นันทวรรณ รุ่งวงศ์พาณิชย์ เขียนบทละครโทรทัศน์ เขียนชีวิต
โดย มัลลิกา นามสง่า
โดย มัลลิกา นามสง่า
ชื่อของ “บ๊วย” นันทวรรณ รุ่งวงศ์พาณิชย์ เป็นที่รู้จักในบทบาทนักเขียนบทละครโทรทัศน์ ช่อง 3 ผลงานละครหลายเรื่องได้รับความนิยมสูงและส่งเสียงชื่นชมมาถึงผู้อยู่เบื้องหลัง
“ปดิวรัดา” “บ่วง” “หัวใจช็อกโกแลต” “คลื่นรักสีคราม” “เล่ห์รตี” “ทวิภพ” “ทาสรัก” “สวรรค์สร้าง” “เพลงรักข้ามภพ” “สู่แสงตะวัน” “อธิษฐานรัก” “ดั่งดวงตะวัน” “เพียงผืนฟ้า” “กลิ่นแก้วกลางใจ” “เปลวไฟในฝัน” ฯลฯ คือ ส่วนหนึ่งของผลงาน
ยังมีเรื่องที่กำลังรอคิวออกอากาศคือ “ดวงใจในไฟหนาว” ที่เธอควบ 2 หน้าที่ทั้งเขียนเป็นนวนิยาย พิมพ์เล่มกับสำนักพิมพ์พิมพ์คำ และเขียนบทละครโทรทัศน์
งานเขียนบทละครโทรทัศน์หลายคนมองว่าเป็นอาชีพอิสระ ไม่ต้องทำงานตอกบัตร มีกำหนดเวลาเข้าออก แต่สำหรับนักเขียนบทเป็นอาชีพ ก็มีวินัยและกำหนดเวลาทำงานของตัวเอง
เพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้าคนที่มีอำนาจเหนือกว่าก็มีเช่นกันอย่าง ผู้กำกับการแสดง ผู้จัดละคร เจ้าของสถานีโทรทัศน์ แต่ความพิเศษอีกอย่างคือ เป็นอาชีพที่ไม่มีอายุกำหนดเกษียณการทำงาน อยู่ที่แรงใจล้วนๆ ว่ายังอยากขีดเขียน คิดพล็อตใหม่ๆ ที่น่าสนใจได้ไหม
ผลงานของเธอมีทั้งเขียนบทจากนวนิยายและสร้างสรรค์พล็อตขึ้นมาใหม่
“สมัยก่อนแทบไม่ใช้พล็อตเลย แต่ 10 ปีมานี้ตัวนักเขียนใช้พล็อตเยอะขึ้น อย่างเราอยู่ใกล้ชิดกับช่องก็จะรู้ว่าตอนนี้มีนักแสดงชายหญิงคนนี้ ก็เข้ามาช่วยในเรื่องของการคิดพล็อตสตอรี่ให้เหมาะกับตัวนักแสดง แต่ยังไงความนิยมละครยังผลิตจากวรรณกรรมอยู่ เมื่อก่อน 90-95% แต่ยุคหลังๆ ก็จะเป็น 80-85%
ส่วนตัวชอบเขียนบททั้งสองอย่าง อยู่ที่สตอรี่นั้นเรามีมุมมองที่จะพูดไหมมากกว่า ถ้าเขียนบทจากนิยายเราต้องแตะและไปช่วยขยาย เราต้องเอาแก่นเขามาให้ได้ก่อน สิ่งที่ใหญ่ที่สุดในหมู่ของคนทำโทรทัศน์คือการเลือกเรื่องที่เราจะพูดกับเขา ถ้าเราอ่านแล้วสนุกเราก็ไปขออนุญาตนักเขียนนิยาย”
ส่วนการคิดพล็อตใหม่ นันทวรรณ ยิ้มแห้งๆ พร้อมบอกว่า มันจะเป็นงานหนักสุด เริ่มต้นจากการคุยกัน จากกระดาษไม่เกิน 20 หน้า แล้วต้องมาทำเป็นบทโทรทัศน์
“ข้อดีของพล็อตคือถ้าเราชอบอันนี้ เราเบี่ยงได้เลย ไม่ต้องกลัวการบิดเบือนบทประพันธ์ คนเขียนบทละครโทรทัศน์อยู่ใกล้กับคนดูมาก บางทีการทำละครเรื่องหนึ่งเราต้องแคร์เรตติ้ง แคร์ฟีดแบ็กอยู่แล้ว สังคมเขาจะด่าเราไหม โดยส่วนใหญ่คนเขียนบทละครจะไม่ค่อยมีอีโก้สูง”
เธอบอกว่ามีความเครียดสูงสุดเลยสำหรับการทำบทละครโทรทัศน์ เพราะคือการบาลานซ์คุณค่าของสิ่งที่คนเขียนอยากพูด และการบริหารให้ถูกใจคนส่วนใหญ่
