มหิดลอินเตอร์ นานาชาติที่ศาลายา
การเรียนภาษาอังกฤษผ่านโปรแกรมอินเตอร์นานาชาติได้รับความนิยมมากขึ้น ไม่ว่าในระดับมหาวิทยาลัย มัธยม ประถมศึกษา กระทั่งอนุบาล
โดย ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม
การเรียนภาษาอังกฤษผ่านโปรแกรมอินเตอร์นานาชาติได้รับความนิยมมากขึ้น ไม่ว่าในระดับมหาวิทยาลัย มัธยม ประถมศึกษา กระทั่งอนุบาล
ปัจจุบันสถาบันการศึกษาชั้นนำหลายแห่งแข่งกันเปิดหลักสูตรนานาชาติรองรับกับความต้องการของตลาดการศึกษา และความเป็นเออีซีประชาคมอาเซียนในโลกที่เปิดอย่างไร้พรมแดน
ทว่า หลายคำถามก่อนสมัครเรียน และสอบเข้า ด้วยค่าเทอมปีละหลักแสน สถาบันการศึกษาที่ใช้หลักสูตรอินเตอร์ที่นั่นที่นี่เป็นของแท้หรือของปลอม ได้มาตรฐานหรือไม่
กระนั้น มหาวิทยาลัยของรัฐที่เปิดหลักสูตรอินเตอร์ ได้รับการกล่าวขานมาแรงในช่วง 10 ปีหลัง หนึ่งในนั้นต้องยกให้ มหิดลอินเตอร์ (Mahidol University International College หรือ MUIC) ด้วยมาตรฐานสากล โดยเฉพาะบรรยากาศการเรียนการสอนเหมือนไปเรียนในต่างประเทศ ทั้งที่ตั้งอยู่ในศาลายา พุทธมณฑล จ.นครปฐม
ประสบการณ์ 32 ปี มาตรฐานอันดับโลก
“เราเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งแรกที่เปิดหลักสูตรนานาชาติ สอนระดับปริญญาตรี ช่วงแรกมีเด็ก 40 คน จากนั้นอีก 6 ปี ก็ขยายเป็น 10 เท่า 400 กว่า และก็มีจำนวนเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้น มีการสร้างอาคารของตัวเอง ปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 32 มีนักศึกษาเกือบ 4,000 คน แม้ว่าการแข่งขันจะสูง เพราะมีสถาบันการศึกษาเปิดเยอะ และนักศึกษาในหลายมหาวิทยาลัยลดลง แต่ของมหิดลอินเตอร์ไม่มีปัญหาตรงนั้น” รศ.ดร.นพ.พิทยา จารุพูนผล คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว
“เรามีวิสัยทัศน์ คือ ทำอย่างไรให้เป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติแบบเบ็ดเสร็จ ฉะนั้น ที่นี่จึงไม่เหมือนที่อื่นเพราะทุกการเรียนการสอน 1.หลักสูตรที่สอนจะเป็นหลักสูตรนานาชาติ 2.สิ่งแวดล้อมที่นี่จะเอื้อต่อการเรียนการสอนนานาชาติ 3.บุคลากร อาจารย์ เจ้าหน้าที่ ไม่น้อยกว่าครึ่งต้องเป็นต่างชาติ”
ปัจจุบัน มหิดลอินเตอร์ มีคณาจารย์รวม 156 คน ในจำนวนนี้ 72 คนเป็นอาจารย์ไทย อีก 84 คน เป็นอาจารย์ต่างชาติ แล้วยังมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกในด้านต่างๆ อีกกว่า 150 คน รวมถึงสายสนับสนุนอีก 300 กว่าคน รวมแล้วมีบุคลากร 500 กว่าคน เมื่อเทียบกับจำนวนนักศึกษาที่มีถึง 3,800 คน ที่สำคัญอาจารย์ที่นี่หลายคนเป็นอดีตนักเรียนโอลิมปิกที่ได้เหรียญรางวัล และได้ทุนไปทำปริญญาเอก
