รัชฎา นาคเจริญศรี เร็ว แรง ท้าทายทุกสนามชีวิต
ความเร็วบนหลังอานจักรยานยนต์คันโตไม่ได้มีไว้สำหรับบุรุษเพศเท่านั้น แต่ตอนนี้อิสตรี รูปร่างอรชร
โดย มัลลิกา นามสง่า
ความเร็วบนหลังอานจักรยานยนต์คันโตไม่ได้มีไว้สำหรับบุรุษเพศเท่านั้น แต่ตอนนี้อิสตรี รูปร่างอรชร ก็สามารถยึดพื้นที่และกลายเป็นเจ้าแห่งความเร็วความแรงในสนามแข่งรถได้เช่นกัน
“ตาล-รัชฎา นาคเจริญศรี” หรือที่วงการมอเตอร์สปอร์ตรู้จักในนาม “The Unstoppable Tann” นักบิดสาวผู้ท้าทายทุกหัวใจ สร้างปรากฏการณ์คว้าแชมป์ประเทศไทย R2M Super Bikes Power Girls และเข้าเส้นชัยแซงหน้าชายชาตรีมาหลายสนาม
ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันรุ่นใหญ่ในประเทศ R2M Thailand Super Bikes ณ สนามแข่งรถไทยแลนด์ เซอร์กิต นครชัยศรี ในรายการ R2M Super Bikes Power Girls 1000 Professional (WS-1) สามารถคว้าแชมป์ประเทศไทยมาครองได้ 2 ปีซ้อน
สนามแข่งขันที่เธอภูมิใจมากที่สุด เพราะสามารถขับเคี่ยวกับนักแข่งชายระดับหัวแถวของประเทศไทยในการแข่งขัน PTT BRIC SuperBikes 2017 ณ สนามแข่งรถช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต บุรีรัมย์ ในรุ่น Super Stocks 1000 (ST-1)
สามารถทำ Best Lap คือทำเวลาต่อรอบได้ในเวลาใกล้เคียงกับแชมป์ประเทศไทยที่เป็นผู้ชาย ซึ่งเก็บคะแนนสะสมซูเปอร์ไบค์ชิงแชมป์ประเทศไทย FMSCT All Thailand Super Bikes Championship เป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมายมากสำหรับผู้หญิงคนหนึ่งเลยทีเดียวที่สามารถทำได้
อีกสนามที่ทำให้ชีวิตบนหลังอานซูเปอร์ไบค์เข้าใกล้คำว่าประสบความสำเร็จสูงสุด คือได้รับสิทธิพิเศษ (Wildcard) จากสมาพันธ์กีฬาแข่งรถจักรยานยนต์แห่งประเทศไทย (FMSCT) เข้าร่วมแข่งขันซูเปอร์สปอร์ต 600 ซีซี ในรายการ FIM Asia Road Racing Championship 2017 สนามชิงชนะเลิศ ณ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต บุรีรัมย์ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็น “หญิงไทย” คนเดียวในการแข่งขันซูเปอร์สปอร์ต 600 ซีซี ชิงแชมป์เอเชีย
ผู้หญิงกับความเร็ว ผู้หญิงกับการแข่งขัน ผู้หญิงกับซูเปอร์ไบค์ ในยุคนี้อาจไม่ใช่เรื่องแปลก ทว่าการที่จะทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุดในอาชีพนักบิดนั้นไม่ได้เป็นกันง่ายๆ
ปัจจุบันตาลเป็นกัปตัน “TS SuperBike Racing Team” ทีมแข่งรถจักรยานยนต์ซูเปอร์ไบค์ไทยในสากล โดยการสนับสนุนจาก PTT Lubbricant, Yamaha และ KYT Helmet และได้สิทธิพิเศษในการเข้าร่วมแข่งขันชิงแชมป์เอเชีย FIM Asia Road Racing 2018 สนามชิงชนะเลิศที่บุรีรัมย์ ปลายปี 2561 จากสมาพันธ์กีฬาแข่งรถจักรยานยนต์แห่งประเทศไทย (FMSCT)
เด็กหญิงผู้หลงใหลความเร็ว
ตาลเป็นลูกสาวคนเล็กของ “วีระ นาคเจริญศรี” อดีตแชมป์ซูเบอร์ไบค์ ทำให้คุ้นเคยกับการแข่งขันจักรยานยนต์มาตั้งแต่เด็ก