“เพราะคำว่าเรตติ้งมันคือคนส่วนใหญ่ด้วยนะ เราเรียกว่าละครต้องมีความแมส คือการที่ทำเพื่อเอาใจมวลชน เพราะฉะนั้นเป็นความยากที่สุด”
ถ้าสังเกตจะเห็นได้ว่า งานที่เป็นลายเซ็นของ บ๊วย นันทวรรณ มักเกี่ยวพันกับเพศหญิง
“สนใจในเรื่องสังคมและผู้หญิง มันเป็นธรรมชาติ เรามาในสังคมผู้หญิงด้วยมั้ง แล้วผู้หญิงที่อายุเกือบๆ 50 มันจะเป็นช่วงที่ผู้หญิงเปลี่ยนแปลงสูงมาก เช่น ตอนเราเป็นเด็กๆ ละครที่ได้รับความนิยมจะเป็นละครน้ำตา พวกดาวพระศุกร์ ที่ผู้หญิงโดนกดขี่ข่มเหง รันทด เราโตมาอย่างนั้น ฉะนั้นจะรู้ว่าสังคมเราใกล้กับเขา ผู้หญิงเป็นเบี้ยล่างของสังคม เราต้องอยู่ในบทบาทสมยอมตลอดเวลา
พอช่วงปลายๆ อย่างตอนทำละครกามเทพออกศึก เราก็เริ่มโตขึ้น จะเห็นวิวัฒนาการของผู้หญิง ทั้งในชีวิตจริงและในละคร ผู้หญิงปัจจุบันในรุ่นเด็กๆ กว่าเรา การหย่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่อย่างเราเป็นเรื่องซีเรียสมาก เป็นเรื่องใหญ่ เพราะฉะนั้นเราอยู่ในเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ของผู้หญิง และเราก็จะรู้สึกเล็กๆ น้อยๆ กับมัน”
ละครประโลมโลก แท้จริงแล้วในความสนุกยังมีแง่มุมชีวิต สังคมในยุคนั้นๆ สื่อสารออกมา นันทวรรณ ชี้ว่า ละครมันมีธรรมชาติของการสอนคนหรือสะท้อนชีวิตคน และมันจะแนะนำคนได้บางอย่างด้วย
“เพราะฉะนั้นทั้งนวนิยายกับละครที่ดีๆ มันมีผลต่อคนดู บางคนที่เขาไม่ได้คิดว่าละครสำคัญ เขาชอบซีรี่ส์ เขาชอบภาพยนตร์ อันนั้นก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วเรายังเชื่อมั่นอยู่ว่าคำประโลมโลกจริงๆ แล้วมันมีสาระอยู่
อย่างสมมติว่าเรารู้สึกว่าทางเลือกของเยี่ยมยุทธ (ตัวละครในดวงใจในไฟหนาว) ในการที่จะทำเพื่อตัวเองแต่ต้องเอาเปรียบคนอื่น จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับมนุษย์ทุกคน คือผลประโยชน์เราแต่ถ้ามันไปทับซ้อนกับผลประโยชน์คนอื่น ตรงนั้นเราจะแก้ปัญหายังไง เรื่องพวกนี้ไม่ได้สอนในโรงเรียน และมันเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงพูดคุยกับตัวเองด้วย เพราะฉะนั้นละครหรือภาพยนตร์มันยังมีคุณค่าแบบนี้อยู่ ต่อให้มันประโลมโลกก็เถอะ”
ทุกวันนี้เธอยังสนุกกับการทำงาน และคิดพล็อตใหม่ๆ ไปนำเสนอช่องอยู่เสมอ ต้องพับกลับบ้านก็ครึ่งๆ แต่นั้นไม่ได้ทำลายกำลังใจในการสร้างสรรค์งาน โชคดีที่เธอคิดพล็อตเร็ว เพราะชอบคิดนั้นนี้ เจออะไรน่าสนใจก็จดเก็บไว้ มีอะไรมาสะกิดไอเดียพล็อตก็บรรเจิดได้เลย และยังสนุกกับการเขียนบทละครอยู่
ตราบใดที่ยังสร้างสรรค์งานมีคุณภาพ ผู้ชมยังให้การต้อนรับที่ดี ก็เป็นสัญญาณส่งให้รู้ว่า เส้นทางของการเขียนบทละครโทรทัศน์ยังอีกยาวไกล ไม่มีวันเกษียณการทำงานไปได้ง่ายๆ เพราะละครที่ประทับชื่อ “นันทวรรณ รุ่งวงศ์พาณิชย์” ยังครองใจผู้ชมได้อยู่หมัด