นพ.พิทยา กล่าวว่า มหิดลอินเตอร์มีทั้งทุน มีโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาจุดแข็ง คือ ความเป็นนานาชาติเป็นที่ยอมรับ นักศึกษาต่างชาติจึงมาเรียนที่นี่มาก ปัจจุบันเราอยู่ในอันดับโลก และด้วยประสบการณ์มา 32 ปี มหาวิทยาลัยของรัฐที่มาเปิดหลักสูตรอินเตอร์ภายหลังบางแห่งก็ไม่ได้สมบูรณ์หมดบรรยากาศแบบต่างประเทศก็ไม่เหมือนที่นี่
“ถ้าออกไปดูในมหิดลอินเตอร์เด็กๆ จะสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษเหมือนต่างประเทศ อาจารย์ต่างชาติก็ผูกพัน เพราะเรามีสวัสดิการ ค่าใช้จ่าย บ้านพักให้อาจารย์ ในด้านการเรียนการสอน เราพัฒนาระบบไอที นักศึกษาสามารถเข้าไป SKYPE คุยกับอาจารย์ จองห้อง ตรวจสอบเวลาเรียน เบ็ดเสร็จอยู่ในนี้หมด ซึ่งลงทุนพอสมควร ตึกใหม่เราก็จัดระบบเป็นอาคารอเนกประสงค์ที่นักศึกษาสามารถใช้บริการได้หมดไม่ว่า เข้ามาตอนไหนก็ได้ มาตรฐานของเราไม่แตกต่างจากการเรียนในต่างประเทศ ขนาดเรียนอยู่ ฝึกงานแล้วจนได้งานและไม่กลับมาเรียนต่อก็มี เขาจ้างเพราะถือว่า นักศึกษามีความสามารถ”
หลักสูตรบูรณาการ“นันยาง-ชิบะ” ส่งนศ.แลกเปลี่ยน
กว่าจะมาถึง 32 ปีของมหิดลอินเตอร์ซึ่งเพิ่งครบรอบเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา มีพัฒนาการที่น่าสนใจ จุดเริ่มในปี 2529 สภามหาวิทยาลัยมหิดลได้อนุมัติให้จัดการศึกษาหลักสูตรนานาชาติในระดับปริญญาตรีอย่างเป็นทางการ ถือเป็นสถาบันการศึกษาของรัฐแห่งแรกที่ได้มีการเปิดหลักสูตรนานาชาติขึ้น ในชื่อว่า โครงการศึกษาปริญญาตรี สำหรับนักศึกษานานาชาติ จุดประสงค์เพื่อช่วยให้โอกาสลูกหลานของคนที่อยู่ในมหาวิทยาลัย และผู้ทำธุรกิจในต่างประเทศ
โครงการเล็กๆ ครั้งนั้น มีสำนักงานอยู่บนชั้น 2 ของอาคารคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล มีนักศึกษาเพียง 45 คน อาจารย์ประจำ 2 คน และอาจารย์พิเศษ 20 คน เปิดการเรียนการสอนสาขาวิทยาศาสตร์และการจัดการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวใน 7 วิชาเอก กระทั่งในปี 2535 ทางโครงการมีอาคารใหม่ของตัวเอง สามารถรองรับนักศึกษาจำนวน 486 คน และสอนเพิ่มขึ้นอีก 2 วิชาเอก คือ บริหารธุรกิจ และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร
จุดเปลี่ยนสำคัญ ในปี 2539 สภามหาวิทยาลัยมหิดลมีมติให้ยกระดับเป็น วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดลอย่างเป็นทางการ มีฐานะเทียบเท่ากับคณะหนึ่งของมหาวิทยาลัย อาคารเรียน 6 ชั้นของวิทยาลัยสร้างเสร็จสมบูรณ์ในอีก 2 ปีต่อมา รองรับนักศึกษาได้มากกว่า 1,000 คน และขยายหลักสูตรการศึกษา การฝึกงาน รวมถึงศูนย์ปฏิบัติการโรงแรมศาลายา พาวิลเลียน โครงการเตรียมมหาวิทยาลัย
เมื่อนักศึกษาเพิ่มขึ้น กระแสหลักสูตรนานาชาติได้รับความสนใจ “มหิดลอินเตอร์” จึงได้ขยับขยายและเป็นก้าวกระโดดของที่นี่ มีการเพิ่มวิชาเอกใหม่ๆ มีโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาต่างประเทศ ขยายอาคารสถานที่ ได้แก่ การขยายอาคาร 8 ชั้น และอาคารอทิตยาทร ที่เพิ่งสร้างเสร็จเมื่อปี 2560 ตั้งชื่อตามพระนามพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ที่ทรงเป็นศิษย์เก่าหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์
อาคารใหม่แห่งนี้มีจุดเด่นประหยัดพลังงาน มีบรรยากาศแบบสากลด้วยศิลปะสมัยใหม่ น่าเรียน มีห้องปฏิบัติการของหลักสูตรจิตรกรรมและศิลปกรรม หอแสดงศิลปะ ครบครัน
ปัจจุบัน มหิดลอินเตอร์ เปิดสอนปริญญาตรี 14 สาขาวิชา ทั้งด้านศิลปศาสตร์ วิทยาศาสตร์ บริหารธุรกิจ นิเทศศาสตร์ และหลักสูตรปริญญาโทอีก 2 สาขา นพ.พิทยา บอกว่า ทั้ง 14 สาขาวิชานั้น มีทั้งกลุ่มภาษา ศิลปะ วัฒนธรรม รวมถึงการแสดง อีกกลุ่มคือ ทางธุรกิจ และมีสาขาย่อย การตลาด การจัดการ อีกกลุ่ม คือ วิทยาศาสตร์ เช่น เคมี ชีวะ ไบโอ แต่ที่มากที่สุดคือ BA Business Administration ประมาณร้อยละ60 ของนักศึกษาทั้งหมด
“สิ่งที่คงความเป็นเลิศของนักศึกษา คือ เราเปิดโอกาสให้นักศึกษามีการแลกเปลี่ยน ในแต่ละปีมีนักศึกษามี OUTBOUND ออกไป 100-200 คน แต่เรารับนักศึกษา INBOUND ที่มาจากต่างประเทศปีละ 400-500 คน นักศึกษานานาชาติก็มีทั้งเอเชีย อาเซียน ยุโรป อเมริกา เท่าๆกันประมาณ 15-20% ทำให้บรรยากาศที่มหิดลอินเตอร์มีความเป็นนานาชาติจริงๆ”
“เรามีการลงนามร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยต่างประเทศที่จะรับนักศึกษาแลกเปลี่ยน เช่น จาก Nanyang Technological University สิงคโปร์ เขาส่งเด็กมาดูงานด้านวัฒนธรรมและภาษา และ Chiba University จากญี่ปุ่นส่งมาหลายรุ่นแล้ว ในสาขาแพทย์ หลายคนจบแล้วก็ไปต่อแพทย์ในต่างประเทศที่เรามีความร่วมมือกับ St. George’s University บางคนได้ทุนเรียนเป็นล้าน”