เมื่ออายุ 6 ขวบ ตาลสวมจิตวิญญาณนักบิดกับมอเตอร์ไซค์วิบากคันเล็กคันแรกที่ขี่ไปล้มไป หากในแววตาจิ๋วคู่นั้นไม่มีวี่แววกลัวเจ็บ
ในครอบครัวนาคเจริญศรี ยังมีนักแข่งรถฝีมือดีอีกคน คือ “ซุปต้า-อนุชา นาคเจริญศรี” นักแข่งซูเปอร์ไบค์เบอร์หนึ่งของทีมโรงงาน Yamaha Riders Club Racing Team และดีกรีแชมป์ประเทศไทยซูเปอร์ไบค์หลายปีซ้อน
นอกจากตาลตามเกาะติดดูการแข่งขันของคุณพ่อวีระ ทุกสนามตั้งแต่ยังเล็กๆ โตมาหน่อยก็ร้องขอลงแข่งตามพี่ชาย
ด้วยความเป็นเด็กอยากเรียนรู้ โลกของเธอใหม่มากบนลานกว้างของสนามแข่ง ล้มลุกคลุกคลานบนลานนั้นกับมอเตอร์ไซค์คันโปรดวันแล้ววันเล่า บาดแผลมากมายในวัยเด็กที่ปราศจากชุดป้องกันหล่อหลอมให้แกร่งและพร้อมก่อนจะถึงเวลาลงสนามแข่งขันจริง
“กว่าจะได้แข่งจริง แผลเต็มไปหมดค่ะ ฝึกขี่เอง ล้มแล้วก็ลุกมาขี่ใหม่ มีพ่อคอยดูอยู่ห่างๆ ช่วงเด็กไม่มีรุ่นแข่งก็พยายามฝึกขี่ แล้วตามพ่อไปดูพี่ซุปแข่งตลอดค่ะ”
ในวัย 10 ขวบ สนามแข่งแรก คือ การแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบ Elf Midday Racing ณ สนามแข่งรถไทยแลนด์ เซอร์กิต นครชัยศรี ชิงแชมป์ประเทศไทย ของสมาพันธ์กีฬาแข่งรถจักรยานยนต์แห่งประเทศไทย (FMSCT) และสมาคมกีฬาแข่งรถจักรยานยนต์แห่งประเทศไทย (MSAT)
ต่อมาได้เข้าร่วมการแข่งขันรายการ Shell Advance Thailand Road Racing ในรุ่น Wave 125 ซีซี กับสปีดความเร็วที่เหลือเชื่อ 150-160 กิโลเมตร/ชั่วโมง สำหรับเด็กหญิงอายุ 11 ขวบ ณ สนามแข่งรถไทยแลนด์ เซอร์กิต นครชัยศรี อีกเช่นเคย
เป็นนักแข่งผู้หญิงคนเดียว ซ้ำยังอายุน้อยสุดในรายการที่ได้แชมป์ประเทศไทย จนได้รับฉายาว่า “โมโมโกะ สี่แยกบ้านแขก” (โมโมโกะ นักแข่งรถจักรยานยนต์สาวชาวญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงมากในประเทศไทยในขณะนั้น)
“หลังจากได้ที่หนึ่ง คุณพ่อก็จริงจัง โดยให้ฝึกซ้อมอยู่ที่บ้าน ทั้งฝึกซ้อมเอง ทั้งกับพี่ซุปด้วย ตั้งกรวยไว้แล้วให้ขี่เป็นตัวเอส (S) เทโค้งและก็ไปขี่ซ้อมในสนามไทยแลนด์ เซอร์กิต นครชัยศรี บ่อยๆ ซึ่งเป็นสนามแข่งที่สร้างชีวิตนักแข่งไทยตามคอนเซ็ปต์ ชีวิตนักแข่งเริ่มต้นที่นี่
ในการซ้อมแต่ละครั้งก็มีอุปสรรคเยอะ ตาลเคยล้ม ล้มเพราะว่าตอนนั้นขี่รุ่นผู้หญิง แต่สนามต่อมาคุณพ่อให้ขยับไปขี่รุ่นผู้ชาย ช่วงนั้นก็ค่อนข้างโดนกดดันเยอะ
ตอนนั้นคุณพ่อคงเห็นแววของตาลแล้วก็เลยดันเต็มที่ แล้วเรื่องฟิตร่างกายสำคัญ ตาลตัวเล็กต้องออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อแข็งแรง
ให้มาซ้อมทุกอาทิตย์ ก็มีปัญหาเรียนไม่เคยทันเพื่อนเลย นอกจากซ้อมแล้ว ยังมีแข่งเดือนละ 2 ครั้ง มีแข่งวันพุธด้วย ต้องขาดเรียน”
ตั้งแต่วันนั้น ตารางการฝึกซ้อมและการแข่งขันของเธอก็แน่น การฟิตซ้อมร่างกายคือหัวใจสำคัญ เพราะต้องแบกรับและควบคุมมอเตอร์ไซค์รุ่นใหญ่สำหรับผู้ชายในร่างกายอันบอบบางของผู้หญิง
