รู้เอง อิ่มเอง คุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม
ในช่วงรอยต่อของช่วงกึ่งพุทธกาลนั้น นอกจากวงพระกรรมฐานจะแตกแขนงกันอย่างคึกคักแล้ว การปรากฏขึ้นของคุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม ก็เป็นหลักไมล์อันสำคัญของดอกผลแห่งการภาวนาฝ่ายอุบาสิกา....
ในช่วงรอยต่อของช่วงกึ่งพุทธกาลนั้น นอกจากวงพระกรรมฐานจะแตกแขนงกันอย่างคึกคักแล้ว การปรากฏขึ้นของคุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม ก็เป็นหลักไมล์อันสำคัญของดอกผลแห่งการภาวนาฝ่ายอุบาสิกา....
โดย...ภัทระ คำพิทักษ์
ในช่วงรอยต่อของช่วงกึ่งพุทธกาลนั้น นอกจากวงพระกรรมฐานจะแตกแขนงกันอย่างคึกคักแล้ว การปรากฏขึ้นของคุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม ก็เป็นหลักไมล์อันสำคัญของดอกผลแห่งการภาวนาฝ่ายอุบาสิกา
ณ เวลานั้น คุณแม่บุญเรือนกำลังมีชื่อเสียงโด่งดังในการใช้ฤทธิ์รักษาโรคให้หมู่ชน
ณ วันนี้ ท่านละขันธ์ไปตั้งแต่ปี 2507 น่นแล้ว แต่ตลอดระยะ 46 ปีที่ผ่านมา พระพุทโธน้อยที่ท่านสร้างขึ้นยังแสดงพุทธานุภาพให้ผู้ที่มีศรัทธาได้ประจักษ์ไม่เว้นวาย ทุกวันนี้มีผู้แสวงหาพระพุทโธน้อยมากขึ้นแต่ไม่ค่อยมีคนค้นว่า คุณแม่บุญเรือนทำอย่างไร พระท่านถึงศักดิ์สิทธิ์ ทำไมคุณแม่บุญเรือนจึงมีฤทธิ์รักษาโรคได้ ถ้าพบว่า ทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นจากความสำเร็จในธรรม เราย่อมจะมีคำถามว่า แล้วเราเองจะขวนขวายปฏิบัติเพื่อให้ตัวเองได้ประสบมรรคผลเช่นนั้นได้หรือไม่
การศึกษาประวัติคุณแม่บุญเรือนจึงเป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะถ้าใจมีพุทธเสียแล้ว พระพุทโธก็อาจจะไม่จำเป็น
คุณแม่บุญเรือน เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 มี.ค. 2437 ในครอบครัว นายยิ้ม และ นางสวน กลิ่นผกา ชาวสวนผู้ยากจนย่านคลองสามวา อ.มีนบุรี กทม. ซึ่งต่อมาได้อพยพพาครอบครัวย้ายมาอยู่ที่ ต.บางปะกอก อ.ราษฎร์บูรณะ
นอกจากจะมีความรู้เรื่องการบ้านการเรือนเยี่ยงสุภาพสตรีในยุคนั้นจะพึงมี อาทิ ปรุงอาหารโอชารส เย็บจักรตัดเสื้อผ้าได้ ฯลฯ แล้ว ท่านยังมีความสามารถพิเศษในเรื่องการนวดเพราะได้รับครอบวิชาและตำราหมอนวดมาจากปู่ สามารถใช้ความรู้นี้นวดรักษาผู้มีโรคภัยไข้เจ็บมาตั้งแต่ยังสาว
ท่านแต่งงานกับ ส.ต.ท.จ้อย โตงบุญเติม ตำรวจประจำ สน.สัมพันธวงศ์ ไม่มีบุตร-ธิดาด้วยกัน หากแต่ได้รับธิดาบุญธรรมไว้เลี้ยงดูผู้หนึ่ง
ขณะที่ครองชีวิตคู่กับสามีโดยพักอยู่ที่บ้านพักตำรวจ สน.สัมพันธวงศ์นั้น ท่านประกอบอาชีพรับตัดเสื้อผ้า ส่วนการนวดรักษาโรคนั้นทำเป็นกุศลไม่รับค่าจ้าง