การลงทุนให้เป็นหลักสูตรอินเตอร์ที่ได้มาตรฐาน บรรยากาศการเรียนเหมือนในต่างประเทศ ทำให้แต่ละปี มหิดลอินเตอร์มีค่าใช้จ่ายสูง แต่มหิดลอินเตอร์ก็ยังคงมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพซึ่งทำให้สามารถดำเนินงานได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
“ความจริง เด็กที่มาเรียนกับเราเมื่อเทียบกับอินเตอร์อื่นถือว่าไม่แพง ประมาณว่า ถ้าเรียนจนจบปริญญาตรีตก 4-6 แสนบาท นอกจากบางสาขาที่ต้องมีอุปกรณ์พิเศษ อาจจะมากกว่า 6 แสน แต่ไปถึงหลักล้านต่อปี ซึ่งก็มีไม่เยอะ แต่ถ้าไปเรียนต่างประเทศปีหนึ่ง 5 แสนบาท
ก็เอาไม่อยู่ นักศึกษา 3,000 คน ถ้าไปเรียนต่างประเทศก็ปีละ 1,500 ล้านบาท นี่เราประหยัดเงินช่วยรัฐบาลด้วย”
อีกเป้าหมายของ มหิดลอินเตอร์ คือ การได้มาตรฐานการศึกษาระดับโลกในรายการสำคัญที่ผ่านมาได้มาตรฐานสากลของ TedQual เป็นหลักสูตรปริญญาตรีด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรมจากองค์การท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติถือเป็นที่แรกของประเทศไทย รวมถึงมาตรฐาน Thailand Trust Mark (T Mark) และ AUN-QA หรือเครือข่ายการประกันคุณภาพมหาวิทยาลัยอาเซียน นอกจากนี้ กำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการรับรองจาก AACSB หรือสถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจและการบัญชีที่ทั่วโลกยอมรับ
นพ.พิทยา กล่าวว่า มหิดลอินเตอร์ยังเน้นมาตรฐานตามสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ทั้งทักษะ แนวทาง ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด เช่น วิชาการ การสื่อสาร ประสบการณ์ และสิ่งที่มหิดลอินเตอร์กำหนดในพันธกิจ คือ ทำอย่างไรที่จะผลิตนักศึกษาที่ผสมผสานทั้งวิชาการ และวิชาชีพและให้เขาใช้ทักษะในการเป็นพลเมืองศตวรรษที่ 21 คือ วิชาการ และทำงานเป็นทีม มีส่วนร่วม และด้วยบรรยากาศและบทบาทของเรา มหิดลอินเตอร์ ยังใช้เป็นศูนย์สอบของ TOEFL IELTS SAT และ ACT ที่ใช้ในการศึกษาต่อต่างประเทศด้วย
“เด็กที่จบต้องฝึกงานทั้งภายในและภายนอก รวม 6 เดือน เรามีโรงแรม ศาลายา พาวิลเลียน เป็นแหล่งให้นักศึกษาที่อยู่ในภาคการท่องเที่ยวและโรงแรม เรายังเชื่อมกับหน่วยงานระดับชาติภายนอก และต่างประเทศเพื่อให้เด็กของเราฝึกประสบการณ์จากของจริง เด็กจะต้องเรียนรู้ทักษะ หลากหลาย ทั้งการเป็นเจ้าของผู้ประกอบการธุรกิจ การแข่งขันในปัจจุบัน รวมถึงทักษะ โซเชียล ตรงนี้มันจึงเป็นการบูรณาการทั้งหมด”
ธรรมาภิบาลอาจารย์ต้องถูกประเมิน
