posttoday

Ligament : เอ็นกระดูก

02 มิถุนายน 2561

เอ็นกระดูกมีส่วนผสมของคอลลาเจน ทำให้เกิดความเหนียวและสั้น มีการเรียงตัวหนาแน่นเป็นระเบียบ

โดย: ภัชภิชา แก้วสุวรรณสุข (ครูเจี๊ยบ) ผู้ก่อตั้ง Japayatri Yoga Style โยคะสุตรา สตูดิโอ www.YogaSutraThai.com

เอ็นกระดูกมีส่วนผสมของคอลลาเจน ทำให้เกิดความเหนียวและสั้น มีการเรียงตัวหนาแน่นเป็นระเบียบ ทำหน้าที่ยึดระหว่างกระดูก 2 ท่อนบริเวณข้อต่อให้ติดกัน มีหน้าที่ช่วยในการเคลื่อนไหวของกระดูกและข้อต่างๆ

สำหรับเส้นเอ็นในกระดูกที่มีสีขาวจะเต็มไปด้วยเส้นใยคอลลาเจน แต่ไม่มีความยืดหยุ่น ส่วนเส้นเอ็นในกระดูกที่มีสีเหลืองมีความยืดหยุ่นได้บ้าง เส้นเอ็นจะทำหน้าที่เสริมแรงและช่วยรักษาเสถียรภาพของข้อต่อ แต่หากถูกยืดมากเกินไปบ่อยๆ อาจส่งผลให้เอ็นไม่กลับสภาพเดิม ทำให้ข้อต่ออ่อนแอลง ในกรณีที่เลวร้ายอาจเกิดการบาดเจ็บในอนาคต ส่งผลให้เกิดข้อเคลื่อนหรือข้อเสื่อมได้ ดังนั้นการคงสภาพด้วยการสร้างความสมดุลต้องเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อต่อ รวมทั้งระวังการยืดที่มากเกินไป

เนื่องจากเส้นเอ็นในกระดูกไม่ได้ออกแบบมาให้ยืดเกิน เพราะเมื่อถูกยืดแล้วมันไม่สามารถคืนกลับมาได้เหมือนกับกล้ามเนื้อ การสร้างความยืดหยุ่นที่พอดีหรือเพื่อส่งเสริมสุขภาพเป็นเรื่องที่ดี แต่หากมากเกินไปจะสร้างปัญหาให้เราได้

สิ่งที่สำคัญคือการสร้างความสมดุล ความมั่นคง ควบคู่กันไปทั้งความแข็งแรงและความยืดหยุ่นด้วยการเลือกรูปแบบการฝึกโยคะอาสนะที่เหมาะสมกับตัวเอง เช่น สำหรับคนที่ตัวแข็งมากๆ (รูป 1, 2) หรือพูดง่ายๆ คือ พิสัยการเคลื่อนไหว (Range of Motion, R.O.M.)ไม่ดีหรือลดลงและมีข้อจำกัดมาก ไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อต่อได้ตามประสิทธิภาพของข้อ การยืดที่มากเกินไปคงไม่อาจเกิดขึ้นได้

ผู้อ่านบางท่านอาจตั้งคำถามในใจว่า แล้วที่ว่ามากเกินไปคือแค่ไหน อะไรเป็นตัวกำหนด สิ่งที่จะบอกเราได้ สิ่งแรกคือ ความรู้สึกของเราเองขณะฝึก หากเกิดความทรมาน ความเครียด หรือต้องใช้ความพยายามอย่างมาก รวมทั้งเกิดความเจ็บปวดที่มากเกินขอบเขตเกินไปจนน้ำตาแทบไหล นั่นคือสัญญาณเตือน สำหรับคนกลุ่มนี้การพัฒนาความยืดหยุ่นเป็นสิ่งจำเป็น คุณต้องเสริมเข้าไป แต่สำหรับคนที่มีความยืดหยุ่นดีอยู่แล้วเป็นพิเศษจะมีความเสี่ยงมากกว่าในกรณีนี้ (รูป 4)

บางครั้งคุณจะไม่เจอสัญญาณที่บอกมาข้างต้น คุณอาจจะทำมากๆ ต่อไปโดยไม่รู้ตัว เพราะคนกลุ่มนี้บางคนได้เกิดอาการข้อต่อหลวมไปเรียบร้อยแล้วไม่มากก็น้อย ในตอนนี้เมื่อคุณสังเกตตัวเองและยอมรับได้แล้วว่าคุณเป็นเช่นนั้น ให้หยุดตัวเองกับการฝึกที่มากเกินพอดี แล้วเสริมสมดุลด้วยการสร้างความแข็งแรงเข้าไปแทน

หากเราไม่รู้ตัวตน นั่นเป็นเพราะเราไม่มีสมาธิ ช่วงเวลาที่เราได้ฝึกโยคะอาสนะคือช่วงเวลาที่เราได้อยู่กับตัวเอง กาย-ใจ-ลมหายใจ เชื่อมโยง ในความอ่อนโยนและความละเอียดอ่อนเกิดขึ้น ผู้ฝึกจึงต้องเฝ้าสังเกต มีสติ เราจึงสามารถรับรู้สิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นได้