ความใฝ่ใจในทางธรรมของท่านเกิดขึ้นจากการได้รับการชี้แนะจาก หลวงตาพริ้ง ผู้เป็นลุง ซึ่งท่านได้นำภัตตาหารไปถวายอยู่เนืองๆ เมื่อแต่งงานมาอยู่กับสามีแล้วก็ได้ไปถือศีล สวดมนต์ ฟังธรรมที่วัดสัมพันธวงศ์ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับสถานีตำรวจอยู่เป็นประจำ โดยมี พระมหารัชมังคลาจารย์ (เทศ นิทเทสกเถระ) เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ เป็นอาจารย์สอนวิปัสสนากรรมฐานให้
พึงเข้าใจว่า ยุคนั้นวัดสัมพันธวงศ์เป็นศูนย์รวมของพระกรรมฐานจากภาคอีสานและภาคเหนือ ถ้ามีพ่อแม่ครูอาจารย์ผ่านมา กทม. ก็ต้องเป็นพำนักที่วัดสัมพันธวงศ์ เหมือนกับยุคนี้ที่จะไปพำนักที่วัดปทุมฯ วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน วัดใหม่เสนานิคม เป็นต้น ด้วยเหตุนี้พระมหารัชมังคลาจารย์ซึ่งเป็นทั้งนักบริหารคณะสงฆ์และเป็นนักปฏิบัติภาวนาจึงมีความคุ้นเคยอย่างดีกับเหล่าพระกรรมฐาน
พระมหารัชมังคลาจารย์ เคยกล่าวถึงศิษย์อุบาสิกาท่านนี้ไว้ว่า เป็นทั้งศิษย์ เป็นทั้งกัลยาณมิตรธรรม
ท่านว่า อุบาสิกาบุญเรือนเป็นคนมีศรัทธา หาโอกาสบริจาคทาน รักษาศีล มาฟังธรรมอยู่เป็นนิตย์ เมื่อเข้าใจธรรมวินัยกว้างขวางขึ้นก็พยายามปฏิบัติถึงขั้นสมถวิปัสสนาร่วมกับคณะอุบาสิกาที่มาฟังธรรมยามค่ำและได้ซักถามอุบายที่เป็นอุปการแก่การปฏิบัติธรรม พอแนะนำสั่งสอนนานเข้า อุบาสิกาบุญเรือนก็สามารถแสดงธรรมได้ละเอียดขึ้นตามลำดับ จากสมถภาวนา เป็นวิปัสสนาภาวนา
“ในบรรดานักศึกษาธรรมที่ประชุมในยุคนั้น รู้สึกว่าอุบาสิกาบุญเรือนเป็นผู้ที่เข้าใจเนื้อความของธรรมได้ดี และเป็นผู้กล้าหาญ กล้าตอบ กล้าพูด มีปฏิภาณได้ถ้อยได้ความ ถือเอาอรรถรสได้...”
เมื่อปฏิบัติหนักเข้า อุบาสิกาบุญเรือนก็ได้มาบวชเป็นแม่ขาวถือศีลภาวนาที่วัดอยู่หลายปี แล้วลาสิกขาไปอยู่กับสามีที่บ้านพักตำรวจ ระหว่างนั้นก็ยังมาทำบุญฟังธรรมอยู่เป็นประจำ
หลังสามีเสียชีวิตเพราะเป็นลมขณะปฏิบัติหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบเหตุอัคคีภัย อุบาสิกาบุญเรือนได้หวนกลับมาบวชเป็นแม่อยู่อีกหนหนึ่งแล้วก็ลาสิกขาไป แต่พระมหารัชมังคลาจารย์ ว่า ยิ่งอุบาสิกาบุญเรือนมีอายุมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งมีความเพียรมากขึ้น ไม่ได้ละทิ้งการปฏิบัติเลย กลับมีความรู้ความสามารถกว้างขวาง เป็นที่เคารพของคนทั่วไปตามลำดับ จนสามารถชักนำให้ผู้คนจำนวนมากหันมาสนใจในพระพุทธศาสนา
ศรัทธาของผู้คนเหล่านั้นส่วนหนึ่งเกิดจากการช่วยเหลือสงเคราะห์ให้พวกเขาหายป่วยหายไข้ หายโรคหายภัย
มีบันทึกจากผู้คนทั่วสารทิศที่เคยได้พึ่งบุญญาธิการของท่านในด้านนี้
วิธีการที่คุณแม่บุญเรือนใช้คือ การอธิษฐานธรรม