ขณะเดียวกัน ระบบการเรียนการสอนมีการประเมินแบบ 360 องศา โดยเฉพาะนักศึกษามีสิทธิประเมินแบบไม่ต้องบอกอาจารย์ ถ้าอาจารย์คนไหนได้คะแนนประเมินต่ำกว่า 3.5 จาก 5 หัวหน้าภาคจะเรียกพบ และจะมีรายงานส่งถึงคณบดี และประธานหลักสูตรจะมีการหารือ และมีคำเตือน ถ้าซ้ำสองครั้ง อาจารย์ผู้นั้นก็จะไม่ได้รับผิดชอบวิชานั้น หากไม่ผ่านเกณฑ์ในการประเมิน และพ้นสภาพการเป็นอาจารย์
“ผลการประเมินจากนักศึกษา และเพื่อนร่วมงาน ทางมหาวิทยาลัยทำทุกอย่างให้เป็นธรรมาภิบาล ปัจจุบันอาจารย์ทุกท่านจะรู้ว่าจะอยู่ตรงไหน ถ้าเด็กเขียนมาว่า อันนี้เข้าคลาสช้า ใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสม เด็กก็ร้องเรียนมาได้ หรือสอนไม่รู้เรื่อง เป็นไก่สามอย่าง คิดพูดทำไม่ตรงกัน ก็จะโดนเหมือนกัน”
ด้วยโลกดิจิทัลเปลี่ยนทุกสิ่ง และช่วยการเรียนการสอนได้มาก ทำให้อาจารย์ต้องปรับตัว ถ้าไม่ปรับมันก็ไม่ทัน หากพบว่า นักศึกษาเริ่มมีคะแนนลดลง ก็จะมีหน่วยวิเคราะห์แล้วทำแผนพัฒนาปรับหลักสูตร เชิญคนนอกมาวิพากษ์ โดยให้โจทย์ว่า ต้องไปเชื่อมกับภาคอุตสาหกรรม หรือ ค่ายต่างๆ ในการแสดงเช่นกัน
นพ.พิทยา กล่าวว่า นักศึกษาที่เข้ามาก็จะมีความสุข มีชมรมให้เด็กเลือกเกือบ 30 ชมรม ทั้งวัฒนธรรม ศิลปกรรม วิชาการ เด็กที่แข่งขันโต้วาที หรือเสนอโครงการ ทางมหาวิทยาลัยก็สนับสนุนหมด ปีนี้โชคดี มหิดลอินเตอร์เป็นเจ้าภาพจัดโต้วาทีของนักศึกษา โดยได้รับเงินจากสหประชาชาติ และสหภาพยุโรป นอกจากนี้เด็กของเรายังมีจิตอาสาช่วงวันว่างของเขา ก็ไปออกค่าย ไปสอนภาษาอังกฤษตามโรงเรียนที่อยู่รอบๆ พุทธมณฑล และก็มีมอบทุนให้โรงเรียนต่างๆ แล้วให้เด็กไปช่วยโรงเรียนในการพัฒนา ช่วยในการปรับปรุงไอที ห้องสมุด
“เด็กทุกคนที่ฝึกปฏิบัติ เขาจะมีงานธีมไนต์ คือ ฝึกแบ่งงาน 40 คน และก็จัดธีม เช่น โรมัน ไทยโบราณ และต้องคิดใช้ภาษาอังกฤษ หาทุนเอง เราก็มีหน้าที่เปิดงานให้รางวัล เมื่อเขาได้ทุน เขาก็เอาไปลงโรงเรียน เขายังจัดระดมทุน ขายอาหาร ตรงนี้เราฝึกแล้วเรายังมีร้าน Brew & Bev Bistro ร้านอาหารนานาชาติ ให้เด็กฝึกขายกาแฟ อาหารด้วย
คณบดีมหิดลอินเตอร์ แจกแจงว่า เด็กมหิดลอินเตอร์ที่จบ 1 ใน 3 จะมาทำงาน อีก 1 ใน 3 จะไปเรียนต่อ ที่เหลือกลับไปช่วยพ่อแม่ เพราะหลายคนเป็นเจ้าของธุรกิจต่างๆ เช่น โรงแรม ห้างใหญ่ ส่วนนักศึกษาต่างชาติเรียนเสร็จก็ไปเรียนปริญญาโท เอก หลายคนก็กลับไปเป็นอาจารย์ในเมืองไทย เด็กปัจจุบันบางส่วนก็ใจร้อน อยากกินอะไรที่เป็นอาหารจานด่วน แต่สุดท้ายมันก็ไม่ง่ายอย่างนั้น