“ตาลเน้นออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งค่ะ เล่นกีฬาทุกประเภท เพราะเป็นนักกีฬาของโรงเรียนด้วย ไม่ว่าจะวิ่ง เล่นบาสเกตบอล ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ
ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 4 ชั่วโมง แต่ไม่ถึงขั้นออกกำลังกายตลอดเวลา เน้นผ่อนคลายและสนุกกับมัน ตื่น 7 โมงเช้า ออกไปวิ่งแถวบ้าน ระยะทางประมาณ 4-5 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
จากนั้นออกกำลังกายอีกทีในช่วงบ่าย 2 โมง ปั่นจักรยานบ้าง เล่นบาสบ้าง หรือว่ายน้ำ แล้วแต่ว่าวันนั้นตาลอยากจะเล่นอะไร ตาลใช้เวลาในช่วงบ่ายประมาณ 2 ชั่วโมง
ออกกำลังกายอีกทีคือช่วงประมาณ 1-3 ทุ่ม ยกเวต ออกกำลังกายที่เน้นแขนและขา เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ร่างกาย เนื่องจากต้องใช้กำลังมากเวลาอยู่บนอานมอเตอร์ไซค์
การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะทำให้ร่างกายอยู่ตัว โดยจะค่อยๆ เพิ่มน้ำหนักเวตขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งของร่างกาย”
สำหรับอาหารการกิน ตาลก็ให้ความสำคัญมาก “ตาลไม่ดื่มแอลกอฮอล์ เน้นดื่มน้ำผลไม้ นม และกินเนื้อสัตว์ เช้าๆ ตาลจะดื่มซุปไก่และไข่ไก่ลวก ตาลกินไข่ไก่ลวกวันละ 5 ฟองเลยค่ะ
ตาลดูแลสุขภาพและร่างกายมาก เนื่องจากเป็นกีฬากลางแจ้ง ต้องเจอแดด เจอฝน ตาลจึงต้องเน้นดูแลสุขภาพและผิวพรรณเป็นอย่างดีค่ะ นอนไม่เกิน 4 ทุ่ม ตื่นเช้ามาร่างกายจะได้สดชื่นและแข็งแรง ตาลปฏิบัติแบบนี้ทุกวันค่ะ”
ชัยชนะหลายๆ ครั้งจากการลงแข่งขัน ยิ่งทำให้เธอหลงรักในมอเตอร์สปอร์ตมากขึ้น จนคาดหวังไว้ว่า อยากเป็นนักแข่งผู้หญิงที่เก่งที่สุดของโลกอีกด้วย
ว่างจากการแข่งเธอก็ไม่เคยละเว้นการซ้อม จนได้เป็นตัวแทนคนไทยเข้าร่วมการแข่งขันรถจักรยานยนต์ประเภทมาราธอน หรือ เอนดูรานซ์ (Endurance) 4 ชั่วโมง ที่สนามเซปัง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ประเทศมาเลเซีย มีเข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 80 ทีม เธอสามารถคว้าอันดับที่ 5 มาครอง
“เป็นความรู้สึกที่ยอดเยี่ยม สามารถสู้กับนักแข่งชายหลายประเทศทั่วเอเชีย และสามารถนำธงชาติไทยขึ้นโพเดียมได้สำเร็จค่ะ”
ในปี 2019 จะมีการแข่งขันเอนดูรานซ์ เป้าหมายของตาล คือ อยากเป็นผู้ชนะเลิศในการแข่งขัน R2M 8 Endurance 2019 เพื่อจะได้รับสิทธิจากสมาพันธ์กีฬาแข่งรถจักรยานยนต์แห่งประเทศไทย (FMSCT) และสโมสร R2M Club ไปร่วมการแข่งขันเอนดูรานซ์ในรายการ Suzuka 4 Hours 2019 ณ สนามแข่งรถซูซูกะ ประเทศญี่ปุ่น
สาวห้าว เลือดร้อนและเกเร
การขยับจากการแข่งขันรุ่นสำหรับผู้หญิงไปเป็นการแข่งขันรุ่นสำหรับผู้ชาย แน่นอนว่าย่อมเป็นสิ่งที่ท้าทาย และมีเสียงเย้ยหยันว่าผู้หญิงจะทำได้หรือ
หากเธอเปลี่ยนแรงกดดันมาเป็นพลังให้มุ่งมั่นที่จะทำในสิ่งที่ฝันไว้ให้เป็นจริงให้ได้ นั้นคือ แข่งขันบนสนามเดียวกันกับผู้ชายและเอาชนะให้ได้!!!