การอธิษฐานธรรมของท่านมีอยู่ 3 ลักษณะ 1.อธิษฐานด้วยวาจา เช่น อธิษฐานให้หายโรค ให้ปลอดภัยจากภยันตราย ให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ อธิษฐานให้มะม่วงออกช่อมีผลผิดฤดูกาล อธิษฐานให้ฝนตก ให้ฝนหยุด อธิษฐานดอกไม้ที่เหี่ยวเฉาให้เบ่งบานสดชื่นขึ้นมาอีก ฯลฯ
2.อธิษฐานสิ่งของทั่วไป เช่น อธิษฐาน น้ำ ปูน ไพล สาคู ผลไม้ โดยเฉพาะปูนแดงให้เป็นยาทิพย์สามารถใช้รักษาโรคได้นานาชนิด ไม่ว่า โรคมะเร็ง วัณโรค ไส้ติ่งอักเสบ โรคเรื้อน โรคไต บาดแผลทุกชนิด
3.อธิษฐานของพิเศษเป็นครั้งคราว เช่น อธิษฐานก้อนหิน ศิลาน้ำ ฯลฯ ไว้ใช้แช่น้ำเพื่อให้น้ำนั้นมีสรรพคุณเช่นดั่งที่ท่านอธิษฐานเองยามมีชีวิตอยู่
คุณแม่บุญเรือนได้ชื่อว่า เป็นผู้มีฤทธิ์ วาจาศักดิ์สิทธิ์ พูดอย่างไรเป็นอย่างนั้นในทันที แค่สั่งให้โรคหายก็หายได้ในทันทีเช่น คนปากเบี้ยวตาค้างหลับไม่ลงน้ำตาคลออยู่ตลอดแต่ไม่ไหลมาหา ท่านก็สั่งว่า “หลับลงๆ” ปรากฏว่าเขาก็หลับลงทันที ปากก็หายเบี้ยวทันที คนอาการวิปลาส ญาติเอาปูนแดงไปทาก็หาย กระดูกงอกไม่ต้องผ่าตัดเอาปูนไปทาปูนก็ตัดกระดูกนั้นให้หลุดออกมาเองได้
คนจำนวนมากมีประสบการณ์ตรงว่า ฝนตกท่านก็ไม่เปียก หนึ่งในนั้นคือ คุณอุษา ไวคะกุล ซึ่งบันทึกไว้ว่า เย็นหนึ่งนัดคุณแม่บุญเรือนเอาไว้ตอนหกโมงเย็น ถึงเวลาฝนตกหนักก็คิดว่าไม่มาแล้วเลยปิดประตูบ้านแต่พอถึงเวลาเป๊ะ ก็มีเสียงเคาะประตูเรียก พอไปเปิดประตูเจอคุณแม่บุญเรือนยืนอยู่หน้าบ้าน ตัวคุณอุษาเอง รวมทั้งเด็กที่ไปช่วยเปิดประตูนั้นถูกฝนสาดใส่จนเปียกแต่คุณแม่บุญเรือนซึ่งยืนอยู่หน้าประตูนั้นไม่เปียกแม้แต่นิด พอเสร็จธุระกันแล้ว คุณอุษาบอกให้เด็กเอาร่มมาให้ท่านเพราะฝนยังตกหนาเม็ดอยู่ แต่ท่านว่า “มาได้ต้องไปได้” ว่าแล้วก็กลับไปโดยไม่ถือร่มติดไปด้วยเลย
นอกจากนี้ ท่านยังระลึกชาติได้ ทราบเรื่องที่คนอื่นพูดกันในที่ไกลๆ รู้เห็นสิ่งต่างๆ ราวกับไปดูด้วยตาได้ยินกับหูมาด้วยตัวท่านเอง ฯลฯ
“หนังสือเผยแพร่ธรรมะของคุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม” ระบุไว้ว่า เรื่องอภินิหารซึ่งมีเล่าไว้เป็นปึกๆ นั้นเป็นดอกผลของการสำเร็จในฌาน 4 อภิญญา 6
ฌาน 4 คือ ปฐมฌาน ทุติฌาน ตติยฌาน จตุตฌาน
อภิญญา 6 คือ 1.อิทธิวิธี-แสดงฤทธิ์ได้ 2.ทิพโสต-หูทิพย์ 3.เจโตปริยฌาน-รู้จักกำหนดใจของผู้อื่น 4.บุพเพนิวาสานุสสติ-ระลึกชาติได้ 5.ทิพจักษุ-ตาทิพย์ 6.อาสวักขยญาน-รู้จักทำอาสาวะให้สิ้น
มีบันทึกไว้ว่า คุณแม่บุญเรือนอธิษฐานเป็นผลทางอิทธิฤทธิ์ครั้งแรกเมื่อวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 พ.ศ. 2470 คืนนั้นท่านเห็นสามีและบุตรบุญธรรมนอนกัดฟันและกรนแล้วเกิดธรรมสังเวช นึกเบื่อจึงตั้งสัตย์อธิษฐานขอเข้าไปอยู่ในศาลาวัดสัมพันธวงศ์ ปรากฏว่า ท่านไปปรากฏตัวในศาลาจริงๆ โดยไม่รู้ว่าไปได้อย่างไร เข้าทางไหน