“คนที่เรียนที่นี่ ก็ถือว่า พ่อแม่มีฐานะพอสมควร เพราะค่าใช้จ่ายมากกว่าหลักสูตรไทย 2-3 เท่า แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นคือ ความรับผิดชอบ และความซื่อสัตย์ เราเข้มงวดเรื่องการคุมสอบ ซึ่งเขาก็เก่งมาก บางทีเจอทุจริตอะไรบ้างก็ต้องอยู่ในกฎของมหาวิทยาลัย พักการเรียนก็มี บางทีก็เชิญผู้ปกครองมา เพราะเราเข้มงวดมาก ถ้าเจอต้องตั้งคณะกรรมการ เพราะเรื่องถ้าไม่ชัดเจน ถ้าอุทธรณ์ร้องทุกข์ไปถึงศาลปกครองก็จะกระทบกันหมด ทั้งหมดก็เพื่อให้เด็กมีวินัย แต่ทั้งหมด สังคมจะเห็นได้ว่า ความสามารถของนักศึกษาของเราอยู่ในระดับไม่แพ้ใคร แม้จะมีการเรียนการสอนที่หนัก แต่เราไม่ได้ปิดกั้น ถ้ามีความสามารถพิเศษ เป็นดารานักร้องนักแสดง บางคนนอกจากเรียนเก่งแล้วคะแนนยังอยู่ในแถวหน้าของสังคม”
อัจฉริยะ"เฌอปราง" ไอดอล MUIC
สิ่งที่ทำให้มหิดลอินเตอร์เป็นที่รู้จักในสังคมมากขึ้น คือ การที่เหล่าดาราชื่อดังหลายคนมาเรียนที่นี่ หนึ่งในนั้น คือ เฌอปราง อารีย์กุล กัปตันวง BNK48 ระดับร้อยล้านวิว สาวฮอตทั้งเก่งทั้งดัง ปัจจุบัน ศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาเคมี นพ.พิทยา บอกว่า เฌอปราง นอกจากเรียนเก่ง และเป็นนักร้องแล้ว ยังมีจิตอาสา ช่วยงานมหาวิทยาลัยหลายกิจกรรม และยอมรับว่า การที่เธอเป็นไอดอล ทำให้เด็ก หลายคนอยากมาเรียนที่นี่
การเป็นขวัญใจมหาชนของเธอเพียบพร้อมด้วยผลงานด้านการเรียนระดับสุดยอดในฐานะนักวิทยาศาสตร์ดาวรุ่ง เมื่องานวิจัยที่เธอทำร่วมกับอาจารย์หัวข้อ "การทดลองขวดสีน้ำเงิน" เกี่ยวกับปฏิกิริยาเคมีไฟฟ้า ได้รับการยอมรับและลงตีพิมพ์ในวารสาร Royal Society Open Science ของประเทศอังกฤษเป็นเกียรติประวัติให้กับมหาวิทยาลัยและตัวเธอ
เฌอปราง เคยให้สัมภาษณ์นิตยสาร Campus Star เมื่อปลายปีที่แล้วถึงเหตุที่เลือกเรียนเคมี มหิดลอินเตอร์ว่า เดิมทีตั้งใจจะไปเรียนต่อต่างประเทศที่ญี่ปุ่น ไม่ก็เยอรมนี แต่ด้วยปัญหาเงินทุน จึงเบนเป้าในเมืองไทยแต่ต้องได้ภาษาอังกฤษ ที่สุดไปเจอหลักสูตรวิทยาศาสตร์ วิทยาลัยนานาชาติ มหิดล แล้วก็เลือกสาขาเคมี เพราะคิดว่าเคมีคือพื้นฐานของทุกอย่าง เพราะทุกสิ่งเกิดจากสสาร อะตอม ธาตุ ประกอบขึ้นมา ถึงจะกลายเป็นเรื่องของฟิสิกส์และชีววิทยาต่อไป
บรรยากาศเรียนในมหิดลอินเตอร์ เฌอปราง บอกว่า มีกลุ่มสนิททั้งต่างชาติและคนไทย อย่างเพื่อนชาวต่างชาติบางคนก็ไม่ค่อยรู้ก็จะแปลกใจว่า ทำงานข้างนอกด้วยหรือ ส่วนเพื่อนๆ คนไทยในสาขาก็คิดไม่ถึงว่าคนอย่างเฌอจะไปได้ เพราะเป็นพวกอยู่แต่ห้องแล็บ ไม่สนใจแต่งหน้าแต่งตัว ไม่ทำอะไร ร้องเพลงก็ไม่เป็น เต้นก็ไม่เต้น แต่ที่สนิทจริงๆ ก็น่าจะเป็นรูมเมทที่อยู่ด้วยกัน เพราะทำงานเป็น Committee ด้วยกันตั้งแต่ปีแรกๆ