“กีฬาแข่งรถการกระทบกระทั่งเป็นเรื่องปกติ ทุกคนก็อยากจะได้ชัยชนะ สมัยก่อนขี่ทางตรงมาแล้วโบกนิดหนึ่งก็หาว่าแกล้งแล้ว ก็กลายไปเป็นประเด็นที่ทะเลาะกัน
ดราม่าที่ตาลโดนหนักสุดตอนนั้นเริ่มแข่งรุ่นผู้ชาย มีเหตุการณ์รุนแรง จำได้ว่าตาลโดนชน ล้มค่อนข้างแรงเพราะเป็นจังหวะทางตรง ศอกเลือดไหลไม่หยุดเลยต้องเย็บสดตรงนั้น
เราคะแนนนำมาตลอด เหลือการแข่งอีกสนามหนึ่ง แค่เข้าเส้นชัยเราก็ได้แชมป์แล้ว แต่ว่าโดนทีมคู่แข่งชน ก็ให้เพื่อนร่วมทีมเราอีกคนเข้าเส้นชัยแทน ทำให้ตาลพลาดแชมป์ไป เสียใจมาก
มีหลายเหตุการณ์ที่ถึงขั้นกระทบกระทั่งกันในสนาม จบการแข่งขันแล้วก็ยังไม่ยอมกัน แล้วในวัยนั้นตาลใจร้อนมาก จนมีหลายคนพูดถึงตาลว่า เป็นคนที่ขี่รถเกเร คือจริงๆ ตาลไม่ได้เป็นคนที่ขี่รถเกเรหรอก แต่ตาลขี่แบบห้าวๆ ชอบขี่โบกไปโบกมาอะไรอย่างงี้ แต่คนอื่นเขาก็คิดว่าตาลเกเรไปกวน ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นให้มีการปะทะกันเกิดขึ้น และก็กลายเป็นจุดอ่อนให้ถูกโจมตีจากคู่แข่ง
แต่เวลาตาลมีเรื่องพี่ซุปจะเป็นคนปกป้องตาลตลอด ตาลไม่ค่อยออกตัวเอง บางครั้งเรายังขี่อยู่หรือว่าเราอยู่ในสนามพี่เราก็จะไปก่อนตลอด”
ด้วยความที่เป็นผู้หญิงไปแข่งในสนามเดียวกับผู้ชาย เมื่อจบเกมคู่แข่งเดินเข้ามาถีบรถของเธอ เพราะไม่รู้เป็นผู้หญิงก็เคยมี
ในการแข่งขันต่างประเทศถูกรุมเบียดในสนาม 3 ต่อ 1 ก็มีมาแล้ว แต่เมื่อเธอถอดหมวกกันน็อกออกทุกคนถึงได้รู้ว่าคือผู้หญิง และได้รับการยอมรับและเสียงปรบมือของเจ้าภาพในที่สุด
“เคยเจอเคสในต่างประเทศ เป็นรายการชิงแชมป์เอเชีย FIM Asia Road Racing โดนผู้ชาย 3 คนรุม แล้วมีตาลคนเดียวที่เป็นผู้หญิงไทยคนเดียว ตอนนั้นเป็นรอบสุดท้ายแล้วที่จะชิงเอาที่ 1 กัน
ตาลโดนรุมด้วยการบีบ ขี่ทางตรงเขาก็แซงเราซ้ายขวา หรือเวลาที่ตาลแซงโค้งไปแล้วเขาแซงโค้งตาลกลับเขาจะดันให้ตาลหลุด
ตอนนั้นเขาไม่รู้ว่าตาลเป็นผู้หญิงเพราะตาลตัดผมสั้น จนกระทั่งตาลโมโห เราโดนรุม 3 คน ตอนนั้นก็เอาขาถีบล้อหน้ารถเขา คนประเทศเขาก็แอนตี้เราโห่กันทั้งสนาม
พอแข่งเสร็จ จำได้ว่าเข้าที่ 2 ตอนที่ขึ้นรับรางวัลแล้วถอดหมวก ผู้ประกาศบอกว่าเป็นผู้หญิง ทุกคนก็ปรบมือหมดเลย กลายเป็นว่าทุกคนแฮปปี้ เขาชอบในการขี่รถของเรา แต่ถ้าถามว่าทำรุนแรงไหมเราก็ทำแรง ตอนนั้นเลือดร้อนไปนิดค่ะ