ต่อมามีเพื่อนอุบาสิกาขอให้ท่านทดลองให้ดูเพราะไม่เชื่อเรื่องที่เกิดขึ้น โดยพากันไปรออยู่ในศาลาแล้วลงกลอนประตูหน้าต่างศาลาให้มิดชิด ตัวท่านเองไปอยู่ที่บ้านพักตำรวจ การทดลองในคืนวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 ปีเดียวนั้นก็ได้ผลเช่นเดียวกันไม่ผิดเพี้ยน หลังจากนั้นท่านก็มิได้แสดงฤทธิ์อะไรที่เป็นไปในลักษณะการแสดงให้คนชมอีกเลย เว้นแต่อยู่ในสถานการณ์ที่จำเป็น แม้จะมีพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่พระองค์หนึ่งได้เชิญท่านไปสนทนาธรรมแล้วขอให้ท่านแสดงฤทธิ์ให้ดู คุณแม่บุญเรือนก็ว่า แสดงให้ทอดพระเนตรไม่ได้เพราะจะเป็นการอวดอุตตริมนุสสธรรม
ไม่ว่าท่านจะบรรลุฌาน 4 อภิญญา 6 หรือไม่ก็ตามแต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ คุณแม่บุญเรือนระบุเองว่า เราหายตัวได้เพราะไม่ได้ยึดว่าตัวตนเป็นของเรา เพราะรู้เท่าสมมติ
“จะอธิบายในเรื่องหายตัวได้สักหน่อย สมมติว่า ใครจะด่าเรา ใครจะนินทาเรา โดยโลกธรรม 8 ก็ไม่มีตัวตนที่จะเข้าไปรับสมมติเหล่านั้นจึงเรียกว่า หายตัวได้...”
สมกับที่ครูอาจารย์ของท่านคือ พระมหารัชมังคลาจารย์ ระบุว่า ฤทธิ์เดชความอัศจรรย์จูงให้เกิดความเชื่อมั่นได้ก็จริงแต่หาใช่ข้อมุ่งหมายแท้จริงทางพระพุทธศาสนาไม่เพราะพระพุทธศาสนานั้นมุ่งสอนให้ปฏิบัติเพื่อหลุดพ้นจากทุกข์ต่างหาก
คำเทศน์สอนของคุณแม่บุญเรือนเน้นไปที่การปฏิบัติเพื่อเข้าถึงพุทธธรรม
ท่านบอกถึงหนทางของการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงพุทธธรรมไว้ว่า ผู้ที่จะเข้าถึงพุทธธรรมต้องเชื่อมั่นในความตรัสรู้จริงของพระพุทธเจ้า การจะทำสมาธิลุล่วงตามแบบพระพุทธองค์นั้นต้องรักษาศีลให้บริสุทธิ์ด้วย ถ้าศีลไม่วิสุทธิ์ก็จะเสียเวลาเปล่า
ท่านว่า กายวาจาใจทั้ง 3 อย่างนี้ฝึกไม่ยาก วิธีง่ายๆ คือ พิจารณาว่าสังขารร่างกายของเรามีอะไรน่ารักบ้าง ดูให้ละเอียด พิจารณา ผม ขน เล็บ หนัง ฟัน หู จมูก ให้เกิดธรรมสังเวช
ถ้าเกิดธรรมสังเวชเมื่อไหร่ให้เร่งรีบเพ่งดูให้ชัด
การรักษาศีลนั้นต้องสังวรในอินทรีย์ 5 เช่น ตาเห็นรูปก็ไม่ยินดีในรูป ได้กลิ่นของหอมก็รู้ทันว่านี่ของหอม ถ้าได้กลิ่นเหม็นก็ควรพิจารณาตนในตน ไม่ติชมเรื่องอาหาร จืดมีน้ำปลาก็เติมได้ ไม่มีก็ไม่ต้องเรียกร้องเอา บริโภคตามมีตามเกิด
การจะรักษาศีลให้มั่นเพื่อเข้าถึงคุณพระรัตนตรัยต้องมีสัจจะเป็นรากฐาน
“มีศีลแล้วจะไม่ล่วงศีลโดยการทุศีล ต้องรักษาโดยความไม่ประมาทหมดจด ไม่ลักลั่นสับสนด้วยจิตเมตตา ไม่ฆ่าสัจจะของตนโดยความไม่ประมาทหมดจด ไม่ลักลั่นสับสนด้วยจิตแผ่เมตตา ไม่ฆ่าสัจจะของตนด้วยความมั่นคงไม่ท้อถอย”