นอกจากเฌอปรางแล้ว ยังมีศิลปินอีก 4 ราย ที่เพิ่งจบและเตรียมรับปริญญาตรีในเดือน ก.ย.นี้ ประกอบด้วย "นาย" ณภัทร เสียงสมบุญ ศิลปินดาวรุ่งจากช่อง 3 จบสาขาวิชา Communication Design "นน" ชานน สันตินธรกุล ขวัญใจวัยรุ่น ผลงาน Hormones 3 T ที่โด่งดังคือ ภาพยนตร์ฉลาดเกมส์โกง สร้างชื่อ ทำรายได้ทั่วโลก และรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจาก รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ จบสาขาวิชา Film Production "ผักไผ่" ปารีณา บุศยศิริ ผลงานละครกว่า 10 เรื่อง ที่เพิ่งจบไปคือ คมแฝก จบสาขาวิชา TV Production "ภูมิ" วิภูริศ ศิริทิพย์ นักร้องค่าย Rats Records เพิ่งเสร็จภารกิจ ASIAN Tour จบสาขา Film Production
ชานน กล่าวว่า เหตุที่เลือกเรียนที่นี่เพราะมีสาขาที่ตัวเองสนใจ คือ การผลิตภาพยนตร์ และตั้งเป้าจะไปไกลถึงฮอลลีวู้ด ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมาก็ได้ไปทัศนศึกษาและดูงานที่ฮอลลีวู้ดและบริษัทในแวดวงอุตสาหกรรมบันเทิงชั้นนำของอเมริกาพร้อมกับอาจารย์และเพื่อนๆ ที่เรียน หลักสูตรนี้ด้วยเป็นเวลาเกือบ 1 เดือน
นอกจากนี้ มหิดลอินเตอร์ยังมีสาขาวิชาให้เลือกเรียนที่หลากหลายไม่จำกัดเพียงแค่สาขาที่ตนเองเรียนเท่านั้น เราเรียนด้านอาร์ต แต่ก็สามารถเลือกวิชาโทด้านภาษาที่มีให้เลือกถึง 5 ภาษา หรือเลือกเรียนข้ามเมเจอร์ได้เช่น สาขาบริหารธุรกิจ สาขาการท่องเที่ยวการโรงแรม หรือวิทยาศาสตร์ อีกทั้งเพื่อนๆ และอาจารย์ผู้สอนก็มาจากหลายประเทศทั่วโลก
นอกจากดารา ศิลปินที่เรียนที่นี่แล้ว นักศึกษาในโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ณ University of Sussex ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหราชอาณาจักร และเป็นมหาวิทยาลัยคู่สัญญาเป็นเวลา 1 ภาคการศึกษา ระหว่างเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2561 อย่าง ศุภณัฐ ลี้ภัยสมบูรณ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ และเป็นผู้มีความบกพร่องทางการเห็น บอกว่า เป็นนักศึกษาประเภทนี้คนแรกของวิทยาลัยที่ได้รับโอกาสในการเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนต่างประเทศ นั่นเพราะเข้าร่วมเป็นสมาชิก Nature Lover Club และกิจกรรมอื่นๆ ของวิทยาลัยร่วมกับเพื่อนๆ ที่มาจากหลากหลายเชื้อชาติ วัฒนธรรม ทำให้เกิดแรงบันดาลใจเพื่อไปแลกเปลี่ยนยังต่างประเทศ