ในการแข่งก็ไม่ได้ระวังตัวมากขึ้น รอบหลังๆ ตาลเริ่มทิ้งระยะห่างออกมาแล้วก็เลยไม่มีปัญหาอะไร วิธีหนีก็คือขับออกให้ไกลกว่าเขาไว้แค่นั้น แต่การแข่งขันในรุ่นผู้ชายจะมีดราม่าน้อยกว่าผู้หญิง ไม่ค่อยมานั่งคิดอะไรมากมาย แต่ว่าผู้หญิงจะคิดเล็กคิดน้อยก็เลยจะกลายเป็นเรื่องดราม่า แบบนี้ตาลถึงชอบแข่งกับผู้ชาย”
จนกระทั่งช่วงหลังเริ่มเติบโตขึ้นทางความคิด และเปลี่ยนรุ่นแข่งขันมาเป็นซูเปอร์ไบค์ ทำให้เธอนิ่งขึ้น มีสมาธิมากขึ้น โดยเฉพาะการขี่รถซูเปอร์ไบค์ ซึ่งยากและหนักสำหรับผู้หญิงตัวเล็กๆ ต้องใช้พลังและสมาธิมากอย่างเทียบกันไม่ได้กับรุ่นเล็ก
“ใช้ความพยายามและระยะเวลาในการปรับตัวนานพอสมควร แต่พอสนามแรกที่ลงแข่งได้ที่ 1 ตาลก็ได้สรุปบทเรียนให้ตัวเองว่า ความสำเร็จย่อมได้มาจากการแลกด้วยความมุ่งมั่นพยายามและความเชี่ยวชาญที่เกิดจากการฝึกซ้อมที่อดทน
ซ้อมเยอะๆ ยิ่งได้เปรียบคนอื่น เรียนรู้ได้เร็วกว่าคนอื่นค่ะ เพราะเวลาซ้อมจะทำให้เราได้เรียนรู้เทคนิคเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา ความรู้มีให้หาทุกวัน เราต้องเรียนรู้เทคนิคต่างๆ ของรถและตัวเราเองค่ะ โดยทุกอย่างอยู่ที่ใจเรา
สมาธิก็เป็นสิ่งสำคัญนะคะ ตาลมีจุดมุ่งหมายและมุ่งมั่น สมาธิจะมาเอง ส่วนเรื่องความเครียดไม่ค่อยมีค่ะ เพราะตาลคิดว่ากีฬาแข่งรถจักรยานยนต์เป็นกีฬาที่เราไม่สามารถทำทุกอย่างได้เพอร์เฟกต์ ตาลทำเต็มที่แล้ว ตาลจะยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น และพัฒนาตัวเองต่อไปอย่างไม่ย่อท้อค่ะ”
ผู้หญิงแกร่งผู้กุมความแรงซูเบอร์ไบค์
ในปี 2014 ถือเป็นการเริ่มต้นโปรแกรมการแข่งขันรายการ R2M Thailand SuperBikes ซึ่งเป็นการแข่งขันรถจักรยานยนต์ประเภทซูเปอร์ไบค์ 1000 ซีซี ซูเปอร์สปอร์ต 600 ซีซี นับเป็น Super Bike Series ซึ่งมีแพลตฟอร์มเป็นระบบมากที่สุดในบรรดาการแข่งขันที่ใช้รถซูเปอร์ไบค์
ที่สำคัญมีการแข่งขันซูเปอร์ไบค์หญิงล้วน หรือที่รู้จักกันในโครงการ R2M Super Bikes Power Girls ซึ่งสร้างนักกีฬาสาวที่รักความเร็วสู่สงครามนางฟ้าบนอานมอเตอร์ไซค์สู่ระดับนานาชาติ ของสมาพันธ์รถจักรยานยนต์นานาชาติ หรือ FIM (เจ้าของรายการแข่งรถจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลก เช่น รายการ MotoGP, MXGP)