ท่านว่า ถ้ามีศรัทธาบารมีอันแก่กล้าโดยสัจจะจะเจตนาวิรัติให้เด็ดขาด อาจเข้าถึงพุทธธรรมที่แท้ได้โดยง่าย
ง่ายเพราะผู้ที่รักษาศีลได้ต้องมีทิฏฐิเห็นตรงต่อองค์มรรคเป็นเบื้องต้นอยู่แล้ว และการรักษาศีลได้ก็ต้องมีความเพียรในอิริยาบถ ทั้ง 4 ซึ่งต้องมีสติกำกับอยู่
ถ้าสำรวม กาย วาจา ใจ ได้ก็ย่อมขัดเกลาความโลภ ความโกรธ ความหลงได้ และถ้าทำความดีให้เต็มรอบ ละโลภ โกรธ หลง ให้เด็ดขาดได้เมื่อไหร่ก็จะเป็นไทแก่ตัวเมื่อนั้น
คุณแม่บุญเรือนนิยมทำสมาธิแบบลืมตา มากกว่าหลับตาเพราะท่านว่า การเจริญกรรมฐาน 40 หรือ พุทโธ อรหัง อานาปานสตินั้นเรียนยาก ไม่เหมือนกับเรียนแค่สติปัฏฐาน 4
ท่านว่า การภาวนานั้นมีอารมณ์เจือปนอยู่ด้วย ถ้าจิตยังไม่ตกกระแสธรรมจะหลงไปตามมโนภาพที่เห็นโน่นนี่หรือเห็นแสง หลับตาระลึกมากๆ เข้าก็ตกเป็นทาสของอารมณ์ แต่ถ้าลืมตาทำสมาธิโดยใช้สติปัฏฐาน 4 หรืออานาปา
“เพียงแต่กำหนดให้เอาใจไว้ในกาย ทำใจให้รู้ว่า หายใจได้อยู่เท่านั้น พอจิตส่องไปรับอารมณ์ภายนอกเข้ามาก็ให้รู้เท่าว่าจิตออกนอกกาย ให้มีสติกำหนดรู้ทุกอิริยาบถ
ถ้าจะทำกรรมฐานอย่างสมัยใหม่ ต้องรู้เท่าว่า ลืมตาเห็นรูป ก็ให้จิตอยู่ในกาย ไม่ให้รับอารมณ์ที่ส่องเข้ามาภายใน
พยายามทำสมาธิด้วยจิตที่มีศีล เป็นประดุจนายบ้านที่มีประตูกั้นแข็งแรงและมีกระดิ่งอาณัติสัญญาณ เครื่องหมายเปิดประตู เหตุภายนอกเหมือนคนที่กดกริ่ง อารมณ์เหมือนเสียงกระดิ่งที่แล่นมาตามสายหรือกระดิ่งไฟฟ้า เป็นต้น สติสัมปชัญญะเป็นประดุจนายบ้านที่มีสมาธิอยู่ในตัว อาจรู้เท่าว่า ใครคนดีหรือคนชั่วที่จะเข้ามาในบ้านนั้นเพราะเห็นก่อนที่จะเปิดประตูให้ ถ้าคนร้ายก็ไม่ยอมเปิดรับ ผู้ทำสมาธิก็เช่นกัน จะเป็นเหตุดีหรือเหตุชั่วก็อาจรู้ได้โดยความเห็นด้วยปัญญาต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ขั้นต้นยังแยกกันไม่ได้ ต้องมีสติ ขันติ สมาธิ จึงจะมั่น พอสมาธิมั่นใจก็จะมีแสงสว่าง ประดุจแสงไฟฟ้าหรือแสงจันทร์จึงจะป้องกันอารมณ์ภายนอกได้...”
ท่านว่า จะทำสมาธิหลับตา หรือลืมตาก็แล้วแต่จริตแต่กุศลของการทำสมาธิไม่ว่าหลับตาหรือลืมตาทั้ง 2 ประการนี้ถ้าเพียรจริงๆ ก็คงข้ามโอฆกันดารคือ ทิฏฐิ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน สิ้นชาติ สิ้นกันดาร มีพระนิพพานเป็นที่ไปได้เหมือนพระพุทธองค์
ท่านว่า “พระนิพพานไม่ใช่ไกล ถ้าค้นพบ จะเห็นเอง เพราะรู้ว่าผู้ใดรับประทาน ผู้นั้นต้องอิ่มเอง”
คุณแม่บุญเรือนจากไป เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2507 ท่านจะรู้และอิ่มเอมเพียงไร ไม่มีใครทราบ มีแต่ท่านเท่านั้นที่รู้เอง อิ่มเอง