูกหลอกเป็นเหยื่อจากกลุ่มมิจฉาชีพออนไลน์ โดยเฉพาะการถูกชักชวนให้ซื้อวิตามิน อาหารเสริม ซึ่งไม่อาจรู้ได้ว่าอาหารเสริมที่จะซื้อถูกกฎหมายหรือเหมาะสมกับร่างกายตนเองหรือไม่

“เต็มไปด้วยทั้งการหลอกลวง ทำให้ผู้สูงอายุหลงเชื่อ หรืออาจไม่ได้หลอกลวงแต่ก็ไม่ได้พูดความจริงทั้งหมด แต่เหนืออื่นใดแล้วนอกจากการตลาดของโลกออนไลน์ทั้งทำอย่างถูกต้องหรือไม่ถูกต้องก็ตาม ยังไม่อาจมีอิทธิพลต่อผู้สูงอายุที่ใช้งานในโลกออนไลน์ได้มากเท่ากับคำ 3 คำ คือ เพื่อนบอกต่อ”

นพ.กฤษฎา ทิ้งท้ายว่า ส่วนใหญ่ที่ซื้ออาหารเสริมแล้วถูกหลอกผ่านโลกออนไลน์ สาเหตุหนึ่งก็เพราะเพื่อนบอกมาว่าใช้แล้วดี ซึ่งกลุ่มเพื่อนเหล่านี้มีอิทธิพลอย่างมากในการสร้างแนวโน้มของผู้สูงอายุให้คล้อยตาม ซึ่งบุตรหลานต้องคอยเติมความรู้และข้อแนะนำให้กับผู้สูงอายุในครอบครัว โดยมีหลักง่ายๆ อยู่ 3 ประการ คือ 1.สร้างแนวความคิดว่าไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ โดยปราศจากข้อพึงระวัง หรือไม่มีของฟรีของถูกที่ปราศจากข้อด้อย

 2.ใช้โซเชียลมีเดียในทางสร้างสรรค์ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นยาพิษต่อสมองผู้สูงอายุ โดยเฉพาะการเสพสิ่งดราม่าในโลกออนไลน์ เพราะจะยิ่งเป็นการเพิ่มความเครียดให้กับสมอง และสมรรถภาพจะยิ่งถดถอยลง

และ 3.อย่าเชื่อในสิ่งที่เห็น แม้จะมีเพื่อนหรือคนสนิทมาแนะนำก็ตาม