ตั้งแต่เปลี่ยนรุ่นมาแข่งซูเปอร์ไบค์ ต้องฝึกฝนเพิ่มเติมคือ การทำพาวเวอร์ สไลด์ (Power Slide) คือการขับมาทางตรงแล้วเข้าโค้ง ต้องสไลด์ล้อหลัง มันก็คือการดริฟต์นั้นละ ซึ่งมีนักแข่งไม่กี่คนที่สามารถทำได้ ส่วนมากเป็นนักแข่งระดับหัวแถวของประเทศ
การทำพาวเวอร์ สไลด์ จำเป็นในขณะที่อยู่ในความเร็วสูงเพื่อควบคุมรถให้ได้ ต้องอาศัยจิตใจที่กล้าหาญพอสมควร
“ตาลล้มมาเยอะแล้ว กว่าจะถึงจุดที่ พาวเวอร์ สไลด์ ได้ บางคนสไลด์ด้วยการใช้เบรก บางคนสไลด์ด้วยการควบคุมความเร็ว เป็นการถ่ายเทน้ำหนักของรถแบบที่ตาลทำ เราก็ใช้การทรงตัวของเราช่วยด้วยกว่าที่จะมาถึงจุดนี้ได้ก็ใช้ใจมาเยอะแล้วก็ใช้ความกล้า
แล้วความเร็วบนถนนนี่มันคิดอะไรไม่ทันนะ กะพริบตาทีหนึ่งก็คือหลุดโค้งไปแล้ว คนทั่วไปอาจจะดูว่าง่าย หลายคนบอกให้ตาลสอนพาวเวอร์ สไลด์ แต่ตาลบอกว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย ตาลใช้ยารักษาแผลหมดไปตั้งเยอะ
สำหรับกฎระเบียบในการซ้อมที่สนามแข่งขัน ตาลไปซ้อมสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง การซ้อมอย่างสม่ำเสมอจะทำให้เราขี่เร็วมากยิ่งขึ้น รู้เทคนิคเพิ่มเติมในสนามแข่งมากยิ่งขึ้น
สนามไทยแลนด์ เซอร์กิต นครชัยศรี ตาลไปค่อนข้างบ่อย เพราะมีโค้งเยอะ ถึงเป็นสนามเล็กๆ แต่เป็นสนามที่ตาลคิดว่าขี่ยากมาก เพราะเราต้องเป๊ะมากๆ ต้องควบคุมรถให้ได้ในโค้งแต่ละโค้ง
ตาลมักได้ทักษะใหม่ๆ การเลี้ยวโค้งแบบใหม่ๆ ประสบการณ์หาได้ทุกวัน ตาลเชื่อว่าถ้าขี่ที่นี่ได้ ไปที่ไหนก็สบาย สามารถนำประสบการณ์นี้ไปใช้กับสนามแข่งขันที่อื่นได้ค่ะ”
ทุกสนามเธอหาได้หวั่นกับคู่แข่งที่เป็นผู้ชาย ซึ่งได้เปรียบเธอในเรื่องความแข็งแรง เธอจะมองหาจุดอ่อนในตัวเองและจัดการแก้ไขมัน
“ตาลมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง มาจากพื้นฐานการฝึกฝนจากครอบครัว ถ้าเรามั่นใจว่าชนะยังไงเราก็ชนะ”
นี่คือผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่สร้างสีสันในวงการแข่งขันระดับซูเปอร์ไบค์ รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักแข่งรุ่นใหม่ๆ ที่จะก้าวตามเธอไปบนสนามแข่งที่อบอวลไปด้วยกลิ่นน้ำมันเครื่องและกลิ่นไหม้ของยางที่บดขยี้ลงบนพื้นสนาม &O5532;